ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เลขาธิการ ก.ล.ต.คนที่ 3


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

จากนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ยุค 14 ตุลา มาเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. ที่มีอายุน้อยที่สุด ภารกิจเบื้องหน้าของประสาร ไตรรัตน์วรกุล คือ การจัดระบบระเบียบ ที่เข้มงวดให้กับตลาดทุนไทย

ด้วยวัยเพียง 47 ปี กับการรับตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นหน่วยงาน ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในตลาดทุนของไทย จัดได้ว่าเป็นงาน ที่ท้าทายความสามารถของประสาร ไตรรัตน์วรกุลเป็นอย่างยิ่ง

ประสารจบวิศวะไฟฟ้า เกียรตินิยมอันดับ 1 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2517 หลังจากนั้น ได้รับพระราชทานทุนจากมูลนิธิอานันทมหิดล ไปเรียนด้านการบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถาบันเดียวกับเอกกมล คีรีวัฒน์ เลขาธิการ ก.ล.ต.คนแรก จนได้ปริญญาเอกออกมาในปี 2524

ประสารนับว่าเป็นคนที่มีความใกล้ชิดกับเอกกมลค่อนข้างมาก เพราะตั้งแต่กลับมาทำงานใช้ทุน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ประสารได้อยู่ในสายงานกำกับ และตรวจสอบ ซึ่งเป็นสายงานเดียวกับเอกกมลมาเกือบตลอด

การที่เอกกมลดึงประสารออกจากแบงก์ชาติ มารับตำแหน่งรองเลขาธิการ ก.ล.ต.เมื่อปี 2535 ทำให้หลายคนมองว่าเป็นการสร้างทายาทต่อเนื่องไว้ในหน่วยงาน ที่ตนเองเป็นผู้บุกเบิก

ชื่อของประสารเคยได้รับการเสนอขึ้นเป็นแคนดิเดทเลขาธิการ ก.ล.ต.มาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อครั้ง ที่เอกกมลถูกพิษการเมืองเล่นงานให้ออกจากตำแหน่งในปี 2538

แต่คราวนั้น หลายคนมองว่าด้วยวัยเพียง 40 ต้นๆ อาจทำให้ประสารมีความอาวุโสน้อยเกินไป น่าจะให้เวลาในการสะสมบารมีต่อไปก่อนอีกสักระยะหนึ่ง จึงมีการดึงปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา มารับตำแหน่งแทนจนครบวาระไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่ผ่านมา

"ประสารเป็นคนที่เชื่อมั่นตัวเองสูง ยึดหลักเกณฑ์การปฏิบัติ ที่เข้มงวด" คนในวงการธุรกิจหลักทรัพย์มองถึงบุคลิกของประสาร ซึ่งส่งผลถึงการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น

ก.ล.ต.ในวันนี้ ได้ผ่านพ้นช่วงบุกเบิกมาแล้ว 7 ปี มีเลขาธิการต่อเนื่องมาแล้ว 3 คน

ยุคเริ่มต้นก่อตั้ง มีความจำเป็นต้องใช้คนที่มีสายสัมพันธ์สูงมาเป็นผู้นำ เพราะจะต้องประสานงานกับทุกระดับได้อย่างราบรื่น ตั้งแต่ระดับกระทรวงการคลัง ลงมาจนถึงโบรกเกอร์ ซึ่งเป็นบุคลิก ที่เหมาะสมสำหรับเอกกมล คีรีวัฒน์

ยุคที่ 2 ที่ธุรกิจหลักทรัพย์เริ่มขยายตัวออกไปในวงกว้างขึ้น การทำงานต้องอาศัยการประนีประนอมสูง เพื่อไม่ให้การลงทุนในธุรกิจหยุดชะงัก ซึ่งเป็นภาระ ที่เหมาะกับปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา

แต่เมื่อการขยายตัวในธุรกิจหลักทรัพย์ดำเนินมาได้แล้วในระดับหนึ่ง ก็ถึงยุคที่จะต้องมีการเข้มงวดกับกฎระเบียบต่างๆ เพื่อพัฒนาตลาดทุนให้มีความสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญของประสาร ที่ได้สั่งสมประสบการณ์ และบารมีมาพอสมควรแล้วในหน่วยงานแห่งนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.