"มหาวิทยาลัยยูเอส ตักศิลาของนักศึกษาเอเซีย"


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

การศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นใบเบิกทางก้าวขึ้นไปสู่สถานะที่สูงกว่า สำหรับคนเอเซียจำนวนมาก ถึงแม้ว่าปัจจุบัน มหาวิทยาลัยในเอเซียจำนวนมากจะมีคุณภาพเป็นเลิศในการจัดการศึกษา เป็นเวลานานมากกว่าหนึ่งศตวรรษที่คนเอเซียเดินทางไปแสวงหาการศึกษาในระดับสูงกว่าที่นั่น ในยุคแรก ๆ พวกเขามุ่งตักตวงความรู้ด้านเทคโนโลยีและการปกครองของตะวันตกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พอมาถึงทุกวันนี้ สิ่งที่คนเหล่านี้นำกลับมายังบ้านเกิด คือดีกรีทางด้านเอ็มบีเอจากมหาวิทยาลัยที่มีเกียรติประวัติยาวนาน เพราะเหตุใดการศึกษาในสหรัฐฯ จึงเป็นสิ่งเย้ายวนใจต่อนักศึกษาเอเซีย ?

ไมค์ ชางเป็นคนเซี่ยงไฮ้ เขาอยู่ในฐานะผู้สอบแข่งขันเพื่อทำปริญญาเอก (DOCTORAL CANDIDATE) ทางด้านชีวเคมีที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซีนยามใดที่เขาคิดไปถึงการเดินทางกลับประเทศจีนหลังจากสำเร็จการศึกษา ภาพที่ปรากฏอยู่ในหัวของเขาคือ แฟลตที่ติดแอร์คอนดิชั่น ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และโอกาสในการเลือกงาน สิ่งเหล่านี้เป็นบางส่วนของสิทธิพิเศษที่เขาคาดหวังว่าปริญญาบัตรชั้นสูงจากสหรัฐฯ จะบันดาลให้ได้

"เราจะอยู่ในฐานะที่ดีกว่าพวกที่เรียนจบในประเทศ" หนุ่มชางวัย 25 ปีกล่าว "รัฐบาลได้พูดหลายครั้งแล้วว่า นักศึกษาที่ไปเรียนต่อต่างประเทศเมื่อกลับมาแล้วจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ลูก ๆ ของเราจะได้รับการศึกษาที่ดีกว่า เรามีสิทธิที่จะเลือกไปอยู่ที่ไหนก็ได้"

ชางยังกล่าวเสริมอีกว่า "ผู้ชายที่เป็นนักเรียนนอกยังเป็นที่ดึงดูดใจของสาวจีนอีกด้วย" สำหรับชางเหตุผลเหล่านี้เพียงพอที่จะตอบคำถามว่าทำไมจึงต้องไปศึกษาในอเมริกาได้อย่างชัดเจน เพราะว่าชื่อเสียง เกียรติยศที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้ดีกรีการศึกษาจากที่นั่น เป็นสิ่งที่คุ้มค่าพอต่อการจากบ้านเกิดไป

ไม่ได้มีแต่ชางเท่านั้นที่หลงไหลในการศึกษาของอเมริกา ในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมานี้ มีนักศึกษาเอเซียนับแสนคนที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ และหลาย ๆ คน เมื่อเรียนจบกลับไปบ้านแล้ว ก็กลายเป็นสมาชิกของชนชั้นนำในสังคมเอเซีย ตัวอย่างเช่น เจ้าหญิงมาซาโกะ ชายาของมกุฏราชกุมารญี่ปุ่น ก็เรียนจบฮาร์วาร์ด เช่นเดียวกับเบนาซีร์ บุตโต อดีตนายกรัฐมนตรีของปากีสถาน ประธานาธิบดีฟิเดล รามอส แห่งฟิลิปินส์ ก็เป็นผลิตผลของระบบการศึกษาชั้นสูงจากอเมริกา โดยจบการศึกษาที่สถาบันวิชาการทหารหรือ U.S. MILITARY ACADEMY

จากการสำรวจความเห็นในหมู่นักวิชาการเอเซียเมื่อปี 1986 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก 8 ใน 12 แห่งเป็นมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ คือฮาร์วาร์ด, สแตนฟอร์ด, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์คเลย์, เอ็มไอที, เยล, คอร์แนล, มิชิแกนและพริ้นซ์ตัน

MARIANTHI ZIKOPOULOS ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ INSTITUTE OF INTERNATIONAL EDUCATION ที่นิวยอร์ค เปิดเผยว่า ช่วงทศวรรษ 80 จำนวนนักศึกษาเอเซียในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่ากล่าวคือในปี 1981-1982 มีนักศึกษาเอเซีย 106,160 คน พอมาถึงปี 1992 เพิ่มขึ้นเป็น 245,810 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจีน ไต้หวันและญี่ปุ่น

ทำไมมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ จึงยังคงมีชื่อเสียงเป็นที่ใฝ่ฝันถึงของนักศึกษาเอเซีย สวนทางกับความตกต่ำของอุตสาหกรรมและสถาบันอื่น ๆ ของอเมริกา ?

เบน วัตเทนเบอร์ก คอลัมนิสต์แห่งนิตยสารยูเอสนิวส์ แอนด์ เวิลด์ รีพอร์ทกล่าวว่า คำตอบส่วนหนึ่งคือ การแข่งขัน มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด เป็นการแข่งขันเพื่อแย่งชิงนักศึกษา อาจารย์ และเงินทุนเพื่อการวิจัย

"นักวิชาการดัง ๆ ถูกรุมจีบจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้ไปสอน เหมือนกับควอเตอร์แบ็คของทีมฟุตบอลไฮสกูลถูกเกี้ยวให้เข้าร่วมทีมฟุตบอลของมหาวิทยาลัย" วัตเทนเบอร์กล่าว

ผลที่เกิดจากการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็คือ ห้องทดลองที่มีเครื่องมือ อุปกรณ์ที่เพียบพร้อมที่สุด ห้องสมุดที่ดีที่สุด และคณาจารย์ที่เยี่ยมที่สุดและมีค่าตัวสูงที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่อาจจะสำคัญกว่าความมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยซึ่งดึงดูดบรรดานักศึกษาจากเอเซียก็คือ โอกาสที่จะได้เข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ บี แอนน์ ไรท์ ผู้อำนวยการฝ่ายลงทะเบียนของสมิทธ คอลเลจที่นอร์ธแฮมตัน แมซซาชูเซสต์กล่าวว่า ผลการสอบ APTITUDE TEST ชุดเดียวกัน จะทำให้นักศึกษาได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในสหรัฐที่ดีกว่ามหาวิทยาลัยในเอเซีย

สหรัฐฯ เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยโอกาสทางการศึกษา มีสถาบันการศึกษาที่ได้รับรองวิทยฐานะมากกว่า 3,000 แห่ง ในขณะที่ฮ่องกงมีมหาวิทยาลัยหลักเพียง 7 แห่ง และไต้หวัน มีนักเรียนไฮสกูลเพียง 8 % เท่านั้น ที่เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา การลงทุนเกี่ยวกับการศึกษาระดับสูงของประเทศเอเซียส่วนใหญ่ ยกเว้นญี่ปุ่นมักจะต่ำกว่าประเทศตะวันตก อย่างไรก็ตาม วูเจียไหว ประธานและรองอธิการบดีของ HONG KONG UNIVERSITY OF SCIENCE & TECHNOLOGY เปิดเผยว่าในประเทศในเอเซีย โดยเฉพาะไต้หวัน สิงคโปร์และเกาหลีใต้ กำลังไล่กวดชาติตะวันตกอย่างรวดเร็ว มีเพียงฮ่องกงเท่านั้นที่ค่อนข้างจะล้าหลัง มีสถาบันการศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีการบริหาร

แรงจูงใจในการไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ ของนักศึกษาจากเอเซียอีกข้อหนึ่งคือมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ เต็มอกเต็มใจเป็นอย่างยิ่งที่จะรับนักศึกษาเอเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีรับภาระค่าใช้จ่ายได้ด้วยตัวเอง ด้วยเหตุผลในเรื่องของความหลากหลายของนักศึกษา ความเป็นเลิศทางวิชาการและการกระชับสัมพันธ์กับเอเซีย

แต่ยังมีอีกเหตุผลอื่นที่สำคัญมากกว่านี้อีก !

"นักเรียนไฮสกูลของอเมริกา มีจำนวนลดน้อยลงมา ตั้งแต่ปี 1988" อลัน แม็คไอวอร์ รองประธานฝ่ายลงทะเบียนของเบลอยท์ คอลเลจซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านศิลปศาสตร์เล็ก ๆ แห่งหนึ่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของชิคาโกกล่าว ซึ่งถ้าไม่มีนักศึกษาต่างชาติ มหาวิทยาลัยบางแห่งอาจจะต้องปิดบางแผนกลง เพราะมีนักศึกษาน้อยเกินไป

"ผมไม่แน่ใจว่าคุณเคยได้ยินผู้บริหารของมหาวิทยาลัยพูดว่า ผมกำลังจะไปหานักศึกษาที่ญี่ปุ่นหรือไต้หวัน เพราะแผนกของผมต้องการนักศึกษาปริญญาตรี หรือไม่" ทอม แกนโชว์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จีนของมหาวิทยาลัยจอร์เจียกล่าว "แต่นั่นคือความจริง" เพราะว่านักศึกษาเอเซียจำนวนมากที่สหรัฐฯ ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศเลย มหาวิทยาลัยสหรัฐฯ จึงต้องช่วยเหลือ ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ CULTURE SHOCK ด้วยการเชื้อเชิญนักศึกษาให้เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยก่อนที่ภาคเรียนฤดูใบไม้ร่วงจะเริ่มขึ้น เพื่อแนะนำพวกเขาในเรื่องของห้องสมุด ระบบคอมพิวเตอร์ ชอปปิ้ง มอลล์ ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ใช้แล้ว กฎระเบียบเรื่องการเข้าเมืองและการทำงาน รวมไปถึงการใช้ชีวิตในอเมริกา

หวาง เป่ยเล่าว่า สมัยที่เรียนหนังสือที่ปักกิ่งแบบแผนการใช้ชีวิตถูกกำหนดไว้แล้ว อย่างตายตัว เธอต้องออกกำลังกายตอนเช้า ทำความสะอาดหอพัก และเข้าร่วมการศึกษาทางการเมืองประจำสัปดาห์ เธอถูกจัดเข้ากลุ่มกับเพื่อน ๆ ซึ่งต้องไปเรียนหนังสือด้วยกัน และมีตารางการใช้ชีวิตประจำวันที่เหมือน ๆ กันเป็นเวลาถึง 4 ปีเต็ม

เมื่อเธอเดินทางมาศึกษาด้าน COMMUNICATION DISORDER ที่มหาวิทยาลัยซินซินเนติ ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เธอต้องพึ่งตัวเองในทุกเรื่อง นับตั้งแต่การหาบ้านเช่า ช้อปปิ้งและทำอาหารกินเอง "ฉันกลายเป็นผู้ปกครองของตัวเองขึ้นมาในทันทีทันใด" เธอกล่าว แทนที่เธอจะเรียนไปตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ เหมือนสมัยที่อยู่ปักกิ่งพอมาอยู่ที่นี่กลับต้องเป็นฝ่ายเลือกวิชาและกำหนดตารางเรียนด้วยตัวเอง

สิ่งที่ลำบากมากที่สุดสำหรับนักศึกษาเอเซียอาจจะเป็นความแตกต่างขั้นพื้นฐานในเรื่องของปรัชญาการศึกษา

"ในประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้หลายๆ แห่ง จะเน้นการเรียนการสอนด้วยการท่องและจำ" แม็คไอวอร์แห่งเบลลอย์ท คอลเลจกล่าว "นักศึกษาเพียงแต่จำข้อเท็จจริง จำข้อมูลให้ได้ เพื่อใช้ตอบเวลาสอบ แต่ที่อเมริกา การจำไม่ใช่วิธีการที่ดี พวกเขาต้องโต้แย้ง ต้องอภิปราย"

การที่นักศึกษาเอเซียไม่คุ้นกับการซักถามหรืออภิปรายในห้องเรียน จึงเป็นเรื่องยากที่จะตั้งคำถามต่ออาจารย์อเมริกัน เพราะกลัวว่าจะทำให้อาจารย์ลำบากใจหรือขายหน้า วู เยน โบ ผู้ประสานงานของโครงการนานาชาติ มหาวิทยาลัยเนบราสก้ากล่าวว่า ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้คนอเมริกันทึกทักเอาเองในบางครั้งว่า คนจีนนั้นเป็นคนสงบเสงี่ยมเจียมตัวหรือไม่ก็เป็นคนโง่

ส่วนนักศึกษาจีนที่มาจากแผ่นดินใหญ่มักจะไม่ค่อยไว้ใจผู้ที่มีอำนาจ "เมื่อได้รับความแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาคนหนึ่ง พวกเขาจะไม่เชื่อ ดังนั้นจึงไปขอคำแนะนำจากอาจารย์อีกคนหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาระหว่างอาจารย์และพลอยทำให้อาจารย์บางคนเชื่อว่าคนจีนชอบปั่นหัวชาวบ้านให้ทะเลาะกัน" วูกล่าว

ในทางกลับกัน ก็มีความคิดที่ผิด ๆ ในหมู่นักศึกษาเอเซียเกี่ยวกับนักศึกษาอเมริกัน บางคนคิดว่ามาตรฐานการศึกษาของอเมริกันต่ำเกินไปสักหน่อย เพราะมหาวิทยาลัยอเมริกันกำหนดเวลาเรียนเพียงปีละ 180 วัน (ญี่ปุ่นกำหนดไว้ 243 วัน) และ เพราะว่านักศึกษาอเมริกันทำคะแนนในวิชาคณิตศาสตร์ได้แย่มาก

ก่อนที่จะมาสหรัฐฯ CHEUNG SEN-CHING หนุ่มฮ่องกง ซึ่งเป็นนักศึกษาปีหนึ่งสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าของเบอร์คเลย์มีภาพนักศึกษาอเมริกันว่า "ขี้เล่น ไม่เป็นผู้ใหญ่และขี้เกียจ" แต่หลังจากนั้นเขาก็ยอมรับว่านี่เป็นการประเมินที่ออกจะง่ายเกินไป "แน่ละว่าต้องมีพวกที่ชอบเที่ยวและพวกบ้า ๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วนักศึกษาอเมริกันเป็นพวกที่ทำงานหนัก" เขากล่าว

ความจริงก็คือ นักศึกษาต่างชาติจำนวนมากรู้สึกท้อแท้ เพราะต้องมีชีวิต ที่เหนื่อยยากมาก GAYATRI IYER นักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยซินซินเนติกล่าวว่า พวกเขาไม่เพียงแต่ต้องเรียนหนังสือเท่านั้น แต่ยังต้องทำงานด้วย ซึ่งมักจะเป็นงานที่ต่ำต้อยในสายตาของคนเอเซียที่เป็นชนชั้นกลางอย่างเช่นงานในร้านแม็คโดนัลด์

"การเรียนในมหาวิทยาลัยอเมริกาเป็นงานที่หนักกว่าที่ผมเคยคิดไว้" CHEUNG กล่าว การสอบไม่ได้มีเพียงครั้งเดียวตอนปลายเทอมเท่านั้น แต่มีการทดสอบประจำสัปดาห์ การสอบกลางภาค ต้องอ่านหนังสือที่อาจารย์กำหนดให้มากมายหลายเล่มและต้องเขียนรายงานนับสิบ ๆ ชิ้น

แม้งานจะหนัก แถมยังมีปัญหาเรื่องภาษาและความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่โดยทั่วไปนักศึกษาเอเซีย ก็มีผลงานจัดอยู่ในขั้นใช้ได้ ถ้าจำเป็น พวกเขาก็สามารถทำงานได้หามรุ่งหามค่ำ ด้วยแรงผลักดันจากความต้องการศึกษาที่ดี

แม็กซ์เวลล์ ดี เอพสไตน์ คณบดีผู้รับผิดชอบนักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอลเจริสกล่าวว่า "พวกเขาเตรียมตัวมาอย่างดีเรียนหนักและก็พบกับความสำเร็จ"

ความจริงแล้วปัญหาใหญ่ที่สุดของนักศึกษาเหล่านี้คือ เรื่องการใช้ชีวิตทางสังคมมากกว่าปัญหาทางการศึกษา เพราะพวกเขาอ่านและเขียนภาษาอังกฤษได้ดีกว่าพูด เวลาไปงานปาร์ตี้พวกเขาจะรู้สึก อึดอัด

"นักศึกษาต่างชาติคนหนึ่ง อาจจะพบกับหญิงสาวบนรถเมล์ และเธอก็เล่าเรื่องการงานของตัวเองกับรายได้ของสามีให้เขาฟัง" เอพสไตน์กล่าวและว่า นักศึกษาคนนั้นอาจจะเข้าใจไปว่านี่คือความเปิดเผย

นักศึกษาเอเซียจำนวนมากไม่เข้าใจว่าเวลาที่คนอเมริกันพูดว่า ไปกินข้าวกันดีกว่านั้น ไม่ได้เป็นข้อตกลงว่าจะต้องไปกินข้าวกันจริง ๆ "นักศึกษาต่างชาติมักจะบ่นว่า เวลาที่เราพูดว่า 'HI, HOW ARE YOU ?' นั้น ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย พูดไปอย่างนั้นเอง โดยไม่แม้แต่จะรอคำตอบ ความจริงแล้ว 'HOW ARE YOU?' ไม่ใช่คำถาม แต่เป็นการทักทายก็เลยทำให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความรู้สึกว่า อีกฝ่ายหนึ่งเป็นพวกคบหาคนอย่างฉาบฉวย ผิวเผิน"

นักสังเกตการณ์ชาวอเมริกันหลายคนคาดว่าเมื่อเศรษฐกิจเอเซียเฟื่องฟูกว่านี้ นักศึกษาเอเซียก็จะเลิกมาเรียนหนังสือที่สหรัฐฯ แต่จะเรียนมหาวิทยาลัยในประเทศของตัวเอง

แต่นักศึกษาเอเซียเองกลับมองว่า ถ้าจะทำธุรกิจก็ต้องเรียนวิชาบริหารธุรกิจ ซึ่งเป็นวิชายอดนิยมในหมู่นักศึกษาต่างชาติและสถานศึกษาที่ดีที่สุดก็ต้องเป็นป้อมปราการของโลกทุนนิยมอย่างสหรัฐฯ

นอกจากนั้นยังมีเรื่องของภาษาอังกฤษซึ่งกลายเป็นภาษาสากลในโลกธุรกิจไปแล้ว "วิธีที่ดีที่สุดในการเรียนภาษาก็คือต้องฝึกฝนการใช้ภาษานั้น ๆ จากของจริงเลย" แอนดี้ โซลิสตีโอ นักศึกษาปีสองของเบลอยท์ คอลลเลจซึ่งมาจากอินโดนีเซียกล่าว

แม้ว่าจะมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งในเอเซียที่ดีเท่า ๆ กับมหาวิทยาลัยในอเมริกา แต่ข้อเท็จจริงก็คือว่า ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ "ผมได้ยินมาหลายปีแล้วว่า เมื่อประเทศต่าง ๆ ก็พัฒนาระบบการศึกษาของตนขึ้นมาแล้ว ก็จะไม่ส่งนักศึกษามาที่นี่อีก แต่ในความเป็นจริง จำนวนนักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้นทุกปี ผมรู้สึกว่าปริญญาบัตรจากสหรัฐอเมริกายังเป็นสิ่งที่มีตลาดรองรับอีกมาก" เอพสไตน์กล่าวในที่สุด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.