"กรุงเทพ-เฉลิมกรุง 2 โรงละคร 2 ลีลา"


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

โรงละครสองโรงปักหลักเปิดการแสดงเรียกคนดูอยู่คนละมุมเมืองของกรุงเทพโรงแรก "โรงละครกรุงเทพ" บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เยื้องซอยศูนย์วิจัย ในนามของบริษัทกรุงเทพโรงละคร เปิดตัวไปก่อนเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม อีกไม่ถึงหนึ่งเดือนถัดมาโรงละครเฉลิมกรุงรอยัลเธียเตอร์ที่แปลงโฉมมาจากโรงหนังเฉลิมกรุง ก็ได้ฤกษ์เบิกโรง

ทั้งสองโรงเกิดขึ้นมาในขณะที่เจ้าเก่าอย่างมณเฑียรทองเธียร์เตอร์กำลังจะลาโรงไปในเดือนตุลาคมปีนี้ เพราะแบกรับค่าใช้จ่ายที่ไม่คุ้มกับรายได้ต่อไปไม่ไหว การเกิดขึ้นของโรงละครกรุงเทพและโรงละครเฉลิมกรุงถือเป็นการลงทุนในเชิงธุรกิจเต็มตัวครั้งแรกของวงการละครไทย หากไม่นับโรงละครยุคย้อนหลังไปเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ก่อนหน้ายุคการเข้ามาของภาพยนตร์

โรงละครทั้งสองแห่งนี้แตกต่างกันในหลาย ๆ มิติ

โรงละครกรุงเทพเป็นการลงทุนของนักทำละครมืออาชีพ ที่ใช้ชื่อว่า แดส เอนเตอร์เทนเมนท์ "DASS" คือส่วนผสมของสามสาวอดีตข้าราชการกระทรวงศึกษา ดารกา วงศ์ศิริ เจ้าของตัวอักษร DA, แสงอรุณ กาญจนรัตน์ ตัว S และ S ตัวท้ายสุด ศิริวรรณ ธีระปถัมภ์ ซึ่งทำละครเวทีกันมาตั้งแต่ปี 2529 จนถึงบัดนี้มีผลงานไปแล้ว 15 เรื่อง ส่วนใหญ่จะปักหลักแสดงที่หอประชุม เอ. ยู. เอ

เจ็ดปีของการทำละครเวที กลุ่มละครแดส เอนเตอร์เทนเมนท์มองเห็นแนวโน้มว่าจำนวนผู้ชมมีมากขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะสามปีปลัง คนดูประเภทสมาชิกที่จ่ายเงินปีละ 100 บาทแลกกับแม็กกาซีนของกลุ่มและส่วนลดในการซื้อบัตรมีไม่ต่ำกว่า 20,000 คน จนต้องเพิ่มรอบการแสดงหรือเปิดการแสดงซ้ำอีก ทำให้ทางกลุ่มมีความมั่นใจพอสมควรในเรื่องของตลาด

ความสำเร็จของแดสอยู่ที่การประสานการจัดการทางธุรกิจเข้ากับศิลปะ โดยเฉพาะกลยุทธ์ "การตลาดนำการละคร" ที่เน้นการโฆษณาประชาสัมพันธ์และการเลือกละครสอดคล้องกับกลุ่มคนดูเป้าหมาย

นอกจากความมั่นใจในกลุ่มคนดูแล้ว ยังมีความอุ่นใจในเรื่องการผลิตละครว่าสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบท ผู้กำกับ นักแสดง ตลอดจนถึงการออกแบบและสร้างฉากละครเครื่องแต่งกาย

ขาดอยู่อย่างเดียวคือโรงละครที่เป็นของตัวเอง การที่ต้องไปเช่าสถานที่อื่น ๆ เล่นละครนั้น มีปัญหาในเรื่องของเวลา และความไม่ได้มาตรฐานสำหรับละครเวที ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้กลุ่มแดสฯ ตัดสินใจลงทุนสร้างโรงละครของตัวเองขึ้นมา โดยเช่าที่ดิน 2 ไร่บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่จากบริษัทปริ้นเซส พร็อพเพอร์ตี้ในเครือโรงแรมดุสิตธานี

บริษัทโรงละครกรุงเทพหรือ THE BANGKOK PLAYHOUSE CO., LTD. เจ้าของโรงละครกรุงเทพ มีทุนจดทะเบียน 37.5 ล้านบาท มีกลุ่มละครแดสเอนเตอร์เทนเมนท์ เป็นตัวหลักในการรวบรวมผู้ถือหุ้นทั้งหมด 20 ราย บริษัทแดสฯ ถือหุ้นไว้ประมาณ 46% อีก 25% เป็นของ ม.ร.ว. สายสิงห์ ศิริบุตร อุปนายกมูลนิธิช่วยเหลือนักเรียนขาดแคลน ซึ่งเป็นมูลนิธีที่กลุ่มแดสฯ ทำละครเรื่องแรกเพื่อหาเงินเข้ามูลนิธิให้เมื่อปี 2529

"ถ้าไม่ได้ ม.ร.ว. สายสิงห์ เข้ามาร่วมทุน โรงละครกรุงเทพคงต้องยืดเวลาเกิดออกไปอีก" ศิริวรรณ ประธานบริษัทโรงละครกรุงเทพกล่าว

ส่วนหุ้นที่เหลือกระจายไปในหมู่ผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งรวมทั้งดารา นักแสดงที่เคยทำงานร่วมกับแดสฯ หลาย ๆ คนด้วย

ปัญหาสำคัญของโรงละครกรุงเทพคือ สัญญาเช่าที่ 2 ไร่นั้น มีอายุเพียง 6 ปีเท่านั้น ในขณะที่ต้องลงทุนสร้างโรงละครขึ้นมาเป็นเงินทั้งสิ้น 50 ล้านบาท ดังนั้นจึงต้องเร่งหารายได้เข้ามาให้คุ้มกับการลงทุนเผื่อเอาไว้ในกรณีที่ครบ 6 ปีแล้วไม่ได้ต่อสัญญาการเช่าที่ดิน

นอกเหนือจากรายได้จากการแสดงละครสัปดาห์ละห้ารอบ โดยใช้วิธีหาสปอนเซอร์จากองค์กรธุรกิจเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายแล้วโรงละครกรุงเทพได้มอบหมายให้บริษัท โซลิด สโตน ของสตีเวน ฟงและเชาวณีย์ อัชนันท์เป็นผู้บริหารงานด้านการตลาดทั้งในส่วนของละคร และการให้เช่าพื้นที่ของโรงละครในวันที่ไม่มีการแสดง และส่วนด้านหน้าโรงซึ่งจะรองรับงานจัดเลี้ยงสำหรับคน 300-400 คนได้

ศิริวรรณคาดการณ์ว่าถ้าคิดเฉพาะรายได้จากการแสดงละครโดยที่ทุกรอบมีคนดูเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 90 เปอร์เซ็นต์อย่างเช่นเคยเป็นมา จะสามารถคืนทุนให้ผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ ยกเว้นแดสฯ ได้ภายในสองปี

ส่วนโรงละครเฉลิมกรุงนั้น จัดว่าอยู่ในสถานะที่ค่อนข้างจะสบายกว่าโรงละครกรุงเทพมากในเรื่องเงินทุน เพราะผู้ถือหุ้นบริษัทเฉลิมกรุงมณีทัศนล้วนแต่เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งสิ้น คือ มีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นในนามบริษัทสหศินีมา 45 เปอร์เซ็นต์ บริษัทสยามพานิชพัฒนาอุตสาหกรรม (บริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์กับบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์) ถือหุ้น 45 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์เป็นของบริษัทมณีทัศน์ของมานิต รัตนสุวรรณ ซึ่งจะเป็นผู้บริหารโรงละคร

เฉลิมกรุงยังไม่ต้องเผชิญกับเงื่อนเวลาที่จำกัดเหมือนโรงละครกรุงเทพ เพราะสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ศาลาเฉลิมกรุง และให้สัมปทานนานถึง 30 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่เพียงพอสำหรับการคืนทุน

รายได้หลักของเฉลิมกรุงในระยะแรกนี้จะมาจากการแสดงโขนพร้อมคำแปลภาษาอังกฤษในวันธรรมดา ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์จะเล่นละครเวทีย้อนอดีตยุค พ.ศ. 2475 สมัยเดียวกับละครรอบปฐมฤกษ์เรื่อง 'ศรอนงค์' ซึ่งเป็นละครของคณะปรีดาลัยในสมัยนั้น และเคยเล่นบนเวทีแห่งนี้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว นอกจากนี้อาจจะสลับเล่นละครประวัติศาสตร์รวมถึงละครสมัยใหม่

มานิต รัตนสุวรรณประธานบริษัทมณีทัศน์ คิดว่าต้องใช้เวลา 5 ปีในการคืนทุน 80 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับตัวแปรสำคัญคือการแสดงด้วยว่าจะได้รับความสนใจจากผู้ชมมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าเฉลิมกรุงเป็นเจ้าของเวทีเท่านั้น ไม่มีคณะละครสังกัดประจำ ใช้วิธีเซ็นสัญญากับผู้ทำละครเป็นเรื่อง ๆ ไปซึ่งอาจจะมีปัญหาในเรื่องความคล่องตัวในการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดที่ชัดเจนก็ได้

ม่านหน้าเวทีละครถูกชักขึ้นแล้ว ละครสองโรงสองลีลากำลังประชันบทกัน โรงไหนจะเรียกคนดูได้มากน้อยกว่ากันโปรดติดตามตอนต่อไป !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.