|

หุ้นสื่อสารพุ่งรับข่าวรื้อสัมปทาน
ผู้จัดการรายวัน(16 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นในกลุ่มสื่อสารวานนี้ (15 มี.ค.) ภายหลังคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด มีมติที่จะผลักดันบริษัทให้เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยที่ประชุมคณะกรรมการมีมติให้แปรสัญญาสัมปทานและส่วนแบ่งรายได้ของเอกชนคู่สัญญาของทีโอทีทุกประเภท เช่น โครงข่ายโทรศัพท์มือถือ โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นต้น เพื่อให้ทีโอทีกลายเป็นผู้บริหารโครงข่ายของชาติ และให้มีการเก็บค่าเช่าจากเอกชน ที่มาใช้โครงข่ายด้วยวิธีเก็บค่าเช่าแบบรายเดือนและรายปี รวมทั้งเป็นการเปิดเสรีอย่างเท่าเทียมกันของผู้ประกอบการในธุรกิจ
สำหรับราคาหุ้นในกลุ่มสื่อสารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นหุ้นบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) หรือ TT&T ราคาปิดที่ 1.13 บาท เพิ่มขึ้น 0.14 บาท หรือ 14.14% มูลค่าการซื้อขาย 170.59 ล้านบาท, หุ้นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ราคาปิดที่ 5.70 บาท เพิ่มขึ้น 0.40 บาท หรือ 7.55% มูลค่าการซื้อขาย 239.05 ล้านบาท, บริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ UCOM ราคาปิดที่ 40 บาท เพิ่มขึ้น 1.25 บาท หรือ 3.23% มูลค่าการซื้อขาย 5.36 ล้านบาท
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ราคาปิดที่ 72.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท หรือ 0.69% มูลค่าการซื้อขาย 44.16 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีอุตสาหกรรมกลุ่มสื่อสารปิดที่ 71.21 จุด เพิ่มขึ้น 0.96 จุด หรือ 1.37% มูลค่าการซื้อขาย 639.70 ล้านบาท
นายประสิทธิ์ สุจิรวรกุล นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากข่าวที่เกี่ยวกับการยกเลิกสัมปทานเครือข่ายโทรศัพท์ระหว่างเอกชนกับบริษัททีโอที ส่งผลทำให้ดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะบริษัทที่จะได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ แม้ว่าเรื่องดังกล่าวหากเกิดขึ้นจริง จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่เคยต้องเสียค่าสัมปทานมากกว่าคู่แข่ง แต่เรื่องดังกล่าวคงต้องรอการประกาศอย่างชัดเจนจากผู้บริหารของบริษัทอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร และมีเงื่อนไขในการยกเลิกสัมปทานอย่างไร
สำหรับบริษัทที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการยกเลิกสัญญาดังกล่าว เนื่องจากจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายลดลงค่อนข้างมาก คือ TT&T เพราะบริษัทต้องจ่ายค่าสัมปทานให้กับทีโอทีสูงถึง 43% ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่ UCOM ต้องจ่ายค่าสัมปทาน 37% ส่วน TRUE ต้องจ่ายค่าสัมปทาน 30% ก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย
"ถ้าหากเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แม้ว่าจะทำให้ภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการเป็นไปด้วยความเป็นธรรมมากขึ้น แต่คงส่งผลกระทบต่อรายได้ของทีโอทีอย่างแน่นอน ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าทีโอทีจะหารายได้จากด้านอื่นเข้ามาอย่างไร แต่เชื่อได้ว่าเรื่องดังกล่าวคงยังไม่เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะจะต้องมีเสียงต่อต้านจากกลุ่มนักวิชาการอย่างแน่นอน" นายประสิทธิ์กล่าว
นางสาวจิตรา อมรธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไซรัส กล่าวว่า แม้ว่าหุ้นในกลุ่มสื่อสารจะมีการปรับตัวขึ้นตอบรับข่าวดีเรื่องการเปลี่ยนระบบการเก็บค่าสัมปทาน แต่นักลงทุนที่จะลงทุนจะต้องพิจารณาความเสี่ยงอื่นๆ ประกอบด้วย เพราะเรื่องดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนที่แน่นอน ขณะที่ผลบวกที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการบางบริษัทก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยเชื่อว่าราคาหุ้นในกลุ่มสื่อสารน่าจะยังเคลื่อนไหวในลักษณะผันผวนต่อไป
"นโยบายในเรื่องดังกล่าวแม้ว่าจะทำให้รายได้ของทีโอทีลดลง แต่หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการพัฒนาของระบบเครือข่ายของผู้ประกอบการ ในท้ายที่สุดผู้ประกอบการเอกชนที่ต้องเสียสัมปทานในระดับที่สูงอาจจะไม่ต่อสัญญากับทีโอทีซึ่งจะทำให้รายได้ของบริษัทปรับลดลงไปมากกว่านี้ก็ได้" นางสาวจิตรา กล่าว
ตลาดหุ้นซึมวอลุ่มบาง
ด้านภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นวานนี้ตลอดทั้งวันดัชนีแกว่งตัวอยู่ในแดนบวกทั้งวันก่อนปิดที่ 674.31 จุด เพิ่มขึ้น 3.69 จุด หรือ 0.55% โดยจุดสูงสุดของวันอยู่ที่ 675.71 จุด และจุดต่ำสุดอยู่ที่ 672.19 จุด มูลค่าการซื้อขาย 8,676.61 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 993.53 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 24.27 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 1,017.80 ล้านบาท
มาตรการ30%กดดันแบงก์
นายอภิสิทธิ์ ลิมป์ธำรงกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคิน จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในปีนี้คาดว่าจะเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว โดยคาดว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้จะเติบโตเพียง 4% ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยคาดว่ายังมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงได้อีกซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ถือว่ามีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ยังคงเป็นเรื่องการผ่อนคลายมาตรการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหลัก
นายภูวดล ลาภอุดมสุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ในปีนี้คาดว่าผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์จะไม่โดดเด่นมาก เนื่องจากได้รับผลกระทบเรื่องของเกณฑ์มาตรการบัญชีระหว่างประเทศฉบับที่ 39 (IAS 39) ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเชื่อว่าอาจจะปรับตัวลดลงประมาณ 0.25% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อช่วยกระตุ้นความมั่นใจของผู้บริโภคและสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ส่วนกลยุทธ์การลงทุน
ทั้งนี้ บล.เอเซียพลัส แนะนำให้นักลงทุนซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK โดยประเมินราคาเหมาะสมที่ 83 บาท ,ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ประเมินราคาเหมาะสมที่ 75 บาท และธนาคารกรุงศรีอยุทธยา หรือ BAY ประเมินราคาเหมาะสมที่ 19.42 บาท
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|