|
บาทแข็งบีบส่งออกลดผลิตธุรกิจชะงัก-คนหยุดใช้จ่าย
ผู้จัดการรายวัน(16 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลร้ายต่อผู้ส่งออกอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตร ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกลงจากการแข็งค่าของเงินบาท เพราะสินค้าเกษตรผลิตในประเทศ 100% ซึ่งการส่งออกสินค้าข้าวในขณะนี้ เริ่มมีสัญญาณไม่ดี เพราะผู้ส่งออกข้าวบางรายเริ่มถอดใจ ไม่ส่งออก เพราะขาดทุน จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง หากตั้งราคาสูง ลูกค้าก็หันไปนำเข้าข้าวจากประเทศอื่นแทน จึงอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินอย่างใกล้ชิด หากแข็งค่าทิศทางเดียวกันในภูมิภาคก็ไม่มีปัญหา
“การที่ค่าเงินบาทแตะระดับ 34.99 บาท/เหรียญ ถือว่าอยู่ในระดับแย่แล้ว ตอนนี้ผู้ส่งออกบางรายเริ่มถอดใจ ไม่ส่งออก อยู่เฉยๆ ดีกว่า จะได้ไม่เจ็บตัว ขายไปก็ขาดทุน จริงๆ ปีนี้ต้องเป็นปีทองของการส่งออกข้าว เพราะคู่แข่งประสบปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตน้อย แต่ถ้าค่าเงินบาทยังเป็นแบบนี้ ที่ตั้งเป้าส่งออกข้าว 8.5 ล้านตัน คลาดเคลื่อนแน่นอน” นายชูเกียรติกล่าว
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์การค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจเบื้องต้นใน ผู้ส่งออก 70-80% ของกลุ่มสำรวจระบุว่า หากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่องและต่ำกว่า 35บาท/เหรียญ จะนำมาตรการลดกำลังการผลิต และเลิกจ้างงานบางส่วนมาใช้ และหากรัฐบาลยังไม่สามารถทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง หรือยังอยู่ในภาวะผันผวนต่อเนื่องอีก 3 ปี จะลดกำลังการผลิต หรือลดการจ้างงานเพิ่มขึ้น บางรายอาจเลิกกิจการ
“ ถือว่าเป็นภาวะที่น่ากังวลของเศรษฐกิจไทย จากการเก็บตัวเลขส่งออกพบว่า ไตรมาสแรกปี 50 น่าจะขยายตัวได้เพียง 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขยายตัวถึง 17% และตอนนี้นักธุรกิจและประชาชนเริ่มปล่อยเกียร์ว่างในการทำธุรกิจและการจับจ่ายใช้สอย หากรัฐบาลยังไม่สามารถผ่อนคลายปัญหาต่างๆ ได้ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวไม่มากนักในปีนี้ และโอกาสขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมาย 4-5% มีสูง”
นายอัทธ์กล่าวว่า กระทรวงการคลังคงต้องทบทวนการบริหารนโยบายทางการเงินว่าพลาดในจุดใด หรือมียังมีช่องโหว่ในการเก็งกำไรค่าเงินบาทตรงจุด ควรศึกษานโยบายบริหารค่าเงินของประเทศในเอเชียเปรียบเทียบกันด้วย เช่น จีน ญี่ปุ่น และควรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลอื่นแทนสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ
บอร์ด กนง.แบะท่าลดดอกเบี้ย
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวถึงภาวะค่าเงินบาทที่เริ่มแข็งค่าขึ้นอีกครั้งว่า ความคิดเห็นส่วนตัวแล้วรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องวางกรอบนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทให้ชัดเจนว่ารัฐบาลต้องการอัตราแลกเปลี่ยนช่วงใดเพื่อให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ซึ่งส่วนตัวมองว่าควรจะอยู่ในระดับ 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐในระยะนี้
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญจะต้องพิจารณาค่าเงินบาทของไทยให้เหมาะสมกับภูมิภาค เพราะบางอย่างอาจสวนกระแสไม่ได้หากเพียงต้องดูแลไม่ให้แข็งค่าจนเกินไปเท่านั้น โดยในส่วนของ กนง.เอง ก็มีหลักที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้เร่งลดโดยเร็ว ซึ่งการลดมีหลักการอยู่หากลดเร็วมากไปก็ไม่ใช่จะมีผลดีเสมอไป เพราะบางกรณีไว้ใช้สำหรับเหตุการณ์ที่เป็นกรณีพิเศษเท่านั้น
นายจักรมณฑ์กล่าวว่า กรณีปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าหลายครั้ง ทั้งนักวิชาการและแม้แต่ฝ่ายรัฐบาลเอง ต่างฝ่ายต่างออกมาพูดผ่านสื่อ ทำให้เกิดความสับสนและเกิดความไม่มั่นใจของทุกฝ่าย ประกอบกับมีหลายปัจจัยเข้ามาเช่น ปัญหาหมอกควันที่เชียงใหม่ ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการรวมถึงประชาชนลดต่ำลงไปทั้งที่หากดูตัวเลขการลงทุนและภาวะเศรษฐกิจไทยไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่คิด ดังนั้นจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องหารือร่วมกัน และวางเป้าหมายให้สอดคล้องกัน เพื่อให้กระแสข่าวไม่เกิดความเข้าใจผิดหรือฉุดความเชื่อมั่นลงไปเอกชนเทขายดอลลาร์เหตุขาดเชื่อมั่น
แหล่งข่าวจากผู้ส่งออก กล่าวว่า ปัญหาที่ผู้ส่งออกเริ่มมีการเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐแล้วหันไปซื้อยูโรแทนเพื่อความมั่นคงนั้นส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเกิดจากในช่วงที่มีการเปลี่ยนตัว รมว.คลังและมีกระแสข่าวถึงการจะยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ซึ่งจุดนี้ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนถึงนโยบายจากฝ่ายรัฐบาลว่าจะออกมาในทิศทางอย่างไรแน่
นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากในขณะนี้ ตนห่วง 2 ประเด็นคือ จะมีเสถียรภาพหรือไม่ และคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกันแข็งค่าในระดับเดียวกันหรือไม่ เท่าที่ทราบ คู่แข่งแข็งค่าน้อยกว่า จึงเป็นโอกาสดีที่จะแข่งขันด้านการส่งออกกับไทย ซึ่งเอกชนหลายรายกังวลมาก จึงจำเป็นที่ไทยต้องปรับแนวคิด และปรับตัว เพราะค่าเงินบาทแข็งขึ้นเร็วมาโดยตลอด เพราะพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่น
อย่างไรก็ตาม คาดว่า การส่งออกไทยในปีนี้ยังมีแรงผลักดันอยู่ แต่ต้องรอดูตัวเลขการส่งออกในไตรมาสแรกก่อนว่าเป็นอย่างไร จึงจะมองออกว่า เป้าหมายทั้งปีจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ขณะนี้ ยังยืนยันเป้าหมายเดิมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.5% มูลค่า 145,000 ล้านเหรียญ
“ ส่วนการที่ค่าเงินบาทแข็งค่า อาจมีผลทำให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น จนไทยอาจขาดดุลการค้าในปีนี้นั้น หากเป็นการขาดดุลการค้า เพราะนำเข้ามากเพื่อผลิตแล้วส่งออกต่อก็ไม่ต้องห่วง เท่ากับเป็นการลงทุนในอนาคต แต่ถ้าเป็นการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยก็ต้องดูอีกที แต่เท่าที่ติดตามดูตัวเลขการนำเข้าตั้งแต่เดือนธ.ค.49 ก็ไม่มีอะไรน่าห่วง ส่วนปีนี้ เราตั้งเป้านำเข้าขยายตัว 8-9% เท่านั้น ซึ่งก็ได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศติดตามอย่างใกล้ชิดว่า สินค้าใดจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นหรือไม่”
บาทผันผวนแข็งค่าก่อนดีดกลับ
ค่าเงินบาทวานนี้ (15 มี.ค.) เคลื่อนไหวแข็งค่าหลุดระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 34.97 ก่อนกลับมาปิดตลาดที่ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจาก ธปท.เข้าแทรกแซงหลังผู้ส่งออกเทขายดอลลาร์ออกมานวนมาก
นักบริหารเงินธนาคารพาณิชย์ให้ความเห็นถึงการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทวานนี้ ซึ่งเป็นวันแรกที่ ธปท. ผ่อนปรนมาตรการกันสำรอง 30% จากเดิมที่ต้องกันสำรองมาเป็นหากมีการทำการประกันความเสี่ยงทั้ง 100% ไม่จำเป็นต้องกันสำรองว่า เปิดตลาดค่าเงินบาทเคลื่อนไหวที่ 35.02/04 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าต่อเนื่อง หลังจากนั้น แนวโน้มค่าเงินบาทก็ปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง โดยมีแรงเทขายออกมาอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการส่งออก เนื่องจากประเมินว่า แนวโน้ม ธปท.น่าจะยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เพราะวานนี้นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท.หารือกับนายฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ รมว.คลัง ในเวลา 15.00น. ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าน่าจะประกาศยกเลิกกันสำรอง 30% ส่งผลให้ค่าเงินบาทขึ้นไปทดสอบระดับ 34.97/98 บาทต่อดอลลาร์
"ในชั่วโมงการซื้อขายในช่วงบ่าย ธปท.ได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท เพื่อป้องกันไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาเคลื่อนไหวที่ 35.00/35.02 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และขณะนี้ (17.00 น.) ค่าเงินบาทปิดที่ 35.00/35.01 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ"
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา นางธาริษาออกมาชี้นำว่า คาดว่าวันที่ 15 มี.ค. ค่าเงินบาทจะหลุดจากระดับ 35 มาอยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ โดยให้เหตุผลว่า วันที่ 15 มี.ค. เป็นวันแรกที่ ธปท. ผ่อนปรนให้เงินนำเข้าต่างประเทศเลือกประกันความเสี่ยง 100% แทนกันสำรอง 30% ก่อนที่วานนี้นางธาริษาได้เข้าพบ รมว.คลัง ซึ่งตลาดคาดว่าจะมีการยกเลิกมาตรการ 30% ปรากฏว่า หลังการหารือ ผู้ว่าฯ ธปท.และ รมว.คลัง เปิดแถลงข่าวในเวลา 17.00 น.ว่า ไม่มีการยกเลิกมาตรการ 30%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|