สิงห์จวกพ.ร.บ.น้ำเมาเอื้อเหล้าขาวกระทบเศรษฐกิจไทยยิ่งถอยหลัง


ผู้จัดการรายวัน(16 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เบียร์สิงห์ ออกโรงจวกพ.ร.บ.น้ำเมา สร้างความสับสนสังคม เอื้อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ วอนรัฐทบทวนใหม่ แบนโฆษณาเข้าข่ายขัดดับบลิวทีโอ ระบุตลาดน้ำเมาปีนี้มีโอกาสไม่โต ส่วนเหล้าขาวโตพุ่งจาก 500 ล้านลิตร เป็น 550 ล้านลิตร เตรียมปรับแผนรับมือยุคมืด โยกงบหนุนกีฬาถ่ายทอดสดประเทศเพื่อนบ้าน จ่อคิวดำเนินคดีตามกฎหมายกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากพ.ร.บ.

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเตรียมเสนอที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะควบคุมทั้งโฆษณา สถานที่บริโภค สถานที่จำหน่ายและการกำหนดอายุผู้ซื้อ ในส่วนของการโฆษณาห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทุกสถานที่และทุกเวลา ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิงนั้น

นายสันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์สิงห์ ลีโอ และไทเบียร์ ได้ออกมาเคลื่อนไหวด้วยการกล่าวว่า หากพ.ร.บ.บังคับใช้จริงจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ไม่เฉพาะแต่ผู้ผลิตอย่างเดียว ยังรวมไปธุรกิจเกี่ยวเนื่องตั้งแต่การท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านค้าทั่วไป อาชีพเกี่ยวกับเนื่อง อาทิ สาวเชียร์สินค้า อุตสาหกรรมโฆษณา และที่น่ากังวลที่สุดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในขณะนี้ คือ การสร้างผลกระทบต่อผู้ค้าขายระดับรากหญ้า จะทำให้ธุรกิจประเทศไทยถอยหลังไปอีกหลายปี นี้ สำหรับเบียร์สิงห์ที่ผ่านมาดำเนินการสนับสนุนสถานที่ท่องเที่ยว 700 รายการ และมีสาวเชียร์เบียร์ 800 คน

"ผมอยากให้ภาครัฐมองการค้าในระดับโลกให้มากขึ้น เพราะการมีกฎหมายดังกล่าวเท่ากับว่าประเทศไทยกีดกั้นทางการค้าขัดต่อกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลกหรือดับบลิวทีโอ หรือกระทั่งเอฟทีเอทันที ซึ่งสินค้าต่างประเทศจะรับได้ไหม เพราะแบรนด์ใหม่ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าท้องถิ่นที่มีอยู่ในตลาดได้ เนื่องจากขาดการโฆษณาสร้างแบรนด์ และประการสำคัญทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีลดลง จากปีที่ผ่านมาภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมแล้วราว 74,101 ล้านบาท แบ่งเป็น ภาษีสุรา 28,619 ล้านบาท ภาษีเบียร์ 45,482 ล้านบาท อีกทั้งยังเกรงว่ากรณีควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างสิ้นเชิง จะซ้ำรอยกรณียาสูบที่ฟ้องร้องกันที่ศาลโลก แล้วไทยก็แพ้ในที่สุดก็ต้องปล่อยให้แบรนด์อื่นเข้ามาทำตลาด"

ชี้รัฐเอื้อประโยชน์เหล้าขาวเต็มๆ

นายสันติ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีผู้ประกอบการรายใหญ่ใช้เงินเพื่อให้เกิด พ.ร.บ.การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะไม่ต้องการให้กระทบต่อตลาดเหล้าขาว ซึ่งเป็นสินค้าเพียงตัวเดียวที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการมีกฎหมายฉบับดังกล่าว เนื่องจากเหล้าขาวในปัจจุบันไม่ต้องมีโฆษณาก็จำหน่ายได้ แต่ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายด้วยการจำหน่ายราคาถูก เพราะมีการจัดเก็บภาษีต่ำดีกรีละ 75 สตางค์ ขนาด 625 ซีซี ปริมาณ 40 ดีกรี เมื่อเทียบกับเบียร์ดีกรีละ 7 บาท โดยเหล้าขาวเสียภาษี 17.5 บาทต่อขวด ในขณะที่เบียร์เสียภาษี 22.76 บาทต่อขวด

ทั้งนี้การมีพ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บังคับใช้ปีแรกจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวมมากนัก โดยคาดว่าตลาดจะไม่มีอัตราการเติบโต ขณะที่ตลาดเหล้าขาวยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดว่าปีนี้ตลาดจะขยับเป็นมากกว่า 550 ล้านลิตร จากเมื่อปี 2549 มีอัตราการเติบโต 17.8% หรือเชิงปริมาณเพิ่มเป็น 500 ล้านลิตร จากปี 2548 ตลาดเหล้าข้าว 400ล้านลิตร ซึ่งปัจจุบันบริษัทไทยเบฟเวอเรจฯ เป็นผู้ครองตลาดในสัดส่วน 96% ส่วนอีก 4% เป็นรายย่อย

พึ่งกฎหมายเรียกความเป็นธรรม

สำหรับแผนการตลาดรองรับกับกฎหมาย ในเบื้องต้นนำพ.ร.บ.มาวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน และหากส่วนใดบริษัทไม่ได้รับความเป็นธรรม กรณีโลโก้น้ำดื่มหรือกระทั่งโซดาที่ใช้เหมือนกันกับเบียร์สิงห์ จะมีการดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ บริษัทจะโยกงบไปใช้ในการเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันกีฬาในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ การจัดแข่งขันกอล์ฟในประเทศเวียดนาม และลาว เป็นต้น ถ่ายสดมายังประเทศไทย เนื่องจากตามที่พ.ร.บ.กำหนดไว้สามารถทำได้ กรณีเป็นการถ่ายทอดจากต่างประเทศ ส่วนยอดขายปีนี้บริษัทอาจจะต้องปรับเป้าลดลง จากเดิมตั้งเป้าไว้ 1,000ล้านลิตรในสิ้นปีนี้

แจงรัฐพ.ร.บ.ฯก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ

รศ.ดร.สุธาบดี สัตตบุศย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวเสริมว่า พ.ร.บ.ฯ จะสร้างความสับสนให้กับสังคมทั้งตัวผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ร้านค้าทั่วไปในเชิงปฏิบัติ เพราะรายละเอียดปลีกย่อยมีมากมายว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ขณะเดียวกันยังเอื้อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ตามสถานที่ร้านอาหาร ผับ บาร์ และหากมีกฎหมายดังกล่าวจะยิ่งทำให้ภาครัฐต้องเสียงบประมาณเท่าใด เพื่อทีมบุคคลากรเข้ามาควบคุมกฎหมาย ที่ผ่านมากฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยมีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายซ้ำซ้อน เพียงแค่แก้ไขบางอย่างก็สามารถปรับใช้ได้ เช่น กำหนดอายุการจำหน่ายสุราให้ผู้ที่มีอายุ 18 ปี เป็น 20 ปี หรือขยายเวลาการโฆษณาหลัง 22.00-05.00 น. ก็ได้

การที่ภาครัฐนำข้อมูลว่า มีหลายประเทศได้นำกฎหมายห้ามเครื่องดื่มโฆษณาอย่างสิ้นเชิงมากล่าวอ้าง เป็นข้อมูลตั้งปี 2544 โดยประเทศนอร์เวย์ ต้นแบบห้ามโฆษณาทุกรูปแบบ เมื่อปี 2532 ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เนื่องจาก 14 ปีผ่านไปหลังห้ามโฆษณา อัตราการบริโภคเพิ่มขึ้น 20% เป็นอัตราสูงสุดคือ 6.03 ลิตรแอลกอฮอล์ต่อคนต่อปี จากเดิมอัตราการบริโภคอยู่ที่ 5 ลิตรต่อคนต่อปี ส่วนสวีเดน ศาลสหภาพยุโรป ได้ตัดสินว่า การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีดีกรีสูงเกินกว่า 2.25% ทางสื่อทุกชนิด เป็นการกระทำที่กีดกันทางการค้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และปี 2546 สวีเดนได้เปลี่ยนแปลงกฎหมายห้ามโฆษณา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.