"ผลิตภัณฑ์สิทธิบัตรกว่าจะมีวันนี้"


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลิตภัณฑ์สิทธิบัตรคือชื่อของอุปกรณ์ป้องกันการแตกร้าวของผนังก่ออิฐบริเวณมุมหน้าต่างและประตู ในวงการก่อสร้างเป็นที่รับรู้กันว่าเจ้าอุปกรณ์ตัวเล็ก ๆ นี้ สำคัญเอาเรื่องทีเดียว

อุปกรณ์ป้องกันการแตกร้าวนี้จะประกอบด้วยแผ่นเหล็กหนา 2 ม.ม. จำนวน 2 แผ่น แผ่นนอกมีขนาด 65 ม.ม. มีช่องกลางเปิดไว้ขนาด 33 ม.ม.จะมีแกนเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 ม.ม. เจาะรูไว้แผ่นละ 20 รู โดยวิธีใช้นั้นจะติดตั้งไปพร้อมกับการก่ออิฐตามมุมต่าง ๆ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการแตกร้าวได้เป็นอย่างดี สามารถรับแรงดึงได้ประมาณ 800 ก.ก.

สินค้าตัวนี้เป็นประดิษฐกรรมจากมันสมองของคนไทยชื่อมานพ สุปัญญาโชติกุลซึ่งใช้เวลาถึง 5 ปี กว่าจะเข็นผลิตภัณฑ์สิทธิบัตร ก้าวขึ้นมายืนบนแถวหน้าของตลาดอุปกรณ์ก่อสร้างได้อย่างดีพอสมควร

มานพ เป็นผู้ฝักใฝ่ในการคิดสร้างสรรค์สิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่ศึกษาที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ของจุฬาฯ และหลังจากจบปริญญาโททางด้านวิศวกรรมศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา ก็เข้ามาจับงานควบคุมก่อสร้างของทางราชการหลายแห่ง อย่างเช่นอุโมงค์ส่งน้ำของการประปา และได้เข้าไปร่วมทำงานกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างของต่างชาติหลายแห่ง เช่น ซูมิโตโมคุมงานก่อสร้างของโครงการเวิลด์เทรด เซนเตอร์และไทยเลตันที่มานพทำงานอยู่ในปัจจุบัน

ความคิดที่จะประดิษฐ์สิ่งแปลกใหม่นั้น เกิดจากความคิดของมานพเองที่จะประยุกต์วิธีการที่เคยทำกันมาในอดีตให้ประหยัดเวลา และคล่องตัวมากขึ้น ผลิตภัณฑ์สิทธิบัตรที่เขาคิดขึ้นมานี้ ก็ใช้การสังเกตรอยแตกร้าวที่บ้านของตัวเอง และมองว่าน่าจะมีอะไรที่จะมาแทนเอ็นคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งนิยมใช้กันอยู่ก่อนได้บ้างจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์สิทธิบัตรขึ้นมาในที่สุด ถึงแม้ว่าจะแพงกว่าเอ็น คสล. คือราคาชิ้นละประมาณ 50-60 บาท ในขณะที่เอ็น คสล. ราคาเส้นละ 20-30 บาทแต่สามารถประหยัดเวลาในการติดตั้งได้ถึง 50% และสะดวกกับการใช้งานมากกว่าแต่เนื่องด้วยข้อดีในด้านประหยัดเวลามากกว่าถึง 50% และสะดวกต่อการใช้งานมากกว่าจึงทำให้สินค้าตัวนี้มีโอกาสเกิดขึ้นในตลาดได้

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ผลิตภัณฑ์สิทธิบัตรต้องฝ่าความยากลำบากมามากพอดู สาเหตุประการแรกเกิดจากความล้มเหลวของกระบวนการเปลี่ยนแปลงความคิดฝันให้เป็นจริงทางด้านการผลิต ทั้งนี้จากการขาดปัจจัยด้านการเงินทุน, ด้านมืออาชีพมือฉมังด้านช่องทางการตลาดที่จะเข้ามาผลักดันให้ผลิตภัณฑ์นั้นเกิดขึ้นอย่างจริงจัง

ประการถัดมา ก็คงหนีไม่พ้นปัญหาความล่าช้าในการจดสิทธิบัตร ซึ่งในอดีตนั้นกระบวนการที่จะได้มาซึ่งสิทธิบัตรของสินค้าแต่ละชนิดในไทยนั้น ยากแค้นแสนสาหัสพอสมควร เพราะยังไม่มีองค์กรหนึ่งองค์กรใดที่จะเข้ามาดูแลในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ดั่งเช่นกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในปัจจุบัน

หลังจากได้ดำเนินการขอสิทธิบัตรไปตั้งแต่ปี 2530 ด้วยขั้นตอนราชการที่เป็นที่รู้กันในด้านความล่าช้า ปลายปี 2532 จึงเป็นช่วงเวลาที่บริษัทผลิตภัณฑ์สิทธิบัตร ซึ่งจัดตั้งเพื่อผลิตและจำหน่ายสินค้าตัวนี้โดยเฉพาะ ได้เริ่มทำตลาดอย่างจริงจัง ซึ่งในช่วงแรกไม่ได้รับการยอมรับ ด้วยความที่เป็นของใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นของที่เกิดจากสติปัญญาของคนไทยด้วยกันเอง จึงได้รับการบอกปฏิเสธจากลูกค้าทั้งที่เป็นสถาปนิก หรือผู้รับเหมาด้วยความดูแคลน ในบรรดาบริษัทสถาปนิกกว่า 100 รายที่เข้าไปติดต่อนั้น จะมีเพียง 2-3 รายเท่านั้นที่ให้ความสนใจอย่างจริงจัง

การปรับกลยุทธ์เพื่อชี้นำให้ผู้ใช้เกิดความสนใจสินค้าตัวใหม่นี้ จึงได้เริ่มขึ้น กลยุทธ์แรกที่ผลิตภัณฑ์สิทธิบัตรหยิบยกขึ้นมาใช้คือ การเผยแพร่ความรู้ด้วยการออกไปจัดสัมนาในสถาบันที่เกี่ยวข้องกับด้านก่อสร้างณ ที่ต่าง ๆ ซึ่งก็ประสบผลอยู่บ้าง กลยุทธ์ที่สองจึงได้ตามโดยการเจาะเข้าจับลูกค้าโครงการขนาดใหญ่อย่างเช่น สมประสงค์กรุ๊ป, บ้านมณียา, บ้านสินบดี, เจริญกรุงคอนโดมีเนียม กลุ่มสยามนำโชค ซึ่งกำลังทำโครงการฟอร์จูนยูนิแมนชั่น เป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มเครดิตในการรับงานของผลิตภัณฑ์สิทธิบัตรนี้ ซึ่งจะเป็นใบรับประกันได้อย่างดีในการรับงานโครงการใหญ่ในช่วงต่อไป

จนขณะนี้ลูกค้าโครงการกว่า 40 แห่งที่มีอยู่ในมือ และการยอมรับจากสถาปนิกเกือบทุกแห่งที่เคยบอกปัด น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีในการเพิ่มกำลังผลิตอุปกรณ์ป้องกันการแตกร้าวนี้เป็น 20,000 ชิ้นต่อเดือนหรือปีละ 3-400,000 ชิ้นด้วยอัตราเติบโตมากกว่า 60%

"ความพอใจในการทำตลาดให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เป็นความพอใจแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ความพอใจที่ได้เปลี่ยนแนวคิดของสถาปนิกที่เคยบอกปฏิเสธเรานั้นน่าจะเป็นความพอใจเหนือสิ่งอื่นใด" พิษณุ สายทอง ผู้บริหารการตลาดของ ผลิตภัณฑ์สิทธิบัตรเปิดเผยความในใจ

และความพอใจที่ได้เห็นความสำเร็จ ของผลิตภัณฑ์ที่กลั่นจากสมองของคนไทยขึ้นไปอยู่ระดับแนวหน้าเทียบชั้นกับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งยังไม่เคยมีผลิตภัณฑ์ที่จดสิทธิบัตรในเมืองไทยไปได้ถึง น่าจะเป็นความพอใจสูงสุดที่เกิดขึ้นในขณะนี้

ผลิตภัณฑ์สิทธิบัตรเป็นตัวอย่างอันดีของอุปกรณ์ก่อสร้างที่เกิดจากมันสมองของคนไทยเอง ซึ่งหากมีคุณภาพดีจริงแล้ว แม้จะเหนื่อยยากลำบากในการเกิด แต่ผลบั้นปลายก็พิสูจน์แล้วว่า สามารถยืนอยู่ได้ในตลาด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.