|
เศรษฐกิจพอเพียง
โดย
ไพศาล สุริยะวงศ์ไพศาล
ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ประเทศที่นำระบบเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นประเทศแรกคือ ประเทศเล็ก ๆ อย่างภูฏานในแถบเทือกเขาหิมาลัย โดยใช้ GDH (Gross Domestic Happiness) หรือใช้ดัชนีความสุขมาวัดความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ไม่ใช้ GDP (Gross Domestic Product) อย่างประเทศส่วนใหญ่ที่ใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ส่งเสริมให้คนเราแข่งขันกันบริโภค และสะสมความมั่งคั่ง วัดความเจริญรุ่งเรืองของประเทศด้วยวัตถุ เงินทองซึ่งสามารถดลบันดาลให้ความสุขชั่วคราวแต่ความทุกข์มหาศาล
ยกตัวอย่างเช่นประเทศสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น หรือเยอรมันซึ่งจัดว่าเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าที่สุดทางด้านวัตถุตามระบบเศรษฐกิจทุนนิยม แต่ประชาชนของประเทศเหล่านี้หาได้มีความสุขที่แท้จริง เพราะสภาพจิตใจของประชาชนย่ำแย่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีอัตราคนฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก ผมเองเคยไปเที่ยวญี่ปุ่น 3 ครั้งรวมเป็นเวลาหนึ่งเดือน ผมสังเกตเห็นคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะผู้สูงอายุ คนเหล่านี้ไม่ได้มีความสุข ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในร้านเกมส์ นั่งเล่นเกมส์ตั้งแต่เช้าจดกลางคืน
ปัญหาอาชญากรรมโดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัวของ 3 ประเทศนี้ก็เพิ่มสูงขึ้นทุกปี นี่แสดงให้เห็นว่า จิตใจของประชาชนมีปัญหา และวัตถุ หรือเงินทองไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาได้
นี่คือข้อพิสูจน์ว่า ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม แม้ว่าจะทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองในแง่วัตถุ สภาพจิตใจของประชาชนกลับเสื่อมทรามซึ่งตรงกับที่เหลาจื่อ อริยะบุคคลของจีนได้สอนไว้เมื่อกว่า 2,5000 ปีที่แล้วว่า หากสังคมมนุษย์มีความเจริญทางวัตถุมาก สภาวะจิตใจย่อมเสื่อมทราม
ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเน้นแต่เรื่องการพัฒนาทางด้านวัตถุโดยอาศัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีซึ่งที่จริงสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา ผู้คนในสังคมต่างแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันเพื่อสร้างร่ำรวย ซื้อบ้านใหญ่โต หรือซื้อรถหลาย ๆ คัน แข่งขันกันบริโภค อวดมั่งอวดมีโดยใช้สินค้าที่มียี่ห้อดัง ๆ ราคาแพง ๆ จากยุโรป วัดความสุขด้วยความร่ำรวย หรือเงินทอง หรือทรัพย์สินที่มีอยู่ ผู้คนไม่รู้จักคำว่า "พอ"
ตัวอย่างเช่นอดีตนายกทักษิณของไทยแม้ว่า ตอนที่ท่านมาเป็นนายกฯ ท่านและครอบครัวก็มีทรัพย์สินเงินทองในหลักหมื่นล้านบาท แต่ท่านก็ยังไม่รู้จัก "พอ" ท่านยังใช้ตำแหน่งผู้นำของประเทศแสวงหาผลประโยชน์ให้กับธุรกิจของครอบครัวของท่านจนได้รับฉายานามว่า "นายกพ่อค้า" เพราะท่านเป็นนายกแต่คิดแบบพ่อค้าตลอดเวลา
แม้ว่าท่านจะประสบความสำเร็จในการแสวงหาความร่ำรวยมาให้กับครอบครัวของท่านจนมีทรัพย์สินเงินทองในหลักแสนล้านบาท ท่านก็ไม่มีความสุข เพราะความร่ำรวยกับความสุขไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
ประเทศภูฏาน ประชาชนของเขารู้จักคำว่า "พอ" รวมทั้งกษัตริย์ และรัฐบาล ประเทศเขาแม้ว่าไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวยด้วยเงินทอง แต่ประชาชนของเขาก็มีความสุข ผมเคยคุยกับชาวภูฏาน และเขาก็เล่าให้ผมฟังว่า ชาวนาของประเทศเขาทำนาปีละครั้งเดียวแทนที่จะทำนาสองครั้งเพื่อหาเงินหาทอง (ไม่ใช่ว่าพวกเขาขี้เกียจ แต่เพราะว่า พวกเขารู้จัก "พอ" ) หรือรัฐบาลภูฏานก็จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่อนุญาตเข้าประเทศในแต่ละปี แทนที่จะพยายามรณรงค์หานักท่องเที่ยวมาเที่ยวในประเทศของเขามาก ๆ อย่างที่รัฐบาลไทย หรือรัฐบาลอื่น ๆ พยายามทำ เหตุผลก็เพราะรัฐบาลของเขาต้องการรักษาประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชาวภูฏาน และไม่ต้องการให้ประชาชนร่ำรวย เพราะความร่ำรวยจะส่งเสริมให้คนบริโภคมากขึ้น และสะสมทรัพย์สินดังประชาชนของชาติร่ำรวยอื่น ๆ
ดังนั้นถ้ารัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ต้องการนำระบบเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาใช้ สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือ ต้องเปลี่ยนค่านิยม หรือทัศนะคติของประชาชนเสียใหม่เพราะระบบเศรษฐกิจพอเพียงแตกต่างกับเศรษฐกิจทุนนิยมอย่างยิ่ง เนื่องจากระบบเศรษฐกิจพอเพียงเน้นเรื่องคำว่า "พอ" ส่วนระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเน้นเรื่องการแข่งขันกันบริโภค หรือ "ไม่พอ"หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เศรษฐกิจทุนนิยมปฏิเสธคำว่า "พอ"
ฉะนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนค่านิยมของประชาชนใหม่เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ปีที่รัฐบาลทักษิณปกครองประเทศ ได้สร้างค่านิยมของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมให้แก่ประชาชน เช่น "เป็นหนี้ไม่เป็นไร ขอให้มีเงินใช้" "ความร่ำรวยคือความสำเร็จหรือความดีงาม"
ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังมีค่านิยมตามระบบเศรษฐกิจทุนนิยม รับรองได้ว่ารัฐบาลจะประสบความล้มเหลวที่จะนำเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศแทนที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่กำลังครอบงำโลกอยู่ มีแต่ภูฏาน และไทยเท่านั้นที่มีความพยายามจะนำระบบเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นหลักคิดของชาวเอเชียมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ
น่าเสียดายที่จีน และอินเดียซึ่งเป็นอู่อารยะธรรมที่เก่าแก่ของเอเชียก็ละทิ้งหลักคิดดังกล่าว "ระบบเศรษฐกิจพอเพียง" โดยหันไปยึดระบบเศรษฐกิจทุนนิยมซึ่งเป็นหลักคิดของชาวยุโรปมาพัฒนาประเทศ แม้ว่า สองยักษ์ใหญ่ของเอเชียกำลังประสบความสำเร็จในการสร้างความเจริญทางด้านวัตถุ สภาพจิตใจของประชาชนกำลังตกต่ำโดยเฉพาะในจีนเพราะมีการทำลายล้างวัฒนธรรมโบราณของชาติในสมัยประธานเหมาเจ๋อตงผู้บ้าคลั่งเป็นเวลาติดต่อกัน 10 ปี (1966-76) หรือที่เหมาฯ เรียกว่า ปฏิวัติทางวัฒนธรรมนี่เป็นความคิดที่งี่เง่าที่สุด หรือความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติเช่นเดียวกับที่อดีตประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิงได้สั่งการปราบปรามประชาชนของตนเองจำนวน 80 ล้านคนที่บำเพ็ญปฏิบัติธรรมตามหลักฝ่าหลุนกงซึ่งสอนให้ผู้คนลดละกิเลส ปล่อยวางผลประโยชน์ และชื่อเสียง
แม้ว่าประธานาธิบดีหูจิ่นเทา และนายกฯ เหวินเจียป่าวต้องการจะยกเลิกคำสั่งที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรมดังกล่าว ก็ยังไม่สามารถจะทำได้ เพราะเครือข่ายที่เจียงฯสร้างไว้ก่อนลงจากตำแหน่งยังมีอยู่มากมายตั้งแต่ระดับล่างสุดจนถึงสูงสุด
อย่างไรก็ดี ผมก็เชื่อว่า ผู้นำที่ใฝ่ในคุณธรรมทั้งสองท่านจะประสบชัยชนะเหนือเจียงฯ และพวก เพราะธรรมะย่อมชนะอธรรมเสมอ
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลเฉพาะกาล และรัฐบาลหน้าที่มาจากการเลือกตั้งจะนำระบบเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านไปปฏิบัติให้เป็นจริง แน่นอนที่สุดว่า ของไทยย่อมยากกว่าของภูฏาน เพราะประเทศภูฏานปฏิเสธระบบเศรษฐกิจทุนนิยมตั้งแต่แรกแล้ว ระบบเศรษฐกิจพอเพียงคือทางรอดของมนุษยชาติ เพราะขณะนี้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมกำลังนำหายนะใหญ่หลวงมาสู่โลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีน และอินเดียซึ่งมีพลเมืองเกือบครึ่งหนึ่งของโลกยึดถือปฏิบัติ เมื่อพลเมืองของจีน และอินเดียร่ำรวย คนเหล่านี้ก็จะแข่งขันบริโภค และสะสมทรัพย์สินเงินทอง นั่นก็ย่อมหมายถึง ภาวะล่มสลายของระบบนิเวศน์ของโลกซึ่งจะทำให้มนุษยชาติล้มตายกันเป็นเบือ มนุษย์กำลังทำลายล้างโลกของตนเองด้วยระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของชาวยุโรป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|