ไทยอินดัสเตรียล แก๊สหรือทีไอจีเป็นผู้ผลิตก๊าซเหลวและก๊าซอัดท่อที่ใช้ในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุด
ด้วยการร่วมทุนของกลุ่มบีโอซีแห่งตระกูลบรินส์จากอังกฤษ ผู้ตั้งโรงแยกก๊าซและผลิตก๊าซออกซิเจนแห่งแรกของโลกซึ่งถือหุ้น
45% สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้นฝ่ายละ
15% ผู้ถือหุ้นรายย่อยอีก 25% และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2522
หลังจากที่ก่อตั้งมาได้ 9 ปี
ทีไอจีพัฒนาโดยใช้ฐานเดียวกับบีโอซี คืออาศัยหลัก "TQM" หรือ
'TOTAL QUALITY MANAGEMENT" เป็นการจัดการควบคุมคุณภาพครบวงจรตั้งแต่การเลือกวัสดุที่ใช้
การออกแบบ ระบบการผลิตและการขนส่งตลอดจนบริการหลังการขาย
"จากยอดขายปี 2526 แค่ 70 ล้านบาทเพิ่มเป็น 745 ล้านบาทในปี 2536"
คริส ลีออนกรรมการผู้จัดการของทีไอจี กล่าว
เป็นอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นถึง 10 เท่าตัวในรอบระยะเวลา 10 ปี !
กระบวนการการผลิตก๊าซเหลวของทีไอจี นั้นคือการจับเอาอากาศที่มนุษย์หายใจเข้าไปนี่แหละมากแยกออกเป็นก๊าซแต่ละชนิด
ที่สำคัญได้แก่ ก๊าซไนโตรเจนซึ่งมีอยู่ในอากาศ 78% ก๊าซออกซิเจน 21% และก๊าซอาร์กอน
0.9% ที่เหลือเป็นก๊าซอื่น ๆ
โดยเฉพาะก๊าซไนโตรเจนเป็นที่ต้องการของตลาดในวงการอุตสาหกรรมมากในขณะนี้
ไนโตรเจนเป็นก๊าซเฉื่อยใช้ในการควบคุมบรรยากาศ และเป็นประโยชน์มากในอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง
เพราะใช้ฟรีซได้ทันที ปกติจุดเยือกแข็งอยู่ที่ -196 องศาเซลเซียส ขนาดที่ทำให้ลูกเทนนิสแตกได้
นอกจากนี้ ยังใช้ก๊าซไนโตรเนในอุตสาหกรรมโลหะโดยการลดอุณหภูมิเพื่อให้ชิ้นส่วนนั้นๆ
หดตัวเพื่อสะดวกในการประกอบ ใช้ในอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์ และป้องกันการติดไฟของสารประกอบทางเคมีต่าง
ๆ
สำหรับก๊าซออกซิเจนใช้ในการตัดเหล็ก อุตสาหกรรมแก้ว ปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น
หรือใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยซึ่งล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่มีการขยายตัวสูงขึ้น
ถ้ารวมตลาดก๊าซเหลวทั้งหมดแล้ว ขณะนี้ทีไอจีครองอยู่ถึง 45% ของตลาดมูลค่ากว่า
2,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตขนาด 1,000 ตันต่อวันจากเดิมที่มีเพียง 500
ตันต่อวัน
ทีไอจีเป็นรายแรกที่ตั้งโรงแยกก๊าซจากอากาศมาเก็บในรูปของก๊าซเหลว ในขณะที่ผู้ผลิตรายอื่น
ๆ เมื่อแยกก๊าซออกมาได้แล้วจะอัดเข้าท่อหรือถังในรูปของอากาศ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ทีไอจีก้าวล้ำหน้าคู่แข่งในตลาดไปได้อย่างชัดเจนเพราะก๊าซเหลวเมี่อแปรมาเป็นอากาศจะขยายได้อีก
800 เท่าส่งผลให้ลูกค้านิยมมากขึ้น เนื่องจากช่วยลดต้นทุนการเก็บรักษาได้มหาศาล
ยิ่งกว่านั้น ก็คือ ทีไอจีมีระบบการขนส่งที่ได้มาตรฐานสากล ทำให้ลูกค้ายอมรับอย่างรวดเร็ว…!
ทีไอจีจะขนส่งก๊าซเหลวด้วยระบบท่อตรงไปยังโรงงานของลูกค้า หรือโดยรถบรรทุกก๊าซ
(แท้งเกอร์) และบรรจุในภาชนะพิเศษ
การขนส่งประมาณครึ่งหนึ่งจะเป็นท่อ ซึ่งต้นทุนจะถูกว่าระบบแท้งเกอร์ราว
50% ซึ่งเหมาะสำหรับลูกค้าที่ทีไอจีวางท่อไว้ถึงอย่างสะดวก
ส่วนต้นทุนโดยใช้แท้งเกอร์แม้จะแพงกว่า แต่ก็มีปริมาณการใช้ประมาณ 50%
ซึ่งเหมาะสำหรับการขนส่งไปยังตลาดทั่วประเทศ
แท้งเกอร์เป็นเทคโนโลยีที่ทีไอจีลงทุนมากกว่าการขนส่งวิธีอื่น เพราะแค่แท้งเกอร์
2 ชั้นเพียงคันเดียวเป็นมูลค่ากว่า 6 ล้านบาท "เป็นรถที่ได้มาตรฐาน
ไม่ต้องกลัวระเบิดหรือการรั่วไหล" ณัฏฐวุฒิ จันทร์เทพ ผู้จัดการฝ่ายจัดส่งกล่าวยืนยันและอธิบายถึงจุดเด่นของแท้งเกอร์ที่หนุนเนื่องให้ทีไอจีกลายเป็นโรงงานก๊าซเหลวที่สมบูรณ์ในเอเชีย
"เวลานี้เรามีแท้งเกอร์อยู่ 15 คัน ปริมาณจุจะมากกว่ารถเล็กที่ใช้กันอยู่ถึง
3 เท่าค่าขนส่งส่วนนี้ไม่ถึง 10% ของการผลิต ที่สำคัญ การันตีความปลอดภัย
เพราะภายในรถมีฉนวนซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงกั้นอยู่ เป็นรถความดันต่ำไม่เสี่ยงต่อแรงดันที่จะทำให้รถระเบิดมีเซฟตี้วาล์วเป็นตัวช่วยลดความดันในถังให้ลดลง
เมื่อรถถูกชนแล้วเกิดความดันสูงและมีวาล์วฉุกเฉินจะปิดอัตโนมัติ และมีสวิทซ์ฉุกเฉินคอยปิดปั๊มทั้งระบบได้ถ้าบังเอิญก๊าซรั่วไหล"
ลีออน ยังเล่าถึงแผนงานอนาคตว่า "เรายังมีโครงการเปิดโรงงานอีกแห่งที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกร
ถนนบางนาตราด โดยจะย้ายโรงงานเดิมที่สำโรงไปอยู่ที่นั่น กำหนดเปิดเดือนมีนาคม
2537 ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ของบริษัท เช่นการบรรจุการเก็บรักษา
ระบบการจัดส่งก๊าซเป็นต้น ที่เราย้ายเพราะสะดวกกับกรุงเทพฯ มากกว่า โดยเฉพาะจะทำให้เราจัดส่งก๊าซให้ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น"
นอกจากนี้ ทีไอจียังลงทุนที่มาบตาพุดเพิ่ม โดยใช้เงินอีก 27 ล้านบาทเพื่อผลิตอาร์กอนบริสุทธิ์และระบบจัดเก็บก๊าซ
และลงทุนอีก 97 ล้านบาทเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในขั้นแรก และจะลงทุนในปี 2539
อีกกว่า 1,000 ล้านบาทในการพัฒนาระบบการผลิตที่มาบตาพุดทั้งหมด ซึ่งจะทำให้สนองความต้องการตลาดที่ขยายตัวอีกปีละ
15% ได้อย่างเต็มที่
ลีออนเชื่อว่าจากการเตรียมแผนอย่างดีและให้ความสำคัญกับการจัดการที่สมบูรณ์จะทำให้ทีไอจีครองความเป็นหนึ่งในตลาดต่อไปได้…!
"เราพัฒนาจนเป็นหนึ่งในเอเชีย และยังจะพัฒนาต่อไปทั้งเรื่องบุคลากรและเทคโนโลยี"
ลีออนกล่าวในที่สุด