ทอมมี่ ลี เป็นคนพม่าโดยกำเนิด เขาไต่เต้าจากช่างเครื่องข้างถนนขึ้นมาเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
แม้จะร่ำรวย สุขสบายแล้ว สิ่งหนึ่งที่เขาไม่เคยลืมคือ "เพื่อน"
ทอมมี่ ลี อายุ 42 ปี ยึดมั่นในเรื่องการตอบแทนบุญคุณผู้ที่เคยช่วยเหลือเขา
อพาร์ทเม้นท์ใหม่เอี่ยมที่โผล่ขึ้นมา ในย่านที่พักอาศัยราคาถูกที่อยู่ในสภาพซอมซ่อ
ในไชน่าทาวน์ของนิวยอร์ค เป็นประจักษ์พยานในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี อพาร์ทเม้นท์ราคา
6 ล้านเหรียญ ที่เพิ่งจะสร้างเสร็จเมื่อปีกลายนี้ เป็นการลงทุนร่วมกันของ
บริษัททาร์เก็จทรี แอสโซสิเอต ของลีกับโบสถ์มิชชั่น แห่งไชน่าทาวน์
"ผมเดินทางจากพม่ามาอเมริกาเป็นครั้งแรกในปี 1969 โดยไม่มีเงินเลย
ผมใช้ชีวิตสองปีแรกเป็นช่างซ่อมรถอยู่บนถนนสายนั้น" ลีชี้ไปที่ถนนสายเล็กๆ
ตรงข้ามอพาร์เม้นท์
ลีซึ่งพูดภาษาอังกฤษยังไม่ได้ในขณะนั้น ได้รับความช่วยเหลือจากคณะบาทหลวงของโบสถ์ทั้งในเรื่องการเรียนภาษาและอื่นๆ
"ตอนนี้ผมอยู่ในฐานะที่จะทดแทนบุญคุณได้แล้ว ดังนั้นผมจึงอาสามาทำโครงการนี้"
ลีกล่าว
แม้ว่าชีวิตตอนแรกในแมนฮัตตันจะเริ่มต้นอย่างต่ำต้อย แต่ลีก็มาจากครอบครัวซึ่งมั่งคั่งของพม่าในยุคก่อนประกาศอิสรภาพ
ปู่ของเขาเป็นเจ้าของสิทธิในการจำหน่ายเหล้าจอห์นนี่ วอล็คเกอร์ เขาอพยพมาอยู่อเมริกาในฐานช่างเครื่องกล
ภายใต้โควต้าแรงงานมีฝีมือที่สหรัฐฯ อนุญาตให้เข้าเมืองได้
"ผมรู้จักคนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ก็จากการทำงานอยู่บนทางเท้าของถนนสายนี้"
ลีอธิบายถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจ "ชายชราชาวยิวคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าของตึกแถวนั้น
เฝ้าบอกให้ผมลงทุนในอาคารและที่ดิน ผมจึงชวนเพื่อนสามคนมาเป็นหุ้นส่วน โดยแต่ละคนลงเงิน
25,000 เหรียญ แล้วผมก็หาเพื่อนอีกคนหนึ่งมาเป็นผู้ร่วมกู้เงินจากธนาคารในท้องถิ่น
ผมเอาเงินของหุ้นส่วนสามคนนั้นมาโชว์ให้แบงก์ดู และเจรจาจนธนาคารยอมให้กู้เงินเพื่อให้ผมเอาไปลงหุ้น
แล้วผมก็เข้ามาอยู่ในธุรกิจเรียลเอสเตท"
ช่วงปลายทศวรรษ 1970-1980 ราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในไชน่าทาวน์สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
โครงการในช่วงแรกๆ ของลีคือ การสร้างที่จอดรถ หลังจากนั้นเขาก็เขยิบขึ้นไปเล่นกับโครงการใหญ่ขึ้น
รวมทั้งโครงการแมนดาริน พลาซ่า ซึ่งมีมูลค่า 35 ล้านเหรียญ บนที่ดินที่เคยเป็นโรงงานมาก่อน
"ผมมีความสามารถในการหาที่ดินราคาถูกๆ หรือที่ดินที่มีปัญหา" นักพัฒนาที่ดินผู้ร่ำรวยกล่าว
เช่นเดียวกับนักธุรกิจจีนที่ประสบความสำเร็จ ลีได้ย้ายบ้านจากไชน่าทาวน์
ไปอยู่ที่เขตซุลลิแวนทางตอนเหนือของนิวยอร์ค ภรรยาของเขาเป็นลูกครึ่งอิตาเลียน-อเมริกัน
ทั้งคู่มีลูก 3 คน
แต่สิ่งที่แตกต่างไปจากนักธุรกิจในไชน่าทาวน์ ซึ่งเป็นพวกคอนเซอร์เวตีฟโดยส่วนใหญ่ก็คือ
ลีกระตือรือร้นกับความคิดใหม่ๆ ซึ่งบางทีก็เป็นความคิดที่เสี่ยง ทัศนะเช่นนี้ช่วยให้เขาสามารถแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในพื้นที่นอกเหนือจากไชน่าทาวน์ได้
ปลายปี 1991 เป็นช่วงที่ตลาดเรียบเอสเตทเริ่มซบเซา โครงการคอนโดมิเนียมราคา
10 ล้านเหรียญที่เซ้าท์ สตรีท ซีพอร์ต ทางตอนใต้ของเกาแมนฮัตตัน เพิ่งจะก่อสร้างเสร็จแต่ลีไม่สามารถขายห้องได้แม้แต่ยูนิตเดียว
เพราะภาวะตลาดตกต่ำ "ผมต้องรับภาระดอกเบี้ยมาก ดังนั้นจึงตัดสินใจลงมือตกแต่งห้องใหม่
ภายในเวลา 2 อาทิตย์เราก็เปลี่ยนคอนโดมิเนียมเป็นโรงแรมซีพอร์ต สวีท โดยไม่มีต้นทุนเพิ่มเลย
ตอนนั้นมันเป็นการดิ้นรนแบบไม่มีความหวังโดยแท้" ลีกล่าว แต่ทว่ากลับเป็นผลดี
เพราะในบริเวณนั้นไม่มีโรงแรมอื่นอยู่เลย เมื่อซีพอร์ต สวีท เกิดขึ้นมา จึงได้ลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่เป็นผู้บริหารของธุรกิจต่างๆ
ที่มีสำนักงานใหญ่ในย่านนั้น ปัจจุบันอัตราการเข้าพักสูงถึง 80%
ลียังขายห้อง 25% ของจำนวนห้องทั้งหมดด้วยวิธีไทม์แชร์ริ่ง ซึ่งนับเป็นธุรกิจไทม์แชร์ริ่งแรกสุดแห่งหนึ่งของนิวยอร์ค
ลีกล่าวว่า "คุณรู้ไหมว่า ทำไมไม่มีใครทำแบบนี้มาก่อน มันเป็นเพราะไม่มีใครกล้าหาญพอที่จะลองนะสิ"
ลียังกล้าพอที่จะเข้าไปสู่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก
นั่นคือ ธุรกิจศิลปะ เมื่ออาคารหลังหนึ่งของเขา บนถนนกรีน สตรีท ในย่านโซโห
ว่างมาเป็นเวลาหนึ่งปี เขาก็ตัดสินใจทำตึกหลังนี้ให้เป็นแกลลอรี่ โดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น
"เดอะเรนโบว์" และให้เช่าพื้นที่สำหรับแสดงงานและกิจกรรมทางศิลปะ
ในราคา 1,000 เหรียญต่อวัน "ผมค้นพบช่องวางทางการตลาด ทุกวันนี้เรามียอดจองเข้ามาอย่างท่วมท้น"
ลีกล่าว
ลียังมีธุรกิจอื่นๆ อีกด้วย คือบริษัทฟิวเจอร์คอมโพเนนท์ ซึ่งส่งออกชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าไปยังเอเชีย
และกำลังจะเริ่มขายบ้านสำเร็จรูปแบบโมดูลาร์ ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 45,000 เหรียญขึ้นไปด้วย
เขาบอกว่าบ้านแบบนี้ สามารถสร้างเสร็จได้ภายใน 45 วัน
ในส่วนที่เกี่ยวกับโบสถ์มิชชั่น ลีก็มีธุรกิจด้วยเช่นเดียวกัน เขากำลังทำตลาดให้กับซอฟต์แวร์เพื่อการบริหารและระบบบัญชีของโบสถ์ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้น
โดยพระรูปหนึ่งของโบสถ์มิชชั่น "ผมชอบธุรกิจนี้ คุณรู้ไหมว่าในสหรัฐฯ
มีโบสถ์ทั้งหมดเท่าไร" ลีถาม