เกมเดิมพันธุรกิจยา… ปลุกกระแสการตลาดแนวใหม่


ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ธุรกิจยาเวชภัณฑ์ หันมาปรับโมเดลเร่งเปิดเกมรุก งัดการตลาดแนวใหม่ตามรอยสินค้าคอนซูเมอร์ หลังประเมินว่าจะ “ส่อแวว” ชะลอตามสภาพเศรษฐกิจ โดยปูพรมประชาสัมพันธ์พร้อมจัดอีเวนท์เน้นเรื่องสุขภาพเป็นหลักและโปรโมชั่นอัดฉีดหวังกระตุ้นตลาดให้โตขึ้น

ปัจจุบันสภาพทางเศรษฐกิจของประเทศส่ออาการ “ฝืด”และยังไม่มีทีท่าว่าจะ “วิ่งฉิว”ได้อีกเมื่อไร นอกจากสินค้าคอนซูเมอร์โปรดักส์ที่ส่งผลกระทบแล้ว ธุรกิจเกี่ยวกับยาเวชภัณฑ์ก็ส่อแววจะเจอกับอาการ “นิ่ง”เช่นกัน เพราะในทุกปีตลาดนี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งขุมทรัพย์ที่มีมูลค่ารวมกว่า 4,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตทุกปีไม่ต่ำกว่า 10% ....การปรับตัวของผู้ประกอบการจึงต้องเร่งหากลยุทธ์แผนการตลาดงัดออกมาใช้จูงใจอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกระแสของการรักษ์และเอาใจใส่ดูแลสุขภาพอย่างมีคุณภาพที่กลายเป็นยุทธวิธีแนวใหม่ที่ใช้ได้ผล

ถึงแม้ว่าสัญญาณธุรกิจในปี 2550 จะดูไม่เอื้ออำนวยเท่าไรนัก แต่จากการโหมรุกตลาดของหลายแบรนด์ ก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่บ่งชี้ถึงการเติบโตของตลาดได้อย่างน่าสนใจ

ด้วยข้อจำกัดห้ามโฆษณาของการประกอบธุรกิจเวชภัณฑ์รักษาโรค กอปรกับการแข่งขันในตลาดของประเทศไทยที่มีสูงขึ้น ขณะที่กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเฉพาะอาทิ แพทย์คลินิกและโรงพยาบาล ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับหากลยุทธ์ทางการตลาดแนวใหม่เข้ามาใช้เพียงเพื่อหวังกระตุ้นสร้างรายได้เพิ่มไปพร้อมกับการสร้างแบรนด์ให้เกิดความจดจำ

สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่บริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อต่อยอดธุรกิจ เรื่องนี้ ณัฐพันธุ์ นิมมานพัชรินทร์ ผู้จัดการฝ่ายขายเอไซ บอกว่า บริษัทมุ่งเน้นในเรื่องของการดูแลสุขภาพให้กับประชาชนทุกเพศทุกวัย และยังมีนโยบายหลักในการเป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมสายใยอันดีให้กับคนในครอบครัว โดยเน้นในเรื่องของการเป็นผู้นำเรื่องของการให้ความรู้ เรื่องการดูแลสุขภาพ ตลอดจนรวมถึงการให้คำปรึกษาอย่างถูกวิธี

จุดนี้เอง ผู้ประกอบการมองเป็นโอกาสและช่องว่างในการขยายตลาดได้อย่างมหาศาล หากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมารู้จักแบรนด์สินค้าและใช้ประโยชน์ได้อย่างมีคุณภาพ

จึงเป็นที่มาของการทำตลาดแนวใหม่แบบ 360 องศา ที่มีทั้งการประชาสัมพันธ์ จัดอีเวนท์มาร์เก็ตติ้ง และส่งแคมเปญโปรโมชั่นเมื่อมีโอกาส นับเป็นยุทธวิธีที่ไอไซ หยิบนำมาใช้

“เอไซ เลือกที่จะใช้การจัดอีเว้นท์ในแถบภูมิภาคสำคัญต่างๆ ของประเทศไทยเพื่อให้เกิดกิจกรรมร่วมกันระหว่าง แพทย์, โรงพยาบาล และกลุ่มเป้าหมาย” ณัฐพันธุ์ กล่าว

ยุทธวิธีนี้ดูจะสร้างความพึงพอใจให้กับธุรกิจยาอย่างเอไซได้ดีทีเดียว นอกจากจะเป็นการเข้าหาถึงตลาดตรงกลุ่มเป้าหมายแล้วการสร้างความจดจำแบรนด์ต่อกลุ่มเป้าหมายก็เป็นผลพลอยได้ติดตามมา

จะเห็นได้ว่าในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ค่ายเอไซ จึงมีการจัดกิจกรรมสำหรับคนรักสุขภาพถึง 4 ภาคอย่างต่อเนื่องในหัวเมืองหลักๆของประเทศไทย

แม้ว่าการรุกตลาดแนวใหม่ของค่าย “เอไซ”จะร้อนแรงก็ตาม แต่กลุ่มของ “ไฟเซอร์” ก็มีแผนงานสำคัญในการขยายฐานหรือกระตุ้นพฤติกรรมของผู้บริโภคออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีทิศทางการทำตลาดในรูปแบบใหม่ๆเช่นกัน

มนู สว่างแจ้ง ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยและอินโดไชน่า บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้คิดค้นแคมเปญใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องของการรักษ์และดูแลสุขภาพ พร้อมกับทำโปรโมชั่นในลักษณะร่วมกิจกรรมซึ่งมีการตั้งรางวัลสร้างแรงกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักแบรนด์ของไฟเซอร์มากขึ้น

“โมเดลการตลาดแนวใหม่ จำเป็นต้องการสร้างการรับรู้และตอกย้ำจิตสำนึกถึงความเอาใจใส่ดูแลสุขภาพ ขณะเดียวกันก็คาดหวังว่าน่าจะก่อให้เกิดผลสำเร็จในแง่ของภาพลักษณ์แบรนด์ไปพร้อมกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกลุ่มเป้าหมายโดยตรงเช่นกัน”มนู กล่าว

การหยิบเอาเรื่องของสุขภาพของคนมาปรับใช้เป็นยุทธวิธีในการทำตลาดแนวใหม่ของกลุ่มเวชภัณฑ์รักษาโรคครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการโหมกิจกรรม และไอเดียแปลกใหม่ผ่านอีเวนท์มาร์เก็ตติ้งเป็นอีกตัวแปรที่จะ “ขับเคลื่อน”โลกธุรกิจเวชภัณฑ์รักษาโรคให้สามารถ “เดินหน้า” ไปได้จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

โดยคนในแวดวงธุรกิจเวชภัณฑ์รักษาโรค ยังเชื่อว่าแม้ตลาดจะมีการชะลอลงไปบ้าง แต่จากการงัดกลยุทธ์ใหม่ๆ ออกมาใช้ กอปรกับพฤติกรรมของคนไทยเกี่ยวกับความเอาใจใส่ดูแลด้านสุขภาพมีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เม็ดเงินหมุนเวียนต่อปีของธุรกิจเวชภัณฑ์ฯมีไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท และเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายของกลุ่มเซ็กเมนท์ต่างๆ ขึ้น

ซึ่งนอกจะได้รับความรู้ในเรื่องของเวชภัณฑ์รักษาโรคแล้วยังได้รับข้อมูลที่เป็นจริงโดยตรงจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อเป็นการป้องกันรักษาอาการเริ่มแรกของโรคต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที...สิ่งเหล่านี้จึงเป็นการรุกตลาดแนวใหม่ สร้างความร้อนแรงให้กับกลุ่มเวชภัณฑ์รักษาโรคของแต่ละค่ายซึ่งต่างหยิบนำกลยุทธ์นี้มาสร้างสีสันเปิดตลาดช่วงไตรมาสแรกของปี 2550


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.