|

ผ่าธุรกิจ “ฟ.ฟัน”...ขุมทรัพย์หลายพันล้าน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ปัจจุบันตลาดทันตกรรมในประเทศมีสถานประกอบการมากกว่า 3,500 แห่ง สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนของมูลค่าตลาดคลินิกทันตกรรมเอกชนร้อยละ 75 ส่วนที่เหลืออีก 25% จะเป็นในส่วนของโรงพยาบาล ขณะเดียวกันในทุกๆ เดือนจะมีคลินิกทันตกรรมเปิดใหม่ประมาณ 10 แห่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการแข่งขันที่เริ่มจะรุนแรงมากขึ้น
นับย้อนหลังไปเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจทันตกรรมเปรียบเสมือนเสือหลับ ที่ไม่เคยมีกิจกรรมทางการตลาดใดๆออกมาเลย ขณะที่ความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการด้านทันตกรรมกลับสวนกระแสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากธุรกิจทันตกรรมไม่เร่งปรับตัวก็อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอนาคตอันใกล้
ด้วยข้อจำกัดห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์ส่งผลให้ธุรกิจทันตกรรมซึ่งเป็นธุรกิจบริการประเภทหนึ่งที่ต้องหายุทธวิธีในการสร้างตลาดขึ้นมาเอง ขณะเดียวกันการแข่งขันทางธุรกิจก็มีเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีทันสมัยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้ธุรกิจทันตกรรมเป็นขุมทรัพย์ที่กลุ่มผู้ประกอบการพร้อมจะกระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ด้วย
ก่อนที่ทุกอย่างจะกลายเป็นปัญหา ทันตแพทย์ สุนทร อัศวานันท์ ผู้อำนวยการคลินิก อัศวานันท์ ซึ่งเปิดให้บริการด้านทันตกรรมมากว่า 18 ปี ถึงแม้ว่าจะปฏิเสธว่าไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจก็ตาม แต่ก็ยอมรับว่า มีการเตรียมแผนปรับและสร้างภาพลักษณ์ของคลินิกใหม่ หรือที่เข้าใจกันคือเรื่องของการสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาจริง ภายใต้ชื่อ “อัศวานันท์”ที่เปลี่ยนทั้งโลโก้และปรับโลเคชั่นให้มีพื้นที่เพิ่มมากขึ้น
“เริ่มดำเนินการแล้วใน 2007 รวมถึงการปรับกลยุทธ์ใหม่เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมกับการรุกสร้างแบรนด์ด้วย”ทันตแพทย์ สุนทร กล่าว
ขณะเดียวกันความสำคัญในการสร้างแบรนด์เพื่อให้เป็นที่จดจำของกลุ่มลูกค้าเป็นหน้าที่ของ พรประภา อัศวานันท์ ผู้จัดการทั่วไปคลินิกอัศวานันท์ ที่บอกว่าจะใช้ยุทธวิธีที่เรียกว่า ไวรัล มาร์เก็ตติ้ง (Viral Marketing) หรือการตลาดแบบไวรัสมาเป็นหัวหอกสำคัญในการเข้าถึงและสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมาย
ด้วยฐานข้อมูลจำนวนลูกค้ากว่า 10,000 คน ที่เคยเข้าใช้บริการคือเป็นเป้าหมายในการเสริมสร้างกลยุทธ์แบบไวรัสได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ พรประภา บอกว่าได้นำอินเทอร์เน็ตมาใช้เป็นสื่อกลางเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวในวงการทันตกรรมอาทิ เครื่องมือที่มีเทคโนโลยีทันสมัยและกระบวนการขั้นตอนของการรักษา
“ปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าของทางคลินิก โดยเฉพาะในส่วนของลูกค้าชาวต่างชาติมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2549 ที่ผ่านมามีสัดส่วนใกล้เคียงกับลูกค้าชาวไทย ซึ่งส่วนใหญ่ชาวต่างชาติจะเป็น ยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและไต้หวันเป็นหลัก”พรประภา กล่าว
ขณะเดียวกันกลุ่มลูกค้าคนไทยที่เข้าใช้บริการผู้จัดการทั่วไปของคลินิกอัศวานันท์ กล่าวว่า ลูกค้าคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนทำงานหรือไม่ก็จะอยู่ในระดับ B+ ขึ้นไป ซึ่งนั่นหมายความว่าการให้บริการรวมไปถึงเครื่องไม้เครื่องมือจะต้องมีเทคโนโลยีทันสมัยและอัพเดทอยู่ตลอดเวลา
“แม้ว่าจะเปิดให้บริการมายาวนานกว่า 18 ปีก็ตาม ด้วยชื่อเสียงและมาตรฐานของการให้บริการต่างเป็นที่ยอมรับ แต่หากมองถึงอนาคตอันใกล้การแข่งขันที่เริ่มทวีความรุนแรงอีกทั้งกลยุทธ์ในการนำเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาใช้ต่างก็มีเพิ่มขึ้น การสร้างแบรนด์ครั้งนี้คาดว่าจะสร้างการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวได้เป็นอย่างดี”พรประภา กล่าวพร้อมกับเสริมว่า
และภายในสิ้นปีนี้ คลินิก อัศวานันท์ จะเปิดอาคารใหม่ให้บริการ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 300 ตาราวา แบ่งเป็นพื้นที่ใช้สอย 2 พันตาราเมตร ซึ่งจะมีห้องตรวจเพิ่มขึ้นถึง 20 ห้อง นับว่าเป็นศูนย์ทันตกรรมที่มีความสมบูรณ์แบบในการรักษาและเชื่อว่าจะสามารถครอบคลุมการรักษาได้และเชื่อว่าจะรองรับจำนวนลูกค้าเข้าไปใช้บริการเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20%
กระแสของการรุกตลาดในกลุ่มธุรกิจทันตกรรมที่เริ่มมีออกมาอย่างต่อเนื่องและร้อนแรงช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้งเจ้าเก่าและเจ้าใหม่ต้องเร่งหากลยุทธ์เพื่อสร้างแรงจูงใจในเรื่องของการให้บริการและเทคโนโลยีทันสมัยของเครื่องมือ การออกมาสร้างแบรนด์ใหม่ครั้งนี้ของกลุ่มคลินิกอัศวานันท์ที่มีประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 18 ปีจึงน่าจะเป็นบทพิสูจน์ได้ว่า สงครามทันตกรรมได้เริ่มขึ้นแล้ว
หากแต่ผู้ประกอบการธุรกิจทันตกรรมรายใดที่เปิดธุรกิจเพียงแค่บูมตามกระแส...แต่ยังขาดศักยภาพความพร้อมไม่ว่าจะเป็นบริการด้านเครื่องมือหรือจำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ....เส้นทางนี้อาจจะไม่สร้างความสำเร็จแถมยังต้องมาเหนื่อยต่อการทำตลาดธุรกิจ “ฟ.ฟัน” ก็ได้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|