|

"เอเชีย" ตลาดกลยุทธ์แอลจีพลังหนุนติดทอปทรีมือถือโลก
ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แอลจีผงาดตลาดมือถือจีเอสเอ็มตั้งเป้าขึ้นทอปทรีตลาดโลกภายในปี 2553 พร้อมส่ง ไชน์ บุกตลาดเอเชีย ตะวันออกกลางและแอฟริกา เชื่อมั่นตลาดอนาคตไกล ตั้งยอดขายรวม 13.5 ล้านเครื่อง สานต่อความสำเร็จ "ช็อกโกแลต" ที่สร้างยอด 7.5 ล้านภายในปีเดียว เผย "ดีไซน์" และ "อาร์แอนด์ดี" ปัจจัยหนุนความสำเร็จ
หากเอ่ยถึงแบรนด์ผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่สัญชาติเกาหลีใต้อีกแบรนด์ที่ไม่ใช่ซัมซุงแล้ว "แอลจี" ถือเป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่กำลังก้าวขึ้นมาติดอันดับท็อปแบรนด์ในตลาดเมืองไทย ที่มาแรงด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่น "ช็อกโกแลต"
ถึงแม้จะเพิ่งเปิดตัวเมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมา ช็อกโกแลตกลับมียอดขายที่ดีเกินคาดหมาย ทั้งๆ ที่แอลจีเพิ่งจะหันมาให้ความสำคัญกับการทำตลาดในเมืองไทยอย่างจริงจัง แม้จะยังไม่มีตัวเลขยอดขายช็อกโกแลตในประเทศไทยปีที่ผ่านมาออกมาว่าเป็นเท่าไรก็ตาม
โบ ชอย รองประธาน และหัวหน้าทีมผู้ดูแลรับผิดชอบด้านงานขายและการตลาดในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ จำกัด เล่าให้ฟังถึงความสำเร็จในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจีเอสเอ็มให้ฟังว่า เวลานี้แอลจีสามารถขายโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นช็อกโกแลตไปมากกว่า 7.5 ล้านเครื่องทั่วโลกในปี 2549 ที่ผ่านมา โดยประเมินว่า ช็อกโกแลตน่าจะยังขายได้ถึง 10 ล้านเครื่องในครึ่งปีแรกของปีนี้ โดยคาดว่ายอดขายช็อกโกแลตในตลาดเอเชีย ตะวันออกกลางและแอฟริกาน่าจะมีถึง 1 ล้านเครื่อง
จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ความสำเร็จของช็อกโกแลตได้แจ้งเกิดแบรนด์ "แอลจี" ในตลาดเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจีเอสเอ็มได้อย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่เพิ่งหันมาให้ความสำคัญกับตลาดนี้เพียง 5 ปีเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาแอลจีถือเป็นเบอร์ 1 ในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบซีดีเอ็มเอของโลกมานาน
ปัจจุบัน แอลจีมียอดขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบจีเอสเอ็มทั่วโลกอยู่ที่ 25 ล้านเครื่อง อยู่ในอันดับ 5 ของตลาดโลก ขณะที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบซีดีเอ็มเอ แอลจีขายไปได้ 39 ล้านเครื่อง อันดับ 1 ในตลาดโลก
เมื่อถามถึงตลาดในภูมิภาคใดจะเป็นตลาดที่ยังมีโอกาสเติบโตสูงในมุมมองของแอลจี โบ ชอย เล่าให้ฟังว่า เอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกานับเป็นตลาดที่สำคัญในกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทที่ต้องการก้าวขึ้นเป็นทอปทรีของบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ระดับโลกภายในปี 2553 ซึ่งเป็นตลาดที่เราคาดหวังจะมีอัตราการเติบโตในระดับดับเบิลดิจิทุกๆ ปี ทำให้ทางแอลจีได้ทุ่มเททรัพยากรต่างๆ สำหรับตลาดนี้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาด ตลอดจนยังเป็นการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคนี้เพิ่มเป็นเท่าตัวให้ได้ภายในปี 2553
ในปีที่ผ่านมา แอลจี โมบาย คอมมิวนิเคชั่น มียอดขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจีเอสเอ็มในตลาดเอเชียมากกว่า 4.7 ล้านเครื่อง แต่จากกลยุทธ์ในปี 2550 นี้ แอลจีตั้งเป้าหมายที่จะมียอดขายให้ได้ถึง 9.5 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 104% จากปี 2549 ขณะที่ตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาในปีที่ผ่านมา แอลจีมียอดขายอยู่ที่ 1.7 ล้านเครื่อง ตั้งเป้ายอดขายในปีนี้ไว้ที่ 4 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 136%
ทางแอลจีมีแผนที่จะขยายส่วนแบ่งตลาดในเอเชีย ตะวันออกกลางและแอฟริกาจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน 4% เพิ่มเป็น 9.4% ในปี 2553
จากเป้าหมายดังกล่าว ปัจจัยที่ทำให้แอลจีมีความมั่นใจเช่นนั้น นอกเหนือจากเรื่องช่องทางจัดจำหน่ายที่แอลจีให้ความสำคัญมาโดยตลอดแล้ว การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดถือเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่แอลจีนำมาใช้บุกตลาดต่อหลังจากที่ ช็อกโกแลตสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์แอลจีก้าวขึ้นมาเป็นพรีเมียมแบรนด์
"ไชน์" เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นล่าสุดที่แอลจีเตรียมนำมาเปิดตัวในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เพื่อสร้างความฮือฮาให้กับตลาด ภายหลังจากที่เปิดตัวในประเทศเกาหลีไปแล้วประมาณปลายปีที่ผ่านมา
โดยไชน์ ถือเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่เจเนอเรชั่นที่ 2 ในกลุ่มแบล็กซีรีส์ต่อจากช็อกโกแลต โดยทางแอลจีคาดว่าจะทำตลาดได้มากกว่าช็อกโกแลต โดยมีจุดเด่นในงานดีไซน์ตัวเครื่องทำจากวัสดุอย่างสเตนเลสสตีล
"ไชน์จะเป็นมือถือที่มีจุดเด่นในทุกๆ ด้านที่เหนือกว่าช็อกโกแลตโฟน ทำให้แอลจีมีการคาดการณ์ว่ามือถือรุ่นใหม่นี้จะได้รับความนิยมมากกว่าช็อกโกแลตโฟนที่ได้ทำตลาด"
นอกจากไชน์แล้ว แอลจีเตรียมที่จะส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่น "ปราดา" เข้าสู่ตลาดด้วยเช่นกัน โดยจะเริ่มจาก 3 ประเทศในเอเชียก่อน ประกอบไปด้วยประเทศมาเลเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ ส่วนในการทำตลาดในประเทศไทยนั้น หยง มัน โซ ผู้จัดการกลุ่มโมบาย บิสซิเนส ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนีย บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ จำกัด บอกว่า คงจะไม่นำปราดาเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยในเวลานี้ ซึ่งติดปัญหาบางประการในทางการพิมพ์ตัวอักษรภาษาไทยบนแป้นคีย์ แต่จะมีการเปิดตัวไชน์ในไทยก่อน โดยคาดว่าจะทำการเปิดตัวประมาณเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ และจะมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ในรุ่นอื่นๆ เข้าตลาดอีกหลายสิบรุ่นในปีนี้
"แอลจีตั้งเป้าหมายสำหรับส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทยไว้ที่ 5% จากปีที่แล้วมีส่วนแบ่งตลาดน้อยมาก"
ปราดา เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ตัวแรกของแอลจีที่เป็นระบบจอสัมผัสเต็มรูปแบบมาใช้ โดยร่วมมือกับแบรนด์แฟชั่นสุดหรูจากอิตาลี "ปราดา" ใช้เวลาในการพัฒนานานถึง 2 ปี จุดเด่นของโทรศัพท์รุ่นนี้อยู่ตรงที่เป็นการรฉีกรูปแบบการใช้งานโทรศัพท์ในปัจจุบัน จากคีย์บอร์ดตัวเลขเป็นหน้าจอทัชสกรีน ซึ่งช่วยให้ตัวเครื่องมีความบางเพิ่มขึ้นด้วย โดยมีหน้าจอขนาด 3 นิ้ว แสดงผลได้ด้วยความละเอียด 200x400 พิกเซล รองรับการทำงานได้กับเครือข่ายจีเอสเอ็ม และมีกล้องดิจิตอลขนาด 2 ล้านพิกเซล พร้อมเลนส์ Schneider-Kreuznach สามารถเล่นเพลงเอ็มพี3 ดูวิดีโอภาพเคลื่อนไหว ใช้ฟังเพลงดิจิตอล และความสามารถในการดูเอกสาร และที่สำคัญที่สุดคือ คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้โทรศัพท์ดูโฉบเฉี่ยวแต่เรียบง่าย
เมื่อดูถึงความสำเร็จจีเอสเอ็มของแอลจีในเวลานี้ นับตั้งแต่รุ่นช็อกโกแลต ไล่มาถึงไชน์และปราดาจะพบว่า ความสำเร็จดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากความใส่ใจในการทุ่มเทในเรื่องการดีไซน์ผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค
เกง ฮุย ชา ผู้จัดการอาวุโส เอ็มซี ดีไซน์ รีเสิร์ช แล็บ คอร์ปอเรต ดีไซน์ เซ็นเตอร์ บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ จำกัด ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวดีไซน์ เซ็นเตอร์ และศูนย์วิจัยและพัฒนา ถือเป็นหน่วยงานที่ทำให้แอลจีพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการตลาดให้ฟังว่า คอร์ปอเรต ดีไซน์เซ็นเตอร์จัดตั้งขึ้นมาเมื่อประมาณปี 1991 เพื่อใช้เป็นสถานที่ดีไซน์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจอภาพดิจิตอล เครื่องเล่นดีวีดี ระบบเครื่องเสียง โฮมเธียเตอร์ พีซี และโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก โดยมีสาขาของศูนย์ดีไซน์อยู่ในต่างประเทศ 5 แห่ง 8 บริษัทดีไซน์ โดยมีศูนย์ใหญ่อยู่ที่กรุงโซล
ผลิตภัณฑ์ของแอลจี ต่างได้รับการศึกษาและพัฒนาจากศูนย์ฯ นี้ทั้งหมด โดยแอลจีให้ความใส่ใจในทุกรายละเอียด นับตั้งแต่แนวคิดการออกแบบ ไปจนถึงการค้นหาวัสดุที่ใช้
"ผลงานที่สำคัญของศูนย์ฯ ได้แก่ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ช็อกโกแลตที่ได้รับรางวัลเรดดอต 2006 รวมถึงการได้รับรางวัลทีมดีไซน์ยอดเยี่ยมในปีที่ผ่านมา ล้วนแสดงให้เห็นว่า แอลจีให้ความสำคัญกับเรื่องการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการออกแบบด้วย โดยที่ปรัชญาของศูนย์ฯ นั้นจะเน้นไปที่การดีไซน์เพื่อตอบรับความต้องการของผู้บริโภคเป็นสำคัญ"
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|