ธาริษาทุบบาทเหลือ34อ้างผ่อนกฎ30%โยนบาปผู้ส่งออก


ผู้จัดการรายวัน(15 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงบ่ายวานนี้ (14 มี.ค.) นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ (15 มี.ค.) ค่าเงินบาทมีแนวโน้มหลุด 34 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเป็นวันเริ่มต้นของการเพิ่มทางเลือกในเงินทุนนำเข้าจากต่างประเทศ ทำประกันความเสี่ยงเต็มจำนวนแทนการสำรองเงินทุนนำเข้า 30% นางธาริษากล่าวว่า วันนี้ ธปท.ก็คงเข้าไปดูแลตลาดตามสมควร เพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนมากเกินไป

“ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท จะเกี่ยวกับข่าวที่ออกมาว่าธปท.จะมีการยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ30 หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของผู้ส่งออก แต่ในวันที่ 15 มี.ค.นี้ เป็นการเพิ่มทางเลือกเท่านั้น มาตรการร้อยละ 30 ยังคงมีอยู่ และการเตรียมการยกเลิกมาตรการร้อยละ 30 ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่เป็นความคิดที่เกิดขึ้นนานแล้ว ”

ส่วนค่าเงินบาทวานนี้ที่เคลื่อนไหวแข็งค่าต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้านั้น นางธาริษาระบุว่า เกิดจากผู้ส่งออกยังคงเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีในมืออย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ส่งออกคาดว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปอีก เมื่อการเทขายเงินดอลลาร์เป็นการเทขายของผู้ส่งออกคนไทย ที่ยังมีเงินดอลลาร์สหรัฐจากการส่งออกอยู่ ไม่ใช่เงินที่ต่างชาติเทเข้ามาเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาท ธปท.จึงเห็นว่าไม่ใช่เงินเก็งกำไรจากต่างชาติ ธปท.ก็คงไม่เข้าไปทำอะไรเป็นพิเศษ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่นางธาริษาให้สัมภาษณ์นั้น ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 35.06-35.07 บาทต่อดอลลาร์

ต่อมาเวลา 17.00น. ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนักบริหารเงินพบว่า ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากนางธาริษาให้สัมภาษณ์ชี้นำ โดยปิดตลาดที่ 35.00 บาทต่ออดอลลาร์

นักบริหารเงินเปิดเผยการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวานนี้ว่า เปิดตลาดช่วงเช้า 35.12 บาทต่อดอลลาร์ ระหว่างวันเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงบ่าย จนช่วงเย็นมาปิดตลาดที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์

นักบริหารเงินเปิดเผยค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศ (ออฟชอร์) ว่า ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ล่าสุดวันที่ 13 มี.ค.เคลื่อนไหวอยู่ที่ 32.90-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนต่างประเทศในช่วงนี้ เงินเยนเคลื่อนไหวแข็งค่ามาอยู่ที่ระดับ 116.00/10 เยน/ดอลลาร์ เงินยูโรแข็งค่ามาที่ 1.3190 ดอลลาร์/ยูโร ปัจจัยต่างประเทศขณะนี้ ตลาดรอตัวเลขต่างๆ เช่น CPI, PPI ของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์นี้, การประชุม BOJ วันที่ 19-20 มี.ค. และการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) วันที่ 20-21 มี.ค.นี้

นายแบงก์เชื่อบาทแข็งค่าต่อ

นายอภิศักด์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย มองว่า ค่าเงินบาทในระยะยาวยังมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง แต่ในระดับที่ไม่สูงมาก ซึ่งเป็นไปตามทิศทางค่าเงินสกุลภูมิภาค ดังนั้นผู้ส่งออกต้องป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน แม้จะมีต้นทุนในการทำธุรกรรมบ้างแต่ไม่มาก ทั้งนี้ลูกค้าธนาคารกรุงไทยในสัดส่วน 70% ได้มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน ขณะที่บางส่วนเริ่มใช้สกุลเงินต่างประเทศแทนดอลลาร์สหรัฐ

"ผู้ประกอบการส่งออก อยากเห็นค่าเงินบาทนิ่ง เพราะสามารถที่จะปรับตัวและวางแผนการรองรับได้”

สอดคล้องกับความเห็นนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ที่กล่าวว่า ค่าเงินบาทในปีนี้ยังมีทิศทางที่แข็งค่าขึ้น เนื่องจากไทยยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่เป้าหมายไม่ได้มองว่าค่าเงินบาทควรจะอยู่ในระดับที่อ่อนหรือแข็งค่า แต่ควรเคลื่อนไหวตามค่าเงินในภูมิภาคและนิ่ง

"มองทิศทางค่าเงินบาทในช่วงนี้ได้ยากมาก เพราะมีหลายปัจจัยมากระทบ เช่น ทางการก็น่าจะมีมาตรการเข้ามาดูแล ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศก็เป็นประเด็นสำคัญสำคัญโดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่แนวโน้มชะลอลง แต่แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงแข็งค่า” นายประสารกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.