"ประกันสังคม 2 ปี การเริ่มต้นเพื่อวันหน้า"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ถึงวันนี้ คนไทยจำนวนหนึ่งเริ่มมีความคุ้นเคยกับการมีกฎหมายประกันสังคม ที่มีอายุครบ 2 ปีเมื่อต้นเดือนมิถุนายน แม้ว่าระยะเวลา 2 ปีของการใช้กฎหมายฉบับนี้ดูเหมือนว่าจะเป็น 2 ปีแห่งความไม่เข้าใจในรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ก็ตาม

สำหรับหลายๆ คนสภาพของบัตรประกันสังคมในตอนแรก ไม่ต่างไปจากบัตรมรณะแต่อย่างใด เพราะเป็นบัตรที่ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ปฏิเสธที่จะรักษาตัวคนไข้ได้แม้จะอยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุ โดยอ้างว่าไม่ใช่โรงพยาบาลที่ระบุในบัตรประกันสังคมจนกระทั่งเสียชีวิตเพราะการรักษาที่ไม่ทันกับเวลา

"เรายอมรับว่าที่ผ่านมา อาจจะมีบ้างที่กฎหมายประกันสังคมเป็นกฎหมายที่สร้างความเจ็บปวดให้หลายคน อย่างกรณีคนป่วยเป็นโรคไตแล้วถูกโรงพยาบาลแห่งหนึ่งปฏิเสธที่จะผ่าตัดเพราะค่าใช้จ่ายสูง แต่วันนี้เราคงมองเห็นแล้วว่าการมีกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องสร้างความมั่นคงให้สังคม" นายแพทย์ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์ รองประธานอนุกรรมการประกันสังคมฝ่ายวิชาการและประชาสัมพันธ์ สำนักงานประกันสังคม กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

หมอชุมศักดิ์อธิบายถึงการที่เขากล่าวว่า การมีกฎหมายประกันสังคม เป็นเรื่องที่สร้างความมั่นคงให้กับสังคม ว่าเพราะเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้อยู่ในข้อกำหนด (คือสถานประกอบการที่มีคนงานมากกว่า 10 คน) สามารถที่จะเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลได้ ต่างจากในอดีตที่คนงานจำนวนมาก เมื่อต้องการที่จะรักษาพยาบาลจะต้องมีการกู้หนี้ยืมสินและหากไม่สามารถกู้ได้ ก็ไม่สามารถที่จะเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลต่างๆ ได้

อย่างน้อย การคุ้มครองที่ครอบคลุมถึง 4 อย่างในวันนี้ อันได้แก่ การคลอดบุตร การเจ็บป่วย การทุพพลภาพจนถึงการเสียชีวิต ดูจะเป็นหลักประกันได้บ้างสำหรับคนไทยโดยเฉพาะคนด้อยโอกาสหรือผู้ใช้แรงงาน

สำหรับสถานพยาบาลได้ค่ารักษาเพียงคนละ 700 บาทต่อปี ดูจะไม่คุ้มแน่ หากมีผู้ป่วยเข้ามารักษาเป็นจำนวนมาก

"ผมกล้าที่จะพูดได้เลยว่ายังไงก็ไม่คุ้ม.." นายแพทย์สุเทพ วงศ์แพทย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีโรงงานมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศ และมีสถานประกอบการหลายแห่ง ใช้บริการประกันสังคม กล่าวเรื่องนี้กับ "ผู้จัดการ" พร้อมทั้งชี้ว่า รัฐควรจะมีการพิจารณาตัวเลขใหม่

ปัญหาที่หมอสุเทพไม่เชื่อว่า การเพิ่มวงเงินให้สถานพยาบาลไม่ง่ายนั้นก็คือ การที่คณะกรรมการประกันสังคมไม่มีแพทย์รวมอยู่ด้วยเลย เกือบทั้งหมดเป็นคนในสังกัดกระทรวงมหาดไทย

ตัวเลขที่โรงพยาบาลได้รับคนละ 700 บาทต่อปีนั้น หมอชุมศักดิ์อธิบายถึงที่มาของตัวเลขว่า สำนักงานประกันสังคมคิดจากตัวเลขพื้นฐานของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการศึกษาพบว่า คนทั่วไปจะหาหมอปีละ 2 ครั้งเสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 150 บาท รวมเป็นเงิน 300 บาท และมีอัตราเฉลี่ยนอนรักษาในโรงพยาบาลปีละ 0.3 วัน เมื่อคิดจากราคาที่กระทรวงคิดค่ารักษาพยาบาลวันละ 600 บาท ก็จะตกเป็นเงิน 200 บาท รวมเป็นเงินรักษาพยาบาลคนละ 500 บาทต่อปี แต่สำนักงานประกันสังคมให้โรงพยาบาลที่ร่วมในโครงการถึง 700 บาท

"เราถือหลักการกระจายความเสี่ยง เพราะไม่คิดว่าจะมีผู้ป่วยจากสถานประกอบการเข้ารักษาพยาบาลมาก" นายแพทย์ชุมศักดิ์กล่าวถึงกฎหมายที่เขาระบุว่า มีการศึกษานานนับสิบปีจึงจะมีการประกาศใช้

วันนี้ถึงแม้จะยังไม่สมบูรณ์ เพราะสำนักงานประกันสังคม วางแผนที่จะคุ้มครองถึง 7 อย่าง คือรวมทั้งการรักษาพยาบาลครอบครัว การว่างงานและเกษียณ แต่สำนักงานก็เชื่อว่าระยะเวลาแค่ 2 ปี สามารถที่จะมาถึงวันนี้ได้ต้องถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร

โดยเฉพาะกองทุนที่มีเงินสะสมถึงหลักพันล้านบาท !!!

ถึงขั้นที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยคิดที่จะนำเงินจากกองทุนประกันสังคมไปปล่อยกู้ให้หน่วยงานรัฐบางแห่ง

แต่เรื่องนี้ถูกคัดค้านเพราะหลายคนมุ่งหวังที่จะให้การประกันสังคม บรรลุเป้าหมายในการให้การคุ้มครองครบ 7 อย่างข้างต้น

นายแพทย์สุเทพ ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ถึงเป้าหมายที่จะให้การคุ้มครองแรงงานครบทั้ง 7 อย่างว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ในอนาคตแต่หมายความว่า กองทุนจะต้องมีเงินสะสมนับหมื่นล้านเพราะไม่เช่นนั้น อาจจะมีปัญหาในหลายๆ การคุ้มครอง อย่างเช่น การว่างงาน ที่หากต้องมีการจ่ายทดแทนมาก เพราะเศรษฐกิจตกต่ำแล้วคนว่างงานมาก เงินกองทุนก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะจ่ายชดเชยได้

"ตอนนี้ในอเมริกา ในเยอรมันก็มีปัญหา เพราะคนจำนวนมากสมัครใจที่จะว่างงาน จนเงินกองทุนลดลง" นายแพทย์สุเทพกล่าว พร้อมทั้งชี้ว่าสิ่งที่อาจจะเริ่มได้ก่อนก็คือการจ่ายทดแทนเมื่อชราภาพหรือเกษียณ เพราะรัฐมีข้อมูลว่าจะต้องใช้เงินมากน้อยแค่ไหนกับการเกษียณของแรงงานที่มีจำนวนที่ทราบแน่ชัด

วันนี้ของกฎหมายประกันสังคม จึงเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะแรงงานเริ่มมีความมั่นใจในอนาคตมากขึ้น

แม้วันวาน อาจจะผ่านความเจ็บปวดมาบ้าง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.