SHIN มีชัย ITV ทำสมานฉันท์ร้าว พวกเดียวกันแตกคอ-ฟ้องรัฐบาล บอร์ดชุดเก่ายกยวงหนีผู้ถือหุ้น


ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

หมากชิน คอร์ป เหนือชั้น แค่ทิ้งไอทีวี เล่นเอารัฐบาลเป๋ กลุ่มเคยหนุนกังขายื่นเรื่องฟ้อง ขณะที่บอร์ดไอทีวีชุดชิน คอร์ป ส่งมาคุม แสดงความรับผิดชอบ เผ่นยกยวง หนีประชุมผู้ถือหุ้น 20 มีนาคม สร้างปัญหาให้คนเล่นหุ้นอีกเพียบ โบรกแนะทำใจเตือนแล้วเตือนอีก

หลังจากสำนักปลัดนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาการร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF กับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV เมื่อ 7 มีนาคม 2550 อันเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 6 มีนาคม ที่ต้องยึดไอทีวี จากการที่บริษัทไอทีวีไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าสัมปทานค้างจ่ายและค่าปรับได้ตามกำหนด

พนักงานไอทีวีได้ใช้เวลาของสถานีตลอด 2 วัน ดำเนินการเรียกร้องขอความเห็นใจจากรัฐบาล ในที่สุดก็สัมฤทธิ์ผล พลังกดดันจากไอทีวีทำให้สามารถออกอากาศได้ต่อเนื่อง โดยมีกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ดูแล

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 ไอทีวีได้ส่งงบการเงินปี 2549 ให้ตลาดหลักทรัพย์ ปรากฏผลขาดทุนสุทธิ 1,782.69 ล้านบาท เนื่องจากค่าสัมปทานเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เป็นไปตามผลของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ตัดสิน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2549 ที่พิพากษายืนตามคำตัดสินของศาลปกครองชั้นต้นที่เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ลงวันที่ 30 มกราคม 2547 ทั้งฉบับ

พร้อมด้วยตัวงบการเงินเองที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัท ตลาดหลักทรัพย์จึงห้ามซื้อขายในรอบบ่ายของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ และเปิดให้ซื้อขายได้อีกครั้งในการเปิดตลาดภาคเช้าในวันรุ่งขึ้น ราคาหุ้น ITV กลับมีแรงไล่ซื้อกันอย่างคึกคักจาก 0.93 บาท (23 ก.พ.) เป็น 1.05 บาท ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ก่อนที่จะถูกสั่งพักการซื้อขายในภาคบ่าย

ในวันเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการ ITV อนุมัติการลาออกของกรรมการบริษัท 2 ท่าน คือ บุญคลี ปลั่งศิริ จากตำแหน่งประธานกรรมการ และวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ จากตำแหน่งกรรมการและกรรมการตรวจสอบ และแต่งตั้งให้อนันต์ ลี้ตระกูล เป็นประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการตรวจสอบ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550

หลังจากได้รับหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในวันที่ 7 มีนาคม 2550 ผู้บริหารของไอทีวี 6 ท่านได้ลาออกประกอบด้วย อัชฌา สุวรรณปากแพรก, บุญชาย ศิริโภคทรัพย์, นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล, ทรงศักดิ์ เปรมสุข, อนันต์ ลี้ตระกูล, ศุภรานันท์ ตันวิรัช โดย 2 รายหลังเป็นกรรมการเดิมที่ครบวาระและได้รับการเลือกกลับให้เข้ามาบริหารงานอีกครั้งเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เท่ากับว่ากรรมการ 6 คนในสายชิน คอร์ป ได้ออกจากไอทีวีไปทั้งหมด กรรมการใหม่ที่เหลือ 5 คนล้วนแล้วเป็นหน้าใหม่ที่รับหน้าเสื่อเข้ามาบริหารงาน ที่จะต้องเผชิญกับผู้ถือหุ้นที่เดือดร้อนจากการถือหุ้น ITV ในวันที่ 20 มีนาคมนี้

เล่น ITV ต้องรับสภาพ

โบรกเกอร์กล่าวว่า วันนี้คงไม่ต้องพูดถึงธรรมาภิบาลของผู้บริหารชิน คอร์ปและบริษัทในเครือทั้งหมด กรณีของ ITV พิสูจน์ชัดเจนว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นผู้ถือหุ้นและผู้บริหารพร้อมสละเรือเพื่อหนีปัญหาทันที เพราะการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 20 มีนาคมคงดุเดือดแน่

"การเปลี่ยนทีมกรรมการทั้งหมดมาเป็นทีมใหม่ที่ไม่มีส่วนต่อการบริหารจัดการ ITV ในช่วงที่ผ่านมา คงไม่สามารถให้ความกระจ่างกับผู้ถือหุ้นที่เดือดร้อนได้ แน่นอนว่ามูลค่าของ ITV หลังจากที่รับภาระต่าง ๆ คงไม่เหลือพอที่จะมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อย"

เนื่องจากวันนี้บริษัท ITV ถือเป็นบริษัทเปล่าไม่มีกิจการใด ๆ เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ถูกบอกเลิกสัญญา ทรัพย์สินต่าง ๆ ต้องคืนให้กับรัฐ เท่ากับเป็นบริษัทเปล่าไม่มีกิจการใด ๆ แต่ยังเหลือคือภาระหนี้สินมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ให้รับผิดชอบ ลำพังการตีทรัพย์ชำระหนี้ก็ไม่น่าจะพอ คงไม่ต้องพูดถึงผู้ถือหุ้นที่ยังถือหุ้น ITV อยู่

"ผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะรายย่อยคงต้องทำใจ เพราะการเข้ามาลงทุนก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งก่อนหน้านี้บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งต่างก็แนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นตัวนี้ ผู้ที่ตัดสินใจเข้าไปซื้อในช่วงที่เกิดปัญหาขึ้นก็ต้องยอมรับสภาพ"
เชื่อว่าหลังจากการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านไป คงมีการฟ้องร้องกันระหว่างผู้ถือหุ้นกับผู้บริหาร ITV แม้ว่าผู้บริหารชุดเดิมจะลาออกไปแล้ว แต่ความรับผิดชอบที่เกิดความเสียหายในระหว่างที่บริหารอยู่ยังเป็นหน้าที่ของผู้บริหารเดิมที่ต้องรับผิดชอบ แต่เรื่องนี้จะได้ผลสรุปออกมาอย่างไรคงต้องใช้เวลาอีกนาน

มีชัยในมิติการเมือง

ขณะเดียวกันนอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ถือหุ้น ITV แล้ว ยังมีผลในด้านอื่นตามมา ซึ่งเป็นผลกระทบที่มีนัยยะสำคัญทางการเมืองไม่น้อย

เริ่มจากการปิดไอทีวีหรือไม่ปิดไอทีวี สุดท้ายรัฐบาลไม่ปิดไอทีวี แต่เปลี่ยนเป็นทีไอทีวีและโอนย้ายทีมงานจากบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มาอยู่ภายใต้การดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ ด้วยสถานะของไอทีวีที่เป็นเอกชน เมื่อบริษัททำผิดสัญญาต่อรัฐแต่รัฐกลับดำเนินการสานต่อให้กับพนักงานไอทีวี จนทำให้อดีตพนักงานองค์การขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลช่วยเหลือพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากการยุบองค์กร เช่นเดียวกับกรณีที่รัฐบาลให้การช่วยเหลืออดีตพนักงานไอทีวีที่ถูกยกเลิกสัมปทาน

รวมถึงภาคประชาชนได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อกล่าวหาและกล่าวโทษ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จุลยุทธ หิรัญยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการเอื้อประโยชน์กับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

นับได้ว่าแค่ ITV เพียงแค่บริษัทเดียวที่เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ยอมสูญเงิน แต่กลับสร้างความคุ้มค่าที่สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับรัฐบาลได้จากผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เสียหาย จากข้อขัดแย้งกันถึงวิธีการบริหารจัดการกับ ITV ที่สร้างรอยร้าวให้คนที่เคยสนับสนุนรัฐบาลกับรัฐบาลต้องมีเรื่องขัดแย้งกัน งานนี้ถือว่าหมากที่ผู้มีอำนาจเดิมและเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ วางไว้ได้ผลเกิดคาด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.