'พาณิชยศาสตร์ จุฬาฯ' วางกลยุทธ์มุ่งสู่ 'Innovative Business School'


ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นหนึ่งในคณะที่มีความเก่าแก่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวลานี้กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 69 ภายใต้การบริหารงานของ รศ.ดร.ดนุชา คุณพนิชกิจ คณบดี ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2546

"ผู้จัดการรายสัปดาห์" มีโอกาสพูดคุยถึงทิศทางการบริหารงานในปี 2550 ซึ่งเพิ่มความเข้มข้นในด้านการบริหารจัดการภายในองค์กร และตอบสนองต่อความต้องการจากภายนอก

๐ จุดแข็งและจุดอ่อนของคณะฯ ในปัจจุบัน

จุดแข็งอยู่ที่การมีความพร้อมด้านอาจารย์ และกายภาพ เพราะอาจารย์เกือบ 50% จบปริญญาเอก และเป็นปริญญาเอกที่มาหลากหลายทั้งสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ทางด้านกายภาพ เรียกได้ว่าไม่ว่าจะทุกยุคทุกสมัยจะให้ความสำคัญด้านกายภาพ หรือความเป็นอยู่ของนิสิตทุกระดับ และความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์การศึกษา ซึ่งจะเห็นได้จากการที่คณะมีสื่อการเรียนการสอนทันสมัยที่สุด

สำหรับจุดอ่อนของคณะฯ คงต้องมองแบบผสมผสานไปกับนโยบายของภาครัฐ คือการเปิดเสรีทางการค้าทำให้มองว่าการศึกษาเป็นบริการรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นการแข่งขันจะไม่ใช่แค่แข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศแต่ต้องแข่งขันกับระดับนานาชาติ เพราะต่อไปมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจะสามารถมาเปิดสาขาในประเทศไทยได้ หรือแม้แต่การตั้งมหาวิทยาลัยในประเทศใกล้เคียง อย่างเช่น สิงคโปร์ ก็ถือว่าส่งผลต่อการศึกษาของไทยเพราะอยู่ใกล้กัน และสิงคโปร์ก็ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกว่าไทยซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดอ่อน การจะเปิดให้มีการแข่งขันเสรีจะต้องทำให้ภาษาไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอน

คณะฯ จะเพิ่มความแข็งแกร่งทางด้านภาษาอังกฤษให้กับนิสิตในหลักสูตรภาคภาษาไทย ด้วยการให้ใช้ตำราเป็นภาษาอังกฤษในการเรียน โดยอาจจะเริ่มจากวิชาเลือกก่อน และหากวิชาใดพร้อมที่จะเป็นสองภาษาก็จะสนับสนุนให้เปิด เป็นการตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยด้วยที่จะมีรางวัลสนับสนุนให้กับอาจารย์ที่ใช้การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ

การเน้นเรื่องภาษาอังกฤษเพราะต้องการรองรับนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศที่มาอยู่กับคณะ ซึ่งนอกจากจะเรียนในหลักสูตรนานาชาติได้แล้ว เขายังสามารถเลือกเรียนหลักสูตรภาษาไทยได้ ซึ่งจะได้เรียนวิชาที่ครบวงจรมากกว่า โดยแต่ละปีมีนักศึกษาเข้ามาแลกเปลี่ยนไม่ต่ำกว่า 30 คน อย่างเช่น สิงคโปร์ก็มีมาเพราะมองว่าได้เจอกับนิสิตจากหลายๆ ประเทศด้วย

๐ ทิศทางการบริหารในปีนี้

การบริหารการศึกษาปีนี้ เนื่องจากคณะมี Input ที่ดี ดังนั้น นอกจากจะมองในเรื่องของกายภาพแล้ว ต้องมองในเรื่องของหลักสูตรต่างๆ ด้วย ซึ่งแนวทางในปีนี้คณะฯ จะใช้กลยุทธ์การพัฒนาด้วยการสร้างInnovative Business School เพื่อให้หลักสูตรของคณะสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ คุณธรรม พร้อมทั้งสามารถชี้นำสังคมได้ ดังนั้น ตัวหลักสูตรของมหาวิทยาลัยจะต้องพัฒนาตลอดเวลา

โดยที่ผ่านมาคณะแสดงความเป็น Innovative Business School ด้วยการมีห้องปฏิบัติการทางการเงินเป็นแห่งแรกของประเทศ และของภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นห้องจำลองสำหรับการตัดสินใจ เพราะการเป็นผู้บริหารระดับสูงต้องการข้อมูลเข้มข้นแต่ไม่มากมาย

หรือการมีห้อง IT BOX เพื่อวิเคราะห์ซอฟต์แวร์ต่างๆ ในการบริหารธุรกิจ และให้นิสิตที่เรียนด้านธุรกิจไอทีได้ติดตามโปรแกรมสำเร็จรูปทั้งขนาดใหญ่หรือขนาดย่อม ขณะเดียวกันยังมีการสร้างบรรยากาศที่ดีของห้องสมุดด้วยการปรับปรุงให้ทันสมัย เพื่อละทิ้งบรรยากาศเดิมๆ เพราะอยากจะให้นิสิตรู้สึกที่อยากจะเข้าห้องสมุด อยากให้เขาได้อ่านหนังสือแบบสบายๆ

นอกจากนี้ ยังมีห้อง IT STUDIO ให้นิสิตได้ใช้ทำงานกลุ่มในบรรยากาศที่ไม่เครียด แต่ผู้ที่จะใช้ห้องนี้ได้จะต้องใช้โน๊ตบุ๊กในการทำงานเท่านั้นเพื่อให้นิสิตรู้จักการทำงานกลุ่มแบบที่มีไอทีเป็นสื่อทั้งหมด เพื่อสร้างบรรยากาศ และเป็นมิติใหม่ให้กับคณะ

ขณะเดียวกันการบริหารงานต้องมีความเป็น Innovative ด้วยเหมือนกัน เพราะอยากจะให้คณะเป็นrole model ในฐานะของคณะที่สอนด้านบริหารธุรกิจ ดังนั้น ต้องมีการพยายามประยุกต์เครื่องมือในการบริหารธุรกิจซึ่งเป็นเรื่องสมัยใหม่เข้าสู่การบริหารงานของคณะด้วย เพื่อให้เห็นว่าไม่ใช่แค่สอนคนอื่น แต่การบริหารในคณะก็เป็นอย่างที่สอน

ยกตัวอย่างการนำเรื่อง Balance Scorecard เข้ามาประยุกต์ใช้ในการบริหารงาน การนำเครื่องมือเข้ามาบริหารต้นทุนผลผลิตต่อหน่วยในแต่ละหลักสูตร การใช้รูปแบบการประชุมคณะกรรมการประจำคณะ การใช้ระบบของแบงก์เพื่อโอนเงินค่าตอบแทนต่างๆ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่คณะได้ปรับปรุงการบริหารให้เป็น Modern Management

๐ หลักสูตรใหม่ๆ ที่จะเปิดในอนาคต

ทิศทางการขยายหลักสูตรใน 5-10 ปีข้างหน้า คณะฯ จะขยายหลักสูตรทั้งในแนวตั้งและแนวนอน เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ของประเทศ และการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ สำหรับทิศทางแนวตั้งคือการเปิดหลักสูตรใหม่ๆ โดยในปีที่ผ่านมาคณะฯ เปิดหลักสูตรใหม่ 3 หลักสูตร คือ 1.หลักสูตรปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบิน เป็นหลักสูตรภายใต้ความร่วมมือกับกองทัพอากาศ

2.หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด เป็นหลักสูตรภายใต้ความร่วมมือกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หลักสูตรนี้แบ่งเป็นอีก 2 แขนงวิชาย่อย คือ แขนงวิชาการตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศและการติดต่อสื่อสาร (ICT Marketing) และการตลาดค้าปลีก (Retail Marketing)

และ 3.หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการกำกับดูแลกิจการ เป็นหลักสูตรที่ได้รับการสนับสนุนทางด้านวิชาการจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย และบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัสสุ ไชยยศ จำกัด

โดยหลักสูตรนี้พัฒนามาจากการที่คณะได้รับการรับรองโปรแกรมการตรวจสอบภายใน จากสมาคมผู้ตรวจสอบภายในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวในประทศไทยที่ได้รับการยอมรับโปรแกรมนี้

นอกจากนี้ คณะฯ พยายามมุ่งเน้นหลักสูตรปริญญาเอกให้มากขึ้น อย่างที่คิดอยู่ว่าในแผนการเปิดปริญญาเอก คือ ทางด้านการเงินเชิงปริมาณ ซึ่งถ้าเปิดคิดว่าจะเป็นหลักสูตรแรกของไทย โดยเป็นหลักสูตรที่อาศัยความร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยจะเปิดในปี 2551 เพราะคณะฯ จะไม่เปิดหลักสูตรที่เหมือนกับคนอื่น

การมุ่งเปิดหลักสูตรปริญญาเอกก็เพื่อผลักดันให้อาจารย์มีการเรียนรู้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างบุคคลกรให้เรียนรู้อย่างเป็นระบบเพื่อพิสูจน์สิ่งต่างๆ ให้ออกมาเป็นระบบให้ได้ เพราะคนไทยขาดเรื่องของการศึกษาโดยใช้ข้อมูลในประเทศ ส่วนใหญ่จะอ้างอิงข้อมูลจากต่างประเทศซึ่งบางครั้งก็ใช้ไม่ได้ อย่างเช่น เทคนิคการบริหารซึ่งใช้ได้ผลดีในประเทศนั้น แต่ในประเทศไทยอาจจะไม่ได้ผล

นอกจากนี้ ยังมุ่งเปิดปริญญาโทควบเอกด้วย เพื่อย่นย่อสำหรับผู้ที่อยากเรียนปริญญาเอก โดยหลักสูตรนี้จะรับผู้ที่เรียนจบปริญญาตรี และมีเป้าหมายที่อยากจะเรียนถึงปริญญาเอก พร้อมทั้งมีคุณสมบัติครบตามที่คณะกำหนด ซึ่งคาดว่าหลักสูตรแรกที่จะเปิด คือโทควบเอกทางด้านสาขาการบัญชี

ส่วนทิศทางในแนวนอนคือการจับมือกับพันธมิตรต่างๆ ซึ่งปีนี้มีพันธมิตรทางวิชาการเพิ่มขึ้นทั้งข้างนอกและข้างในจุฬาฯ ด้วยกัน อย่างเช่น หลักสูตรเอ็มบีเอ สาขาการจัดการการบินก็จับมือกับพันธมิตรกับกองทัพอากาศ หรือวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตทางการตลาด สาขาวิชาไอซีทีมาร์เกตติ้ง ก็เป็นพันธมิตรทางวิชาการกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ขณะที่หลักสูตรใหม่ที่คณะคิดว่าจะเปิด คือ เอ็มบีเอ สาขาวิชา Hospital and Healthcare Management อันนี้จะเป็นพันธมิตรกับคณะแพทย์ของจุฬาฯ เอง ซึ่งหลักสูตรนี้ก็จะสนองกับทิศทางของประเทศด้วยที่ต้องการเป็นฮับทางด้านสุขภาพ

๐ นอกจากการเปิดหลักสูตรที่ตอบสนองนโยบายประเทศแล้ว ยังต้องตอบสนองกับอะไรอีก

หลักสูตรต้องสนองต่อกิจกรรม อย่างเช่น การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมขึ้นมาเพราะรัฐต้องการให้เน้นการเป็นผู้ประกอบการ และอยากจะสร้างนักธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ก็มีการเปิดหลักสูตรทางด้าน Entrepreneur เป็นวิชาเลือก

หรือปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลหรือความโปร่งใส คณะฯ ก็คิดว่าจะทำหลักสูตรหรือกิจกรรมให้สนองกับธรรมาภิบาล ด้วยการสร้างให้คนรู้ว่าการตรวจสอบภายในเป็นหัวใจสำคัญของความโปร่งใส ของการทำให้สิ่งต่างๆ ที่ออกมาน่าเชื่อถือ โดยจะเข้าไปเพิ่มวิชาเกี่ยวกับการตรวจสอบภายในในหลักสูตรต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้คนสอบได้เป็น auditor

นอกจากนี้ ยังจัดตั้ง Research Center of Corporate Government ศูนย์ที่อยู่ภายใต้ฝ่ายวิจัยของคณะฯ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธรรมาภิบาล การดูแลกิจการ ขณะเดียวกันเพื่อกระตุ้นอาจารย์ให้รู้จักทำวิจัยด้านธรรมาภิบาล เพื่อจะได้ชี้นำสังคมทางด้านนี้ได้ โดยจะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมปีนี้

คณะฯ พยายามจะแทรกเรื่องของธรรมาภิบาลเข้าไปให้กับนิสิต อย่างเช่น บริษัทจำลองจุฬาฯ เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นทุกภาคฤดูร้อนให้นิสิตจุฬาฯ ได้ฝึกงาน บริษัทจำลองนี้จะทำงานภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ จะสร้างภูมิคุ้มกันให้บริษัท โดยไม่มุ่งยอดขายแต่จะต้องให้คำนึงถึงต้นทุนด้วย แค่มีกำไรระดับหนึ่ง และไม่เอาเปรียบผู้บริโภค


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.