"เชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ กับแค้นของทักษิณ ชินวัตร"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

เชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ มีโอกาสนั่งเก้าอี้กรรมการผู้อำนวยการกลุ่มชินวัตรเพียงแค่ครึ่งปีเท่านั้น ก็มีอันต้องหลุดจากตำแหน่งซึ่งควบคุมการบริหารงานทุกบริษัทในเครือ ลดลงไปเหลือเพียงตำแหน่ง EXECUTIVE CHAIRMAN ของชินวัตร อินเตอร์เนชั่นแนลซึ่งเป็นกิจการด้านต่างประเทศของชินวัตร แถมยังต้องกระเด็นจากการเป็นกรรมการผู้อำนวยการชินวัตรแซทเทิลไลท์ซึ่งรับผิดชอบโครงการดาวเทียมไทยคมพร้อมๆ กันด้วย

การปรับโครงสร้างของกลุ่มบริษัทชินวัตรฯ เกิดขึ้นบ่อยมาก โดยเฉพาะเมื่อปีที่แล้วมีถึง 4 ครั้ง เพื่อจัดกลุ่มธุรกิจให้ชัดเจนหลังจากมี 3 บริษัทหลักคือชินวัตร คอมพิวเตอร์ ไอบีซี และแอดว้านซ์อินโฟร์ เซอร์วิส อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว การปรับเมื่อเดือนธันวาคม 2535 ซึ่ง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรลอยตัวขึ้นไปเป็นประธานกรรมการบริหาร และเลื่อนเชิดศักดิ์ขึ้นมาเป็นกรรมการผู้อำนวยการกลุ่ม ถือได้ว่าน่าจะเป็นการปรับใหญ่ด้านโครงสร้างบริหารครั้งสุดท้าย เพื่อทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างลงตัว

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงเป็นอุบัติเหตุ นอกเหนือความคาดหมาย ที่เดาได้ว่าแม้แต่เชิดศักดิ์เองก็ไม่น่าจะรู้ตัวมาก่อน

เปรียบเทียบอำนาจหน้าที่ระหว่างตำแหน่งเก่าที่ใหญ่เป็นเบอร์ 2 รองจากทักษิณคุมธุรกิจทุกบริษัท กับตำแหน่งใหม่ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับเชิดศักดิ์โดยเฉพาะและให้ดูแลเฉพาะธุรกิจต่างประเทศซึ่งตอนนี้มีแต่ลาวและกัมพูชาเท่านั้น ไม่ว่าจะสร้างภาพธุรกิจด้านต่างประเทศของชินวัตรให้มีความใหญ่โต มีศักยภาพในอนาคตอย่างสวยหรูเพียงใด งานนี้ก็คือการ "ปลดกลางอากาศ" นั่นเอง !

"คุณดูก็แล้วกันว่า เขาทำกับผมอย่างไร" ว่ากันว่าเชิดศักดิ์พูดกับคนใกล้ชิดอย่างนี้ หลังจากรู้แน่ชัดในชะตากรรมของตัวเอง

สำหรับมือทำงานที่ได้รับความไว้วางใจให้ขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งสูงสุดเป็นอันดับสอง จู่ๆ ก็ถูกลดเพดานลงเป็นแค่ผู้บริหารบริษัทเล็กๆ ในเครือที่ไม่ได้เป็นแม้กระทั่งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ด้วยซ้ำ ถ้าไม่เป็นเพราะความแค้นเคืองก็คงไม่ทำกันเช่นนี้

ทักษิณมีความแค้นอะไรกับเชิดศักดิ์ ??

เรื่องการเล่นบทคนกลางผู้เจรจาขอซื้อหุ้นเทคโนโลยีแอพพลิเคชั่นส์หรือทีเอทีแอลของเชิดศักดิ์ ซึ่งทำให้ทักษิณไม่พอใจ เป็นการย้ำรอยแค้นซ้ำสองของคนคู่นี้ แค้นแรกนั้นมีที่มาจากศึกประมูลสัมปทานสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เมื่อต้นปี ซึ่งทีพีพี ไดเรคทอรีส์ จำกัด เสนอผลประโยชน์ให้องค์การโทรศัพท์สูงสุด ทำท่าว่าจะชนะการประมูล แต่กระทรวงคมนาคมสั่งให้ประมูลใหม่โดยอ้างว่าผิดข้อกฎหมายในเงื่อนไขที่ให้องค์การโทรศัพท์เข้ามาร่วมทุนด้วย

การประมูลครั้งนั้น ถือว่าเป็นการ "หัก" ทักษิณอย่างเจ็บแสบที่สุด เพราะหัวเรี่ยวหัวแรงของทีพีพีคือชาติชาย เย็นบำรุง ซึ่งเป็นผู้จัดการทั่วไปของชินวัตร ไดเรคทอรี่ส์ เจ้าของสัมปทานเก่าที่ยังไม่หมดอายุ และชินวัตรฯ ก็เสนอตัวเข้าประมูลครั้งใหม่ด้วยโดยไม่รู้ว่า คนของตัวเองแอบไปตั้งบริษัทใหม่มาแข่งด้วย

ชินวัตร ไดเรคทอรี่ส์ก็คือเอทีแอนด์ที ไดเรคทอรี่ส์ ซึ่งได้สัมปทานเป็นรายแรกแต่ทำไม่สำเร็จจนต้องขายกิจการให้ทักษิณ คนกลางในการเจรจาก็คือเชิดศักดิ์ ซึ่งเคยทำงานอยู่กับเอทีแอนด์ทีมาก่อน หลังจากชินวัตรได้มาแล้ว เชิดศักดิ์ก็ได้รับมอบหมายให้บริหารงานจนสามารถล้างผลขาดทุนที่เอทีแอนด์ทีสร้างไว้ได้เกือบหมด เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของเชิดศักดิ์ที่เข้าตาทักษิณ

คนที่เชิดศักดิ์นำเข้ามาช่วยพลิกฟื้นชินวัตร ไดเรคทอรี่ส์ก็คือชาติชาย ซึ่งรับช่วงบริหารงานต่อหลังจากเชิดศักดิ์ถอนตัวออกจากธุรกิจสมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองแล้ว สองคนนี้จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น และเชิดศักดิ์ก็รับรู้แผนการชิงสัมปทานสมุดโทรศัพท์จากชินวัตรฯ ของชาติชายอยู่เต็มอก คนที่ไม่รู้ก็คือทักษิณ เพราะเชิดศักดิ์ไม่บอกทำให้ทักษิณโกรธมาก

ชั่วระยะเวลาไม่ถึง 5 เดือน แค้นแรกยังไม่จางหมายก็เกิดกรณีหุ้นทีเอทีแอลขึ้นมาอีก แค้นนี้จึงต้องชำระเสียที วันเวลาของเชิดศักดิ์บนเก้าอี้หมายเลขสองของชินวัตรจึงสั้นอย่างไม่น่าเชื่อ !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.