|
Tax Knowledge:แลกสินค้าหรือให้รางวัลใครได้ใครเสีย
โดย
สมเดช โรจน์คุรีเสถียร
ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
สภาพตลาดของสินค้าในปัจจุบันไม่ค่อยเคลื่อนไหวมากนัก เนื่องจากตัวแปรที่สำคัญคงหนีไม่พ้นภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหายังไม่ลงตัวมากนัก โดยเฉพาะปัญหาทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอนทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในการลงทุนหรือขยายกิจการ ธุรกิจขายสินค้าหรือธุรกิจให้บริการจึงมีการแข่งขันกันค่อนข้างหนักที่จะแย่งชิงลูกค้ามาเป็นของตนเอง
การแย่งชิงลูกค้านอกจากจะส่งผลให้สินค้าหรือบริการมีคุณภาพมากขึ้น ทำให้สินค้าหรือบริการเป็นที่ต้องการของลูกค้ามากขึ้นยังไม่เพียงพอต้องมีการกระตุ้นตลาดให้เกิดความจำเป็นและต้องการมากกว่าปกติ การส่งเสริมการขายจึงถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้น การนำวิธีการต่าง ๆ มาใช้กับการส่งเสริมการขายโดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการส่งเสริมการขาย คือ
1. กระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้ามากขึ้น เช่น มีการลดราคาสินค้า หรือซื้อ 1 แถม 1 หรือมีของแถมเมื่อลูกค้าซื้อสินค้าตามกำหนด
2. กระตุ้นให้ลูกค้าใช้สินค้ามากกว่าเดิม เช่น ให้ใช้บ่อยครั้งขึ้น
3. ช่วยเร่งเร้าอยากทดลองใช้สินค้า เช่นการทดสอบสินค้า นำไปแนะนำให้ใช้ถึงบ้าน
4. ช่วยให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นในตัวสินค้า เช่น การรับประกันการใช้งาน หรือเปรียบเทียบกับคู่แข่งขัน
5. ช่วยให้ลูกค้ามีความต้องการสินค้ามากกว่าเดิม เช่น การสร้างคุณภาพของสินค้า สร้างความจำเป็นที่จะต้องมีสินค้าของกิจการ
6. ช่วยในการเพิ่มลูกค้ารายใหม่ๆ ให้กับสินค้า เช่น การเสนอรางวัลให้กับลูกค้าเดิมที่แนะนำลูกค้ารายใหม่ หรือลูกค้ารายใหม่มีสิทธิซื้อหรือได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น
7. กระตุ้นการขายสินค้านอกฤดูกาล เช่น การให้ส่วนลด การให้ลูกค้าซื้อโดยเงินผ่อนอัตราดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์
เมื่อกิจการมีการส่งเสริมการขายสิ่งที่ลืมไม่ได้ก็คือภาระภาษีที่มีผลกระทบต่อการส่งเสริมการขายไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่มักจะเกิดขึ้นจากการส่งเสริมการขาย ผู้ประกอบการ ผู้ทำบัญชี และฝ่ายการตลาดควรจะมีการปรึกษาหารือกันเมื่อกิจการมีนโยบายที่จะจัดให้มีการส่งเสริมการขายว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการอย่างไรหรือไม่
โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบัญชีและภาษีอากร เพราะการส่งเสริมการขายจะมีผลกระทบโดยตรงกับกฎหมายภาษีอากรซึ่งจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นเลยก็คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ผู้วางแผนการตลาดเพื่อการส่งเสริมการขายจะต้องระมัดระวังและคำนึงถึงไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่ใช้ในการส่งเสริมการขาย และค่าใช้จ่ายแฝงที่อาจจะเกิดขึ้นในการส่งเสริมการขาย
ปัญหาในการส่งเสริมการขายกับภาษีมูลค่าเพิ่มมักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ ครั้ง หากฝ่ายส่งเสริมการขายขาดการประสานงานกับฝ่ายบัญชี การจะส่งเสริมการขายให้ปลอดจากปัญหาของภาษีอากรได้นั้น ควรจะทราบถึงภาษีอากรที่เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบต่อการส่งเสริมการขาย
มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจของบริษัทแห่งหนึ่งได้จัดรายการส่งเสริมการขายโดยให้มีสติกเกอร์ติดอยู่ที่สายรัดฝาถังผลิตภัณฑ์ (สีทาภายนอกและสีทาภายใน) ขนาด 5 U.S.GALLONS ของทุกถัง โดยสติ๊กเกอร์จะระบุมูลค่าในการแลกเป็นเงินสดจำนวน 70, 200, 300 และ 1,000 บาท หรือแลกฟรีผลิตภัณฑ์ของบริษัท 1 ถังมีมูลค่า 1,583 บาท หรือแลกรถจักรยานยนต์ 1 คัน มูลค่า 33,000 บาท
กรณีลูกค้านำสติกเกอร์สายรัดฝาถังมาแลกเป็นเงินสดกับตัวแทนจำหน่ายของบริษัทฯ ตัวแทนจำหน่ายเป็นผู้จ่ายเงินสดให้กับลูกค้าและนำสติกเกอร์สายรัดฝาถังมาแลกกับบริษัทฯ และกรณีที่ลูกค้านำสติกเกอร์สายรัดฝาถังมาแลกรถจักรยานยนต์กับตัวแทนรายใดของบริษัทฯ ตัวแทนจำหน่ายรายนั้นจะได้รับของสมนาคุณเป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัทฯ เป็นสีขนาด 5 U.S.GALLONS จำนวน 4 ถัง ผลกระทบภาระภาษีกับวิธีการส่งเสริมการขาย คือ
1. ลูกค้าได้นำสติกเกอร์มาแลกเป็นเงินสดกับตัวแทนจำหน่ายของบริษัทฯ หรือแลกเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท หรือแลกรถจักรยานยนต์ไม่เข้าลักษณะเป็นการให้รางวัลในการประกวด การแข่งขัน การชิงโชค หรือการอื่นใดในทำนองเดียวกัน ตัวแทนจำหน่ายของบริษัทหรือบริษัทไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย จากเงินรางวัลดังกล่าวแต่อย่างใด
2. บริษัทได้ให้รางวัลแก่ตัวแทนจำหน่ายเป็นสินค้าสีขนาด 5 U.S.GALLONS จำนวน 4 ถัง เนื่องจากลูกค้านำสายรัดฝาถังที่มีสติกเกอร์ติดอยู่มาแลกรถจักรยานยนต์จากตัวแทนจำหน่าย เข้าลักษณะเป็นการจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของมูลค่าสินค้าจำนวน 4 ถังดังกล่าว
3. การจัดเก็บสายรัดฝาถังที่มีสติกเกอร์ติดอยู่ควรเก็บรักษาไว้เพื่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตามมาตรฐานการตรวจสอบทางบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป และบริษัทควรมีหลักฐานการจ่ายเงินรางวัลให้แก่ลูกค้า เพื่อเป็นหลักฐานให้เจ้าพนักงานสรรพากรตรวจสอบได้ด้วย
การนำเครื่องมือต่างๆ เพื่อจะส่งเสริมการขายให้ประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการกำหนดแผนการตลาด (Market Plan) ไม่ว่าจะเป็นแผนระยะสั้นหรือแผนระยะยาวซึ่งจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายของกลุ่มลูกค้าที่จะส่งเสริมการขาย งบประมาณในการส่งเสริมการขาย ระยะเวลาในการส่งเสริมการขาย โดยจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อภาษีอากรอย่างระมัดระวังด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|