|
'นวัตกรรมแบบเปิด' ทางลัดธุรกิจผู้เชี่ยวชาญ 'ตัวช่วย' กึ่งสำเร็จรูป
ผู้จัดการรายสัปดาห์(14 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แนวคิดของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ภายใต้การนำของ ศุภชัย หล่อโลหการ ในฐานะผู้อำนวยการ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานด้านการวิจัยอยู่ในองค์กรนี้ เพราะต้องการทำบทบาทหน้าที่เป็น "Technology Broker" หมายถึงการเป็นผู้เชื่อมโยงเทคโนโลยีหรือความรู้มาสู่ผู้ใช้นั่นเอง เพราะหากผู้ประกอบการหรือผู้ใช้นวัตกรรมใช้วิธีที่เรียกได้ว่า "การทำนวัตกรรมแบบทื่อๆ" ซึ่งเริ่มจากการใช้ความรู้ มาพัฒนาเป็นทรัพย์สินทางปัญญา แล้วจึงนำไปสู่นวัตกรรมนั้นย่อมไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงไปที่รวดเร็วมากและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นอย่างมากของโลกในปัจจุบัน
ขณะที่ "นวัตกรรมแบบเปิด" เป็นการนำองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากการวิจัย ทำให้ผู้ประกอบการหรือองค์กรสามารถคิดค้นรูปแบบธุรกิจนวัตกรรมที่แข่งขันได้ เปรียบเหมือนการ "แตกหน่อ" ซึ่งเป็นวิถีทางที่แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เหมาะสมกับประเทศไทยที่ต้องการ "ทางลัด" เพื่อจะก้าวกระโดดไปสู่การมีนวัตกรรมของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายของประเทศไทยที่ต้องการจะมีนวัตกรรมสูงถึง 35% ในขณะที่ปัจจุบันมีเพียง 6% หรือ 6 ใน 100 บริษัทเท่านั้นที่เป็นบริษัทซึ่งมีนวัตกรรม
อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบของการสร้างความรู้ต้องมาจาก 3 ด้าน พร้อมๆ กัน คือ ในด้านธุรกิจ สังคมหรือไลฟ์สไตล์ของผู้คน และเทคโนโลยี ยกตัวอย่างการคัดค้านการใช้ GMO ของคนจำนวนมากเพราะมองว่าเป็นอันตราย ทั้งๆ ที่การใช้นาโนเทคโนโลยีมีอันตรายมากกว่า เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจ หรือเป็นการสร้าง "สิ่งใหม่" สำหรับ "คนอื่น" แต่เป็น "เรื่องเก่า" สำหรับ "ผู้สร้างสรรค์" ก็ได้ เช่น อัลบั้มใหม่ที่นำเบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย มาคู่กับเสก-โลโซ ซึ่งเป็นนักร้องเก่าทั้งคู่ แต่กลายเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนฟังเพลง
ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นระดับโลก เช่น เอดิสันไม่ได้เป็นผู้คิดค้นหลอดไฟแต่เป็นผู้คิดค้นไส้หลอด กลับกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ เกิดเป็นสินค้าที่มีคุณค่าสามารถสร้างรายได้มหาศาล นอกจากนี้ เอดิสันยังบอกอีกว่าจะมีนวัตกรรมเล็กๆ เกิดขึ้นทุก 3 เดือน และนวัตกรรมใหญ่ๆ ทุก 6 เดือน เปรียบเทียบกับประเทศจีนขณะนี้ ภายใน 2 สัปดาห์มีนวัตกรรมเกิดขึ้น และสามารถผลิตเป็นสินค้าได้ในราคาที่ถูกมาก
ที่สำคัญ นวัตกรรมไม่ได้ใช้ความรู้ในประเทศอย่างเดียว แต่ "เก็บเกี่ยว" จากต่างประเทศได้ด้วยการซื้อไลเซ่นส์อย่างถูกต้องและคุ้มค่าในการลงทุน และเป็นการจัดการความรู้อย่างมีเป้าหมาย หรือเมื่อแข่งไม่ได้ก็หันไปร่วมมือดีกว่าเพื่อจะสามารถก้าวกระโดด ด้วยความคิดว่า "เปลี่ยนตัวเองก่อนที่เขาจะสั่งหรือทำให้เราเปลี่ยน" ถึงแม้ว่าการทำนวัตกรรมไม่ใช่จะประสบความสำเร็จทั้งหมด แต่ถ้าไม่ทำแนวโน้มของธุรกิจจะเดินไปสู่ทางตันหรือล้มเหลวได้
ศุภชัย กล่าวว่า การที่ธุรกิจของไทยห่างไกลจากการทำนวัตกรรม ที่สำคัญเนื่องมาจากผู้บริหารไม่ยอมตัดสินใจ ไม่ว่าจะผ่านการไตร่ตรองทั้งด้วยเหตุผลและความรู้สึกแล้วก็ตาม นอกจากนี้ อุปสรรคด้านภาษา และการพัฒนาความคิดใหม่ๆ ขึ้นมาไม่ใช่สิ่งที่ผู้ประกอบการอยากจะทำเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมใช้นวัตกรรมแบบเปิด ภายใต้โครงการบริการแสวงหานวัตกรรมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ
เมื่อเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องทำนวัตกรรม ซึ่งต้องมีทั้งความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ ดังนั้น การใช้ผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศซึ่งสนช.ได้รับความร่วมมืออยู่ในปัจจุบันคือ หน่วยงานบริการผู้เชี่ยวชาญอาวุโส (Senior Experten Service หรือ SES) ของประเทศเยอรมนี
SES เป็นหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กทั้งในเยอรมนีและประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยมีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เช่น ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ด้านบริหารจัดการและการตลาด ประมาณ 7,000 คน ซึ่งเกษียณแล้วและมีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 30 ปี มีความพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้และสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ร่วมกัน ด้วยการเข้ามาให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิดโดยมีค่าใช้จ่ายเหมาะสมเพราะไม่ได้หวังผลกำไร แต่ต้องการเพิ่มคุณค่าให้ตนเองมากขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ผู้ประกอบการายใหญ่เท่านั้น ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถใช้บริการนี้ได้ด้วย
๐ "ไทยซัมมิท" เตือนรายย่อย
แนะแนวทางสู่ชัยชนะ
สุชาติ หิรัญชัย ผู้ช่วยประธานกรรมการ บริษัท ที เอส วีฮีเคิล จำกัด (บริษัทในเครือไทยซัมมิทกรุ๊ป) ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยต้องตระหนักถึงการแข่งขันอย่างมาก เพราะการทำธุรกิจท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์นั้นแพ้ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะถึงขั้นล้มเหลวขนาดที่ต้องออกจากวงการหรือจะกลายเป็นเหมือนบอนไซซึ่งไม่สามารถเติบโต เพราะฉะนั้น การแสวงหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อมาต่อยอดให้องค์กรประสบความสำเร็จ
สำหรับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยโดยรวมในปัจจุบันค่อนข้างมีศักยภภาพที่ดี ในส่วนของบริษัทไทยซัมมิทมีทั้งหมด 32 บริษัท แบ่งเป็นธุรกิจบริการ 3 บริษัท ธุรกิจร่วมทุนกับต่างประเทศประมาณ 11 บริษัท ที่เหลือเป็นของบริษัทเอง นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในต่างประเทศ เช่น อินเดีย 5 โรงงาน มาเลเซีย 2 โรงงาน และอินโดนีเซียน่าจะเริ่มผลิตได้ภายในปีนี้ และกำลังขยายต่อไปที่เวียดนาม
"ถึงแม้กลุ่มเราจะใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เราก็ยังกังวลถึงการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากทางธุรกิจ" สุชาติ ย้ำถึงความจำเป็นในการปรับตัว
ในภาพรวมธุรกิจผลิตชิ้นส่วนแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.ผลิตเพื่อส่งให้ OEM 2.ผลิตส่งให้ after market 3.ผลิตส่งให้ทั้ง OEM กับ after market สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนให้โออีเอ็ม เมื่อย้อนไปปี 2548 ที่ต้องพบกับวิกฤตราคาน้ำมันสูงและวัตถุดิบขึ้นราคามาก ขณะที่ไม่สามารถขอขึ้นราคากับลูกค้าซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์หรือจักรยานยนต์ได้ เพราะลูกค้าค่อนข้างรู้ต้นทุนและความสูญเปล่าในกระบวนการผลิตพร้อมกับพยายามบีบให้ปรับเปลี่ยนมาเพิ่มคุณภาพการทำงาน บังคับให้ลดต้นทุนการผลิตให้ได้ ถึงขั้นจะนำชิ้นส่วนจากต่างประเทศมารองรับการผลิตแทนชิ้นส่วนของไทย
ยกตัวอย่าง บริษัทฟอร์ดซึ่งมีสายการผลิตชิ้นส่วน 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.อเมริกาใต้ 2.แอฟริกา และ3.เอเชีย ที่สำคัญมีการลงนามความร่วมมือแล้วว่าเมื่อผลิตที่เอเชียก็สามารถนำไปใช้กับอีก 2 แห่งดังกล่าวได้ หมายความว่าต้นทุนของผู้ผลิตชิ้นส่วนจะต้องแข่งขันกันในระดับโลกซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก โดยเฉพาะผู้ผลิตของไทยผลิตเพียงชิ้นส่วนเล็กๆ ซึ่งไม่สามารถต่อเป็นชิ้นส่วนใหญ่ได้
แม้ว่าในอดีตจุดแข็งของไทยคือการมีต้นทุนค่าแรงที่ถูกกว่า และฝีมือการผลิตสูงกว่า แต่ปัจจุบันไม่สามารถนำมาแข่งขันได้อีกแล้ว เพราะฉะนั้น การปรับตัวเป็นสิ่งจำเป็นมาก เนื่องจากคาดการณ์ว่านับตั้งแต่ ค.ศ.2010 มีความเป็นไปได้ที่จะมีการนำชิ้นส่วนจากต่างประเทศ เช่น จีน เข้ามาแข่งขันอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม การนำนวัตกรรมมาใช้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากความสามารถในการใช้ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะ ประสบการณ์ เทคโนโลยีที่มีอยู่ รวมทั้ง การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่หรือเกิดกระบวนการผลิตใหม่ ที่สามารถแข่งขันได้ เป็นเรื่องยากมาก ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมคน โดยเฉพาะจิตสำนึกของคนในองค์กรยังไม่มีความเป็นเจ้าของได้อย่างเจ้าของกิจการ โอกาสที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จจึงน้อยมาก
สุชาติ ย้ำว่า ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับคนมากที่สุด และต้องลงทุนพัฒนาให้มากที่สุดให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะนำองค์กรสู่ความสำเร็จ สำหรับปรัชญาที่ใช้ในการบริหารจัดการคือ การสร้างระเบียบให้เกิดระบบ แล้วสร้างระบบให้เกิดการปรับปรุง สร้างการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องให้ได้เทคโนโลยีเป็นของตนเอง เพื่อความสามารถในการแข่งขัน
โดยใช้เครื่องมือที่จะนำไปสู่รูปธรรม แม้จะเป็นเครื่องมือเก่าๆ แต่สามารถนำมาใช้อย่างได้ผล เช่น 5ส.ซึ่งลึกๆ คือการสร้างวินัย หรือQCC ซึ่งสำคัญมากเพราะเมื่อวิเคราะห์แต่ละข้อคือการสร้างคนให้เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นไม่ให้เชื่อถือสิ่งงมงาย เพราะเมื่อเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นสามารถวิเคราะห์ได้ หากทำผิดหรือสำเร็จจะต้องรู้ได้ว่าเป็นเพราะอะไร เพื่อจะเป็นบทเรียนและประสบการณ์
เมื่อทำต่อเนื่องข้อผิดพลาดจะน้อยลงและประสบความสำเร็จมากขึ้น เพราะคนทุกคนย่อมต้องการความสำเร็จ ซึ่งเมื่อได้มาจะเกิดความภาคภูมิใจ และนำไปสู่ความอยากที่จะทำ หมายความว่าคนที่ทำงานนั้นรู้แล้วว่าได้อะไรจากการทำงานนั้น ไม่ใช่เรื่องเงินซึ่งเป็นส่วนประกอบ แต่ความภูมิใจในความสำเร็จของงานจะนำไปสู่การพัฒนาตนเอง
อย่างไรก็ตาม ศักยภาพของผู้ประกอบการในปัจจุบันซึ่งยากต่อการแข่งขัน สามารถใช้แนวทางลัดด้วยการหาพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนร่วมกับผู้ที่มีแบรนด์เนมหรือผลิตภัณฑ์ และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยเฉพาะการแสวงหาผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นทางออกที่ดี สำหรับผู้เชี่ยวชาญของ SES จากเยอรมนี ซึ่งมีชื่อเสียงในการผลิตรถยนต์อย่างมาก และแม้ว่าไทยซัมมิทมีประสบการณ์ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มาประมาณ 30 กว่าปี ยังยอมรับว่าขาดความรู้ และเทคโนโลยีด้านไฟฟ้า มอเตอร์ คอนโทรลเลอร์ และแบตเตอรี่ ที่มากพอที่จะนำมาใช้พัฒนารถไฟฟ้า Cario
เมื่อผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแนะนำทำให้ได้ความรู้ใหม่ที่ไม่ต้องลองผิดลองถูก เช่น ทำให้รู้ว่าเทคโนโลยีทั้ง 4 ด้านดังกล่าวต้องเรียนรู้ไปพร้อมกันจึงจะสามารถนำมาใช้ได้ และทำให้ประสบความสำเร็จในการต่อยอดรถไฟฟ้า Cario รุ่นใหม่ ซึ่งเกิดนวัตกรรมใหม่ที่ทำให้ต้นทุนถูกลงและได้ประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งการใช้ผู้เชี่ยวชาญจาก SES เป็นทางลัดที่ดี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|