โลคัลแบรนด์พันธุ์ใหม่คอมพิวเตอร์ออนดีมานด์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

โลคัลแบรนด์พีซีพันธุ์ใหม่แจ้งเกิดทวนกระแสตลาดโน้ตบุ๊ก และการต่อสู้กับอินเตอร์แบรนด์ที่แข็งแกร่งด้วยยุทธวิธีการผลิตคอมพิวเตอร์ออนดีมานด์ ตามสเปกและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ในราคาถูกกว่า ปลุกกระแสตลาดคอมพิวเตอร์โดยรวมทั้งประเทศตื่นตัวอีกครั้ง

ถึงแม้ช่วงที่ผ่านมา กระแสการตอบรับภาพรวมโดยผิวๆ สำหรับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหรือที่เรียกติดปากว่า พีซีนั้นดูจะไม่ร้อนแรงเท่ากับตลาดโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ที่ไม่ว่ามีงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เมื่อใด โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ครองเป็นพระเอกทุกครั้งไป

แต่วันนี้ ตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะยังเป็นตลาดที่มีอนาคตสำหรับบริษัทผู้ผลิตที่ใช้แบรนด์ท้องถิ่นเข้าต่อกรแบรนด์ดังๆ จากต่างประเทศ โดยล่าสุด บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทค้าส่งสินค้าไอทีรายใหญ่ของประเทศไทยตัดสินใจนำแบรนด์ "เลอเมล" ซึ่งเคยเป็นแบรนด์ที่ใช้ทำตลาดในธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์ อาทิ หน่วยความจำ ซีดี-รอม เมนบอร์ด เป็นต้น มาพัฒนาเป็นแบรนด์ที่ติดอยู่บนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเพื่อเป็นแบรนด์ทางเลือกอีกแบรนด์หนึ่งในตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะของไทยที่ครั้งหนึ่งมีจุดเด่นที่ตลาดดีไอวายหรือแบรนด์ท้องถิ่นสามารถมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 70% ขณะที่พีซีอินเตอร์แบรนด์มีส่วนแบ่งเพียง 30%

"เวลาสัดส่วนของพีซีที่เป็นพีซีท้องถิ่นลดลงเหลือเพียง 40% เท่านั้น จึงทำให้ทางบริษัทฯ มองว่า ถึงเวลาที่บริษัทจะต้องพัฒนาแบรนด์ "เลอเมล" ขึ้นมาเพื่อเป็นแบรนด์ท้องถิ่นอีกทางเลือกหนึ่ง" สุพันธ์ มงคลสุธี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัดเล่าให้ฟังถึงสภาพตลาดพีซีในประเทศที่เปลี่ยนไปให้ฟัง

สุพันธ์ยังบอกอีกว่า ซินเน็คยังเล็งเห็นว่า แนวโน้มการเติบโตของตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะในเมืองไทยนั้น ยังโอกาสที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของไอดีซีระบุว่า มูลค่าตลาดรวมของพีซีในปี 2550 จะมีประมาณ 9.7 แสนเครื่อง และคาดการณ์ว่า ในปี 2551 จะมีอัตราการเติบโตประมาณ 10% หรือประมาณ 1,000,000 เครื่อง ทางบริษัทฯ จึงนำแบรนด์ "เลอเมล" มาใช้สำหรับการทำตลาดพีซีเพิ่มขึ้น ส่วนบทบาทแบรนด์ "เลอเมล" ในตลาดชิ้นส่วนนั้นจะลดบทบาทลง แต่ไม่ถึงกับเลิก

"ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ค้าพีซีอินเตอร์แบรนด์รุกทำตลาดหนักจนทำให้ผู้ประกอบการคนไทยที่ผลิตคอมพิวเตอร์โลคัลแบรนด์หายไปจากตลาด จนเหลือผู้ผลิตเพียงไม่กี่ราย ปัจจัยที่ทำให้อยู่รอดได้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวตามกระแสทั้งด้านราคาและการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นเหมือนกับที่ซินเน็ค เดิมเป็นผู้นำเข้าอุปกรณ์ไอทีจากประเทศไต้หวัน ก็ต้องปรับตัวหันมาทำตลาดพีซีด้วย"

เลอเมล บีทีโอ พีซีที่ ซินเน็ค นำเสนอในครั้งนี้ประกอบไปด้วยพีซี 2 รูปแบบ ได้แก่ คอมพิวเตอร์แบบสั่งประกอบ หรือบิวด์ทูออเดอร์อาจจะเรียกว่า บีทีโอพีซีก็ได้ โดยผู้บริโภคสามารถเลือกอุปกรณ์ได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยประมวลผล หน่วยความจำ ขนาดความจุ ของฮาร์ดดิสก์ เป็นต้น จึงเหมาะสำหรับผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีความชำนาญในเรื่องของสเปกในระดับหนึ่ง และติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ผู้ใช้สามารถเลือกสั่งสเปกเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ตามความชอบส่วนตัว ตามลักษณะการใช้งานและภายใต้งบประมาณที่ควบคุมได้

"สิ่งที่เลอเมล บีทีโอ พีซีแตกต่างจากเครื่องอินเตอร์แบรนด์ เพราะว่า เลอเมลเป็นคอมพิวเตอร์ที่ให้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้สั่งได้ในสไตล์ของตัวเองด้วยการเลือกใช้อุปกรณ์คุณภาพระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นซีพียูอินเทล ฮาร์ดดิกส์ซีเกทหรือดับบลิวยูดี ผู้ใช้ไม่ต้องกังวลกับปัญหาต่าง เนื่องจากบริษัทมีความชำนาญในการจัดจำหน่ายชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว ทำให้มีต้นทุนสินค้าที่ดีกว่า นอกจากนี้ซินเน็คยังจะได้เปรียบคู่แข่งในการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะเป็นผู้แทนจำหน่ายชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว ทำให้จุดแข็งของซินเน็คคือสเป็กเครื่องที่ดีกว่าในขณะที่ราคาถูกกว่า"

สุพันธุ์ยังกล่าวอีกว่า ทุกขั้นตอนการผลิตได้การรับรองคุณภาพมาตรฐาน ไอเอสโอ 9001:2000 ในการประกอบ รวมถึงบริการหลังการขายที่มีการรับประกันคุณภาพทุกชิ้นส่วนนานถึง 3 ปี ขณะที่อินเตอร์แบรนด์ให้ประกันส่วนใหญ่อยู่ที่ 1 ปี รวมถึงยังมีบริการออนไซด์เซอร์วิส

ประเภทที่ 2 เป็นคอมพิวเตอร์แบบประกอบเสร็จ ซึ่งอยู่ภายใต้แบรนด์เลอเมลตระกูล ไอ-สไตล์ ซีรีส์ ซึ่งมีทั้งหมดให้เลือก 3 รุ่น เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับกลุ่มผู้ใช้เครื่องพีซีเครื่องแรกไปจนถึงกลุ่มมืออาชีพ มีระดับราคาสเปกเริ่มต้น 14,400 กว่าบาท จนถึงรุ่นที่มีสเปกแรงๆ ราคาอยู่ที่ 34,300 บาท ทุกรุ่นรองรับวินโดวส์วิสต้า

"ที่ผ่านมายอมรับว่าตลาดโลคอลแบรนด์เจ็บตัวกันมาก เพราะแข่งขันกับอินเตอร์แบรนด์ไม่ได้ แต่เรามองว่ามีศักยภาพที่จะแข่งขันกับอินเตอร์ แบรนด์ได้ และไม่ต้องการให้ตลาดพีซีตั้งโต๊ะเป็นของอินเตอร์แบรนด์ไปหมด ซึ่งอยากให้ภาครัฐให้การสนับสนุนพีซีแบรนด์ไทยเพื่อช่วยผู้ประกอบการภายในประเทศด้วย"

สุพันธุ์ยังบอกอีกว่า ในปีแรกตั้งเป้าหมายไว้ที่ 30,000 เครื่อง ซึ่งเป็นปีของการสร้างการยอมรับในแบรนด์เลอเมลในตลาด โดยได้เตรียมงบประมาณทางการตลาดสำหรับปีนี้ไว้ที่ 20 ล้านบาท เมื่อตลาดรู้จักและเชื่อมั่นในแบรนด์เลอเมลแล้ว ปี 2551 เชื่อว่า เลอเมล บีทีโอ พีซีจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดได้ไม่น้อยกว่า 10% ของตลาดรวมอย่างแน่นอน

สำหรับความเป็นไปได้ที่จะติดแบรนด์ เลอเมลในตลาดโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์นั้น สุพันธุ์มองว่า โน้ตบุ๊ก บีทีโอนั้น ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของสเปกเครื่องทำให้ไม่สะดวกในการปรับเปลี่ยน ซึ่งมีข้อจำกัดในการทำตลาดมากกว่าพีซี ทางบริษัทจึงไม่มีนโยบายที่จะนำมาทำภายใต้แบรนด์เลอเมลในช่วงเวลานี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.