"สีลม พรีเชียสทาวเวอร์ หยุดไม่ได้ แต่จะไปทางไหน ?"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

เหมือนสายฟ้าฟาด !! กลางความรู้สึกของผู้คนในแวดวงเรียลเอสเตท เมื่อรังสรรค์ ต่อสุวรรณ นายกสมาคมการค้าอาคารชุดเจ้าของโครงการที่อยู่อาศัยหลายโครงการถูกข้อหา จ้างวานฆ่าประธานศาลฎีกา และไม่ว่าคำ "พิพากษา" จะออกมาเช่นไร ณ วันนี้ รังสรรค์ สูญสิ้นชื่อเสียงหมดแล้วทางด้านการทำธุรกิจที่ดิน

กว่า 6 โครงการที่กำลังก่อสร้าง และเร่งทำยอดขายจะได้รับการเยียวยาแก้ไขอย่างเร่งด่วนจากคณะกรรมการบ้านฉัตรเพชรได้ทันหรือไม่ หรือจะพังพาบล้มพับลงไปเฉกเช่นเดียวกับเกมโดมิโน เพราะทุกวันนี้แม้ "เครดิต" ของผู้ประกอบการจะยอดเยี่ยมเพียงไร แต่ภาวะการแข่งขันการขายที่หนักหน่วงทำให้การปิดยอดขายแต่ละโครงการหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว

และในบรรดาธุรกิจกว่า 20,000 ล้านบาทนั้นโครงการ "สีลม พรียเชียส ทาวเวอร์" กำลังถูกจับตามองมากที่สุด เนื่องจากโครงการนี้มีมูลค่าในการก่อสร้างสูงถึง 12,000 ล้านบาท สูงสุดกว่าทุกโครงการที่รังสรรค์เคยทำมา

ย้อนหลังกลับไปในยุคทองของการพัฒนาที่ดินเมื่อปี 2530-2532 รังสรรค์ ต่อสุวรรณ เปรียบประดุจช้างตกมันในวงการก่อสร้างเพราะนอกจากจะทำคอนโดตากอากาศตระกูล "บีช" ตามเมืองชายทะเลทั้งหลายแล้ว ยังฟาดงวงฟาดงามาทำโครงการต่างๆ ในเมืองหลวงอีกด้วย สีลม พรีเชียส ทาวเวอร์ ได้เปิดตัวเป็นทางการและวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 2 ก.พ. 2534 ด้วยความฝันของรังสรรค์ที่ต้องการสร้างสรรโครงการให้เป็นศูนย์รวมการค้าอัญมณีที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลกบนถนนสีลม ในที่ดินซึ่งกรมที่ดินได้จารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ว่ามีการซื้อขายกันแพงที่สุดในช่วงปี 2533 คือตกประมาณราคาตารางวาละ 270,000 บาท

ที่ดินทั้งหมดประมาณ 5 ไร่เศษคิดเป็นเงินที่รังสรรค์ต้องจ่ายในตอนนั้นเกือบ 600 ล้านบาท งบประมาณทั้งโครงการคาดไว้ว่าจะต้องจ่ายไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท รูปแบบที่วางไว้คือเป็นตึกสูง 69 ชั้น แบ่งออกเป็นพลาซ่าศูนย์อัญมณีและอาคารสำนักงาน

ในต้นปี 2534 หลังวิกฤติการณ์สงครามอ่าวเปอร์เซียนั้น ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังอึมครึม แต่โครงการนี้จำเป็นต้องเร่งเปิดตัว เพราะนอกจากต้นทุนที่ดินที่มีค่ามหาศาลแล้ว ยังมีโครงการศูนย์อัญมณีกำลังแข่งกันเกิดพร้อมๆ กันประมาณ 5-6 โครงการ หวังจับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเดียวกัน โดยเฉพาะโครงการจิวเวลรีเทรดเซ็นเตอร์ ที่มีทศ จิราธิวัฒน์ แห่งค่ายเซ็นทรัลพัฒนาเป็นหัวเรือใหญ่ และกำลังเร่งงานขายงานก่อสร้างอย่างรวดเร็ว รวมทั้งโครงการศูนย์อัญมณีบนถนนสุริวงศ์นับเป็นหอกข้างแคร่ที่สำคัญผลักดันให้ สีลม พรีเชียส ทาวเวอร์ ต้องก้าวเดินหน้าต่อไปอย่างเดียว

ภาวะการแข่งขันรุนแรงขึ้นทุกขณะ สีลม พรีเชียส พยายามฉีกหากลยุทธ์ทางด้านการขายทุกรูปแบบเพื่อเป็นการแย่งชิงลูกค้า ด้วยการนำโครงการไปขายยังสถานทูตไทยในอเมริกา รวมทั้งได้นำโครงการออกไปแสดงในงานประชุมสมาคมผู้ค้าอัญมณีโลก เพื่อหวังจะดึงสมาคมผู้ค้าอัญมณี ให้เข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

จนย่างเข้าเดือนกันยายน 2534 รังสรรค์ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า การขายโครงการสีลม พรีเชียส ฝืดอย่างหนักเพราะภาวะเศรษฐกิจไม่เป็นใจจำเป็นต้องหยุดงานขายไปก่อน

รังสรรค์หยุดการขายโครงการนี้พร้อมๆ กับโครงการขนาดยักษ์อีก 2 โครงการคือ ฉัตรเพชร ทาวเวอร์ คอนโด สูง 45 ชั้น บนถนนเจริญกรุง และโครงการ โกลเด้นบีชการ์เด้นท์ ที่หาดน้ำริน จังหวัดระยอง หลังจากนั้นก็ได้ลดเพดานบินลง โดยหันไปทำโครงการทาวเฮ้าส์และคอนโดราคาระดับกลางคือโครงการบ้านฉัตรเพชรบางพลัด และรัชดาพิเษกแทน รวมทั้งโครงการบ้านบีโอไอ

"ถ้าไม่หันมาจับตลาดล่าง ผมจะเอาเงินที่ไหนมาหมุนเวียนจ่ายลูกน้อง" รังสรรค์เคยกล่าวอย่างยอมรับสถานภาพทางด้านการเงิน

ท่ามกลางข่าวลือศูนย์ธุรกิจอัญมณีส่อเค้าล้มเมื่อต้นปี 2536 รังสรรค์ก็ออกมาชี้แจงว่าโครงการยังดำเนินการต่อไป โดยยังไม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบแน่นอน และยังยึดกลุ่มลูกค้าหลักคือศูนย์อัญมณีตามแผนการเดิม แต่ยอมรับว่าการก่อสร้างล่าช้าจริงเพราะการก่อสร้างชั้นใต้ดินที่ลึกถึง 6 ชั้น ทำให้งานผนังกันดินเพื่อป้องกันมิให้เกิดการทรุดตัวและพังทลายของที่ดินด้านข้างโดยรอบอาคาร ทำการก่อสร้างด้วยความยากลำบากมากเพราะบริเวณนั้นมีอาคารเก่าๆ และอาคารโรงพยาบาลเลิศสินอยู่ชิดติดกับโครงการ และ ณ วันนี้สีลม พรีเชียส ดำเนินการก่อสร้างชั้นใต้ดินลึกถึง 6 ชั้นไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว และกำลังก่อสร้างชั้นที่ 4 บนดิน ซึ่งนับว่าล่าช้าจากกำหนดเดิมที่กำหนดไว้ว่า ประมาณชั้นที่ 4 นี้จะต้องเสร็จประมาณกลางปี 2535

ในขณะเดียวกันบริษัทซัมซุง คอนสตรัคชั่น บริษัทก่อสร้างชั้นแนวหน้าระดับ 1 ใน 5 ของเกาหลีซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการนั้น ก็ได้ออกมายืนยันหนักแน่นเช่นกันว่าจะเดินหน้าทางด้านการก่อสร้างต่อไป โดยมีกำหนดเสร็จประมาณกลางปี 2539 เพราะยังไม่มีคำสั่งออกมาให้หยุดหรือชะลอไว้ก่อนเลย

โครงการนี้มีความหมายมากสำหรับซัมซุง เพราะเป็นอาคารขนาดใหญ่โครงการแรกที่ทางบริษัทเองต้องการฝากฝีไม้ลายมือให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน เพื่อโอกาสในการก้าวขึ้นไปรับงานใหญ่ชิ้นต่อๆ ไป

สำหรับเงินค่างวดในการก่อสร้างที่มีข่าวว่าชะลอการจ่ายไปบ้างนั้น ทางซัมซุงย้ำว่าเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น

ในขณะที่การก่อสร้างยังคงเดินหน้าสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าต่อไป ปรมาจารย์หลายรายในวงการที่ดินก็ให้ความเห็นว่า ทางออกของโครงการนี้ยังไม่มืดมนเสียทีเดียว เหตุผลหนึ่งที่สำคัญก็คือโครงการนี้ตั้งอยู่ในกลางทำเลทองด้านธุรกิจซึ่งหาที่ดินได้ยากแล้วในปัจจุบัน ราคาประเมินของกรมที่ดิน ณ วันนี้ตกประมาณ 500,000 บาทต่อตารางวา

แต่สิ่งสำคัญที่สุด รังสรรค์ต้องถอนตัวออกไปก่อนอย่างเด็ดขาดเพื่อภาพพจน์ที่ดีและปล่อยให้เป็นบทบาทของคณะกรรมการบ้านฉัตรเพชร ที่จะต้องเข้ามาศึกษารายละเอียดความเป็นไปได้ของโครงการอีกครั้งหนึ่ง ว่าการสร้างเป็นศูนย์อัญมณีตามเจตนารมย์เดิมมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่ได้จะปรับรูปแบบเป็นอย่างไร รวมทั้งดึงมืออาชีพเข้ามาเป็นที่ปรึกษาและผู้ถือหุ้นใหม่ กิจการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม เซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ หรือ อาคารสำนักงาน ยังพอเป็นทางออกที่เป็นไปได้ถึงแม้ว่าวันนี้การแข่งขันกันตัดราคาค่าเช่าพื้นที่ออฟฟิศบนสีลมค่อนข้างรุนแรงเหลือเพียง 500-600 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือนก็ตาม แต่โครงการนี้กว่าจะก่อสร้างเสร็จอีกประมาณ 3 ปี ซึ่งตอนนั้นภาวะล้นตลาดคงจะต้องลดน้อยลง

ในขณะเดียวกันนักลงทุนบางรายก็แย้งว่า ขณะนี้ทำเลทองของโครงการต่างๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่บนสีลมอีกต่อไปแล้วเพราะมีถนนสายใหม่อีกหลายสายมีศักยภาพในการลทุนเช่นกัน โดยเฉพาะออฟฟิศนั้นคาดว่าจะตกอยู่ในภาวะล้นตลาดอีกนาน

สำหรับคณะกรรมการบ้านฉัตรเพชรที่เพิ่งเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในสาธารณชนรับรู้ไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2536 นั้น มีวานิช ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยประกันชีวิต บริษัทไพบูลย์ประกันภัย บริษัทไทยประกันสุขภาพ ซึ่งว่ากันว่า เป็นกลุ่มบริษัทที่มีสินทรัพย์มากมายเท่ากับธนาคารขนาดใหญ่ เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร

สีลม พรีเชียส ทาวเวอร์ จะเดินหน้าต่อไป หรือสลายไปกับหมอกควันชื่อเสียงและเครดิตของรังสรรค์ ต่อสุวรรณ หรือไม่ ?? คงต้องฝากความหวังไว้กับ วานิช ไชยวรรณ และกลุ่มผู้บริหารบ้านฉัตรเพชร !!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.