"เวนดี้ส์…ขอพิสูจน์รสชาติในฐานะน้องใหม่ฟาสต์ฟู้ดเมืองไทย"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

เวนดี้ส์ คือแฟรนไชส์แฮมเบอร์เกอร์น้องใหม่ล่าสุดจากอเมริกา ที่อยู่ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "เวนดี้ส์" พร้อมจะบุกตลาดฟาสต์ฟู้ดเมืองไทย ด้วยได้เปิดสาขาในเมืองไทยขึ้นแล้ว 1 สาขา ที่ชั้นใต้ดินเดอะมอลล์ธนบุรีเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ด้วยพัฒนาการของธุรกิจฟ้าสต์ฟู้ดในช่วงหลังๆ นี้เกิดขึ้นเร็วมาก และไม่เฉพาะแต่เมืองไทย แทบจะทุกประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน จีน ฟิลิปปินส์ อินโด แนวโน้มมันขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นเช่นเดียวกันทั้งหมด

จากตัวเลขที่ได้รับการยืนยันว่า ในปัจจุบันมูลค่าตลาดของอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดทั้ง 5 ประเภท คือพิซซ่า, แฮมเบอร์เกอร์, ไก่ทอด, โดนัท และไอศกรีม มีกว่า 3 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน ที่มีมูลค่าเพียง 5 ร้อยล้านบาทเท่านั้น เฉพาะในกลุ่มแฮมเบอร์เกอร์ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด มีแมคโดนัลด์ มาเป็นอันดับหนึ่ง และตามมาด้วยเบอร์เกอร์คิงส์ มีมูลค่าตลาดรวมเกือบ 600 ล้านบาทในปัจจุบัน

เป็นจุดที่ทำให้นักธุรกิจกลุ่มของเวนดี้ส์ไทย ตัดสินใจนำแฟรนไชส์ เวนดี้ส์ จากอเมริกาเข้ามาสู่เมืองไทยอย่างไม่ต้องลังเล เพราะการขยายตัวของตลาดที่เขามองว่ายังขยายได้อีกมหาศาล

โดยมี กรรณิการ์ สุขเสรี, วารี วนาสัตกุล, กมลชัย ผดุงกิจ ที่เป็นเพื่อนนักเรียนนอกจากฟอร์ริดา สหรัฐอเมริกา ด้วยกันแต่อยู่กันคนละมหาวิทยาลัย เป็นผู้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทเวนดี้ส์ ไทยขึ้นมา

สมัยเรียนพวกเขาเหล่านี้คุ้นเคย และเดินเข้าออกในร้านเวนดี้ส์มานาน จนเกิดความชอบขึ้นมาเหมือนๆ กัน หลังจากกลับมาเมืองไทยได้แยกย้ายกันไปทำงานที่ต่างคนต่างร่ำเรียนมา

จนเมื่อ 3 ปีที่แล้วจึงคิดรวมตัวกัน และได้แจ้งความประสงค์ไปยังเวนดี้ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อขอแฟรนไชส์ มาทำในเมืองไทย

แต่ทางเดินไม่ได้ราบเรียบเหมือนเดินบนพรม จำต้องแข่งขันกับกลุ่มคนไทยอีกหลายๆ กลุ่มที่มองหาธุรกิจฟาสต์ฟู้ดที่นับวันจะบูมขึ้น !!! มาเปิดในเมืองไทย อยู่เกือบ 3 ปี ในที่สุดทางเวนดี้ส์มองเห็นความตั้งใจจริงของกลุ่มนี้เลยได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะ

"เวนดี้ส์เอง เขามีปรัชญาว่าต้องการให้คนที่ได้ลิขสิทธิ์ของเขายึดเวนดี้ส์เป็นธุรกิจหลัก มีบริษัทใหญ่ในเมืองไทยที่เข้ามาแข่งกับเรา แต่เวนดี้ส์บอกว่าถ้าหากให้บริษัทใหญ่ไปแล้ว เวนดี้ส์ก็คือหนึ่งในอาณาจักรของเขาเท่านั้น เพราะฉะนั้นเขาเองก็เกรงว่าจะไม่ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ นั่นจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่เลือกทางกลุ่ม เวนดี้ส์ ไทย" พิทักษ์ เล่าให้ฟังถึงที่มาของบริษัทเวนดี้ส์ในเมืองไทย

พิทักษ์ ศรีสกลกิจ ถูกดึงตัวเข้ามาร่วมงานกับเวนดี้ส์ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปโดยมีดีกรี MBA มาจากสหรัฐอเมริกา

เวนดี้ส์ไทยจึงถือกำเนิดมา ด้วยทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาทชำระเต็ม ด้วยความมุ่งมั่นที่ว่าการเข้ามาในอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดแล้วต้อง "GO BIG" ทำแค่สาขาหรือ 2 สาขาไม่ได้ ซึ่งเขาถือว่าเป็นธุรกิจหลัก จึงพร้อมที่จำทุ่มทุนเพื่อเปิดสาขาเพิ่มขึ้น

ในอเมริกา เวนดี้ส์ ซึ่งถือว่าเป็นกิจการแฟรนไชส์สาขาภัตตาคารฟาสต์ฟู้ดประเภทแฮมเบอร์เกอร์ วัดจากขนาด ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากแมคโดนัลด์ และเบอร์เกอร์คิงส์ ปัจจุบันมีสาขากว่า 4,000 แห่งทั่วโลก

อาร์ เดวิด โธมัส (เดฟ) คือผู้ที่ก่อตั้ง เวนดี้ส์ขึ้นมา เมื่อ 24 ปีที่แล้ว หรือในปี ค.ศ. 1969 ในมลรัฐโอไฮโอเป็นแห่งแรก จากแนวความคิดที่ต้องการทำแฮมเบอร์เกอร์ให้ดีกว่าที่มีขายอยู่ในขณะนั้น โดยเน้นไปในแนวของการทำอาหารแบบตำรับดั้งเดิม (OLD FASHIONED) และแบบที่ทำกันเองในบ้านโดยใช้ชื่อของลูกสาว คือเวนดี้ส์มาเรียกขานกันและเป็นเครื่องหมายการค้า

"ก่อนหน้าที่เวนดี้ส์จะกำเนิดแฟรนไชส์ขึ้นมา อาหารประเภทแฮมเบอร์เกอร์ เป็นวิถีชีวิตของคนอเมริกาที่มีมาก่อนแล้ว แต่เดฟเองต้องการที่จะย้อนยุคไปในสมัยที่เขายังเป็นเด็กๆ คือจะเน้นที่การให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพและรสชาติของอาหาร เนื้อที่จะนำมาใช้จะเป็นเนื้อสดไม่มีการแช่แข็ง เพราะต้องการให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด เป็นความแตกต่างของเวนดี้ส์กับฟาสต์ฟู้ดตัวอื่นๆ ซึ่งเป็นจุดขายของเวนดี้ส์มาตลอด" พิทักษ์เล่าถึงความแตกต่างแนวคิดพื้นฐานของผู้ให้กำเนิดเวนดี้ส์

นอกจากคุณภาพของอาหารแล้ว จุดขายของเวนดี้ส์ยังเน้นเรื่องความหลากหลายของรายการอาหาร เพื่อให้บริการลูกค้าจะได้เลือกสั่งรองรับการมาเป็นกลุ่มใหญ่หรือเล็ก เวนดี้ส์มีรายการอาหารให้เลือกมากกว่า หรือเน้นที่ว่าลูกค้าประจำเลือกอาหารได้โดยไม่จำเจ

ซึ่งมีทั้ง แฮมเบอร์เกอร์ เบอร์เกอร์ไก่ เบอร์เกอร์ปลา ไก่ทอด หัวมันฝรั่งอบ ชิลลี่ สปาเกตตี้ สลัด ฟรอสตี้ แอปเปิลพาย

จนเวนดี้ส์ได้รับเลือกให้เป็นภัตตาคารยอดนิยมในประเภท แฮมเบอร์เกอร์ติดต่อกัน 14 ปี โดยนิตยสาร RESTAURANT & INSTITUTION แห่งสหรัฐอเมริกา

"เราไม่ได้คิดมาแข่งขันกับใคร เพราะตอนนี้ส่วนแบ่งในตลาดมันขยายตัวขึ้นมามาก ทุกคนยังให้บริการรองรับตรงนี้ไม่เพียงพอ เราจึงเห็นว่ายังมีพื้นที่ที่พอจะเสริม ให้ตลาดมันขยายตัวเพิ่มขึ้นไปอีก" พิทักษ์ ในฐานะผู้จัดการทั่วไปที่เข้ามาร่วมงานกับ เวนดี้ส์เมื่อประมาณ ต้นปี 2536 ที่ผ่านมาอธิบายให้ฟัง

ในความเป็นจริงแล้ว ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในไทยถึงแม้จะมีมากมาย แต่มีเจ้าใหญ่ที่ครองตลาดอยู่เพียงไม่กี่เจ้าอย่าง แมคโดนัลด์ เคเอฟซี เบอร์เกอร์คิงส์ พิซซ่า ฯลฯ คนเหล่านี้เขาทำเต็มกำลังแล้วก็ยังให้บริการไม่เพียงพอ

เพราะคำว่าฟาสต์ฟู้ดนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดมาเป็นอันดับหนึ่งก็คือ ความสะดวก รองลงไปคือคุณภาพ และความสะอาด คือต้องบริการลูกค้าที่ความสะดวกสบายเป็นหลัก อย่างช่วงการเดินทางออกจากบ้าน หรือก่อนกลับบ้าน ถ้าอยากจะรับประทานจะต้องแวะเข้าไปได้ง่าย แต่ในเมืองไทยยังไม่สามารถมารองรับบริการได้ทั้งหมด

ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ต้องมาดูที่รสชาติด้วยว่าเป็นอย่างไรถูกใจคนไทยหรือไม่ ?

"เวนดี้ส์เราเริ่มมาจากแฮมเบอร์เกอร์ เราก็คงยืนอยู่ที่แฮม แต่สิ่งที่เรามีเหนือกว่าคู่แข่ง คือเรามีสปาเก็ตตี้ ไก่ทอด และอาหารสไตล์เม็กซิกัน อย่างชิลลี่ และหัวมันฝรั่งอบ และมีจุดที่สำคัญคือ ของทุกอย่างจะถูกปรุงขึ้นหลังจากมีออร์เดอร์ลูกค้า โดยคีย์ผ่านจอคอมพิวเตอร์ไปยังระบบครัวของเรา ที่เรียกว่า เซ็นทรัลกิลล์ ซึ่งเป็นคอนเซปท์ใหม่ของเวนดี้ส์" พิทักษ์ กล่าวถึงการให้บริการของเวนดี้ส์

เวนดี้ส์ไทยถูกกำหนดจากมาตรฐานจากต่างประเทศทุกกระเบียดนิ้ว ตั้งแต่ขั้นตอนของการเลือกสถานที่ ออกแบบสถานที่ การประกอบอาหาร และการบริการ

ขนาดของพื้นที่จะถูกกำหนดไว้ว่าจะต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 250 ตารางเมตร การออกแบบและวัสดุตกแต่งภายในร้านส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด เพื่อต้องการรักษาภาพพจน์ที่ต้องเป็น "ยูเอส สแตนดาร์ด"

เป้าหมายของเวนดี้ส์ต้องการขยายให้มีสาขาครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพฯ จากที่เดอะมอลล์ธนบุรี เป็นแห่งแรกนั้น แห่งที่ 2 ยังคงถูกปิดเป็นความลับเพราะผลในแง่ของธุรกิจและความเหมาะสมในเวลานั้น บอกแต่เพียงว่าอย่างน้อยภายในสิ้นปี 2536 จะต้องเปิดให้ได้อย่างน้อยอีก 1 สาขา โดยแต่ละสาขาจะใช้เงินทุนในการตกแต่งสถานที่ประมาณ 15 ล้านบาท ไม่รวมค่าพื้นที่

"เราเองยังไม่สรุปและกำหนดตัวเลขของการขยายสาขาไว้ เพราะจริงๆ แล้ว ก็อยากจะเปิดให้มากสาขาและเร็วที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับจังหวะของการเจรจาในเรื่องของค่าเรียลเอสเตทด้วย ว่าจะเหมาะสมเพียงใด"

เวนดี้ส์ได้วางกลยุทธ์ไว้ 3 ขั้นตอน คือ 1 การกำหนดตำแหน่งสินค้า คือเป็นสินค้าคุณภาพ แล้วคุ้มต่อราคาและมีวาไรตี้ "จริงๆ แล้วทุกคนเขาก็วางสินค้าเช่นเดียวกันนี้คือเป็นสินค้าคุณภาพ แต่เราเชื่อในตัวสินค้า ที่ได้รับการทดสอบที่เราควบคุมทุกอย่างออกมาเหมือนในอเมริกาทุกอย่างคือเป็นยูเอส สแตนดาร์ด เพราะมีฝรั่งบินมาเช็คอยู่ตลอดเวลา" พิทักษ์ กล่าวอย่างมั่นใจ

2 ขั้นตอนของการตลาด คือจากที่ได้กำหนดตำแหน่งสินค้าว่าเป็นสินค้าคุณภาพและมีวาไรตี้นั้น ในช่วงแรกจำต้องให้ความรู้แก่ผู้บริโภคให้เข้าใจในสินค้าแต่ละตัวเป็นหลัก เพราะเวนดี้ส์ถือว่าเป็นของใหม่สำหรับแฟรนไชส์ในเมืองไทย ด้วยการพยายามทำให้คนมาลองชิม และแนะนำวิธีการกินให้เข้าใจ

"เพราะคนไทยหากว่าไม่มีความคุ้นเคย ไม่เข้าใจวิธีแล้ว เค้าจะไม่เลือกซื้อ มีความกลัวและอายสายตาคนอื่นๆ แล้วสิ่งที่เวนดี้ส์มีจุดที่ความหลากหลายก็เปล่าประโยชน์"

3 คือแผนการโปรโมทเป็นภาพรวมที่จะกำหนดการใช้สื่อ ซึ่งช่วงแรกนี้จะอยู่ที่การไดเร็กซ์ไปยังผู้บริโภคด้วยแผ่นพับ และคำแนะนำต่อลูกค้าที่เข้ามาในร้าน หลังจากที่มีสาขาเพิ่มมากขึ้นก็จะออกไปยังสื่ออื่น จนมีสาขามากพอที่จะใช้สื่อทีวีเป็นหลัก

"เราคิดว่าหากโหมในสื่อต่างๆ แล้วไม่มีสาขามารองรับมากพอให้ผู้บริโภคได้เข้ามาใช้บริการ จะเป็นการทำลายภาพพจน์เรามากกว่า" พิทักษ์ กล่าว

เวนดี้ส์ในเมืองนอกได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก สำหรับเมืองไทยยังต้องรอการพิสูจน์ว่าจะได้รับการต้อนรับหรือไม่ เพราะยังมีอะไรอีกหลายๆ อย่าง ที่เวนดี้ส์ไทยต้องให้ความรู้แก่ผู้บริโภค "เราเพิ่งเข้ามาเป็นคนล่าสุด คนอื่นๆ เขามาก่อนเรานานมาก 5 ปี 10 ปี ซึ่งเราก็ตระหนักดีว่าจำต้องเร่งฝีเท้ามากขึ้น แต่สิ่งที่จะวัดกันก็คือการพิสูจน์ถึงรสชาติของสินค้า เราเชื่อมั่นในสินค้าของเรามาก" พิทักษ์ กล่าวอย่างเชื่อมั่น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.