ชิ้นส่วนรถโวยพิษบาทต้นทุนพุ่งแซงยุ่น


ผู้จัดการรายวัน(13 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

พิษค่าเงินบาทแข็ง ราคาวัตถุดิบพุ่ง ทำภาระต้นทุนชิ้นส่วนยานยนต์ไทย พุ่งแซงหน้าญี่ปุ่นเป็น 1.05-1.1 : 1 จากเดิมอยู่ในอัตราต่ำกว่า ทำให้สูญเสียศักยภาพการแข่งขันทันที สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ จี้ภาครัฐหาวิธีดูแลค่าเงินให้เหมาะสม หลังมาตรการกันสำรอง 30% ไม่ได้ผล ยังทำให้ภาคการลงทุนเสียหายอีก ขณะที่สภาวะตลาดรถปีนี้ ยักษ์ "โตโยต้า" หวังรถใหม่ งานมอเตอร์โชว์ และหลังมีเลือกตั้งช่วงปลายปี จะช่วยดันยอดขายให้ดีขึ้น

นายยงเกียรติ์ กิตะพาณิชย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน"ว่า ในปีที่ผ่านมาแม้ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะไม่ค่อยดีนัก แต่ในส่วนของการส่งออกยังคงไปได้ด้วยดี โดยชิ้นส่วนยานยนต์มีการส่งออกคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.5 แสนล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้ามีอัตราการเติบโต 14% และมีมูลค่าเท่ากับการส่งออกรถยนต์ ทำให้การส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบจากไทย คิดเป็นมูลค่ารวม 5 แสนล้าน มีอัตราการเติบโต 20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

"ขณะที่สถานการณ์อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยปีนี้ แนวโน้มค่อนข้างน่าเป็นห่วง จากปัจจัยลบต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะปัญหาค่าเงินบาทแข็ง และต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันเฉลี่ยค่าเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตหน้าโรงงาน ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นจากเดิมอยู่ที่ 0.8 : 1 แต่ปัจจุบันไทยมีต้นทุนสูงกว่าเป็น 1.05-1.1 : 1 ทำให้ศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยลำบากมากขึ้น"

จากปัญหาดังกล่าวหวังว่ารัฐบาลจะเข้าดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสมกว่านี้ ส่วนมาตรการกันสำรอง 30% เพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงได้ แต่กลับทำให้เกิดปัญหาต่อการลงทุนมากกว่า ดังนั้นหากจะยกเลิกมาตรการนี้ น่าจะเรียกความเชื่อมั่นและการลงทุนกลับมาได้

นายยงเกียรติกล่าวว่า นอกจากนี้รัฐบาลจำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคมากขึ้น เพราะหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ย่อมส่งผลต่อการสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัว เพื่อช่วยเหลือตัวเองให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ โดยเฉพาะกระบวนการลดต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ๆ มาใช้ ในส่วนของสมาคมชิ้นส่วนฯ มีนโยบายพัฒนาผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมทำ 4 โครงการ เพื่อพัฒนาและเสริมศักยภาพผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย ได้แก่ โครงการบำรุงรักษาเครื่องจักรเก่าของผู้ประกอบการ โครงการพัฒนามาตรฐาน TS1649 โครงการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี และสุดท้ายโครงการจัดระบบการขนส่ง หรือโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ

สำหรับเป้าหมายการส่งออกชิ้นส่วนไทยปีนี้ แม้จะมีปัญหารุมเร้ามากมาย แต่คาดหวังว่าทุกอย่างจะคลี่คลายโดยเร็ว และผู้ประกอบการเองจำเป็นต้องเร่งหาตลาดและลูกค้าเต็มที่ ซึ่งหวังว่าปีนี้จะยังคงรักษาอัตราการเติบโตไว้ได้ แม้จะไม่สามารถเติบโตรวดเร็วเท่ากับการส่งออกรถยนต์ ซึ่งมีความพร้อมจากการสนับสนุนตลาดส่งออกของบริษัทแม่ในต่างประเทศ แต่เพื่อให้มูลค่าส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์จากไทยบรรลุ 4 แสนล้านบาท ตามเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกับภาครัฐในปี 2553 ผู้ผลิตชิ้นส่วนจึงต้องปรับตัวและช่วยกันอย่างเต็มที่

นายมิทซึฮิโระ โซโนดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า สภาวะตลาดรถยนต์ไทยปีนี้โตโยต้าได้ประเมินไว้ว่า ตลอดทั้งปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 7 แสนคัน ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2-3% เนื่องจากปัจจัยลบเกี่ยวกับราคาน้ำมันเริ่มลดลง และอัตราดอกเบี้ยปรับตัวลงเช่นกัน

"แต่ปรากฏว่ายอดขายรถยนต์สองเดือนแรกปีนี้กลับลดลง ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากการแข่งขันที่รุนแรงในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำลูกค้าได้เทการซื้อไปเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาดังกล่าว และอีกปัจจัยมาจากลูกค้าอยู่กำลังรอดูสถานการณ์ความสงบทางการเมือง ทำให้ตลาดรถยนต์สองเดือนแรกปีนี้ลดลง เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว"

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยแรกคงจะหมดไป เพราะจะมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่สู่ตลาดต่อเนื่อง อย่างโตโยต้าได้เปิดตัวรถยนต์นั่งขนาดเล็กรุ่นวีออสใหม่สู่ตลาด และปลายเดือนนี้ก็จะมีงานมอเตอร์โชว์ คาดว่าจะทำให้ตลาดรถยนต์กลับมาคึกคักอีกครั้ง ส่วนปัจจัยทางการเมืองผู้ประกอบการและลูกค้าคงไม่สามารถควบคุมได้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะรักษาเสถียรภาพ และจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นช่วงปลายปี ดังนั้นคาดว่าตลาดน่าจะกลับมาเติบโตได้ในช่วงปลายปี และสามารถบรรลุ 7 แสนคัน ได้ตามที่ประเมินไว้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.