"ชีวิตที่มันสะใจของวีรกุล บุณยัษฐิติ ผู้สร้างชื่อ "NKT" โกคาร์ตไทยแลนด์"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ในสนามประลองกีฬาความเร็ว การแข่งรถโกคาร์ตที่มองดูราวรถเด็กเล่นที่ไม่ธรรมดาคือความมันสะใจ ขณะที่ร่างกายผู้ขับถูกฉุดไปด้วยอัตราเร่งมโหฬารที่แผดเสียงเร้าใจกับความเร็วแบบสุดๆ ด้วยพลังเครื่องยนต์ 25 แรงม้าที่หมุน 19,000 รอบแบบหูดับตับไหม้ โดยก้นของคนขับห่างจากพื้นเพียงครึ่งนิ้ว มันเป็นความรู้สึกที่วีรกุล บุณยัษฐิติ หรือ "คุณนุก" กรรมการรองผู้จัดการบริษัท อู่วิกรมคนนี้ได้สร้างตำนานแห่งนักแข่งรถโกคาร์ตในฐานะคนเอเชียคนเดียวที่ลงสนามแข่งขันในอังกฤษเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

บัดนี้วีรกุลก็คือคนไทยคนเดียวในอาเซียนที่ผลิตรถแข่งโกคาร์ตส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ และญี่ปุ่น ภายใต้เครื่องหมายการค้า "NKT" ซึ่งสร้างสรรค์มาจาก "นุก" (NK) ชื่อเล่นของวีรกุล ส่วนตัวอักษร T ย่อมาจาก THAILAND นั่นเอง

"เทคโนโลยีเป็นของผมเอง ไม่ได้ซื้อเขามา ผมเริ่มโกคาร์ตตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว โดยเริ่มจากเป็นงานอดิเรกส่วนตัวที่ชอบเล่น และได้เคยลงแข่งที่อังกฤษ เมื่อกลับมาเมืองไทย รถหายากและแพง ผมจึงคิดทำขึ้นมาเล่นเอง ในอดีตผมทำประมาณ 30-50 คันแบ่งเพื่อนฝูงกันเล่น แต่ตอนนี้ขึ้นมาถึงปีละ 500 คัน และปีหน้าคาดว่าจะถึง 800-1,000 คัน" วีรกุลเล่าให้ฟังถึงศักยภาพของธุรกิจผลิตรถแข่งโกคาร์ตที่ยังขยายตัวได้อีกมากในอนาคต

ภูมิหลังของวีรกุลกำเนิดมาจากตระกูลเก่าแก่ที่มีบิดาเป็นทนายความชื่อดังในอดีต คือคุณหลวงประกอบนิติสาร เจ้าของที่ดินที่เชื่อมต่อระหว่างซอยสุขุมวิท 15 ทะลุซอยสุขุมวิท 19 หลวงประกอบนิติสารนิยมชมชอบการเล่นรถทันสมัยราคาแพงสุดๆ เป็นชีวิตจิตใจ

อุปนิสัยนี้ได้ถ่ายทอดมาถึงรุ่นลูก พี่ชายคนโตของวีรกุลคือ วิกรม บุณยัษฐิติซึ่งจบวิศวไฟฟ้าจากจุฬา บินไปเรียนต่อจนจบวิศวกรรถยนต์ที่อังกฤษและฝึกงานกับเบนซ์แล้วกลับมาเปิดกิจการอู่ซ่อมรถ "อู่วิกรม" ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในปัจจุบัน วิกรมเคยเป็นตัวแทนจำหน่ายรถ SABB สมัยหนึ่งก่อนที่ออโตเทคนิคจะทำอยู่ขณะนี้

สำหรับวีรกุล น้องชายคนสุดท้องของวิกรม ดำเนินวิถีชีวิตไม่ต่างกับพี่ชาย เพียงแต่ใช้เวลาน้อยกว่าในการร่ำเรียนจนจบวิศวกรรถยนต์และบริหารธุรกิจจากอังกฤษ ระหว่างที่เรียนก็ได้เป็นนักแข่งโกคาร์ตในสนามแข่งของอังกฤษมาแล้ว

วีรกุลได้สัมผัสกีฬาความเร็วนี้ก่อนที่จะเดินทางไปอังกฤษ เพราะกีฬาเล่นรถโกคาร์ตเกิดขึ้นในช่วงที่ไทยได้กลายเป็นฐานทัพของทหารอเมริกัน กีฬานี้ได้เผยแพร่ไปตามค่ายทหารจีไอทั่วไป ขณะที่กลุ่มเศรษฐีไทยก็จับกลุ่มเล่นกับเจ้าหน้าที่สถานทูตต่างประเทศที่สามารถนำเข้าโกคาร์ตได้

ชื่อเสียงและความสามารถของวีรกุลในกีฬาเล่นรถโกคาร์ตในสนามแข่งนานาชาติ ได้จุดประกายให้เขาได้กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงช่วงนั้น และเมื่อสำเร็จการศึกษา 4 ปีจากอังกฤษ วีรกุลได้กลับมาช่วยกิจการครอบครัวและยังคงเป็นแชมป์นักเล่นโกคาร์ตในทุกนัดที่มีการประลองกำลังกันขึ้น

20 กว่าปีที่วีรกุลคลุกคลีและมองเห็นว่า กีฬาเล่นรถโกคาร์ตน่าจะเปิดโอกาสเผยแพร่สู่สาธารณชนและขยายตลาดได้มากกว่าที่จะจำกัดอยู่แต่ในวงแคบๆ ของก๊วนหมู่เศรษฐีมีเงินด้วยกันเอง เช่น สันติ ภิรมย์ภักดี หรือบิล ไฮเนกี้ ผู้บริหารไมเนอร์กรุ๊ป

ด้วยประสบการณ์และความรู้ที่ร่ำเรียนด้านวิศวรถยนต์มา ทำให้เขาเริ่มสร้างโกคาร์ตที่เมดอินไทยแลนด์ขึ้นมาขายทั่วไป ด้วยราคาขายตั้งแต่ 36,000-73,000 บาทที่ต่ำกว่ารถนำเข้าที่มีราคาแพงถึง 100,000-200,000 บาท

แต่ในระยะต้นๆ ของการบุกเบิก NKT CAR นั้นวีรกุลต้องต่อสู้กับค่านิยมที่ลูกค้าคิดว่าของไทยคุณภาพสู้ของนอกไม่ได้ ด้วยการพิสูจน์ในทุกสนามแข่ง

"ครั้งหนึ่งเราโดนดูถูกมากๆ ว่ารถเราใช้ไม่ได้ แต่ของอย่างนี้มันพิสูจน์ได้ อย่าลืมว่าผมเรียนด้านนี้และลึกซึ้งกับรถแข่งโกคาร์ตมามาก ดีไซน์ทุกอย่างผมสเปควัตถุดิบเพื่อให้รถ NKT CAR มีบุคลิกลักษณะของรถแข่งที่ดี" วีรกุลเล่าอย่างภูมิใจในฝีมือคนไทย

ในช่วงทศวรรษที่รถโกคาร์ตยี่ห้อ NKT ได้กระจายสู่แหล่งลูกค้าในประเทศและเริ่มมีการส่งออกสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่นเมื่อ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ทำให้วันนี้สินค้ารถแข่งโกคาร์ต NKT ได้เตรียมขึ้นทะเบียนมาตรฐานรับรอง CIK ของฝรั่งเศสซึ่งเป็นองค์กรควบคุมมาตรฐานรถแข่งโกคาร์ตของยุโรป

วีรกุลได้จุดประกายธุรกิจให้เช่ารถโกคาร์ตให้เกิดขึ้นตามแหล่งศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ มุ่งสู่พัทยาซึ่งเป็นกิจการรถให้เช่าที่ใหญ่ที่สุด กระจายไปสู่หัวเมืองใหญ่ๆ จากเหนือลงใต้เช่นเชียงใหม่มีสองแห่ง ขอนแก่น จันทบุรี ระยอง ภูเก็ต สมุย และล่าสุดนครราชสีมากำลังจะเริ่มธุรกิจนี้

แต่ธุรกิจรถโกคาร์ตนี้ วีรกุลกล่าวว่าไม่ใช่คนมีเงินทุกคนจะเปิดขึ้นมาได้ แต่ต้องศึกษาให้ดีก่อนการลงทุน ปัจจัยที่ต้องพิจารณาได้แก่ ธุรกิจนี้มีข้อน่ารังเกียจที่เสียงมันดังมากๆ จากเสียงยางเสียดสีอัดกับถนนด้วยความเร็วสูงสุดที่มีถึง 200 กม. ต่อชม. แต่เวลาขับแข่งจริงจะใช้เพียง 80 กม. ต่อชม. หรือ 40 กม. ต่อชม. ในสนามเด็กเล่น

นอกจากกลุ่มผู้เล่นที่มีอายุ 15-30 ปีจะมีเวลาว่ามาเล่นได้ต่อเมื่อเลิกเรียนหรือเลิกงานแล้ว ดังนั้นช่วง PEAK HOUR ที่จะทำเงินได้คือช่วงตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 3 ทุ่ม

สถานที่จึงต้องอยู่ในเมืองโดยเฉพาะต้องอิงกับศูนย์การค้า สวนอาหาร โดยหลีกเลี่ยงตั้งข้างโรงเรียนหรือหมู่บ้านจัดสรร

"ผมเคยนั่งเฝ้าดูลูกค้าผมที่ไปเปิดที่ชั้น 5 ของห้างอิมพีเรียลเวิร์ล บางนา ผมเห็นแล้วงง เพราะคนเล่นคือกระเป๋ากระปี๋รถเมล์และมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ที่ยอมจ่ายเงินค่าขับรถโกคาร์ต 40 บาทต่อ 2 นาที เจ้าของสนามบอกว่าคนหนึ่งมาเล่นกันวันละเป็นพันบาท" วีรกุลเล่าด้วยน้ำเสียงอันแปลกใจที่คาดไม่ถึงว่าชนชั้นแรงงานจะคลั่งไคล้กีฬาความเร็วนี้มากๆ

เมื่อพิจารณาสนามแข่งกับสนามให้เช่ารถโกคาร์ตในเมืองไทย จะพบว่าสนามพีระเป็นที่แห่งเดียวที่ใช้แข่งรถโกคาร์ต 100% ไม่มีการให้เช่า แต่สนามเช่ารถโกคาร์ตที่นิยมเล่นกันมากคือ สนามที่ซอยวัดหัวกระบือ ที่ถนนธนบุรี-ปากท่อ กม. 7 ที่มีลักษณะเป็นธุรกิจให้เช่ารถ 70% แต่ใช้แข่งเพียง 30% ซึ่งก็อึดอัดและไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร

สำหรับในต่างจังหวัด ธุรกิจเช่ารถโกคาร์ตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอยู่ที่สนามจอมเทียน พัทยาใต้ ชื่อว่า "พัทยาคาร์ตเซอร์กิต" ซึ่งทำมานาน 5 ปีแล้ว ขนาดของรถโกคาร์ตมีถึง 40-50 คันซึ่งจะใช้เครื่องแรง ธุรกิจให้เช่ารถโกคาร์ตจะสูงถึง 90% ขณะที่ใช้แข่งเพียง 10% เท่านั้น

ที่เหลือนอกนั้นในจังหวัดต่างๆ เช่นสนามจันทบุรีก็จะมีรถให้เช่าถึง 70% แข่งเพียง 30% ขณะที่สนามระยองจะมีแข่งมากขึ้นเป็น 35-40%

สนามธุรกิจให้เช่าและแข่งรถโกคาร์ตเหล่านี้คือลูกค้ารายใหญ่ ที่นิยมซื้อรถแข่งโกคาร์ต NKT โดยสนนราคาขายจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับรุ่นหรือขนาดของรถ เช่น รุ่นให้เช่าที่ใช้เบรคสายจะมีราคา 34,500 บาทและรุ่นที่ให้เช่าที่ใช้เบรคน้ำมันจะแพงขึ้นเป็น 36,000 หรือรถโกคาร์ตรุ่นเอ็กซ์เปิร์ท Ao2 ราคาขายคันละ 44,500 บาท หรือรถแข่งฟอร์มูล่าซึ่งใช้เครื่องยนต์ 150 แรงม้าของมอเตอร์ไซด์ใส่เข้าไปมีราคาแพงที่สุดถึง 73,000 บาท

"ปีนี้ผมคิดว่าเราจะทำธุรกิจรถโกคาร์ตโดยรวมได้ประมาณ 15-20 ล้านบาท ปีที่แล้วเราส่งออกไปขายต่างประเทศได้ถึง 200 คัน โดยเราไม่ต้องออกไปหาตลาด ที่อเมริกาเขาใช้ NKT CAR ของเราซึ่งใส่เครื่องประมาณ 25 แรงม้าลงไปแข่ง ผมทำการวิจัยและพัฒนาสินค้าตลอดโดยทางอเมริกาและยุโรปเขาจะให้ข้อมูลจากนักแข่งมา" วีรกุลเล่าให้ฟัง

ความเป็นนักคิดที่ไม่หยุดนิ่งได้ทำให้วีรกุลได้พัฒนาสินค้ารถโกคาร์ตขึ้นมาอีกรุ่น ในกีฬาความเร็วอันนี้คือ รุ่นฟอร์มูล่า -150 สำหรับการแข่งในสนามพีระเท่านั้น วีรกุลได้นำเอาเครื่องยามาฮ่า คาวาซากิ และฮอนด้า (ยังไม่มีซูซูกิ) โดยมีโปรโมเตอร์ชื่อดังอย่างพิทักษ์ ปราดเปรื่อง เป็นผู้จัดการแข่งขัน

โลกของกีฬาความเร็วอย่างโกคาร์ตยังเติบโตไปได้อีกไกล ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน โดยเฉพาะคนอย่างวีรกุล บุณยัษฐิติ เจ้าของผลิตภัณฑ์อันลือชื่อ NKT ที่สานฝันให้เป็นจริงได้ในทศวรรษนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.