ตราสารหนี้แพะรับบาปกฎ30%


ผู้จัดการรายวัน(13 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

การพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศเพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนอย่างมีเสถียรภาพ 2 กำลังในการขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ "ตลาดเงิน" ซึ่งมีผู้กำกับดูแลคือธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน ขณะที่อีกฟาก "ตลาดทุน" ซึ่งประกอบไปด้วย 4 หน่วยงาน คือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ตลาดอนุพันธ์ (TFEX) ตลาดตราสารหนี้ (BEX) และตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET)

การประสานงานเพื่อประสานนโยบายของทั้ง 2 ตลาด เพื่อให้การพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง เหมาะสม และยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลในฐานะผู้กำกับดูแลทิศทางทางเศรษฐกิจให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมาเหตุการณ์การนำนโยบายบางอย่างของผู้ที่มีอำนาจในการดูแลจากตลาดเงินเข้ามาเพื่อสร้างเงื่อนไขในตลาดทุนสร้างความเสียหายที่รุนแรงทั้งต่อระบบเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่น รวมถึงความศรัทธาต่อการเข้ามาลงทุนในประเทศ มาตรการดังกล่าวหมายถึง มาตรการการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ประกาศใช้เมื่อค่ำคืนวันที่ 18 ธ.ค.49 ซึ่งมาตรการดังกล่าวผู้ประกาศใช้ได้สร้างจำเลยทางสังคม คือ ตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากเหตุผลหนึ่งที่ธปท.ประกาศถึงความจำเป็นที่ต้องประกาศใช้มาตรการดังกล่าวเพราะเชื่อว่าการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทในช่วงตลอดปี 49 เป็นผลมาจากการเข้ามาเก็งกำไรจากการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น

"ผู้จัดการรายวัน" ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายสันติ กีระนันทน์ กรรมการผู้จัดการตลาดตราสารหนี้ ได้กล่าวถึงประเด็นที่กลายเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยยืนยันว่าตลาดตราสารหนี้ซึ่งตกเป็นจำเลยทางสังคมว่าเป็นต้นเหตุของความจำเป็นที่ธปท.ต้องประกาศใช้มาตรการ 30% สำหรับตลาดตราสารหนี้คงไม่ได้เป็นจำเลยทางสังคมแต่กลายเป็นแพะที่ต้องรับบาปในเรื่องนี้มากกว่า ธปท.มีข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้ ซึ่งในความเป็นจริงน่าจะทำให้รู้ว่าอะไรจริงและอะไรไม่จริง เรายอมรับว่าตราสารหนี้เป็นตลาดที่หาข้อมูลยากจึงต้องกลายเป็นกลุ่มที่ได้รับการผ่อนปรนช้าที่สุด

"ถ้าการกระทำอย่างหนึ่งเหมือนการเดินหน้า 5 ก้าวแต่การถอยหลังถอยเพียงครั้งละ 1 ก้าวเหลืออีก 4 ก้าวคงต้องมาดูว่ากว่าจะกลับมาที่เดิมจะใช้เวลาเท่าไหร่ เราคงไม่ได้ตกเป็นจำเลยของการประกาศใช้มาตรการ 30% แต่เราเป็นเหมือนแพะมากกว่า"

ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากผลกระทบกับภาคตลาดทุนทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงเป็นประวัติการณ์ ขณะตลาดที่รับผลกระทบค่อนข้างมากอีกแห่ง คือ ตลาดตราสารหนี้ทั้งในเรื่องของราคา ดอกเบี้ยที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งส่วนตัวทำได้เพียงแค่ยืนยันว่า ตลาดตราสารหนี้ หรือ BEX นั้นไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวเลย แต่ผลที่เราเห็นในวันนี้ คือ ตัวแทนขายหรือดีลเลอร์ ไม่ซื้อตราสารหนี้ที่ออกมาใหม่เลย ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศหยุดการซื้อขายเลยทันที

การทำงานในช่วงที่ผ่านมา

2 ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ BEX ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบต่างๆเพื่อสร้างความพร้อมที่เต็มรูปแบบ ทั้งในส่วนของสินค้าที่เป็นพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงพันธบัตรของบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้การพัฒนาการซื้อขายจากการส่งคำสั่งซื้อขายผ่านตัวแทน หรือ OTC มาเป็นการซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เทรดดิ้งมากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาการซื้อขายในส่วนดังกล่าวมีสัดส่วนเพียง 1% ของมูลค่าการซื้อขายรวม โดยในเรื่องดังกล่าวการแก้ปัญหาแนวทางหนึ่งคือ การเตรียมความพร้อมให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาซื้อขายผ่านระบบอิเลกทรอนิกส์ เทรดดิ้งมากขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าการซื้อขาย

"ในประเทศอื่นๆ การซื้อขายตราสารหนี้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตสูงมาก เช่นเกาหลีจากสัดส่วนประมาณ 20% ปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 40% ขณะที่ในไตหวันมีการซื้อขายสูงถึง 90%"

อย่างไรก็ตาม แนวทางหนึ่งในการเพิ่มจำนวนการซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เทรดดิ้ง ตลาดตราสารหนี้ในฐานะผู้ดูแลคงไม่ถึงจะต้องบังคับให้ตัวแทนในการซื้อขายส่งคำสั่งซื้อขายผ่านระบบอิเลกทรอนิกส์ เพราะผู้ประกอบการคงไม่ชอบและที่สำคัญการเติบโตที่ตลาดตราสารหนี้ต้องการ คือ การเติบโตที่ยั่งยืนไม่ได้การเติบโตในรูปแบบที่ต้องมีการออกกฎระเบียบใดๆเข้ามาบังคับผู้ประกอบการ

สำหรับงานของ BEX ในปีนี้จะเน้นการประชาสัมพันธ์การให้ความรู้ความเข้าใจมากขึ้นโดยจะเริ่มปูพรมเพื่อประชาสัมพันธ์อย่างเต็มรูปแบบในช่วงไตรมาส 2 นี้ โดยการให้ความรู้นอกเหนือจากสื่อโฆษณาต่างๆ แล้ว BEX จะเดินหน้าในการให้ความรู้ผ่านกิจกรรมที่จัดต่อเนื่อง คือ งานมหกรรมตราสารหนี้ ที่ถือได้ว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่เพียบพร้อมเพื่อให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาสอบถามข้อมูล

นอกจากนี้ ความเพิ่มความน่าสนใจด้วยการเพิ่มจำนวนสินค้าเพื่อให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น ในช่วงปลายปีคาดว่าจะได้เห็นการนำ ....REPO ... เข้ามาซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความต้องการของผู้ซื้อ-ขายที่สามารถทำธุรกรรมดังกล่าวได้

แนวโน้มของตลาดตราสารหนี้

สำหรับแนวอัตราดอกเบี้ยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะค่อยๆปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพราะหากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินอาจจะกระทบต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยน่าจะทำให้กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ยังจะได้รับความสนใจจะนักลงทุนอย่างต่อเนื่องจนกว่าภาวะที่อึมครึมซึ่งกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจจะจางลง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นในส่วนของตราสารหนี้ระยะยาวจะเริ่มกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้น

BEX ในอีก 5 ปีข้างหน้า เราหวังว่ามูลค่าตราสารหนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะระดับประมาณ 80% ของ GDP จากปัจจุบันที่มูลค่าตราสารหนี้อยู่ที่ 40% รวมถึงสภาพคล่องในตลาดควรจะมีมากกว่าปัจจุบันเพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุน ขณะที่ปัจจุบันสภาพคล่องแม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำแต่ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะในหลายๆ ประเทศปริมาณการซื้อขายในส่วนของตราสารหนี้ก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมาก ถ้าวันหนึ่งมูลค่าการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับขนาดอยู่ที่ 1.5 เท่าก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากแล้ว

ในส่วนของมูลค่าตราสารหนี้ทั้งระบบในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4 ล้านล้านบาทโดยเป็นในส่วนของพันธบัตรภาคของภาครัฐประมาณ 3.5-3.7 ล้านล้านบาท ขณะที่เป็นในส่วนของเอกชนประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยในปีนี้คาดว่าการออกพันธบัตรของภาครัฐอย่างน้อยจะอยู่ที่ประมาณ 3.3. ล้านบาทไม่รวมเม็ดเงินที่จะต้องนำไปใช้ในโครงการเมกะโปรเจกต์ ซึ่งเรื่องดังกล่าวคงต้องรอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้ามาพิจารณาว่าจะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างไร

อยากฝากอะไรกับทีมศก.

ผมอยากฝากทีมผู้บริหารทางเศรษฐกิจของประเทศ อยากให้มีการตื่นตัวในการทำงานและควทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ขณะที่การแก้ไขปัญหาต่างๆควรจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ การเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงจะทำให้การแก้ปัญหาต่างๆตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นๆ และที่สำคัญของทีมบริหารทางเศรษฐกิจการดำเนินนโยบายต่างๆควรจะไม่ขัดขวางการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.