|
คาด 4 ปี โฆษณาวิ่งใส่ทีวีดาวเทียม อินไซท์อินโฟ ตั้งเป้าเข้าเส้นเบอร์ 1
ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ทีวีดาวเทียมกลายเป็นสื่อใหม่ของคนไทยที่กำลังถูกจับตามอง ทั้งในแง่การปฏิรูปวงการโทรทัศน์ที่สถานีโทรทัศน์เกิดขึ้นอย่างมากมายในรอบปีที่ผ่านมา และกำลังจะเกิดขึ้นอีกนับสิบช่องในอนาคตอันใกล้ เพียงแต่วันนี้ ทีวีดาวเทียม ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงอยู่ในสังคม ถึงความถูกต้องด้านตัวบทกฎหมายในการก่อตั้งสถานีและการออกอากาศ
ความจริงแล้ว ทีวีดาวเทียมก็ไม่ใช่สื่อใหม่ถอดด้ามเลยเสียทีเดียว นับเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยกลุ่มหนึ่งที่มีกำลังซื้อจานดาวเทียมขนาดใหญ่ในระบบ C-Band ราคาหลักหมื่นบาทติดตามบ้าน ก็สามารถรับชมช่องทีวีดาวเทียมจากต่างประเทศ ทั้งรายการข่าว รายการเพลง การถ่ายทอดกีฬา จากสถานีในฮ่องกง อินเดีย อาเซียน ไปจนถึงรัสเซีย รวมถึงสมาชิกเคเบิลทีวียูบีซี หรือทรูวิชั่นส์ ในปัจจุบัน ที่ในความเป็นจริงลูกค้าส่วนใหญ่รับสัญญาณผ่านดาวเทียมไทยคม ในระบบ KU-Band หาใช่การส่งสัญญาณตามสายเคเบิลตามชื่อเรียก
แต่ก็เป็นที่สงสัยว่า ผู้ผลิตรายการผ่านทีวีดาวเทียมในประเทศ ที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงปี - 2 ปีที่ผ่านมา เปิดให้ผู้บริโภคที่มีจานดาวเทียมในระบบ KU-Band รับชมฟรี และยังเปิดให้เคเบิลทีวีท้องถิ่น 400-500รายทั่วประเทศ ดึงสัญญาณไปออกอากาศในช่องเคเบิลทีวีของตนเองได้ฟรีนั้น จะมีรายได้จากส่วนใด เพราะนอกจากไม่มีการเก็บค่าสมาชิกเหมือนทรูวิชั่นส์แล้ว ในส่วนของการหาโฆษณาให้เหมือนดังเช่นฟรีทีวี ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากเจ้าของสินค้า และเอเยนซี่โฆษณา ทำให้ดูเหมือนว่า ทีวีดาวเทียม จะเป็นเพียงสื่อส่งเสริมการตลาดของบรรดาบริษัทที่เป็นเจ้าของคอนเทนท์จะเป็นเพียงสื่อส่งเสริมการตลาดของบรรดาบริษัทที่เป็นเจ้าของคอนเทนท์รายใหญ่ อย่าง จีเอ็มเอ็มแกรมมี่
หรืออาร์เอส ที่มีคอนเทนท์เพลงมหาศาล หรือค่ายเจ้าของหนัง ที่มีคอนเทนท์หนังอยู่เต็ม 2 มือ ที่มองทีวีดาวเทียมเป็นสื่อกระตุ้นการซื้อหาคอนเทนท์ นำมาซึ่งรายได้ตามมา ทั้งการซื้อซีดี ดีวีดี การดาวน์โหลด ตลอดจนการซื้อสินค้าเมอร์เชนไดซ์ อย่างขนม เสื้อผ้า เครื่องใช้ ของที่ระลึก
คงไม่ใช่ธุรกิจที่จะมีผู้ประกอบการรายได้เข้ามาลงทุนเพื่อหวังรายได้ด้วยตัวสถานีเองได้
แต่บริษัท อินไซท์อินโฟ จำกัด ผู้ผลิตช่องรายการทีวีดาวเทียม นิวส์ไลน์แชนแนล ออกอากาศทางเอ็นบีที เคเบิล ทีวี ของกรมประชาสัมพันธ์ ที่สามารถรับชมฟรีผ่านเคเบิลทีวีท้องถิ่นทั่วประเทศ 400-500 ผู้ให้บริการ และผ่านทางการรับสัญญาณดาวเทียมในระบบ KU-Band ของสามารถคอร์ปอเรชั่น โดยไม่เก็บค่าสมาชิก กลับเห็นช่องทางที่จะสร้างธุรกิจทีวีดาวเทียมให้ยืนอยู่บนขาตัวเองได้
"การลงทุนของบริษัทฯ ในการทำธุรกิจทีวีดาวเทียม เป็นการลงทุนตามเทรนของอนาคตที่ผู้บริโภคจะซอยกลุ่มเล็กลงเป็นนิชมาร์เก็ต แม้จุดเริ่มต้นของนิวส์ไลน์แชนแนล เป็นการผลิตให้กับกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อป้อนให้กับเคเบิลทีวีท้องถิ่น แก้ปัญหาผู้ให้บริการเหล่านี้นำคอนเทนท์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์มาออกอากาศ แต่บริษัทฯ ก็มองถึงแนวโน้มในอนาคตที่ตลาดจานดาวเทียมจะเติบโตขึ้น ประชาชนหันมาดูทีวีจากดาวเทียมมากขึ้น เนื่องจากสัญญาณภาพคมชัดกว่า มีช่องรายการมากกว่า และราคาจานดาวเทียม KU-Band ก็มีแนวโน้มถูกลง" ศุภวิทย์ ศุภพรโอภาส ทายาทนักจัดรายการวิทยุแหบเสน่ห์ขวัญใจวัยรุ่นยุค 80 วิทยา ศุภพรโอภาส ที่เข้ามารับตำแหน่งผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อินไซท์อินโฟ จำกัด กล่าว
ปัจจุบันผู้ชมสถานีนิวส์ไลน์ ประกอบด้วย สมาชิกเคเบิลทีวีท้องถิ่น 2.5 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ และผู้ติดตั้งจานดาวเทียมสามารถ KU-Band ที่สามารถรับชมช่องนิวส์ไลน์ได้ ราว 85,000 จาน คิดเป็นสัดส่วน 10% ของผู้ติดตั้งจาน KU-Band ทั้งหมดในประเทศไทย(รวมถึงทรูวิชั่นส์)
ศุภวิทย์ มองว่า จากนี้แนวโน้มผู้ชมเคเบิลทีวีที่ผู้บริโภคต้องเสียค่าบริการรายเดือนจะลดลงสวนทางกับตลาดจานดาวเทียมที่จะเติบโตขึ้น เขาตั้งเป้าว่า การปรับเปลี่ยนผังรายการนิวส์ไลน์ ที่เคยเปิดให้บริการ 2 ช่อง ลดเหลือ 1 ช่อง แต่อัดแน่นด้วยรายการข่าว วาไรตี้ และกีฬา เต็มรูปแบบ 24 ชั่วโมง ภายใต้ชื่อ นิวส์ วาไรตี้ แอนด์ สปอร์ต ดึงนักจัดรายการผู้มีชื่อเสียงมาร่วมงาน อาทิ ไพศาล มังกรไชยา สันติ เศวตวิมล วัชระ กรรณิการ์ เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงความสนใจจากผู้ชม ผนวกกับการที่กรมประชาสัมพันธ์ได้พันธมิตรใหม่ในการร่วมผลิตรายการ เช่น เนชั่นแชนแนล และกลุ่มสยามสปอร์ต จะทำให้ตลาดจาน KU-Band ของสามารถ เติบโตขึ้นเป็น 15% ในปีนี้
อินไซท์อินโฟ ใช้เงินลงทุนในการเปิดสถานีนิวส์ไลน์แชนแนล ไปแล้วกว่า 80 ล้านบาท โดยทุกวันนี้มีเพียงรายได้จากการโฆษณาเล็ก ๆ น้อย ๆ ในรายการเพียงเดือนละหลักแสนบาท ศุภวิทย์ ซึ่งรับปริญญาโท ด้านการบริหารการตลาด จากเซ็นทรัล ควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย มาหมาด ๆ ก่อนเข้ามานั่งบริหารงานในอินไซท์อินโฟ ตั้งเป้าหมายว่า แม้วันนี้จะอยู่ในช่วงที่บริษัทต้องลงทุนเป็นส่วนใหญ่ แต่ภายในเวลา 4-5 ปี จะกลับมาคืนทุนได้ โดยมีที่มาของรายได้จากการขายโฆษณาเป็นหลัก
ศุภวิทย์ คาดการณ์ว่า 4 ปีจากนี้ จำนวนผู้ติดตั้งจาน KU-Band ที่สามารถรับชมช่องนิวส์ไลน์จะเติบโตขึ้นถึง 2 แสนจาน ทำให้จำนวนผู้ชมเพิ่มสูงขึ้น หมายถึงการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของสินค้าต่าง ๆ ชัดเจนและขยายกว้างขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อสินค้าและบริการต่าง ๆ หันมาให้ความสนใจกับการใช้ทีวีดาวเทียมเป็นสื่อโฆษณามากขึ้น โดยเฉพาะการที่ทีวีดาวเทียมมีช่องรายการมากมาย แบ่งแยกเป็นนิชมาร์เก็ต ที่ทำให้สินค้าและบริการต่าง ๆ เจาะถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด
ด้านไพศาล มังกรไชยา ผู้จัดการสถานี นิวไลน์แชนแนล กล่าวถึงสภาพการแข่งขันของทีวีดาวเทียมว่า แม้วันนี้จะยังไม่มีความชัดเจนด้านการอนุญาตให้ออกอากาศทีวีดาวเทียมแก่ผู้ให้บริการรายใหม่ เหมือนดังเช่นนิวส์ไลน์ที่ได้รับสัมปทานจากกรมประชาสัมพันธ์อย่างถูกต้อง แต่เชื่อว่า เมื่อภาครัฐมีการออกกฎกณฑ์ที่ชัดเจนออกมา แม้อาจจะมีผู้ประกอบการบางรายที่เปิดให้บริการไปแล้วอย่างไม่ถูกกฎเกณฑ์ต้องหยุดให้บริการไป แต่ก็จะมีผู้ประการรายใหม่ ๆ เดินตามกฎเกณฑ์ของภาครัฐ เข้าสู่ธุรกิจทีวีดาวเทียมไม่น้อยกว่าที่มีอยู่ในขณะนี้อย่างแน่นอน ซึ่งก็จะทำให้การแข่งขันเพื่อหารายได้มีความดุเดือดแน่นอน
"วันนี้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทีวีดาวเทียม ทำให้การลงทุนตั้งสถานีทีวีดาวเทียมเพื่อออกอากาศถูกลงอย่างมาก จากอดีตงบประมาณที่ใช้ต้องมีไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ในการตั้งสถานีเคเบิลทีวีไทยสกายทีวี หรือการตั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวี จนถึง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการทีวีดาวเทียมรายใหม่ ๆ ใช้งบลงทุนตั้งสถานีอยู่ในราว 300-400 ล้านบาท แต่ปัจจุบันงบประมาณเพียง 40-50 ล้านบาท ก็สามารถตั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมได้ จึงคาดการณ์ได้ว่า อนาคตนิวส์ไลน์จะมีคู่แข่งเข้ามามากขึ้นแน่นอน"
แต่ไพศาลก็มั่นใจว่า การเข้าสู่ตลาดก่อนผู้ให้บริการรายอื่น ทำให้มีการปรับจูนทิศทาง วางโครงสร้างรายการ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากผู้ชมจะมีมากกว่าผู้ที่จะตามมา ซึ่งหากสามารถขยายตลาดจานดาวเทียมของสามารถได้ถึง 2 แสนจานภายในเวลา 4-5 ปีตามเป้า เชื่อว่า นิวสไลน์ จะเป็นผู้ให้บริการทีวีผ่านดาวเทียมรายแรก ที่สร้างรายได้จากขายโฆษณาหล่อเลี้ยงสถานีได้ดังเช่นที่ฟรีทีวีเป็นอยู่ในเวลานี้ ได้อย่างแน่นอน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|