นักลงทุนทั้งไทย-ต่างชาติ เคลื่อนไหวลงทุนด้านไอที โครงการใหญ่มูลค่า 1,000 ล้านบาทแล้ว
2 โครงการ เริ่มจาก“ธนชาติ”ดึงต่างชาติร่วมลงทุนศูนย์ไอที บริเวณหน้าโรงเรียนดัชลิช
ขณะที่“บริษัท ดวงวิรัช” ของภูเก็ตจับมือต่างชาติ จองพื้นที่หัวเกาะเป็นผุดโครงการ“เวิลด์
คอมมูนิตี้”เปิดการเรียนการสอนด้านไอที
นายสมยศ สุนทรวิภาต ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการพัฒนาภูเก็ต
(PHD) เปิดเผยถึงการเข้ามาลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอที ในภูเก็ต ภายหลังจากที่รัฐบาลมีนโยบาย
ที่จะพัฒนาให้เกาะภูเก็ตเป็นไอทีซิตี้ หรือไซเบอร์พอร์ต ว่า จริงๆแล้วภาครัฐต้องการให้เอกชนเป็นผู้นำในการลงทุนไอที
โดยภาครัฐจะสนับสนุนในเรื่องที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน โดยขณะนี้มีเอกชนเข้ามาลงทุนด้านไอทีในภูเก็ต
ที่เป็นบริษัทขนาดเล็กประมาณ 400-500 ราย โดยการให้บริการการจองโรงแรมผ่านทางอินเทอร์เนต
บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เป็นต้น
ส่วนการลงทุนจากบริษัทขนาดใหญ่ ในลักษณะของการจัดตั้งเป็นซอฟต์แวร์พาร์ค นายสมยศ
กล่าวว่า เอกชนรายใหญ่มีการเคลื่อนไหว ที่จะเข้ามาลงทุนด้านไอทีที่ภูเก็ต โดยทางศูนย์เทคโนโลยีอิเลกทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค)ได้มีการประชุมร่วมกับเอกชนรายใหญ่
เช่น การประชุมร่วมกับทาง ซิสโก้ ,ซัน ,แวร์ลู ซิสเต็ม ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายซีพีรายใหญ่
รวมทั้งมีการพูดคุยถึงรวมความมือ ในการดึงการลงทุนเข้ามาภูเก็ต เพราะเอกชนมองเห็นศักยภาพของภูเก็ต
ที่สามารถเป็นสถานที่ทั้งทำงานและพักผ่อนไปได้ในตัว และมีเอกชนจากหลายประเทศมีการเคลื่อนไหว
ที่จะเข้ามาลงทุนด้านไอทีในภูเก็ต เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ สวีเดน แคนาดา ซึ่งในส่วนของอังกฤษนั้น
เนคเทคได้ร่วมกับบริติช เคาน์ซิล เปิดสอนภาษาอังกฤษออนไลน์ ผ่านเว็ปไซต์ที่บริติช
เคาน์ซิล ซึ่งทางบริติช เคาน์ซิลได้เข้ามาประเมินผล แต่หลักสูตรที่ทำไว้สูงเกินไป
ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาแนวทางร่วมกันระหว่างท้องถิ่นกับบริติช เคาน์ซิล เพราะต่อไปท้องถิ่นจะต้องเข้ามารับผิดชอบโครงการต่างๆ
ส่วนการเคลื่อนไหวของเอกชน ขณะนี้บริษัทธนชาติ มีแผนเข้ามาลงทุนด้านไอทีที่ภูเก็ต
ด้วยการร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติ ทำโครงการคริสตัล เลค เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ไอเทค
ด้วยการพัฒนาพื้นที่ควบคู่กับเทคโนโลยี ในลักษณะของออฟฟิคไอทีให้เช่า โดยมีการเขียนแบบโครงการแล้วเสร็จ
บนเนื้อที่ 750 ไร่ บริเวณหน้าโรงเรียนดัชลิช ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมืองภูเก็ต ใช้เงินลงทุนประมาณ700-1,000
ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัท ดวงวิรัช จำกัด ซึ่งเป็นของนักลงทุนภูเก็ต ได้เตรียมพื้นที่ประมาณ
2,000 ไร่ ขึ้นโครงการ “เวิลด์ คอมมูนิตี้” บริเวณตอนเหนือของเกาะภูเก็ตไปทางตอนใต้ของสะพานสารสิน
โดยจะพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนการสอนทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ด้านไอที วิศวกรรมไฟฟ้าเทคโนโลยีสารสนเทศ
ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยการดึงต่างชาติที่สนใจเข้ามาร่วมทุน เช่น
ออสเตรเลีย เยอรมัน ญี่ปุ่น และมีการตกลงกับทางนิวซีแลนดน์ ในการทำฟาร์มเลี้ยงกวางเพื่อการส่งออกภายในบริเวณโครงการ
โดยขณะนี้มีการวางแปลนการลงทุนไว้เรียบร้อยแล้ว
สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในภูเก็ต เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาภูเก็ตเมืองนานาชาติ
และที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการเป็นไอทีซิตี้ของภูเก็ต
เช่น ในส่วนของ ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้มีการลงทุนไฟเบอร์ออฟติกทั่วทั้งเกาะภูเก็ต
รวมทั้งนำอินเทอร์เนตความเร็วสูงมาใช้ในภูเก็ตด้วย
ในขณะนี้ทางท้องถิ่นภูเก็ตเองก็ไม่ได้นิ่งเฉยในเรื่องนี้ โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต(อบจ.ภูเก็ต)
เทศบาลเมืองภูเก็ตได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ตจัดตั้ง “สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ
จังหวัดภูเก็ต” (Phuket Information Technology Development Agency :PITDA) เพื่อให้เป็นสำนักงานไอทีที่ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ
ที่อาคารบริษัทไทยซาโก้ ถนนณรงค์หงษ์หยก อำเภอเมืองภูเก็ต ขณะนี้อยู่ระหว่างการของบประมาณ
จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร
ทั้งนี้ การกำหนดให้ภูเก็ตพัฒนาเป็นเมืองเทคโนโลยีและสารสนเทศหรือไอทีซิตี้ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาภูเก็ต
ตามแผนปฏิบัติการภูเก็ตเมืองนานาชาติ (Phuket International City) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ผ่านการเห็นชอบ
เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543 ที่ผ่านมา โดยกำหนดแนวทางในการพัฒนาไว้ดังนี้
พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาระบบเครือข่ายสารสนเทศ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานหลักของระบบสารสนเทศ
ที่มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและโครงข่ายโทรคมนาคมสื่อสาร โดยการให้บริการโทรศัพท์และการสื่อสารที่มีคุณภาพ
สามารถเชื่อมโยงสู่นานาชาติได้อย่างสะดวก รวดเร็วและสม่ำเสมอ สนับสนุนให้เอกชนลงทุนพัฒนาระบบเครื่อข่ายสารสนเทศ
โดยเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี สนับสนุนให้มีการดำเนินงานเพื่อการเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์
จากเครื่อข่ายสัญญานเคเบิ้ลใต้น้ำที่ได้เชื่อมต่อจุดต่างๆ ทั่วโลก คาดว่าจะสามารถติดต่อกับนานาชาติได้โดยตรงไม่น้อยกว่า
265 แห่ง ใน 171 ประเทศ
พัฒนาคนให้มีทักษะพร้อมรับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเน้นการพัฒนาทางด้านการศึกษา
ที่สอดแทรกด้วยสาระทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในทุกๆระดับประชากร
พัฒนาระบบสารสนเทศภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดและธุรกิจการท่องเที่ยว
โดยส่งเสริมการสร้างระบบฐานข้อมูล และระบบเครื่อข่ายสารสนเทศที่พร้อมให้บริการต่อการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยว
สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเน้นการใช้ศักยภาพของภูเก็ตให้เป็นแหล่งรองรับธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับนานาชาติ
เช่น การจัดตั้งเขตการผลิตและบริการซอฟต์แวร์ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ
ที่ไม่เป็นมลพิษและทำลายสิ่งแวดล้อม
ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและภาคธุรกิจ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ
และกลุ่มธุรกิจประเทศต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ