|
"โตเกียว มารีน&ประกันภัยศรีเมือง"แบรนดิ้ง 2 in 1 สองร่างในหนึ่งเดียว
ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
"โตเกียว มารีน" เบอร์หนึ่งประกันวินาศภัยตระกูล "นักรบซามูไร" ใช้เวลาเพียง 2 ปี ทำการ "แบรนดิ้ง" ธุรกิจแบบ 2 in 1 ...หนึ่ง คือ ขายความเป็นสายพันธ์ลูกพระอาทิตย์กับกลุ่มธุรกิจ "เลือดบูชิโด" ด้วยกันเองนอกเกาะญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็กำลังโปรโมทแบรนด์ "ประกันภัยศรีเมือง" อีกหนึ่งร่างที่ถือหุ้นโดยโตเกียว มารีนในประเทศไทย การแบรนดิ้งที่จะใช้เวลานับจากนี้ถึง 10 กว่าปี จึงไม่ต่างจากรูปแบบการตลาดที่ชูความเป็น "ญี่ปุ่น" พ่วงกับความเป็น "เอเชีย" นอกเกาะญี่ปุ่น เหมือน สองร่างในชื่อเดียว....
"ประกันภัยศรีเมือง" ภายใต้ร่ม "โตเกียว มารีน" บริษัทแม่ญี่ปุ่น กลายเป็นธุรกิจในกลุ่มประกันภัยเลือดบูชิโด ที่กระโดดมายืนอยู่แถวหน้าอย่างน่าสนใจ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถ้าวัดกันที่แบรนด์ที่กำลังเป็นที่คุ้นหูในท้องตลาดผ่านสื่อต่างๆ
หากไม่นับไอโออิ ร่างทรงของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ที่ถือหุ้นใน ไอโออิประกันภัยหรือ ชื่อเดิมวิธสินประกันภัย ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเครือแบงก์กรุงเทพ และสาขาของมิตซุย สุมิโตโม เบอร์ 2 ในญี่ปุ่นที่มีบริษัทในเครือกำลังวิ่งผ่านสายตาผู้คนบนท้องถนนในใจกลางเมืองหลวงอย่าง MSIG ชื่อเดิมของ อวีว่าประกันภัย ที่เพิ่งถูกเทคโอเวอร์ไปไม่นาน ก็ดูเหมือนว่า ประกันภัยศรีเมืองน่าจะถือเป็นกองทัพนักรบซามูไรที่มาแรงที่สุด
35 ปีสำหรับตลาดประเทศไทย "โตเกียว มารีน" เริ่มเรียนรู้ว่า การยึดในแนวทางเลือดบูชิโดกลุ่มก้อนเดียว ก็คือการละทิ้งโอกาสที่จะกอบโกยรายได้ตลาดในแถบเอเชียอย่างน่าเสียดาย
ตลอดเวลา 2 ปี ปรากฎการณ์แบรนดิ้ง ประกันภัยศรีเมือง ภายใต้ร่ม โตเกียว มารีน จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ก็เพื่อตอบโจทย์ข้อนี้
เพียงแต่การแบรนดิ้งคราวนี้ ต้องใช้รูปแบบ 2 in 1 คือ ไม่ทิ้งลูกค้าญี่ปุ่นที่มีสายสัมพันธ์ผ่าน โตเกียว มารีน มาตั้งแต่ต้น พ่วงกับไม่เน้นความเป็นซามูไรนักสำหรับตลาดเอเชีย เพื่อสร้างให้ภาพลักษณ์เป็นส่วนหนึ่งของเอเชีย
ช่วงแรกๆของการแบรนดิ้ง มีการลงทุนเป็นจำนวนเงินไม่น้อย นับจากการเปิดสาขาใหม่ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ รวมกับกิจกรรมสังคม
" ก่อนหน้าจะทำแบรนดิ้ง ดีลเลอร์ปิดยอดขายลำบาก พอคนเริ่มรู้จักเรามากขึ้น ก็ขายประกันได้ง่าย"
สุรพล พลอยไพเราะห์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและกลยุทธ์ ประกันภัยศรีเมือง ยอมรับว่า ตลาดประกันภัยรถยนต์คือเป้าหมายสำคัญสำหรับการปูทางเพื่อทำความรู้จักกับคนท้องถิ่น โดยมีดีลเลอร์รถยนต์ค่ายอีซูซุ ในต่างจังหวัดเลียบชายฝั่งอันดามัน ที่อยู่ภายใต้ร่มเดียวกับ "โตเกียว มารีน" ถือเป็นตลาดสำคัญ
" 5 ปีก่อน เริ่มทำตลาดกับคนไทย จึงมีเบี้ยน้อยมาก แค่ 2%
แต่ปัจจุบันเพิ่มมาเป็น 30% แล้ว"
การชูป้ายชื่อ "โตเกียว มารีน" จึงสำคัญสำหรับการเติบใหญ่ของ "ประกันภัยศรีเมือง" นอกเกาะญี่ปุ่น โดยเฉพาะฐานะการเงินและฐานลูกค้าความเป็นเลือดบูชิโดที่ "ศรีเมืองฯ" จะได้รับไปทั้งหมด โดยไม่ต้องส่งงานให้บริษัทแม่ บวกกับสามารถรับงานขนาดใหญ่ได้เต็มกำลัง
แต่ "ศรีเมืองฯก็มีจุดอ่อนคือ เครือข่ายให้บริการ และระดับการให้บริการยังไม่เพียงพอจะเทียบกับ 3 ยักษ์ใหญ่อย่าง วิริยะประกันภัย กรุงเทพประกันภัยและประกันคุ้มภัย ที่เป็นพี่เบิ้อมในวงการ และมาตรฐานการให้บริการก็ติดอันดับต้นๆ นี่ยังไม่นับชื่อเสียงที่คนทั่วไปก็ยังสัมผัสได้ไม่ทั่วถึง
" 1-2 ปีที่เริ่มลงทุนไปเป็นจำนวนมากในเฟสแรก ก็ทำให้คนเริ่มรู้จักเรามากขึ้น"
สุรพลบอกว่า โครงการแบรนดิ้งมีทั้งหมด 3 เฟส โดยเฟสแรก ได้ลงทุนด้านไอทีไปแล้ว 120 ล้านบาท ลงทุนคอล เซ็นเตอร์ไปอีก 10 ล้านบาท ลงทุนสาขาและสื่อโฆษณาอีกร่วม 40 ล้านบาท
ขณะที่ทั้ง 3 เฟส เป็นการสร้างแบรนด์อย่างเดียว รวมแล้วประมาณ 700 ล้านบาท โดยเฟส 1 จะใช้เวลา 4 ปี 150 ล้าน เฟส 2 อีก 300 ล้านและ เฟส 3 ใช้เวลา 5 ปีใช้เงินลงทุน 250 ล้านบาท
เฟสแรกจะเป็นการปรับปรุงการให้บริการ ขยายตลาดประกันภัยรถยนต์ ปรับปรุงเคลม ขยายอู่ เพิ่มจำนวนตัวแทน ลงทุนระบบคอลเซ็นเตอร์ เปลี่ยนระบบไอทีใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาตั้งแต่ ปี 2549-2552
" การให้บริการเราสูงกว่าตลาดเล็กน้อย ตอนนี้เรามีอู่ในเครือ 450 แห่ง และพยายามเน้นคุณภาพอู่ และรักษาอู่ให้เป็นคู่ค้าเราตลอดไป โดยเฉพาะการวางบิล จ่ายเร็ว ส่วนตัวแทนปีนี้มีเกือบ 400 รายและจะเพิ่มในปีนี้อีก"
สุรพล บอกว่า เฟส 2 จะยาวไปตลอด โดยจะเห็นสินค้าใหม่ๆลงสู่ตลาดมากขึ้น ส่วนเฟส 3 จะนำเอาแบรนด์รอยัลตี้เข้ามาใช้ ระหว่างนี้จึงเป็นการจัดกระบวนทัพใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นการรีครูต ให้การอบรมตัวแทน ซึ่งใน 3-4 ปีจะเพิ่มเป็น 4 พันคน
" เราเริ่มทำ คอล เซ็นเตอร์สำหรับเคลม เปลี่ยนระบบไอทีใหม่ ปีนี้จะลงระบบเพื่อเชื่อมเข้ากับคอล เซ็นเตอร์เพื่อให้บริการลูกค้าในจุดเดียว นอกจากนั้นก็มีการเพิ่มฝ่ายสินไหมรถยนต์จาก 30 คนเป็น 70-80 คน"
สุรพลบอกว่า จีน อินเดีย และไทยคือ ตลาดหลักนอกเกาะญี่ปุ่นสำหรับโตเกียว มารีน ที่กำลังจะเพิ่มเป้าหมายให้สูงขึ้น โดยปัจจุบันในไทยมีเบี้ยรวมประกันภัยขนส่งทางทะเลเป็นอันดับ 1 หากเทียบกับคู่แข่งญี่ปุ่นในประเทศไทยด้วยกัน ยกเว้นถ้ามิตซุย สุมิโตโมรวมเอา MSIG เข้าไว้ด้วย ก็จะตกมาเป็นรอง
" ตอนนี้เรามีกลุ่มเป้าหมายคือ คลาสบีหรือชนชั้นกลางมาก แต่ถ้าระบบไอทีเสร็จก็จะเซ็กเม้นเทชั่นได้"
ในปี 2549 ประกันภัยศรีเมือง มีเบี้ยรับรวม 2,600 ล้านบาท เป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 750 ล้านบาท
สุรพล บอกว่า ประกันภัยจากญี่ปุ่น เริ่มหันหัวเรือมาที่ตลาดเอเชียมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ไอโออิหรือแม้แต่มิตซุย สุมิโตโม ที่กำลังซุ่มเงียบทำแบรนดิ้ง เพื่อขยายตลาดในท้องถิ่น
ทั้งหมดนี้จึงบอกได้ถึงสัญญาณ "สงครามมหาเอเชียบูรพา" ในยุคติจิตัล กำลังจะก่อตัวขึ้น เพียงแต่คราวนี้จะไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ ตรงกันข้ามผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจท้องถิ่นก็จะต้องหาทางออกทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดเช่นกัน...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|