แฉรัฐหวั่นโฮปเวลล์ฟ้อง ติดเบรคลงทุนทางรถไฟยกระดับบนซากโครงการเดิม แขวนงบศึกษาออกแบบรายละเอียดเกือบ
2 ปี เผยล่าสุดตอม่อโฮปเวลล์เริ่มเสื่อมสภาพแล้ว 20 % ด้าน"สุริยะ"ยันโครงการจำเป็นแต่การดำเนินงานต้องรอบคอบยอมรับหากเรื่องฟ้องร้องยังไม่ชัดเจนดังนั้นต้องไม่ประมาท
“ผู้ว่าฯรถไฟ”เชื่อหากรัฐลงทุนเองไม่มีปัญหาฟ้องร้องเผยโฮปเวลล์เกรงเอกชนรายอื่นเข้าสวมสิทธิ์ผลประโยชน์จากที่ดิน
ด้านสนข.คาดได้งบออกแบบรายละเอียดเร็วๆ นี้ ยันโครงการเกิดตามนโยบายเพิ่มระบบรางให้คนกทม.
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ
ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หรือ โครงการโฮปเวลล์เดิมว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเสนอของบประมาณในการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง
(Detail Design) ซึ่งได้เสนอเรื่องไปตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วจนถึงขณะนี้เกือบ 2
ปียังได้รับอนุมัติงบว่าจ้างที่ปรึกษาไม่ครบ ทำให้ยังไม่สามารถประมูลหาที่ปรึกษาได้
นอกจากนี้นโยบายที่ไม่ชัดเจนก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การดำเนินโครงการล่าช้าด้วย
ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดตามมา คือการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่ไม่มีโครงการเกิดขึ้นตามแผน
เนื่องจากเป้าหมายของโครงการคือ การก่อสร้างทางรถไฟยกระดับเพื่อลดจุดตัดกับถนน
ลดปัญหาการจราจรและลดการสูญเสียด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศ
แหล่งข่าวกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้โครงการไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากรัฐไม่มีนโยบายที่ชัดเจนและจริงจังกับโครงการนี้
ซึ่งแม้แต่การมาตรวจเยี่ยมรถไฟของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ
ก็พุ่งเป้าไปที่ปัญหาการขาดทุนและการเพิ่มรายได้ ส่วนนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็เน้นเรื่องการปราบทุจริต การลดค่าใช้จ่ายเป็นหลัก
ไม่ได้ให้ความสำคัญกับโครงการนี้ ทั้งๆ ที่เป็นโครงการที่สำคัญในการเชื่อมการเดินทางกทม.กับปริมณฑล
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนรถไฟคัดค้านแนวทางแก้ขาดทุน การปราบทุจริต แต่เห็นว่าเป็นงานปกติที่รัฐต้องดูแลอยู่แล้ว
แต่ก็ไม่ควรละเลยเรื่องการก่อสร้างโครงการต่างๆ ซึ่งไม่เฉพาะแต่โครงการทางยกระดับที่ล่าช้า
แต่รวมไปถึงโครงการรถไฟทางคู่ด้วย เพราะทุกโครงการเป็นส่วนเพิ่มประสิทธิภาพของรถไฟ
ที่ต้องเน้นบริการด้านการเดินรถโดยสารและรถสินค้าเป็นหลัก มากกว่าการหารายได้จากด้านอื่น
อ้างต้องรอบคอบ หวั่นถูกโฮปเวลล์ฟ้อง
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า นโยบายต้องการให้เร่งทำโครงการนี้โดยเร็ว
เพราะต้องการจัดการตอม่อโครงสร้างเสาที่โฮปเวลล์ก่อสร้างไว้ให้เกิดประโยชน์ แต่ประเด็นที่เป็นข้อกังวล
คือ ยังมีความกังวลว่าบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถูกรถไฟบอกยกเลิกสัญญาสัมปทานอาจจะกลับมาฟ้องร้องได้
ดังนั้นจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่ดำเนินโครงการ
ทางออกรัฐต้องลงทุน100%
นายจิตสันติ ธนะโสภณ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า รัฐต้องการให้ปรับโครงการโฮปเวลล์เป็นทางรถไฟยกระดับซึ่งได้ปรับลดวงเงินค่าก่อสร้างจาก
40,000 ล้านบาทลงตามนโยบายแล้ว ส่วนจะเดินหน้าโครงการต่อไปอย่างไรจะต้องรอให้มีการศึกษาออกแบบรายละเอียดก่อน
อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกรงว่า โฮปเวลล์ จะกลับมาฟ้องร้องหากรถไฟเริ่มดำเนินโครงการใหม่นั้น
ตนเห็นว่า โฮปเวลล์ไม่น่าจะฟ้องร้องอะไร หากรัฐเป็นผู้ลงทุนโครงการนี้ทั้ง 100%
เนื่องจากโฮปเวลล์ไม่ต้องการให้เอกชนรายอื่นเข้ามารับสัมปทานในลักษณะเดียวกับที่เคยทำมา
สนข.ยันได้งบออกแบบเร็วๆนี้
ด้านนายคำรบลักขิ์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
กล่าวยืนยันว่า นโยบายรัฐบาลต้องดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้แน่นอน เพราะรัฐต้องการเพิ่มการขนส่งระบบรางจากปัจจุบันที่มีเพียง
3 % เป็น 30 % ซึ่งโครงการนี้มีโครงข่ายสายเหนือ สายใต้และสายตะวันออก ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลักในการเดินทางภายในกทม.และเชื่อมต่อไปยังปริมณฑล
โดยขณะนี้ ทางกระทรวงการคลังได้พิจารณาอนุมัติงบจาก SAL จำนวน 180 ล้านบาท สำหรับว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดเส้นทางสายเหนือ
(บางซื่อ-รังสิต)ระยะทาง 22 กม. ส่วนงบกลางสำหรับศึกษาเส้นทางสายตะวันออก (บางซื่อ-หัวหมาก-สุวรรณภูมิ)
ระยะทาง 34 กม. อีกประมาณ 300 ล้านบาท ก็คาดว่าจะได้รับอนุมัติเร็วๆ นี้
โดยในการออกแบบรายละเอียดจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของตัวสถานี และเส้นทาง ซึ่งตัวสถานีจะออกแบบเสร็จก่อนภายใน
7-8 เดือนและจะเปิดประมูลหาผู้ก่อสร้างทันที ส่วนเส้นทางจะออกแบบเสร็จภายหลัง ทั้งนี้เพื่อให้ดำเนินโครงการได้รวดเร็วขึ้น
นอกจากนี้ ได้กำหนดหลักการคัดเลือกผู้ก่อสร้างโครงการว่า ต้องเป็นบริษัทคนไทย ใช้วัสดุภายในประเทศ
อย่างน้อย 80% ที่เหลืออาจใช้วิธีเคาน์เตอร์เทรด และใช้โครงสร้างเดิมที่โฮปเวลล์ก่อสร้างไว้
จะนำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
เผยตอม่อโฮปเวลล์เสื่อม
นายคำรบลักขิ์กล่าวว่า ตัวเลขลงทุนโครงการเดิมคาดว่าประมาณ 40,000 ล้านบาท แต่ท่านนายกฯ
ให้ปรับลดลงซึ่งอยู่ระหว่างทำประมาณการตัวเลขการลงทุนใหม่ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะต้องเร่งรัดก่อสร้างโครงการให้เร็วที่สุด
เนื่องจากโครงสร้างเสาที่โฮปเวลล์ก่อสร้างไว้แล้ว หากปล่อยไว้นานจะเสื่อมสภาพลง
และนำมาใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ซึ่งจากการสำรวจของวิศวกรล่าสุดพบว่า มีโครงสร้างที่สามารถนำมาใช้งานได้ขณะนี้ประมาณ
80% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท
"โครงการทางรถไฟยกระดับมีความจำเป็น นอกจากจะลดจุดตัดระหว่างรถไฟกับถนนแล้ว
ยังทำให้การพัฒนาสถานีย่านบางซื่อ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมมีความเป็นไปได้ และเป็นการเพิ่มระบบรางในเมืองตามสายทางรถไฟยกระดับซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อโครงข่ายกับรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟใต้ดิน
รฟม.ได้ นอกจากนี้ จะเกิดการจ้างงานภายในประเทศขึ้นด้วย"
สำหรับโครงการโฮปเวลล์นั้น กระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.ในฐานะคู่สัญญาฝ่ายรัฐได้บอกเลิกสัญญาสัมปทานทั้งระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับและการใช้ประโยชน์จากที่ดินรถไฟ
เมื่อปี 2541 เนื่องจากบริษัทไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการได้ตามกำหนดทำให้ประเทศไทยได้รับความเสียหายไม่สามารถแก้ปัญหาจราจรได้