|
แผนลับอำนาจเก่า ยึดคืน! “ไอทีวี”
ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
-อนาคต “ไอทีวี” จากนี้จะกลายสภาพเป็นแบบใด ทีวีเสรีตามเจตนารมณ์คนพฤษภา หรือสถานีทรงอิทธิพลที่รัฐบาลยังไม่กล้าแหยม
- คนวงในให้จับตาการย้อนศรของนายกฯ หน้าเหลี่ยม ส่งคนใกล้ชิดเข้ามาฮุบคลื่นอีกครั้ง แถมไม่ต้องจ่ายหนี้สักบาท
-หลายฝ่ายเชื่อหากอยู่ในความดูแลกรมประชาฯ เป็นไปได้ที่จะถึงทางตันในเวลาไม่นาน แถมเม็ดเงินที่ไหลเข้าอาจไม่ได้เท่าที่คาด
-ด้าน “ทิพาวดี” เดินหน้าประชาพิจารณ์หาทางคลอด กสช.ใน 3 เดือน
เสียงสะอื้นปนถ้อยความตัดพ้อของคนไอทีวี ที่สถานีโทรทัศน์ที่ทำมาหากินของตนต้องถูกปิดลงจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา อาจสร้างความเห็นอกเห็นใจในสายตาประชาชนที่เคยเปิดดูไอทีวี ทั้งขาจร และขาประจำ แต่เงื่อนงำที่คนไอทีวีพยายามบอกกล่าวว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ช่องทางทำมาหากิน สถานียูเอชเอฟแห่งแรกของประเทศไทยต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้ มาจากความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากปัญหาการเมือง และสื่อมวลชนบางคนที่มีอิทธิพลชี้นำรัฐบาล ดูเหมือนว่าคนไอทีวีกำลังพาผู้ชม “หลงทาง”
แนวคิดของ “ทีวีเสรี” ที่ถูกกำหนดขึ้นหลังจากประชาชนคนไทยผ่านพ้นวิกฤติพฤษภาทมิฬ 2535 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นสื่อที่มีการเสนอข้อมูลข่าวสารทุกด้านอย่างครบถ้วน ถูกต้อง รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ เป็นกลางและเป็นธรรม อันจะเป็นทางเลือกในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและรายการที่มีคุณค่าให้แก่ประชาชน โดยคำนึงถึงสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และมีการกระจายข่าวสารอย่างทั่วถึง เพื่อประโยชน์ของรัฐ สังคม และประชาชน
แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ผ่านมากลับมองเห็นทีวีเสรีเป็นเพียงสื่อที่หวังสร้าง “กำไร” และเป็น “กระบอกเสียง” ของตน ทั้งกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เสนอเงินตอบแทนรัฐในสัญญาบริหารทีวีเสรี 30 ปี ในวงเงิน 25,200 ล้านบาท และกลุ่มชินคอร์ป ที่เข้ามาแก้ไขสัญญาสัดส่วนรายการข่าวสาระ และบันเทิง เหลือ 50 : 50 พร้อมลดเงินสัมปทานรายปีลงจาก 1,000 ล้านบาท เหลือเพียง 230 ล้านบาท จนเป็นเหตุของการฟ้องร้องของเจ้าของสัมปทาน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เรียกค่าเสียหายเป็นเงินกว่าแสนล้านบาท ทำให้ไอทีวีประสบชะตากรรมอยู่ในปัจจุบัน
เจตนารมณ์ในการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของ “โทรทัศน์เสรี” ให้กลายเป็น “โทรทัศน์ธุรกิจ” ของอดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 ต่างหาก ที่เป็นเงื่อนงำของการล่มสลายไอทีวีที่แท้จริง!!
“ไอทีวี” ในมือกรมประชาฯ
ยิ่งอยู่นาน ยิ่งเจอทางตัน
แม้ทางออกของไอทีวี หรือชื่อใหม่ “ทีไอทีวี” ในช่วงแรกที่สามารถสลัดพ้นจากวิกฤตจอดำ คือการเข้าไปดำเนินงานภายใต้การดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ จะเป็นหนทางที่สร้างความพึงพอใจให้กับทั้งฝ่ายรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตลอดจนพนักงานไอทีวี แต่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เห็นว่าน่าจะเป็นมาตรการชั่วคราวที่รอแนวทางการปฏิรูปทีวีเสรีรอบใหม่เท่านั้น เพราะหากไอทีวีต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรมประชาสัมพันธ์โดยสมบูรณ์แบบ เชื่อว่าศักยภาพของไอทีวีคงมีสถานภาพในระยะยาวไม่ต่างจากคุณภาพของช่อง 11 ในปัจจุบันเท่าไร่ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก
ด้าน บดินทร์ ลิมปะพัทธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชนจ์ ฟอร์ เบสท์ จำกัด อดีตผู้ผลิตรายการทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เห็นว่า ปัญหาของการนำพนักงานไอทีวีเข้าไปอยู่ภายใต้หน่วยงานรัฐ คือความรู้สึกของคนไอทีวีซึ่งมีอีโก้ค่อนข้างสูง เชื่อมั่นในคุณภาพของรายการข่าวของตนว่าเหนือกว่าทุกสถานี หากต้องไปทำงานภายใต้การสั่งงานของสถานีช่องที่ตนเองมองว่าฝีมือด้อยกว่า อย่างกรมประชาสัมพันธ์ หรือ อสมท ก็เชื่อว่าปัญหาการยอมรับจะตามมา
“คงเป็นเรื่องน่าแปลก หากหัวหน้าข่าวไอทีวีที่กินเงินเดือนหลักแสนบาท ต้องถูกเจ้าหน้าที่ช่อง 11 ที่มีเงินเดือนหลักหมื่นบาท สั่งการ”
“ทิพาวดี” ขอประชาพิจารณ์ 3 เดือน
เข็น TITV แจ้งเกิดทีวีเสรี ยก 2
ด้าน คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแก้ปัญหาของไอทีวีจะดำเนินการต่อไปหลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความว่า กรมประชาสัมพันธ์ สามารถรับช่วงบริหารงานในไอทีวีได้ โดยสัปดาห์หน้าจะเริ่มดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์ปฏิรูปสื่อเสรี กับประชาชนทั่วประเทศ เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาสื่ออย่างถูกต้อง ตรงความต้องการของประชาชน รวมถึงแนวทางในการจัดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) เพื่อแก้ปัญหาความสับสนในการจัดสรรคลื่นความถี่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และจะเป็นผู้กำหนดแนวทางในการนำคลื่นความถี่ยูเอชเอฟของทีวีเสรี ออกประมูลใหม่อีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลาทำประชาพิจารณ์ 3 เดือน และจะเริ่มดำเนินการปฏิรูปสื่อเป็นรูปธรรมจากนั้นทันที
ทั้งนี้ แนวคิดของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในการเปิดประมูลสัมปทานทีวีเสรีรอบใหม่นั้นจะยังคงเงื่อนไขบางรายการไว้ เช่น การกำหนดให้สถานีผลิตรายการด้านข่าว และสาระ เป็นสัดส่วน 70% รวมถึงช่วงเวลาไพร์มไทม์ และการคงสัดส่วนของผู้ถือหุ้นให้แต่ละรายถือหุ้นได้ไม่เกิน 10% ซึ่งจะทำให้ต้องมีกลุ่มผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 10 ราย สร้างการคานอำนาจของเจ้าของสถานีให้ปราศจากการครอบงำของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ส่วนตอบแทนคงไม่ใช่การจ่ายผลตอบแทนสูงสุดเหมือนเช่นก่อน ซึ่งนำมาซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่คงเป็นการแข่งขันในการนำสัดส่วนรายการที่กำหนดไว้ไปผลิตรายการที่มีคุณค่า ควบคู่ไปกับการหารายได้เป็นหลัก
เอกชนรอท่า - สำนักข่าวเนื้อหอม
จับตา “หน้าเหลี่ยม” แฝงตัวกลับฮุบ
แม้ท่าทีของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะยืนยันนำทีวีเสรีออกประมูลใหม่ ในสัดส่วนรายการสาระ 70 บันเทิง 30 เช่นเดิม แต่เอกชนผู้ผลิตรายการหลายรายก็ยังสนใจที่จะเข้ามาบริหารสถานียูเอชเอฟแห่งนี้ เพราะอย่างน้อยสิ่งที่ทีมข่าวไอทีวี ได้ดำเนินการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับแนวคิดครอบครัวข่าวของช่อง 3 และรายการสาระทางโมเดิร์นไนน์ ก็แสดงให้เห็นว่า หากมีความตั้งใจทำรายการสาระ หรือรายการข่าวให้มีความน่าสนใจจริง ก็สามารถสร้างรายได้ สร้างกำไรจากการลงทุนนี้ได้ ถ้าไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานในหลักพันล้านบาทต่อปี
“อากู๋” ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม บิ๊กบอสจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นผู้ที่ถูกถามบ่อยครั้งที่สุดถึงกรณีการเข้าไปถือหุ้นบริหารไอทีวีตลอดช่วงเวลาที่สถานีแห่งนี้อยู่ในความอึมครึมจากค่าปรับก้อนมหาศาล แม้จะปฏิเสธว่ายังไม่มีแผนการเข้าถือหุ้นไอทีวี แต่อากู๋ก็ยอมรับว่าหากมีการนำไอทีวีออกประมูลใหม่ภายใต้เงื่อนไขสัญญาที่สามารถทำธุรกิจได้ก็สนใจจะเข้าร่วมประมูล
เช่นเดียวกับ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ที่ก็แสดงความสนใจหากสำนักนายกรัฐมนตรีจะนำคลื่นยูเอชเอฟแห่งนี้ออกประมูลใหม่
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการยืนยันเงื่อนไขการประมูลครั้งใหม่ ที่จะให้มีผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 10 ราย ย่อมทำให้ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์น้อยใหญ่ แม้จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจเข้าร่วมประมูลในเวลานี้ ก็จะถูกชักชวนทาบทามเข้าร่วมขบวนในเวลานั้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าผู้ที่เคยร่วมประมูลเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาอย่าง เจเอสแอล แปซิฟิก กันตนา บอร์น หรือบริษัทไม่เคยร่วมประมูล และที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วง 10 ปีต่อมา อย่าง เวิร์คพอยท์ โพลีพลัส แมทชิ่ง ทราฟฟิกคอร์นเนอร์ สยามสปอร์ต มีเดีย ออฟ มีเดียส์ และเอเชียน เทเลวิชั่น แอนด์มีเดีย ของยุวดี บุญครอง สถาบันการเงินเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ขาดไม่ได้ในการประมูล ไทยพาณิชย์อาจจะเข็ดกับบทเรียนครั้งก่อน แต่สถาบันการเงินในเมืองไทยส่วนใหญ่ มีสถาบันการเงินจากต่างชาติถือหุ้นอยู่ ก็พร้อมจะโดดเข้าร่วมวง
และกลุ่มที่เนื้อหอมขึ้นแน่นอนในเวลานั้น คงไม่พ้นเหล่าสื่อมวลชน สำนักข่าวน้อยใหญ่ กลุ่มเนชั่น กลุ่มมติชน กลุ่มโพสต์ ฐานเศรษฐกิจ รวมถึงกลุ่มผู้จัดการก็คงมีชื่อร่วมประมูลอยู่พร้อมหน้า
แหล่งข่าวในวงการสื่อรายหนึ่ง ให้ทัศนะต่อ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า สิ่งที่น่าจับตามองหลังรัฐบาลยึดคลื่นจากบริษัทไอทีวีไปแล้วก็คือ การเปิดประมูลคลื่นให้เอกชนเข้ามาดำเนินการอีกครั้ง เพื่อให้สถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟแห่งนี้เป็นโทรทัศน์เสรีตามเจตนารมณ์การก่อตั้งเดิม โดยตนเชื่อว่าเป็นไปได้ที่ทางกลุ่มอำนาจเก่าจะแทรกตัวเข้ามาเป็นทีมผู้ดำเนินงานในสถานีแห่งใหม่
“หากเงื่อนไขการประมูลบอกว่าต้องการคนมีประสบการณ์ด้านงานข่าว ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นเงื่อนไขแรกๆ ที่ตั้งเอาไว้ เรื่องนี้ก็เข้าทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีทีวีของกลุ่มไทยรักไทย ซึ่งคงไม่ต้องบอกว่าใครเป็นเจ้าของเงินที่ลงทุนเป็นจำนวนหลายสิบล้านบาทให้ เพราะโดยส่วนตัวเชื่อว่าคุณวีระ (มุสิกพงศ์) คุณจตุพร (พรหมพันธุ์) คุณจักรภพ (เพ็ญแข) จะเป็นแค่ตัวออกหน้ามากกว่าจะออกเงิน” แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกต
แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า สมมติว่ากลุ่มพีทีวีเป็นหนึ่งในหลายบริษัทที่ได้รับโอกาสเข้ามาดำเนินการในสถานีเสรีแห่งใหม่ ก็เท่ากับว่ากลุ่มอำนาจเก่าได้คลื่นเดิมมาใช้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าปรับจำนวนแสนล้านบาทเลยสักบาท ขณะที่กลุ่มพนักงานไอทีวีที่รับใช้ระบอบทักษิณยังอยู่กันครบถ้วน โดยมีกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้รับฝาก แถมยังให้ใช้ทรัพย์สินของกรมประชาสัมพันธ์อีก
“ปัจจุบันการทำงานของช่อง 11 เป็นการเปิดให้เอกชนเข้ามาผลิตรายการป้อนสถานีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ก็มีความสัมพันธ์กับกลุ่มชินวัตร พนักงานที่เป็นข้าราชการของสถานีมีเพียง 150 คน เป็นฝ่ายช่างแทบทั้งสิ้น ดังนั้น การที่พนักงานไอทีวีจะเข้าไปอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์ ก็คงเหมือนไปฝากไว้ รอวันที่เจ้าของใหม่ ที่อาจเป็นหน้าเก่าอย่างกลุ่มไทยรักไทยมารับช่วงบริหารต่อ”
สมเกียรติ เสนอเขียน กม.ใหม่
ตั้ง TITV เป็นทีวีสาธารณะ
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เสนอแนวทางในการหาทางออกให้กับสถานีโทรทัศน์ยูเอชเอฟแห่งแรกของประเทศไทยว่า การแปลงสภาพให้อดีตไอทีวีเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ เช่นเดียวกับ BBC ในประเทศอังกฤษ หรือ NHK ของญี่ปุ่น เป็นกระแสหนึ่งของสังคมที่ตนเห็นด้วย เพราะเชื่อว่าจะเป็นแนวทางเดียวที่ทำให้ประเทศไทยมีสถานีโทรทัศน์สาธารณะที่สามารถดำเนินภารกิจเพื่อสาธารณะ นำเสนอข้อมูลข่าวสาร มีสิทธิเสรีภาพ มีหลักประกันด้านการเงิน และมีสิทธิที่จะไม่ถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซงเหมือนอดีต
“ทีวีสาธารณะ คือ ทีวีที่นำเสนอรายการเน้นสาระ เน้นข่าว ถ้าเป็นบันเทิงก็เป็นบันเทิงอีกแบบ ไม่ใช่บันเทิงกระแสหลักเหมือนกับละคร เกมโชว์ทั่วไป ถ้าเป็นละครก็มีลักษณะเช่นเดียวกับ แดจังกึม หรือโอชิน เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ซึ่งก็ทำได้น่าสนใจ มีรายการสารคดี ที่ส่วนใหญ่เป็นรายการที่ขาดหายไปในประเทศไทย มีการเสนอข่าวที่เป็นข่าวรอบด้าน แม้สถานีโทรทัศน์หลายแห่งในประเทศไทยพยายามไปในแนวทางนั้น แต่ก็ขาดหลักประกัน เช่น สถานีของรัฐก็จะถูกแทรกแซงจากรัฐมนตรี สถานีโทรทัศน์สาธารณะต้องครบถ้วนรอบด้าน และจะเกิดเช่นนี้ได้ มีหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพได้ หมายความว่า ต้องมีกฎหมายคุ้มครอง มีกฎหมายให้หลักประกันด้านการเงิน”
แนวทางที่สมเกียรติวางไว้ คือ การจัดตั้งโทรทัศน์สาธารณะที่มีสาธารณะเป็นเจ้าของ เกิดขึ้นโดยพระราชบัญญัติพิเศษ ให้เป็นองค์กรมหาชนตามกฎหมายพิเศษ ซึ่งขณะนี้มีการยกร่างเรียบร้อยแล้ว โดยในส่วนของใบอนุญาตประกอบกิจการจะมีระบุไว้ในกฎหมายพิเศษนี้ ด้านบุคลากรหากสามารถดำเนินกระบวนการโอนพนักงานจากไอทีวีมาได้ ก็จะได้บุคลากรที่มีคุณภาพสูง แต่จำเป็นต้องดำเนินการโดยเร็ว ส่วนเรื่องเงินงบประมาณในการบริหารสถานีโทรทัศน์สาธารณะ จะมีกลไกรับประกันการเงิน ที่ประมาณการว่าจะใช้เงินราวปีละ 2,000 ล้านบาท โดยอาจมีที่มาจากภาษีเฉพาะทาง เช่นเดียวกับงบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้จากภาษีสุรา และภาษีบุหรี่ หรือเป็นงบประมาณที่รัฐบาลต้องจัดสรรให้ตามกฎหมายปีละไม่เกิน 2,000 ล้านบาท หรือมาจากการเก็บจากค่าไฟจากการรับชมโทรทัศน์ตามบ้าน ที่คาดการณ์ไว้ยูนิตละ 7 สตางค์
ผู้อำนวยการทีดีอาร์ไอ เห็นว่า แนวทางการสร้างทีวีเสรีด้วยเงื่อนไขสัมปทานดังเช่นไอทีวี เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ต้น เพราะสัมปทานหมายถึงการทำกำไรสูงสุดทางธุรกิจ แต่กำหนดให้ไอทีวีต้องทำรายการข่าวสาร และสาระ 70% มีรายการบันเทิงได้เพียง 30% จึงไม่สามารถสร้างความเสรีให้กับสื่อได้ เมื่อโครงสร้างทางการเงินก็จำเป็นคำนึงถึงรายได้จากการโฆษณา สถานีต้องเกรงใจผู้ลงโฆษณา เกรงใจว่าจะกระทบกับรัฐบาลหรือไม่ แม้เจตนารมณ์ของไอทีวีจะกำหนดไว้ดี แต่โครงสร้างไม่เหมาะจึงเป็นไปไม่ได้
“สื่อเสรี ทีวีสาธารณะจะต้องเป็นองค์กรมหาชน ซึ่งแปลว่าไม่ได้แบ่งเป็นหุ้น จึงจะไม่สามารถนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เหมือน อสมท เพราะการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หมายถึงจะต้องมีเจ้าของ เจ้าของย่อมต้องการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทาง ทีวีก็จะเสียความเสรีไป เจ้าของที่แท้จริงจึงควรเป็นสาธารณะ ไม่ใช่ตลาดหุ้น” ผู้อำนวยการทีดีอาร์ไอ เสนออีกแนวทางที่เป็นไปได้ของ TITV
อภิสิทธิชนไอทีวี แบ่งชนชั้นให้สังคมไทย
ไม่น่าเชื่อว่า คำว่า “มนุษย์เงินเดือน” ของคนไทย จะมีฐานะต่างกัน หากคนหนึ่งมีบทบาทเป็น “สื่อ” การปิดสถานีโทรทัศน์เอกชนแห่งหนึ่ง ที่ทำให้พนักงาน 1,010 คนต้องออกจากงาน โดยได้เงินชดเชยตามกฎหมาย กลับมีอภิสิทธิ์พิเศษในสังคม ต่างจากพนักงานบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และครอบครัว นับพันนับหมื่นชีวิต ที่ต้องผจญความยากลำบากในการดำเนินชีวิตต่อไป หลังจากบริษัทถูกรัฐบาลสั่งปิดเมื่อเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ซึ่งก็เชื่อว่านักข่าวของไอทีวีเองก็เคยทำข่าวของคนเหล่านั้น
นับตั้งแต่คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่ามีความจำเป็นต้องปิดการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อตรวจสอบทรัพย์สิน ตลอดเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ออกจากอาคารชินวัตร 3 หลังจากยึดคืนสถานีโทรทัศน์ยูเอชเอฟแห่งนี้คืนจากกลุ่มชินวัตร อภิสิทธิชนไอทีวี ก็แสดงธาตุแท้กดดันนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เคยออกปากจะให้ความช่วยเหลือพนักงานไอทีวี จนนายกรัฐมนตรีต้องลดตัวเอ่ยปากขอโทษคนกลุ่มนี้ ทั้งที่คณะรัฐมนตรีมีมติปิดไอทีวีด้วยเหตุผลทางกฎหมาย
การกดดันโดยนักข่าวสาวไอทีวีที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะหลังจากนั้นไอทีวี ที่ก่อนหน้าเคยแสดงความเป็นห่วงเป็นใยผู้ผลิตรายการ ผู้ซื้อโฆษณา ถึงอนาคตที่มืดมด กลับรื้อผังรายการถอดรายการประจำ นำเสนอข่าวแสดงความคิดเห็นถึงอาลัยอาวรณ์ไอทีวีกันตลอด 24 ชั่วโมง จนถึงช่วงเวลาที่ศาลปกครองนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองการออกอากาศของไอทีวี ทางสถานียังมีการระดมประชาชนร่วมกดดันอยู่ ณ อาคารชินวัตร 3 รวมถึงที่ศาลปกครอง ถ่ายทอดออกอากาศผ่านไอทีวีอย่างเต็มที่
สร้างความเป็นห่วงเป็นใยไปถึงนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะกรรมการกฤษฎีกา ต้องออกให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงกรณีที่ สปน.ยื่นหนังสือสอบถามกรณีกรมประชาสัมพันธ์สามารถบริหารงานไอทีวีต่อไปจะขัดต่อ พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ มาตรา 80 หรือไม่ว่า สามารถทำได้ ชิงคลายความกดดันของคนไอทีวีไประดับหนึ่ง
แต่สุดท้ายอิทธิพลสื่อที่คนกลุ่มนี้นำมาใช้ ด้วยลืมไปว่า ตนเองกำลังนำบทบาทหน้าที่มาเอาเปรียบมนุษย์เงินเดือนด้วยกัน ก็กดดันไปถึงนายกรัฐมนตรี
เมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีคำสั่งก่อนที่ศาลปกครองจะมีมติใด ๆ ออกมาว่า ให้ สปน. และกรมประชาสัมพันธ์ เปิดไฟเขียวให้ ไอทีวี หรือในชื่อใหม่ ทีไอทีวี ออกอากาศต่อเนื่องไปได้ โดยเมื่อเย็นวานนี้ ( 7มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล จุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รีบออกมาแถลงข่าวชนิดทันอกทันใจพนักงานไอทีวี ว่า ได้รับคำสั่งจาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้ไอทีวีสามารถออกอากาศต่อไปได้ โดยใช้ชื่อใหม่ว่าทีไอทีวี โดยย้ำว่าหลังกำหนดเที่ยงคืนวันนี้สถานีทีไอทีวีจะออกอากาศอย่างต่อเนื่องต่อไป
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีย้ำว่า ขณะที่ทางกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งได้รับมอบหมายให้บริหารคลื่นยูเอชเอฟแทนบริษัท ไอทีวี พร้อมที่จะให้ออกอากาศแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกคงจะต้องออกอากาศที่อาคารชินวัตร 3 ไปก่อน จากนั้นค่อยทยอยขนย้ายอุปกรณ์ไปที่สำนักงานของช่อง 11 ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ต่อไป
ด้านคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายรัฐมนตรี ชี้แจงการแก้ปัญหากรณีสถานีโทรทัศน์ไอทีวีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยยืนยันว่า การที่ให้ไอทีวีออกอากาศต่อในค่ำคืนนี้ถือเป็นความเป็นสุภาพบุรุษจากท่านนายกรัฐมนตรี และคำขอโทษก็ถือเป็นมารยาทอันสูงส่งของผู้นำประเทศ
แน่นอนว่าสิ้นเสียงการแถลงข่าวของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พนักงานไอทีวี รวมทั้งประชาชนที่มาร่วมกดดันรัฐบาลไชโยโห่ร้อง โดยไม่จำเป็นต้องรอคำตัดสินจากศาลปกครองแต่อย่างใด
กระนั้นก็ตาม จากปรากฏการณ์รัฐบาลอุ้มพนักงานไอทีวีนั้น ได้กลับสร้างชนชั้นของคนในสังคมคิดอิจฉา ที่พนักงานเงินเดือนด้วยกันแห่งนี้ ได้ทั้งเงินชดเชยก้อนใหญ่ โดยไม่ต้องหยุดงานเสียรายได้ และยัง ได้ทำงานในหน่วยงานใหม่ที่รับเงินเดือนสูงกว่าพนักงานของหน่วยงานนั้น และเชื่อว่าต่อไปหากรัฐบาลจะไปยึดคืนสัมปทานอื่นๆของชินคอร์ป ไม่ว่าจะเป็น ชินแซทเทิลไลท์ หรือสายการบินที่ปัจจุบันให้ไทยแอร์เอเชียดำเนินการ ก็คงจะไม่สำเร็จ เนื่องจากคนในบริษัทเหล่านั้นก็คงเอากรณีของไอทีวีเป็นตัวอย่างในการต่อรองกับรัฐบาล และเชื่อว่าฉากการอุ้มพนักงานโดยเฉพาะพนักงานของชินคอร์ปก็คงเกิดขึ้นอีกต่อไป อนิจจา ประเทศไทย อนิจจา รัฐบาลคมช.
ต้นกำเนิด”มาเฟียสื่อ”
อิทธิพลเหนือคมช.
จุดเริ่มต้นของมูลเหตุกรณีพิพาทกันระหว่างไอทีวีกับทาง สปน.กระทั่งนำมาซึ่งการยกเลิกสัมปทานในครั้งนี้ได้เกิดขึ้นมาในช่วงปี พ.ศ. 2547 ระหว่างที่ไอทีวีบริหารงานโดยกลุ่มบริษัท ชินคอร์ป ที่ได้ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการขอแก้ไขสัญญาสัมปทานและขอลดค่าสัมปทาน ที่ต้องจ่ายให้รัฐ ปีละ 1,000 ล้านบาท
โดยอ้างว่าเอกชนรายอื่นจ่ายต่ำกว่า (ช่อง 3 สัมปทาน 30 ปี (2533-2563) 3,207 ล้านบาท ปีละ 107 ล้านบาท / ช่อง 7 สัมปทาน 25 ปี (2541-2566) 4,670 ล้านบาท ปีละ 187 ล้านบาท / ช่อง 5 และ โมเดิร์นไนน์ ทีวี ไม่ต้องเสียค่าสัมปทาน เนื่องจากเจ้าของคลื่นความถี่ดำเนินการออกอากาศเอง)
ทางคณะอนุญาโตตุลาการ ได้วินิจฉัยชี้ขาดลดค่าสัมปทานให้สถานีฯ ลง เป็นปีละ 230 ล้านบาท พร้อมทั้ง อนุญาตให้สถานีฯ แก้ไขสัดส่วนการออกอากาศ รายการสาระ ต่อรายการบันเทิง จากร้อยละ 70 ต่อ 30 เป็นร้อยละ 50 ต่อ 50 รวมถึงให้รัฐฯ จ่ายค่าชดเชยแก่บริษัทฯ เป็นเงิน 20 ล้านบาท
ในเวลาต่อมาทางสปน.ได้ยื่นเรื่องดังกล่าวต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ ที่ชี้ขาดออกมา ส่งผลให้ สถานีฯ ต้องจ่ายค่าสัมปทาน ปีละ 1,000 ล้านบาท เช่นเดิม และ ต้องปรับสัดส่วน รายการข่าวและสาระ ต่อรายการบันเทิง กลับไปเป็น ร้อยละ 70 ต่อ 30
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังต้องเสียค่าปรับ จากการผิดสัญญาสัมปทาน จากการเปลี่ยนแปลงผังรายการ ที่ไม่เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน คิดเป็นร้อยละ 10 ของค่าสัมปทานในแต่ละปี โดยคิดเป็นรายวัน วันละ 100 ล้านบาท นับตั้งแต่ เริ่มมีการปรับผังรายการ รวมระยะเวลา 2 ปี เป็นค่าปรับทั้งสิ้น ประมาณ 9.4 หมื่นล้านบาท
ขณะนั้นเองรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีความพยายามที่จะเข้ามาข้องเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วยการแต่งตั้งให้นายเนวิน ชิดชอบ เข้ามาดูแล ทว่ายังมิได้จะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันก็ได้เกิดการปฏิวัติในเดือนกันยายนเมื่อปีที่แล้วขึ้นมาเสียก่อน
ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายืน ตามคำตัดสินของศาลปกครองกลาง กระทั่ง 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมีมติออกมาว่า หากไอทีวีไม่สามารถจ่ายค่าปรับและค่าสัมปทานค้างจ่ายได้ภายในวันที่ 6 มีนาคม ก็จะให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีบอกเลิกสัมปทานกับไอทีวีและนำมาซึ่งการปิดไอทีวีในที่สุด
"ชินคอร์ป"
จุดเริ่มปัญหา
ก่อนหน้าที่จะมีการปิดสถานีโทรทัศน์ไอทีวีในครั้งนี้ ย้อนกลับไปครั้งหนึ่งภายใต้การเข้ามาถือหุ้นใหญ่ของ บ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (ชินคอร์ป) ของตระกูล "ชินวัตร" และ "ดามาพงศ์" ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ไอทีวีก็เคยเผชิญกับอุปสรรคครั้งใหญ่มาแล้ว
เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อเรียกขานว่า "กบฏไอทีวี"
จุดเริ่มต้นนั้นเกิดขึ้นมาจากกรณีการออกมาของนักข่าวกลุ่มหนึ่งเพื่อต่อต้านการเข้ามาของกลุ่มชินคอร์ป หลังจากมีข่าวกลุ่มทุนนี้จะเข้ามาถือหุ้นในไอทีวีที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน โดยกลุ่มผู้สื่อข่าวที่ว่านำโดย "จิระ ห้องสำเริง" บรรณาธิการบริหารขณะนั้น เป็นหัวหอกคัดค้าน
แต่เดือนพฤศจิกายน 2543 กลุ่มชินคอร์ปก็ได้เข้ามาถือหุ้นไอทีวีจนได้ท่ามกลางการต่อต้านอย่างหนักจากพนักงานฝ่ายข่าว เพราะไม่พอใจที่ถูกผู้บริหารตัวแทนจากชินฯ แทรกแซง ห้ามไม่ให้ทำข่าวที่มีผลด้านลบต่อตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นตัวเก็งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยเฉพาะเรื่อง "ซุกหุ้น" และปัญหาที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ เนื่องจากเกรงจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 มกราคม 2544
การเข้าแทรกแซงของฝ่ายผู้บริหารมีทั้งการสั่งเปลี่ยนตัวนักข่าวที่ไปยิงคำถามแทงใจ พ.ต.ท.ทักษิณ เรื่องการโอนหุ้น มีการสั่งไม่ให้ออกอากาศข่าวเรื่องสนามกอล์ฟ มีความพยายามเข้ามากำหนดและชี้นำประเด็นในฝ่ายข่าวมากขึ้น สั่งห้ามผู้ประกาศข่าวในรายการสายตรงไอทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่ลงข่าวเรื่องการโอนหุ้น และที่ดินสนามกอล์ฟ ยังมีเหตุการณ์ที่ผู้บริหารชินคอร์ป สั่งเรียกรถโอวีกลับสถานีขณะกำลังจะไปทำข่าวปราศรัยหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่พรรคไทยรักไทยได้รับอภิสิทธิ์เช่ารถโอวีของบริษัทไอทีวี เพื่อถ่ายทอดการปราศรัยของพรรคไทยรักไทยหลายครั้ง โดยไม่มีหนังสือหรือบันทึกถึงฝ่ายข่าวแม้แต่ครั้งเดียว
การออกมาแถลงการณ์ขอให้ยุติการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายข่าวทำให้กลุ่มนักข่าวไอทีวีที่ว่าถูกสอบสวน กระทั่งเกิดการรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาและจัดการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544ก่อนที่พวกเขาจะถูกกล่าวหาว่าเป็น “กบฏ” และถูกเลิกจ้างในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 จำนวน 23 คน
กลุ่มแรก จำนวน 8 คน ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุผลว่าไปร่วมแถลงข่าวต่อสาธารณชนทำให้บริษัทเสื่อมเสีย และกลุ่มหลังเป็นกรรมการสหภาพจำนวน 15 คน ด้วยสาเหตุว่าบริษัทมีนโยบายปรับลดพนักงานเพราะประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง
ต่อมากลุ่มนักข่าวจำนวน 21 คน (มี 2 คนไม่ยื่นฟ้อง) ได้นำเรื่องการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ฟ้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) และเมื่อ ครส. มีคำสั่งให้บริษัทไอทีวีรับพนักงานทุกคนกลับเข้าทำงาน แต่บริษัทกลับปฏิเสธ กลุ่ม “กบฏไอทีวี” จึงได้ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน
ปี พ.ศ. 2546 ศาลแรงงานวินิจฉัยให้ ฝ่ายโจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดี และให้บริษัทรับพนักงานกลับเข้าทำงานพร้อมทั้งจ่ายเงินเดือนในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างชดเชยด้วย ขณะเดียวกันทางบริษัทไอทีวีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาทว่าศาลฎีกาก็ได้พิพากษายืนตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ทำให้กลุ่ม “กบฏไอทีวี” เป็นฝ่ายชนะคดีในที่สุด
โดยเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้ปรากฏชื่อของคนข่าว 2 คนคือ "กิตติ สิงหาปัด" และ "สุภาพ คลี่ขจาย" ซึ่งทั้งสองในระยะแรกๆ ก็ออกมาแสดงการคัดค้านร่วมกับกลุ่มกบฎ แต่ต่อมาก็ยอมกลับใจที่จะทำงานให้กับเจ้าของทุนกลุ่มใหม่ต่อไป
ยุค "ทักษิณ"
ยุคอหังการของไอทีวี
นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2546 ไอทีวีในห้วงระยะเวลาเดียวกันกับการบริหารงานโดยรัฐบาลของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" (2) สถานีโทรทัศน์ช่องนี้ถือว่ามีความอู้ฟู่เป็นที่สุด เฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่กลุ่ม ชินคอร์ป ได้นำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2545 กับการเข้ามาของไตรภพ ลิมปพัทธ์ และบริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ในปี 2546 โดยมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกครั้ง เป็น 7,800 ล้านบาท และออกหุ้นสามัญใหม่ จำนวน 300 ล้านหุ้น เป็นเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อจัดสรรเป็นการเฉพาะ ให้กับพันธมิตรทั้งสองโดยเฉพาะ
การเข้ามาของ "ไตรภพ" สร้างความคึกคักให้กับไอทีวีเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขค่าหุ้นที่เคยถีบตัวขึ้นไปสูงถึงหุ้นละ 30 บาท การปรับเปลี่ยนผังรายการ การดึงคนใหม่ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นคนช่อง 3 อย่าง เอิ๊ก พรหมพร, ฮาร์ท สุทธิพงษ์, จ๊อบ นิธิ, บริษัทลักส์ ของ วิลลี่ แมคอินทอช , นิลาวัลย์ ทองไล้ แห่งช่อง 7, ยงยุทธ มัยลาภ จากช่อง 5 ฯลฯ
ช่วงนั้นใครๆ ก็มองเห็นแต่อนาคตที่สดใสที่ไอทีวี
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะช่วงที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกเท่านั้นที่ไอทีวีได้แสดงความอหังการด้วยการทำงานออกรายงานข่าวในทิศทางที่ทางตรงกันข้ามและดิสเครดิตฝ่ายที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตัวพ.ต.ท.ทักษิณมาโดยตลอด เพราะแม้กระทั่งภายหลังการเข้ามาปฏิวัติของคณะคมช.แล้วก็ตามทางไอทีวีก็ยังคงทำหน้าที่ของตนเองอย่างซื่อสัตย์ ทั้งกระแนะกระแหน ลดความน่าเชื่อถือ แสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับทางฝ่ายรัฐบาลและคมช.มาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ไม่ได้มั่วเขียนเพื่อใส่ไคล้ใคร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นบนหน้าจอโทรทัศน์ของไอทีวีตลอดวันที่ 6-7 มีนาคม ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า สถานีแห่งนี้แหละที่เป็น “มาเฟียสื่อ” ที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลคมช.อย่างแท้จริง และการออกมายอมอุ้มไอทีวีครั้งนี้อาจเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าพลังของ “ทักษิณ” ที่แม้ตัวจะอยู่ไกล แต่ยังแผ่อิทธิพลเหนือบุคคล และหน่วยงานของรัฐได้เหมือนตัวเองยังครองอำนาจการเมือง ดูเหมือนว่าไม่ยากเลยหากในวันข้างหน้าทักษิณจะกลับมาครองอำนาจอีกครั้ง
ย้อนรอย ITV ทีวีเสรี
สัปดาห์นี้ไม่มีข่าวใดที่จะได้รับความสนใจจากประชาชน และวงการสื่อมวลชนมากเท่ากับข่าวครม.มีมติเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ให้ไอทีวีหยุดออกอากาศชั่วคราว เพื่อพิจารณาข้อสัญญาและพิจารณาทางกฎหมายอย่างรอบคอบ โดยจะให้ทางสำนักงานกฤษฎีกาตีความข้อกฎหมายให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์เข้าไปดำเนินการสถานีโทรทัศน์แทนนั้นจะขัดพ.ร.บ.คลื่นความถี่หรือไม่
อนาคตของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้จะเป็นอย่างไรยังไม่สามารถ “ฟันธง” ได้ในวันเวลานี้ เนื่องจากต้องรอทางสำนักงานตีความข้อกฎหมายอีกครั้ง และในวันเดียวกัน (6มี.ค.) ทางพนักงานไอทีวีก็เดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการดำเนินการระงับการออกอากาศ คลื่นความถี่โทรทัศน์ และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวีออกอากาศได้ตามปกติไปก่อน จนกว่าจะได้ข้อสรุปทางกฎหมายที่ชัดเจน
เมื่ออนาคตยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสถานีแห่งนี้จะกลายสภาพเป็นอย่างไร เราลองย้อนมาดูอดีตของสถานีแห่งนี้ก่อนว่าทำไมทีวีเสรีที่ใครๆเรียกร้องให้เกิดขึ้นจึงต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้
เรื่องราวคงต้องย้อนไปถึงสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ปี 2535 ภายหลังการเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นำมาซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่แล้ว ในด้านกิจการสื่อสารมวลชน บทเรียนจากการถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของสื่อส่วนใหญ่ที่อยู่ในการครอบครองของรัฐ ประชาชนเรียกร้องให้มีการตั้งสื่อเสรีที่ปราศจากการครอบงำของอำนาจรัฐ นำมาซึ่งการเกิดโครงการ ทีวีเสรี
ทีวีเสรี มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็นสื่อที่มีการเสนอข้อมูลข่าวสารทุกด้านอย่างครบถ้วน ถูกต้อง รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ เป็นกลางและเป็นธรรม อันจะเป็นทางเลือกในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและรายการที่มีคุณค่าให้แก่ประชาชน โดยคำนึงถึงสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และมีการกระจายข่าวสารอย่างทั่วถึง เพื่อประโยชน์ของรัฐ สังคม และประชาชน
หากจะสาวความย้อนไปถึงความพิกลพิการของทีวีเสรีไทย คงต้องกลับไปดูจุดเริ่มกำเนิดไอทีวี เมื่อปี 2538 ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เงื่อนไขการประมูลที่รัฐมุ่งแต่จะรับผลตอบแทนสูงสุดเป็นสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นให้ไอทีวีบิดเบี้ยวมาจนทุกวันนี้ เมื่อผู้ร่วมประมูลที่ถูกรวบรวมจากทุกสารทิศเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ที่ให้แต่ละกลุ่มต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 10 บริษัท และห้ามถือหุ้นเกินรายละ 10% เปิดโอกาสให้หลากหลายบริษัทที่ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับวิชาชีพสื่อสารมวลชนโดดเข้าร่วมวง บางรายถึงกลับเป็นแกนนำในการประมูล โดยรายสำคัญที่เข้ามาและเป็นอีกเหตุที่สร้างความเสื่อมให้กับทีวีเสรีของไทย ชื่อว่า ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทในเครือทำธุรกิจด้านโทรทัศน์ สหศีนิมา โฮลดิ้งแอนด์ แมนเนจเม้นท์ จัดตั้งกลุ่มพันธมิตรเข้าร่วมประมูลทีวีเสรีในนาม กลุ่มบริษัทสยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ยื่นข้อเสนอบริหารสถานีทีวีเสรี ที่มีโครงสร้างรายการสาระ 70% และบันเทิง 30% โดยให้ผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดถึง 25,200 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี สร้างความตะลึงงันให้กับกลุ่มประมูลอื่น ๆ โดยเฉพาะ สมเกียรติ อ่อนวิมล ที่ช่วงเวลานั้นยังมีบทบาทหน้าที่ในบริษัท แปซิฟิก และเข้าประมูลร่วมกับกลุ่มมติชน เนชั่น และสามารถคอร์ปอเรชั่น อันเป็นกลุ่มที่คาดหมายจะได้รับคัดเลือก ยังอดประหลาดใจไม่ได้ว่า เงินตอบแทนรัฐที่กลุ่มสยามทีวีฯ เสนอให้นั้น สูงเกินกว่าที่จะทำได้
ที่มาของข้อเสนอผลตอบแทนที่สูงลิ่วกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปีนั้น นิพนธ์ นาคสมภพ กล่าวว่า เกิดจากช่วงเวลาก่อนการยื่นประมูล ตนซึ่งเป็นหนึ่งใน 2 กลุ่มที่ทำงานวิจัยธุรกิจโฆษณา ได้รับการติดต่อจากนายจุลจิตต์ บุณยเกตุ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหศีนิมา โฮลดิ้งแอนด์แมนเนจเม้นท์ ขอข้อมูลมูลค่าตลาดโฆษณาทางโทรทัศน์ และอัตราการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งปรากฎว่า มีการเติบโตอยู่ใน 20-30% ตลอด 5 ปีก่อนหน้า เนื่องจากช่วงเวลานั้นแต่ละสถานีมีการขยายเครือข่ายต่างจังหวัด โดยนายจุลจิตต์ขอข้อมูลนี้ไปโดยไม่ได้ขอความคิดเห็นใด ๆ จากตน
“เวลานั้นผู้ที่ทำงานวิจัยโฆษณาทางโทรทัศน์มีเพียงผม และนิตยสารคู่แข่ง โดยการหามูลค่าธุรกิจโฆษณาจะใช้วิธีนำเวลาโฆษณาที่ออกอากาศทั้งหมด มาคูณกับราคาโฆษณา และหักด้วยส่วนลด ซึ่งช่วงเวลานั้นโฆษณาทางโทรทัศน์กำลังเติบโตอย่างมาก คุณจุลจิตต์มาขอตัวเลข ผมก็ให้ไปว่าเติบโต 30% แต่เหตุผลเพราะอะไรไม่ได้ถาม ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าคุณจุลจิตต์จะคิดได้หรือไม่ว่าเติบโตเพราะอะไร และข้อมูลที่ผมให้ไปเวลานั้นก็ไม่ทราบว่าคุณจุลจิตต์เอาไปทำอะไร” นิพนธ์ นาคสมภพ นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน กล่าว
สอดคล้องกับแหล่งข่าวที่อยู่ในกลุ่มสยามทีวีฯ ในขณะนั้น กล่าวว่า ทางธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งดูแลเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่ม ใช้ข้อมูลการเติบโตของธุรกิจโทรทัศน์ในขณะนั้น ซึ่งเติบโตระดับ 20% ทุก ๆ ปี มาประกอบการเสนอผลตอบแทนรัฐ จึงเสนอเงินเป็นมูลค่าสูงถึง 25,200 ล้านบาท ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่มีทางที่ธุรกิจสื่อจะเติบโตเช่นนั้นได้ทุก ๆ ปีตลอดไป แต่เพราะคนที่เสนอเงินคือผู้บริหารของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในสายงานสื่อโทรทัศน์
ชลิต ลิมปนะเวช กล่าวว่า ปัญหานี้ต้องโยนให้นายโอฬาร ไชยประวัติ (กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในขณะนั้น) รับผิดชอบ ที่คิดจะขยายธุรกิจให้ธนาคารโดยไม่มีความรู้ ความเข้าใจ เมื่อประมูลได้มาก็พบว่าไม่สามารถบริหารต่อไปได้ ต้องส่งต่อมาให้กลุ่มชินคอร์ป และมาเปลี่ยนโครงสร้างของสถานีข่าวที่กฎหมายร่างไว้ กลายเป็นสถานีโทรทัศน์ทั่ว ๆ ไป ที่หวังจะใช้เพื่อสร้างประโยชน์ทางธุรกิจ
เมื่อไอทีวี ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งเป้าให้เป็นอีกธุรกิจที่จะแตกแขนงออกไป ไม่ประสบผลสำเร็จ 4 ปีของการเปิดดำเนินการ มีผลประกอบการขาดทุนราว 2,000 ล้านบาท ทั้งที่มีทุนจดทะเบียนเพียง 1,000 ล้านบาท หนี้สิน 4,000 ล้านบาท กับสัมปทานรัฐที่ต้องจ่ายรายเดือน จึงนำมาซึ่งการเชื้อเชิญให้กลุ่มทุนที่สนใจจะลงทุนในธุรกิจสื่อโทรทัศน์ เข้ามารับภาระต่อจากธนาคารไทยพาณิชย์ที่เตรียมจะเก็บกระเป๋าหนี ซึ่งก็น่าอนาจใจที่กลุ่มทุนที่เข้ามาใหม่ กลายเป็นกลุ่มทุนการเมือง ที่นอกจากจะหวังกอบโกยรายได้จากทีวีเสรีแห่งนี้แล้ว ยังจ้องที่จะใช้ทีวีเสรีของประชาชนเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มการเมืองของตน
ทันทีที่ชินคอร์ปเข้ามามีบทบาทในไอทีวี ภาพของสถานีข่าวเริ่มถูกลบ กลุ่มเนชั่นบริษัทสื่อมวลชนชั้นนำที่มีผลงานในการผลิตรายการข่าวที่ได้รับความนิยมสูงสุด ถูกอัปเปหิออกไปในเวลารวดเร็ว แต่การเปลี่ยนแปลงที่สร้างความกังขาให้กับสังคม ถึงบทบาทของกลุ่มการเมืองที่จงใจบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฏหมาย เพื่อหวังสร้างผลประโยชน์ส่วนตน และพวกพ้อง เกิดขึ้นในปี 2547 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
และยิ่งน่ากังขามากยิ่งขึ้นเมื่อคณะอนุญาโตตุลาการ ประกอบด้วย ประดิษฐ เอกมณี จุมพต สายสุนทร และชัยเกษม นิติสิริ มีคำวินิจฉัยให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องปรับลดค่าตอบแทน ผลประโยชน์ที่ไอทีวีต้องจ่ายให้กับ สปน.เป็นรายปี จาก 1,000 ล้านบาท เหลือ 230 ล้านบาท เท่ากับที่สถานีโทรทัศน์สี ช่อง 7 จ่ายให้กับกองทัพบก รวมทั้งให้ไอทีวีปรับสัดส่วนการออกรายการช่วงเวลาไพร์มไทม์ สามารถออกอากาศรายการบันเทิงได้ และปรับการนำเสนอรายการข่าว สารคดี และสาระประโยชน์ ในสัดส่วน 70% เหลือไม่น้อยกว่า 50% เปลี่ยนโฉมทีวีเสรี ที่เกิดขึ้นจากบทเรียนการเสียเลือดเนื้อเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน ในเดือนพฤษภาคม 2535 กลายเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มุ่งหวังกำไร ควบคู่ไปกับผลประโยชน์ที่จะเอื้อต่อพรรคการเมือง และรัฐบาล
สำหรับการใช้สิทธิของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในการยึดไอทีวีมาจากเหตุการณ์ดังนี้คือ
1.เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2547 คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำสั่งชี้ขาดให้สปน.ชดเชยความเสียหาย โดยชำระเงินคืนให้แก่ไอทีวีจำนวน 20 ล้านบาท ให้ปรับรับผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาเข้าร่วมงาน ในส่วนจำนวนเงินรับประกับผลประโยชน์ขั้นต่ำ โดยให้ปรับลดจากเดิมเหลือปีละ 230 ล้านบาท โดยไม่ต้องชำระเงินขั้นต่ำส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีอีก
และให้ปรับลดผลประโยชน์ตอบแทนจากเดิมลงเหลือร้อยละ 6.5 ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายและภาษีกับให้ไอทีวีสามารถออกอากาศช่วงไพร์มไทม์ คือช่วงเวลาระหว่าง 19.00-21.30 น.ได้โดยไม่ต้องถูกจำกัด เพราะรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์ แต่จะต้องเสนอรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเวลาออกอากาศทั้งหมด และอื่นๆ เมื่อมีคำสั่งชี้ขาดดังกล่าวนี้แล้วไอทีวีก็ได้ดำเนินการปรับผังรายการตามคำชี้ขาดตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2547 ทันที
2.ต่อมาสปน.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2549 ให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว
3.ไอทีวีได้ยื่นอุธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าวข้างต้นต่อศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้มีคำพิพากษาฉบับลงวันที่ 8 ธ.ค. 2549 และอ่านเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ปีเดียวกัน โดยมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ใอมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้วไอทีวีได้ดำเนินการปรับผังรายการให้เป็นไปตามสัญญาเข้าร่วมงานทันที
4.สปน.ได้มีหนังสือแจ้งและต่อมาได้แจ้งเตือนให้ไอทีวีชำระค่าตอบแทนส่วนต่างปีที่ 9 ถึงปีที่ 11 จำนวน 2,210 ล้านบาท และดอกเบี้ยจากค่าตอบแทนส่วนต่างดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี พร้อมทั้งให้ชำระค่าปรับจากการปรับผังรายการ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2547 ถึงวันที่ 13 ธ.ค. 2549 จำนวน 97,760 ล้านบาท รวมยอดเงินที่ต้องชำระให้สปน ทั้งสิ้นกว่าหนึ่งแสนล้านบาท โดยสปน.ได้กำหนดให้ชำระหนี้ดังกล่าวภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ไอทีวีได้รับหนังสือแจ้ง ทั้งนี้หากไอทีวีไม่ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนด สปน.จะดำเนินการตามข้อกำหนดในสัญญาเข้าร่วมงาน และข้อกฎหมายต่อไป
5. ไอทีวีได้มีหนังสือถึงสปน.และมีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อ ประการแรก ขอให้เรียกชำระหนี้จำกัดอยู่เพียงค่าตอบแทนส่วนต่างจำนวน 2,210 ล้านบาท และประการที่สอง ส่วนดอกเบี้ยและค่าปรับจำนวน 100,343,539,667 บาทนั้น คู่สัญญายังมีความเห็นแตกต่างอย่างมีสาระสำคัญ และเป็นข้อพิพาทที่กำลังอยู่ในกระบวนพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งนัดพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 9 มี.ค. 2550 จนถึงเวลาที่ปิดต้นฉบับนี้เรื่องราวของไอทีวียังไม่หยุดนิ่ง ส่วนจะจบลงแบบใด ลงเอยแบบไหน เชื่อว่าอีกไม่นานก็คงจะมีคำตอบ
"ผู้ถือหุ้นใหญ่-บอร์ด" ต้นเหตุหลักปิดไอทีวี
ปล่อยสถานการณ์วุ่นลากเชื่อมการเมือง
ย้อนรอยปัญหาไอทีวี "ผู้บริหาร-ผู้ถือหุ้นใหญ่" เป็นต้นเหตุ ปล่อยพนักงานรับกรรม โบรกเกอร์เผยรายย่อยติดหุ้นเพียบ ยิ่งงดออกอากาศยิ่งเจ็บหนักแถมถูกห้ามซื้อขาย หวั่นปัญหาบานปลายเข้าทางกลุ่มอำนาจเดิม
จากปัญหาการผิดสัญญาสัมปทานของบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) หรือ ITV ได้ข้อยุติหลังจากคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 6 มีนาคม 2550 มีมติให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวียุติการออกอากาศตั้งแต่ 7 มีนาคม 2550
ด้วยเหตุที่ ITV เป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผลกระทบที่จะตามมานั่นคือสถานะความเป็นบริษัทจดทะเบียนเข้าข่ายถูกเพิกถอน เนื่องจากภาระหนี้มหาศาลที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญาสัมปทาน
มีทางออกหากพร้อม
บริษัทหลักทรัพย์ยูโอบี เคย์ เฮียน(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ได้วิเคราะห์ผลกระทบของไอทีวีหลังการบอกเลิกสัญญาสัมปทานไว้อย่างน่าสนใจว่า หากมีการยึดคลื่นสัญญาณโทรทัศน์กลับคืนไปยังภาครัฐ ในขณะที่ไอทีวียังคงต้องชำระหนี้ดังกล่าวต่อไป จะทำให้ไอทีวีไม่สามารถประกอบธุรกิจสถานีโทรทัศน์ได้อีกต่อไป ขณะที่ภาระหนี้ 100,486.3 ล้านบาท หากต้องจ่ายหนี้ทั้งจำนวน โดยไม่มีการประนีประนอมหรือผ่อนผันก็ยังไม่มีแนวทางว่าบริษัทจะสามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้อย่างไร
เมื่อสำนักปลัดนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการยึดคลื่นคืน ย่อมทำให้งบการเงินของไอทีวีในไตรมาส 1 ปี 2550 มีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบเกือบแสนล้านบาท ทำไปสู่การเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์
ขั้นตอนจากนี้บริษัทจะถูกขึ้นเครื่องหมาย NC(Non-compliance) และ SP โดยจะห้ามซื้อขายหลักทรัพย์เป็นเวลา 30 วัน ในช่วงเวลาดังกล่าวผู้บริหารจะต้องเลือกว่าจะดำเนินขั้นตอนใดต่อไป คือ การทำแผนฟื้นฟูกิจการ ยื่นคำร้องต่อศาลเสนอแผนฟื้นฟูตามพระราชบัญญัติล้มละลาย หรือขอเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์โดยสมัครใจ
จากนั้นต้องแจ้งผลการตัดสินใจต่อตลาดลหักทรัพย์ หากเลือกการฟื้นฟูกิจการตลาดหลักทรัพย์จะอนุญาตให้ซื้อขายเป็นเวลา 30 วัน หลังจากนั้นจะขึ้น SP จนกว่าจะสามารถแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนได้สำเร็จ ซึ่งจะให้เวลาในการฟื้นฟูกิจการ 2 ปี นับจากเข้าข่ายถูกเพิกถอน
หากบริษัทสามารถแก้ไขส่วนของผู้ถือหุ้นให้มากกว่า 0 ได้ ในระยะเวลา 2 ปี บริษัทจึงจะพ้นการเพิกถอน อย่างไรก็ตามในส่วนของการฟื้นฟูกิจการ หากบริษัทยังคงมีภาระหนี้ 100,486.3 ล้านบาทคงเป็นไปได้ยาก ในช่องทางการหาธุรกิจใหม่ที่จะสามารถสร้างผลประกอบการเพื่อมาชำระคืนหนี้จำนวนมากได้
ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถจัดทำแผนฟื้นฟูได้ และเข้าสู่ภาวะล้มละลายบริษัทจะทำการชำระบัญชีและตีมูลค่าสินทรัพย์เพื่อชำระคืนภาระหนี้ โดยผู้ถือหุ้นจะได้รับผลตอบแทนส่วนที่เหลือจากการตีมูลค่าสินทรัพย์ หลังหักทรัพย์สินภายใต้สัญญาสัมปทาน ชำระหนี้สิน รวมทั้งค่าปรับผังรายการและค่าสัมปทานค้างจ่าย ซึ่งจะไม่เหลือมูลค่าตกถึงผู้ถือหุ้น
แก้สัมปทานปมหลัก
อย่างไรก็ตามการยุติการออกอากาศของ ITV นับเป็นสถานการณ์ปลายเหตุ หากย้อนกลับไปถึงที่มาที่ไปก่อนมาถึงวันที่ต้องยุติการออกอากาศ พบว่าต้นตอทั้งหมดเกิดขึ้นจากทีมบริหารได้ยื่นเรื่องต่อคณะอนุญาโตตุลาการขอแก้ไขสัญญาสัมปทาน และขอลดค่าสัมปทาน ที่ต้องจ่ายให้รัฐ ปีละ 1,000 ล้านบาท โดยอ้างว่า เอกชนรายอื่นจ่ายต่ำกว่า
ดังนั้นคณะอนุญาโตตุลาการ ประกอบด้วย ประดิษฐ เอกมณี จุมพต สายสุนทร และชัยเกษม นิติสิริ มีคำวินิจฉัยเมื่อ 30 มกราคม 2547 ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) ต้องปรับลดค่าตอบแทน ผลประโยชน์ที่ไอทีวีต้องจ่ายให้กับ สปน.เป็นรายปี จาก 1,000 ล้านบาท เหลือ 230 ล้านบาท และสามารถเพิ่มสัดส่วนการบันเทิงได้เป็น 50% จากเดิมเสนอได้เพียง 30%
รายย่อยเจ็บหนัก
โบรกเกอร์รายหนึ่งกล่าวว่า มีนักลงทุนรายย่อยจำนวนไม่น้อยที่ติดหุ้น ITV อยู่เนื่องจากหุ้นตัวนี้ถูกลากขึ้นไปสูงถึง 34 บาทเศษในช่วงที่มีการแก้สัญญาสัมปทานจาก 1,000 ล้านบาทเหลือ 230 ล้านบาท แถมสามารถเพิ่มรายการบันเทิงจากระดับ 30% เป็น 50% ยิ่งมีการประกาศพาร์เนอร์ใหม่ที่เข้ามา 2 รายอย่างไตรภพ ลิมปพัทธ์ และกันตนาที่จะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน
ข่าวดีเหล่านี้สนับสนุนให้มีนักลงทุนเข้ามาไล่ซื้อหุ้น ITV จนราคาเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางไอทีวีมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนมาโดยตลอด จนผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ต้องขายหุ้นให้กับกลุ่มชิน คอร์ป
หุ้นตัวนี้ค่อย ๆ ปรับลดลงหลังจากที่พาร์เนอร์รายใหม่ทั้ง 2 รายไม่แสดงเจตนาที่จะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน
จากนั้นในวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ ที่ชี้ขาดให้ สปน. ลดค่าสัมปทาน เนื่องจากอยู่นอกเหนืออำนาจของอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น ITV ต้องกลับมาปฎิบัติตามสัญญาเดิมคือจ่ายค่าสัมปทานปีละ 1,000 ล้านบาท เสนอรายการที่เป็นสาระ 70:30 เหมือนเดิม และต้องจ่ายค่าปรับจากการผิดสัญญาวันละ 100 ล้านบาท
แม้จะมีความพยายามในการต่อสู้ด้วยการยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น โดยต้องปฏิบัติตามสัญญาเดิมตั้งแต่ 14 ธันวาคม 2549
"เราเป็นห่วงว่ามีผู้ถือหุ้นจำนวนไม่น้อยยังคิดหุ้น ITV อยู่ เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ได้ห้ามการซื้อขายเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2550 หลังจากที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินเนื่องจากได้มีการบันทึกค่าสัมปทานกลับไปที่ 1,000 ล้านบาทตามเดิม ยิ่งเมื่อทราบคำสั่งว่ายุติการออกอากาศ ยิ่งทำให้ภาระขาดทุนของรายย่อยย่อมมีมากขึ้น" โบรกเกอร์กล่าว
ขณะเดียวกันเมื่อมีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นรายใหญ่จากตระกูลชินวัตรมาเป็นเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์จากสิงคโปร์ แม้จะทราบว่ามีปัญหาในเรื่องการผิดสัมปทาน แต่ก็ไม่เดือดร้อนใจที่จะเร่งดำเนินการแก้เพื่อให้ถูกต้องทั้ง ๆ ที่ได้รับเงินปันผลจากธุรกิจโทรศัพท์มือถือไปนับหมื่นล้านบาท สุดท้ายปัญหาทั้งหมดจึงมาตกอยู่ที่พนักงาน ITV ที่ต้องเดินเรื่องต่อสู้
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า การให้ ITV ยุติการออกอากาศ เกรงว่าจะทำให้อาจจะกลายเป็นปมทางการเมือง เนื่องจากฐานผู้ชม ITV มีจำนวนไม่น้อย ที่ไม่พอใจ เพราะก่อนที่จะถึงวันที่ 6 มีนาคมทางไอทีวีได้เสนอข่าวหรือรายการในเรื่องนี้เป็นหลัก ย่อมได้ใจผู้ชมกลุ่มนี้ไม่น้อย การปิดในครั้งนี้อาจถูกตีความว่าเป็นการเช็กบิลกลุ่มอำนาจเก่า ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหาทางออกในเรื่องนี้ให้ดี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|