ภาษีปี50หลุดเป้าแน่แบงก์บจ.วูบ-สหรัฐหอบกำไรกลับปท.


ผู้จัดการรายวัน(12 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เศรษฐกิจซบเซา สรรพากรรับยอดภาษีปี 50 หลุดเป้าแน่ ครวญปัจจัยบริษัทยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ ขนกำไรกลับประเทศเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีตามกฎหมายใหม่ซ้ำเติม ขณะที่เกณฑ์ไอเอเอส 39 ส่งผลให้แบงก์พาณิชย์เสียภาษีลดลงเพราะต้องนำกำไรไปตั้งสำรอง ส่วนยอดเก็บภาษีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลด ขณะที่ปี 51 สศค.ตั้งเป้าภาษีสรรพากรไว้ที่ 1.226 ล้านล้านบาท แต่กรมสรรพากรประมาณการณ์ไว้ที่ 1.19 ล้านล้าน

นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า แนวโน้มการจัดเก็บรายได้ในงบประมาณ 2550 อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งภายในที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และปัจจัยภายนอก ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของ ภาษีนิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด. 54 โดยเฉพาะกรณี การส่งกำไรกลับต่างประเทศ

เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับการรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการออกกฎหมายพิเศษที่จะลดภาษีให้กับผู้ประกอบการที่นำผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศ นำส่งกลับเข้าไปลงทุนในประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นำกำไรที่เกิดขึ้นนำส่งกลับไปลงทุนในสหรัฐเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ยอดจัดเก็บรายได้ในส่วนนี้ติดลบจากเป้าหมายที่ตั้งไว้เฉลี่ยเป็น 1,000 ล้านบาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตามคาดว่าผลการจัดเก็บรายได้ในเดือนมีนาคม จะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจาก จะมีรายได้หัก ณ ที่จ่าย จากการที่รัฐบาลอนุมัติจ่ายค่าวิทยฐานะให้ครูทั่วประเทศ จำนวน 20,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% เหมือนเงินเดือนตามปกติ ส่งผลให้จะมีรายได้เพิ่มในเดือนนี้อีกประมาณ 2,000 ล้านบาท

ขณะที่ภาพรวมการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลในประเทศในปีนี้ได้รับผลกระทบจากการตั้งสำรองตามการประกาศใช้หลักเกณฑ์มาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 39 หรือ ไอเอเอส 39 ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท. ) หรือแบงก์ชาติ ส่งผลให้ สถาบันการเงินจะต้องนำกำไรไปตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมรายได้ของธนาคารพาณิชย์ปีนี้จะปรับตัวลดลง มีผลกระทบต่อยอดภาษีที่ต้องส่งให้กรมสรรพากร คาดว่าจะหายไปประมาณ 16,000 – 20,000 ล้านบาท

ซึ่งขณะนี้ทางกรมสรรพากรกำลังอยู่ระหว่างการประเมินตัวเลขที่ชัดเจน รวมถึงแนวโน้มการนำจัดเก็บภาษีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าจะปรับตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เช่นเดียวกับแนวโน้มการจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะภาษีที่เก็บจากสินค้านำเข้าได้ปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการนำเข้าติดต่อกันมาหลายเดือน และใช้วัตถุดิบในสต็อกเอามาผลิตสินค้าไปก่อน ซึ่งคาดว่ายอดการนำเข้าน่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงหลังจากนี้ เพื่อเริ่มผลิตสินค้าใหม่

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ( สศค. ) ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องการปรับลดเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2550 ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.14 ล้านล้านบาท ขณะที่การจัดทำงบประมาณปี 2551 ทาง สศค. ตั้งเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรที่ 1.226 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 8%

โดยแบ่งเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 411,000 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 485,000 ล้านบาท ( คิดจากฐาน 7% ) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 215,000 ล้านบาท ภาษีปิโตรเลียม 67,000 ล้านบาท ภาษีธุรกิจเฉพาะ 40,000 ล้านบาท และภาษีเบ็ดเตล็ดอื่นๆ อีก 200 ล้านบาท

" เชื่อว่าที่สุดแล้วในปีงบ 50 นี้กรมสรรพากร จะสามารถเก็บภาษีได้ตามเป้า เพราะเชื่อว่าเรื่องของเศรษฐกิจเมื่อมีขาลงก็ต้องมีขาขึ้น ส่วนในปีงบ 51 ทางกรมสรรพากร ประเมินว่ารายได้น่าจะลดลงประมาณหมื่นกว่าล้าน แต่ สศค. ก็ลดให้บ้างแต่ไม่มาก โดยตั้งเป้าให้ 1.226 ล้านล้านบาท ขณะที่กรมฯ คาดว่าจะสามารถเก็บได้ 1.19 ล้านล้านบาท " นายศานิตกล่าว

ทั้งนี้กรมสรรพากรได้ติดตามการจัดเก็บภาษีอย่างใกล้ชิด โดยทุกวันที่ 7 ของเดือนที่ยอดภาษีหักที่จ่ายจะเข้ามาก็จะดูว่ามีสัญญาณการชะลอตัวหรือไม่ ถ้ามีก็จะส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่ผ่านการประชุมทางไกลหรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ทั่วประเทศให้ช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ หลังจากนั้นทุกวันที่ 15 ของเดือนที่ภาษีตัวหลักอีกตัวจะเข้า คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็จะเริ่มเห็นสัญญาณภาพรวมของเดือนนั้นได้ชัดเจนขึ้น และหาทางแก้ไขให้การจัดเก็บภาษีในแต่ละเดือนเป็นไปตามเป้าหมาย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.