|
คน ITV สำลักเงิน-สวัสดิการ
ผู้จัดการรายวัน(9 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ปฎิบัติการอุ้มไอทีเดินหน้าเต็มสูบ อัดฉีดเงินภาษี 27 ล้านต่อเดือน ไม่สนขัดกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง กรมประชาสัมพันธ์อธิบดีฯ ยันให้เงินเดือนเดิม สวัสดิการเดิมทุกอย่าง ด้าน จีระ” ไขก๊อกทิ้งเก้าอี้ ผอ.ทีไอทีวี หลังถูกวิพากษ์ขาดคุณสมบัติเป็นบุคคลล้มละลาย ทิพาวดีสั่ง จนท.ดูข้อกฎหมายให้ชัดเจนเกี่ยวกับสัญญา 446 ฉบับ ที่ไอทีวีทิ้งขี้ไว้ หวั่นรัฐถูกเอาเปรียบซ้ำ ด้านบอร์ดไอทีวีอนุมัติงดทำธุรกิจทางการค้าและยกเลิกสัญญาจ้างพนักงาน หลังได้รับหนังสือบอกเลิกสัมปทานจาก สปน. ขณะที่ "นิวัฒน์ธำรง" นำทีมกรรมการ 6 คน ลาออกทิ้งเก้าอี้บอร์ด อัยการเตรียมฟ้องไล่เก็บหนี้ 30 มีนาคม คณบดีนิติจุฬาฯ อัดเด็กไอทีวีให้ย้อนดูตัวเอง
บ่ายวานนี้ (8 มี.ค.) ณ ตึก ชินวัตร 3 นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และอดีตผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของการเป็นสถานีทีไอทีวีกันเป็นครั้งแรก
นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมครั้งนี้ว่า เป็นการประชุมปรึกษาหารือในภาคปฏิบัติงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแผนงาน คน เทคนิค การเงิน การจัดการต่างๆ รวมไปถึงข้อสัญญาต่างๆที่ทางไอทีวีทำไว้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ รายการบางรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์มา และยังออกอากาศไม่ครบ ว่าจะทำอย่างไรต่อไปเมื่อเปลี่ยนมือจากผู้ซื้อลิขสิทธ์เดิมจากไอทีวีมาเป็นทีไอทีวี และบางรายการที่ไอทีวีจ้างผลิต อย่าง ละคร “โรบอทน้อย” ที่ยังอยู่ในสัญญา และยังต้องมีการออกอากาศต่อไป รวมถึงการซื้อข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อสรุป และทำให้การทำงานภายใต้ทีไอทีวีเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด
ขณะเดียวกันยังรวมไปถึงเรื่องของนิติบุคคล เกี่ยวการงบประมาณ การใช้จ่ายต่างๆ เบื้องต้นขณะนี้ทางภาครัฐ โดยสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ได้จัดงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายแก่สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ไว้กว่า 27 ล้านบาท ต่อเดือน ซึ่งจะสามารถดำเนินการนำมาใช้ได้ ภายในวันจันทร์ที่ 12 มีนาคมนี้ เป็นต้นไป ส่วนในช่วงนี้ทางสถานีทีไอทีวี ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงิน จากกองทุนฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ไอทีวีไปก่อน
ส่วนในเรื่องของค่าตอบแทนให้กับพนักงานนั้น เบื้องต้น ยังคงเป็นอัตราเดิมที่พนักงานได้รับ รวมถึงสวัสดิการที่เคยได้เช่นเดียวกัน ในการประชุม ยังได้กล่าวถึงการเปลี่ยนถ่าย เคลื่อนย้ายจากตึกชินวัตร 3 ไปยัง สำนักงานใหม่บน ถนน เพชรบุรีตัดใหม่อีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน ตามแผนที่วางไว้ โดยในขณะนี้ส่วนหนึ่งทั้งในแง่เครื่องมือ และพนักงานอาจจะยังทำงานอยู่ที่ตึกชินวัตร 3 อยู่ โดยทางเจ้าของตึกเอง ไม่มีปัญหาอันใด ยังคงให้ความร่วมมือ และให้เช่าพื้นที่ต่อไปได้ ขณะที่งบประมาณของการเคลื่อนย้ายนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปออกมาได้ ต้องรอให้ทางเจ้าหน้าที่เสนอขึ้นมา
อย่างไรก็ตามในการประชุมครั้งนี้ ได้มีทางผู้จัดรายการเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการชี้แจงให้ทราบว่า ผังรายการที่จัดไว้นั้น จะยังคงเป็นไปตามผังเดิมที่มีอยู่ อย่างน้อยในระยะ2-3เดือนนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามปกติที่สุด
“จากไอทีวีลู่ทีไอทีวีนั้น ในความเป็นจริงยังคงเป็นองค์กรเดิม โดยเฉพาะระดับพนักงาน แต่ในส่วนผุ้บริหารระดับบนอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ทั้งนี้ก็ต้องทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวมขององค์กรให้น้อยที่สุด ดังนั้นในส่วนของการดำเนินงาน จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง ทุกอย่างยังคงดำเนินไปตามปกติ ซึ่งทางกรมประชาสัมพันธ์เองได้รับมอบหมายจาก สปน.ให้เข้ามาดูแลเพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น หากทาง ครม. หาผู้ที่เหมาะสมที่จะเข้ามาดูแลได้แล้ว ทางกรมฯก็จะหมดหน้าที่ตรงนี้ไป ดังนั้นหน้าที่ที่กรมฯได้รับมอบหมายมานั้น จะต้องทำให้ดี”
อย่างไรก็ตามการดำเนินของกรมประชาสัมพันธ์และสปน.ในการว่าจ้างพนักงานไอทีวีชุดเดิมถูกตั้งคำถามว่า สามารถดำเนินการได้ทันทีหรือไม่ จะขัดต่อพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ แต่พฤติกรรมที่ดำเนินมาหลังจากเปลี่ยนถ่ายจากไอทีวีเดิมแล้วมาสู่ทีไอทีวีโดยว่าจ้างพนักงานชุดเดิมทำต่อ รัฐบาลไม่สามารถอธิบายส่วนนี้ได้ (อ่าน...สปน.บีบคณะรัฐมนตรี รับ พนง. ITV เลี่ยง กม.ฮั้ว)
จีระลาออกรักษาการเอ็มดี
หลังจากที่นายจีระ หงส์ลดารมภ์ รักษาการผู้อำนวยการโครงการดำเนินการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ถูกระบุว่าขาดคุณสมบัติ เนื่องจากถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น นายจีระ หงส์ลดารมภ์ ได้เดินทางเข้าพบคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ โดยนายจีระ เปิดเผยภายหลังการเข้าพบว่า ตนได้ไปเล่ากรณีที่ศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของตนให้ คุณหญิงทิพาวดีฟัง ดังนั้นเพื่อไม่เป็นเป้า เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสำคัญ ตนขอออกมาช่วยเหลืองานด้านสังคมแทน โดยได้ลาออกทั้ง2 ตำแหน่ง คือทั้งตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการฯและคณะกรรมการกำกับกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ แต่คุณหญิงทิพาวดีขอให้อยู่ช่วยเหลืองานฐานะคณะกรรมการต่อไป
“ผมคิดว่าผมเป็นเป้าทางการเมือง ความจริงเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องทางเทคนิคเล็กนิดเดียว แต่ว่าเมื่อเกิดเป็นประเด็นขึ้น ก็คิดว่าควรเสียสละลาออกช่วยเหลืองานสังคมในด้านอื่นต่อไป ผมเสียสละลาออกทั้ง 2 ตำแห่น่ง แต่คุณหญิงทิพาวดีขอให้อยู่ในฐานะกรรมการต่อไป คือมีหน้าที่ให้คำแนะนำเท่านั้น ไม่ต้องทำหน้าที่บริหาร และกำลังหาผู้ที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งแทน”
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากผลการพิจารณาตัดสินใจว่า ท่านไม่มีความผิด จะกลับมารับตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่รักษาการหรือไม่หากมีการแต่งตั้งทางการเมือง นายจีระ กล่าวว่า เรื่องการเมืองขอทำงานในรูปแบบให้คำแนะนำดีกว่า
ต้องยอมรับว่าเรื่องไอทีวีเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจเยอะ สื่อทุกคนก็ทราบ คงไม่ต้องถามว่าเพราะอะไรถึงตกเป็นเป้า สื่อทุกคนก็รับทราบเรื่องราวของตนและเข้าใจ รู้ว่าผมไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ไม่ได้เป็นบุคคลล้มละลาย ยังมีคุณธรรม จริยธรรมเหมือนเดิม ผมเห็นว่า เพื่อไม่ให้การทำงานมีปัญหาต่อไป เมื่อผมตกเป็นเป้าก็เสนอตัวออกจากตำแหน่ง ฝากความระลึกสื่อทุกคนที่ให้ความรัก ความสนใจชีวิตของผม ผมจะทำหน้าที่ในด้านวิชาการต่อไป
นายจีระ หงส์ลดารมภ์ รักษาการผู้อำนวยการโครงการดำเนินการสถานีโทรทัศน์ ยูเอชเอฟ กล่าวถึงกรณีที่ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ว่า ยืนยันว่า ตนไม่ได้เป็นบุคคลล้มละลาย เพียงแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตนกับลูกศิษย์ได้ทำเรื่อง กู้เงินร่วมกันเป็นมูลค่าเงินต้นประมาณ 8 แสนบาทและดอกเบี้ย ซึ้งขณะนี้คนที่กู้ร่วม ไม่อยู่แล้วตนก็เลยต้องรับผิดชอบ และได้ทำการประนอมหนี้กับธนาคาร เผอิญว่า เมื่อศาลตัดสินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ตนไม่ได้ไปศาลก็เลยให้พิทักษ์ทรัพย์ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการประนอมหนี้
ดังนั้นการที่ตนไม่ได้เรียนให้คุณหญิงทิพาวดี ทราบ เนื่องจากเรื่องนี้ เป็นเรื่องส่วนตัวและเป็นเรื่องที่ทางกฎหมายไม่มีความผิดอะไร แต่ถ้าจะมีในเงื่อนไข ทางจริยธรรมตนก็เห็นด้วย เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้เน้นจริยธรรมคุณธรรม ซึ่งจริยธรรม ที่ตนมีก็จะไปดูแลลูกศิษย์ของตนให้จบไป แต่ตอนนี้ผู้ที่กู้ร่วมไม่ได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย ส่วนที่คุณหญิงทิพาวดี จะหาคนใหม่มาแทนนั้นเรื่องนี้ตนขอคุยกับคุณหญิงทิพาวดีก่อน
นาย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญิแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นาย จีระ หงส์ลดารมภ์ รก.ผอ.โครงการดำเนินการสถานีโทรทัศน์ยูเอชเอฟทีไอทีวี ได้ลาออกจากตำแหน่งเนื่องมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง ว่า หากคดีอยู่ในขั้นตอนการเตรียมฟ้องร้องล้มละลายไม่มีปัญหา แต่ถ้าถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแต่ถ้าศาลยังไม่พิพากษาให้ถึงที่สุดแล้วมาดำรงตำแหน่งก็อาจจะหมิ่นเหม่
นายมีชัย กล่าวต่อว่า ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องความเหมาะสมหรือไม่ แต่เป็นเรื่องหลักการที่ว่าการเป็นผู้บริหารจะต้องมีอำนาจทางนิติกรรม แต่ถ้าถูกพิทักษ์ทรัพย์จะทำให้ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย การลาออกของนายจีระเป็นเรื่องการรู้ตัวเองมากกว่า อย่างไรก็ตามไม่ทราบว่าคดีที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร เพราะดูจากสายตาคนนอก นายจีระไม่น่ามีปัญหาเรื่องการเงิน และปัญหานี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น ส่วนที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมืองนั้นไม่ทราบ
ทิพาวดีปวดหัวหาคนแทน
คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึง กรณีที่นายจีระ หงษ์ลดารมภ์ ลาออกจากตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการ โครงการ ดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟเนื่องจากมีข้อครหาว่าเป็นบุคคลล้มละลายเนื่องจากถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์แล้วตั้งแต่ปี 49 ว่า เรื่องนี้ต้องเห็นใจนายจีระ เพราะตนเป็นคนเชิญเข้ามาทำงาน โดยมีเจตนาที่จะให้เข้ามาช่วยดูในปัญหาเรื่องของทรัพยากรบุคคล ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้มี 2 คนคือนายจีระ และนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ ซึ่งมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องการดูแลและรับพนักงานในกรณีที่บริษัทยุบเลิกกิจการ เพราะเกรงจะมีปัญหาในเรื่องของกฎหมายแรงงาน จึงอยากให้ดูในเรื่องของสัญญาการว่าจ้างใหม่
"การให้นายจีระ มาช่วยก็เป็นเรื่องชั่วคราว มาทำหน้าที่รักษาการ ซึ่งดิฉันเห็นว่าในส่วนของกฎหมายไม่ได้มีอะไรห้ามไว้ และยังไม่มีการกำหนดคุณสมบัติเอาไว้ ซึ่งหากนายจีระ ลาออกเนื่องจากรู้สึกอึดอัดใจเพราะถูกกล่าวหาว่าล้มละลาย ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะต้องหาคนใหม่มาแทนนายจีระ"
รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของ การแต่งตั้งผู้จัดการโครงการ หรือเอ็มดีตัวจริงนั้น คงจะต้องรอให้มีการปรับโครงสร้างของไอทีวีให้เสร็จก่อน แต่เนื่องจากงานนี้เป็นงานชั่วคราว ดังนั้นหากจะสรรหาใครมาทำหน้าที่ชั่วคราวคงเป็นเรื่องลำบาก เนื่องจากทุกคนมีงานประจำกันอยู่แล้ว ฉะนั้นเงื่อนไขในการให้คนที่จะเข้าทำหน้าที่ตรงนี้จะต้องกำหนดให้ชัดเจน จึงจำเป็นจะต้องพิจารณาและกำหนดเรื่องรายละเอียดให้ชัดเจน
ผู้สื่อข่าวถามว่า สัญญาที่ทางบริษัทไอทีวีได้ทำไว้กับบริษัทอื่นทั้งสิ้นจำนวน 446 ฉบับทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะมีการดำเนินการอย่างไร คุณหญิงทิพาวดี กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องรายละเอียดอ่อน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะเข้าไปดูแล ไม่ว่าเรื่องกฎหมาย หรือการเงินจะต้องดูให้รอบคอบ เนื่องจากเป็นเรื่อง ของรายละเอียดจึงจะต้องใช้ความรอบคอบเพื่อไม่ให้รัฐถูกเอารัดเอาเปรียบไปมากกว่านี้
บริษัทไอทีวีเลิกธุรกรรมธุรกิจ
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล กรรมการ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 6/2550 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา ว่า คณะกรรมการได้รับหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยู เอช เอฟ (สัญญาเข้าร่วมงานฯ) จากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ลงวันที่ 7 มีนาคม 2550 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการแจ้งบอกเลิกสัญญานี้เป็นผลให้สัญญาเข้าร่วมงานฯ สิ้นสุดลง
พร้อมกันนี้ หนังสือฉบับดังกล่าวได้แจ้งให้ไอทีวีดำเนินการชำระหนี้ต่างๆ ที่ค้างชำระ และจะต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งใช้อยู่ในการดำเนินกิจการตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ คืนให้แก่สปน. ตามเวลาที่ สปน. กำหนด
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ในปัจจุบันคณะกรรมการได้อนุมัติให้ระงับการดำเนินธุรกิจทางการค้า และเลิกสัญญาว่าจ้างพนักงาน รวมทั้งอนุมัติการทำรายการเพื่อดำเนินงานของบริษัทในการรองรับการบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ ด้วยการว่าจ้างบริษัทเพื่อทำงานในด้านระบบงานบัญชี จัดทำเอกสาร งานเลขานุการบริษัท รวมถึงดูแลการจดทะเบียนใดๆ กับส่วนราชการ และจัดเตรียมข้อมูลด้านคดีที่ยังคงมีต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ ยังอนุมัติให้รวมถึงว่าจ้างบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเพื่อดูแลและส่งมอบทรัพย์สินเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน และว่าจ้างสำนักงานกฎหมายเพื่อดำเนินคดีที่จำเป็นต่อไป
ขณะเดียวกัน ได้อนุมัติให้กรรมการลาออกรวม 4 คน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2550 ได้แก่ นายอนันต์ ลี้ตระกูล นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นายทรงศักดิ์ เปรมสุข และนางศุภรานันท์ ตันวิรัช หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีกรรมการลาออกไปแล้ว 2 คน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2550 คือ นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก และนายบุญชาย ศิริโภคทรัพย์
ดังนั้น คณะกรรมการจึงได้แต่งตั้งกรรมการใหม่แทนกรรมการที่ลาออกรวม 4 คน คือ นายณิทธิมน จึงศิริ นายสุเมธี อินทร์หนู นายวิชกรพุฒิ รัตนวิเชียร และนางสาวจิรพร วิวงศ์ศักดิ์ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 และทำให้คณะกรรมการบริษัทคงเหลือ 5 คน ได้แก่ นายสมคิด หวังเชิดชูวงศ์ นายณิทธิมน จึงศิริ นายสุเมธี อินทร์หนู นายวิชกรพุฒิ รัตนวิเชียร และนางสาวจิรพร วิวงศ์ศักดิ์
สำหรับกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทโดยกำหนดให้นายสมคิด หวังเชิดชูวงศ์ และนายณิทธิมน จึงศิริ ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท รวมทั้งอนุมัติให้ย้ายที่ทำการบริษัทไปยังเลขที่ 1010 อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ชั้น 8 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
30 มี.ค.ฟ้องไล่เบี้ยไอทีวี
นายบัลลังก์ ปิ่นสากล อัยการผู้ได้รับมอบหมายจาก สปน.กล่าวถึงขั้นตอนการฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าสัมปทานที่ค้างชำระ จำนวน 2 พันล้านบาท และค่าเสียหายจากการผิดสัญญา จากบริษัทไอทีวี จำกัด มหาชน ว่าขณะนี้อัยการได้แจ้งให้ ทาง สปน.ทำการพิจารณาเรื่องค่าตอบแทน และค่าปรับรวมทั้งดอกเบี้ยที่ชัดเจนอีก ครั้ง ซึ่งหากได้รับรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเลขและไม่มีอะไรผิดพลาดก็เชื่อว่า สปน.จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางได้ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ ทั้งนี้การฟ้องคดีโดยผ่านช่องทางทางศาลปกครองดังกล่าว เพราะคดีนี้เกี่ยวข้องกับ สัญญาทางปกครอง ซึ่ง สปน.ใช้สิทธิตาม พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดี ปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 51 ซึ่งการใช้สิทธิดังกล่าวจะต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่ วันที่รู้ถึงเหตุกระทำผิดนั้น
นายบัลลังก์ ยังกล่าวย้ำถึงกรณีที่ บมจ.ไอทีวี ต้องส่งคืนเครื่องมืออุปกรณ์และ ทรัพย์สินให้กับ สปน.คู่สัญญาว่า เมื่อมีการยุติสัญญา ทรัพย์สินทั้งหมดก็จะต้อง ถ่ายโอนมาเป็นของ สปน. แต่ก่อนหน้านี้ที่ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ได้เช่าอาคารชินวัตร 3 เพื่อเป็นสถานที่ ออกอากาศนั้นยังมีปัญหาที่ต้องพิจารณาอยู่ว่า ทรัพย์สินใดเป็นของใคร ซึ่ง สปน. และตัวแทนของสำนักงานอัยการสูงสุดจะต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบรายละเอียดใน รายการทรัพย์สินที่มีจำนวนมากกว่า 4 พันล้านบาท โดยจะต้องดำเนินการให้ทันภาย ใน 60 วัน ตามกฎหมาย
อัดพนักงานย้อนดูตัวเอง
นายฐิติพันธ์ เชื้อบุญชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การที่พนักงานไอทีวีออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือและไม่ให้ปิดสถานี ก็เข้าใจได้ในฐานะคนทำข่าวที่อยากจะทำหน้าที่ แต่พนักงานที่ออกมาเหล่านี้ควรจะสร้างความเป็นกลางให้กับสังคมด้วย โดยไม่ควรมากดดันกับรัฐบาลเพราะรัฐบาลนี้มีความตั้งใจ มีเจตนาที่จะแก้ปัญหาไอทีวีในช่วงเปลี่ยนผ่านให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยที่สุด เช่น ความชัดเจนในเรื่องทรัพย์สิน อุปกรณ์ใดที่จะตกเป็นของรัฐหลังจากไอทีวีถูกยกเลิกสัมปทาน
ดังนั้น พนักงานไอทีวีต้องกดดันผู้บริหารตัวเอง ซึ่งภาพที่ผ่านมาไม่เห็นผู้บริหารไอทีวีพยายามที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาเท่าที่ควร วันนี้ยังไม่สายที่ผู้บริหารไอทีวีต้องกลับมาคุยกับรัฐบาลให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด
"พนักงานต้องคิดเรื่องนี้ให้มาก เพราะตั้งแต่ที่ศาลปกครองชี้ขาด คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการกรณีไอทีวี จากนั้นมาทางพนักงานไอทีวีก็เหมือนต้านรัฐบาลตลอด พนักงานต้องย้อนไปคิดด้วยว่าตอนที่ชินคอร์ปเข้ามาถือหุ้นใหญ่ พนักงานได้ทำหน้าที่ของตัวเองสมบูรณ์แค่ไหน กรณีเกิดกบฏไอทีวี 23 คนที่ถูกไล่ออก ก็มีคำถามว่าเหตุใดต้องทำขนาดนั้น การเสนอข่าวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีใบสั่งจากรัฐบาลเก่าให้เสนอใคร หรือไม่เสนอใคร ผมว่าสื่อด้วยกันต้องช่วยกันตรวจสอบว่าช่วงนั้นไอทีวีเป็นกลางแค่ไหน เขาต้องประเมินตัวเองด้วย ซึ่งในช่วง 2 วันที่รัฐบาลนี้เข้ามาแก้ปัญหาผมว่าเขาก็ให้เสรีภาพกับพนักงานมากไม่เข้าไปแทรกแซงอะไร"
นายฐิติพันธ์กล่าวว่า ตนไม่คิดว่ารัฐบาลชุดนี้จะตั้งใจกลั่นแกล้งไอทีวีเพื่อไม่ให้ออกอากาศ แต่เมื่อเหตุการณ์เริ่มคลี่คลายก็อยากให้รัฐบาลพนักงานไอทีวี ที่สำคัญคือบริษัทไอทีวี ซึ่งเราไม่ค่อยเห็นบทบาทในการแก้ปัญหา มาเจรจากันในช่วงการเปลี่ยนผ่านว่าทรัพย์สินหรืออุปกรณ์ชิ้นใดของไอทีวีที่จะกลับมาเป็นทรัพย์สินของรัฐตามกฎหมายอันเป็นผลจากการยกเลิกสัญญา ทั้งนี้ ไอทีวีไม่ควรโยนภาระให้รัฐบาลเพียงอย่างเดียว พนักงานไอทีวีก็ต้องกลับไปเรียกร้องผู้บริหารของตัวเองให้การแก้ปัญหาดำเนินไปอย่างราบรื่น เพราะทุกอย่างจะตบมือข้างเดียวไม่ได้
นายฐิติพันธ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาของไอทีวีส่วนหนึ่งมาจากการไม่ปฎิบัติตามสัญญาที่ตกลงไว้ ซึ่งมักเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการบริการสาธารณะ เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างทางด่วน โดยก่อนจะมาประมูลงานก็เสนอผลตอบแทนสูง เมื่อได้งานมาก็ให้ผลตอบแทนไม่ได้ จึงมาเจรจากับรัฐเพื่อขอเปลี่ยนเงื่อนไข อย่างนี้ถือว่าไม่แฟร์ ตรงนี้ถือเป็นจุดบอดของโครงการบริการสาธารณะในประเทศ ทำให้บริษัทที่ไม่ชนะการประมูลก็เสียโอกาสในส่วนนี้
ขณะเดียวกันในการขอเปลี่ยนแปลงสัญญามักมีข่าวเรื่องผลประโยชน์เข้ามา เกี่ยวข้อง และรัฐบาลก็มักจะยอมตลอด กรณีไอทีวีถือว่าผิดเงื่อนไขในส่วนนี้ชัดเจน รวมถึงการปรับผังรายการที่ลดเนื้อหาด้านข่าวจากที่ตกลงไว้ 70%.
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|