ปทุมดีไซน์รีแบรนด์เป็น'พีดีเฮ้าส์'


ผู้จัดการรายวัน(9 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ถึงยุคขาลงธุรกิจรับสร้างบ้าน หลังเติบโตติดต่อกันมากว่า 4 ปี บิ๊กปทุมดีไซน์ได้ฤกษ์รีแบรนด์ใหม่เปลี่ยนเป็น “พีดี เฮาส์” ทุ่มงบ 20 ล้านบาททำโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ตอกย้ำความเป็นบริษัทรับสร้างบ้านมืออาชีพ แนะผู้ประกอบการพัฒนาองค์กร บุคคลากรให้มีคุณภาพ ดึงความเชื่อมั่นลูกค้า

นายสิทธิพร สุวรณสุต ประธานกรรมการ บริษัท ปทุม ดีไซน์ ดีเวลอป จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำการรีแบรนด์ใหม่เป็น บริษัท พีดี เฮาส์ จำกัด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำธุรกิจ เพราะในช่วงปี 2546 บริษัทได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาสำรวจตลาดและการรับรู้แบรนด์ ซึ่งพบว่า ลูกค้ามีความสับสนว่าเป็นบริษัทรับออกแบบและตกแต่ง มากกว่าที่จะเป็นบริษัทรับสร้างบ้าน

“ ในช่วง 3 ปีเศษที่ผ่านมา ตนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้าน และผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสารกับผู้บริโภค กลยุทธ์การแข่งขัน การสร้างภาพลักษณ์และแบนด์สินค้าหรือโลโก้ ให้เป็นที่รู้จักและจดจำได้มากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน ที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงการแข่งขัน พร้อมกับการยกระดับธุรกิจรับสร้างบ้านไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ปัจจุบันบริษัทฯกำลังก้าวต่อไปตามแผนการตลาดที่วางไว้ โดยจะเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการรีแบรนดิ้ง เพื่อปรับภาพลักษณ์สินค้าและตราสินค้าให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเปลี่ยนจากปทุมดีไซน์สู่การเป็น พีดี เฮ้าส์ ภายใต้คอนเซปต์หรือแนวคิด “เราสร้างบ้าน เพื่ออนาคต” หรือ Build for The Future”

นอกจากนี้ เหตุผลประการแรกของการรีแบรนด์ครั้งนี้ ต้องการสื่อสารกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายและประชาชนทั่วไป เพื่อให้รับรู้ถึงผลิตภัณฑ์หรือสินค้าและบริการของบริษัทฯได้เข้าใจง่ายและชัดเจนขึ้น ว่าเป็นสินค้าและบริการเกี่ยวกับบ้านหรือที่อยู่อาศัย ส่วนเหตุผลประการที่ 2 คือ ผลการสำรวจและวิจัยตลาดพบว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ผู้บริโภค และประชาชนทั่วไปจดจำปทุมดีไซน์ได้น้อยมาก และมักเข้าใจสับสนว่าเป็นแบรนด์ที่ทำธุรกิจออกแบบหรือธุรกิจวัสดุตกแต่ง รวมถึงเพื่อสื่อสารถึงการเป็นแบรนด์ที่ทันสมัยและคำถึงความคุ้มค่าในอนาคต ดังนั้นในส่วนของโลโก้ใหม่ พีดี เฮ้าส์ จึงออกแบบให้มีคำว่า House อยู่ด้วย”

บริษัทฯประเมินว่า ปีนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการรีแบรนด์ เพราะว่าผลวิจัยตลาดที่บริษัทฯเคยสำรวจไว้เมื่อปี 2545-2547 ระบุว่า ภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้านยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และขาดความชัดเจนในสายตาของผู้บริโภคและประชาชน ที่ผ่านมาจึงทำให้บริษัทฯต้องวางกลยุทธ์เพื่อสร้างการรับรู้สู่ผู้บริโภค โดยแบ่งเป็น 1.แผนสร้างภาพรวมของธุรกิจหรือแบรนด์รับสร้างบ้านให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น 2.แผนต่อยอดสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองให้เป็นที่จดจำและยอมรับ โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯจึงเน้นและให้ความสำคัญต่อการสร้างภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านสำคัญเป็นลำดับแรกก่อน จนกระทั่งปัจจุบันธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และถือว่าประสบผลสำเร็จด้วยดีในแง่ของการยอมรับจากผู้บริโภค

“ ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมจึงไม่รีแบรนด์ก่อนหน้านั้น เพราะตนประเมินว่าหากภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านยังไม่เป็นที่รู้จัก ไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง การรีแบรนด์ก็จะไม่คุ้มค่าหรือเกิดประโยชน์มากนัก ยอมรับว่าต้องทุ่มเทและอดทนรอมานานถึง 3 ปีเศษ กว่าจะถึงเวลาหันมารีแบรนด์ของตัวเองให้ชัดเจนในปีนี้ อย่างไรก็ดีแม้จะเปลี่ยนชื่อแบรนด์สินค้าเป็น พีดี เฮาส์ ทว่าชื่อบริษัทฯในทางกฎหมายยังคงเป็น “ปทุมดีไซน์ ดีเวลอป” เช่นเดิม” นายสิทธิพรกล่าว

สำหรับ กลยุทธ์หลักๆที่จะนำมาใช้แข่งขันในปีนี้ได้แก่ การสื่อสารกับลูกค้า (Customer Communication) โดยบริษัทฯจะเน้นให้ความรู้และข้อมูลกับลูกค้าเรื่องบ้านและการสร้างบ้าน เพื่อให้ลูกค้ามีความเข้าใจในสินค้าและบริการมากพอก่อนตัดสินใจ และความสะดวกสบายของลูกค้า (Customer Convenience) ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถใช้บริการสร้างบ้านกับบริษัทฯได้ในราคาเดียวกัน คอบคลุมพื้นที่กรุงเทพปริมณฑลและต่างจังหวัดได้มากกว่า 25 จังหวัด โดยสามารถติดต่อสอบถามการให้บริการผ่าน Call Center 1490 เรียก พีดีเฮาส์ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการตลาดที่คิดแบบ Outside In หรือคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก นอกจากนี้บริษัทยังคิดราคาค่าก่อสร้างในอัตราเดียวกันทั่วประเทศอีกด้วย

สำหรับการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและผู้บริโภคนั้น ปีนี้บริษัทฯจะหันมาใช้สื่อที่เป็น Mass เช่น ฟรีทีวี ในระยะแรกก่อนเพราะว่ามีศักยภาพที่จะเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วและจดจำได้ง่าย โดยจะเริ่มออนแอร์ในเดือนมีนาคมนี้ นอกจากนี้แล้วยังผสมผสานการใช้สื่อแบบ Below the Line เช่น การจัดกิจกรรม การร่วมงานแสดงสินค้า เคเบิลทีวี รวมถึงการจัดโปรโมชั่นหรือรายการส่งเสริมการขาย เพื่อตอกย้ำการรับรู้ถึงความเป็นบริษัทรับสร้างบ้านระดับ Top 5 ภายใต้ แบรนด์ พีดีเฮาส์

นอกจากนี้ ฝ่ายการตลาดของบริษัทได้ประเมินปริมาณบ้านสร้างเองในเขตกรุงเทพและปริมณฑลตลอดปี 2549 ว่า มีประมาณ 29,000 หน่วยเศษ จากปี 2548 บ้านสร้างเองมีจำนวน 25,244 หน่วย หรือเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 17 % (จากสถิติศูนย์ข้อมูลอสังหาฯเดือนมกราคม-กันยายน 2549 มีจำนวน 22,424 หน่วยเศษ) หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 40,000-45,000 ล้านบาทเศษ โดยตลาดรับสร้างบ้านปี 2549 มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ประมาณ 7,800- 8,000 ล้านบาท หรือประมาณ 20% ของปริมาณบ้านสร้างเองในเขตกรุงเทพและปริมณฑลทั้งหมด

ทั้งนี้จะเห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเลือกว่าจ้างสถาปนิกออกแบบบ้าน หรือว่าจ้างผู้รับเหมารายย่อยปลูกสร้างเองมากว่าการว่าจ้างบริษัทรับสร้างบ้าน แต่แนวโน้มบริษัทรับสร้างบ้านจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ผลจากผู้บริโภคเริ่มเห็นถึงความแตกต่าง เข้าใจธุรกิจรับสร้างบ้านและบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้นตามลำดับ ในขณะเดียวกันกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านในสมาคมฯจำนวน 30 ราย มีส่วนแบ่งตลาดรับสร้างบ้านอยู่ประมาณ 3,800-4,000 ล้านบาท หรือประมาณ 10 % ของมูลค่ารวมบ้านสร้างเองเท่านั้น ถือว่ายังมีโอกาสขยายตลาดหรือขยายส่วนแบ่งจากกลุ่มผู้รับเหมารายย่อยได้อีกจำนวนมาก หากสามารถทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นและพึงพอใจต่อการให้บริการ รวมทั้งสินค้ามีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

แนวโน้มบ้านสร้างเองสู่ยุคขาลง

แนวโน้มปริมาณบ้านสร้างเองปี 2550-2554 คาดว่าจะชะลอตัวและเข้าสู่ช่วงขาลงหรืออย่างดีแค่ทรงตัว ทั้งนี้เนื่องจากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา บ้านสร้างเองมีการขยายตัวหรือเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกหลายๆประการ อาทิ มาตรการทางภาษีของรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยต่ำ การกระตุ้นตลาดของกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำ ฯลฯ ดังนั้นจากนี้ไปคาดว่าจะเป็นวัฏจักรขาลงของปริมาณบ้านสร้างเองและตลาดรับสร้างบ้าน

ทั้งนี้ คาดว่าตลาดรับสร้างบ้านจะกลับมาสู่วัฏจักรขาขึ้นและเติบโตอีกครั้งประมาณปี 2550 โดยผู้รับเหมารายย่อยและกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน ที่ยังทำตลาดแข่งขันกันจะมีการปรับตัวเองมากขึ้น เพื่อให้สามารถคงส่วนแบ่งตลาดเอาไว้และแข่งขันอยู่ได้ ภายใต้พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความต้องการ มาตรฐานคุณภาพสินค้าและบริการที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.