คอตตอนฯทุ่มงบ20ล.บุกคาดปีนี้ไลเซนซี่เพิ่ม100%


ผู้จัดการรายวัน(8 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

“คอตตอน ยูเอสเอ” เดินหน้าทำตลาด หวังนำเข้าฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาสู่ไทยเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยแชร์กว่า 35-40% ล่าสุด เตรียมจัดงานสัมมนา พร้อมจัดมินิเทรดโชว์ในเวียดนาม เสริมทัพอีก 20 ล้านบาท ทำตลาดในไทย มั่นใจสิ้นปีมีไลเซนซี่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว หรือกว่า 26 ราย หรือมีการผลิตสินค้าที่ติดป้าย คอตตอน ยูเอสเอ เพิ่มขึ้น 30% จาก 5.2 ล้านชิ้นในปีที่ผ่านมา

นายไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทนเครื่องหมายการค้า คอตตอน ยูเอสเอ ประเทศไทย จาก คอตตอน เคาน์ซิล อินเตอร์เนชั่นแนล (ซีซีไอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่ง ของ เนชั่นแนล คอตตอน เคาน์ซิล จากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีหน้าที่หลักในการเพิ่มการส่งออกฝ้าย เปิดเผยว่า ปีนี้จะเป็นปีที่สองที่ทางคอนตอนยูเอสเอประเทศไทย จะมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยกิจกรรมทางการตลาดร่วมกับไลเซนซี่ และให้ความรู้แก่ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบถึงคุณภาพฝ้ายจากประเทศสหรัฐอเมริกาและให้ความรู้ทักษะเพื่อช่วยลดขั้นตอนการผลิตให้เกิดผลกำไรสูงขึ้น

ปีนี้บริษัทฯใช้งบประมาณกว่า 20 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5 ล้านบาท เพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย ในรูปแบบต่างๆ เช่น การสัมมนาในหัวข้อ “การลดต้นทุนการผลิต” สำหรับกลุ่มผู้ผลิต ในช่วงเดือนเม.ย.นี้ และการอมรมเทคนิคการขายสำหรับพนักงานขายในกลุ่มไลเซนซี

จากการวิจัยเรื่องการรับรู้ป้ายสัญลักษณ์ “คอตตอน ยูเอสเอ” พบว่า จากจำนวนผู้สำรวจกว่า 500 ราย เมื่อคำนวณจากบุคคลทั่วไป ว่ารู้จักป้ายสัญลักษณ์นี้หรือไม่ มีเพียง 2% ที่รู้จัก ขณะเดียวกันเมื่อคำนวณจากกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นผู้หญิงอายุตั้งแต่ 18-34 ปี ว่ารู้จักป้ายสัญลักษณ์นี้หรือไม่ มีกว่า 37% ในอีกระยะ 5-10 ปี ทางบริษัทฯคาดว่าคนไทยจะสามารถรับรู้ป้ายสัญลักษณ์ “คอตตอน ยูเอสเอ”เป็น 50-70% ใกล้เคียงกับประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ทางบริษัทฯยังได้เตรียมจัดมินิเทรดโชว์ในกรุงโฮจิมินท์ ซิตี้ ประเทศเวียดนาม ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ด้วย โดยจะนำกลุ่มผู้ผลิตในไทย เกาหลี ไต้หวัน และเวียดนาม ได้พบกับกลุ่มผู้ซื้อจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่ญี่ปุ่นจะนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากจีนเป็นหลัก

รวมไปถึงโครงการ “คอตตอน ดีไซน์ ชาเล้นจ์ 2006” การประกวดออกแบบเสื้อผ้า สำหรับนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจะช่วยให้ คอตตอน ยูเอสเอ เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ในช่วงปี 2549 จากเดิมที่บริษัทฯมีไลเซนซี่ประมาณ 13 ราย เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว เป็น 26 รายในปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มไลเซนซี่เดิม แต่เพิ่มแบรนด์ในการติดป้าย คอตตอน ยูเอสเอ อาทิ เช่น เสื้อผ้าจากกลุ่มซีเอ็มจี หรือเซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป ปีนี้เพิ่มแบรนด์ในการติดป้ายคอตตอน ยูเอสเออีก 7 แบรนด์, เสื้อผ้าเด็กจากกลุ่ม ไอซีซี เดิมมี 6 แบรนด์ ปีนี้เพิ่มอีก 1 แบรนด์ นอกจากนี้ยังมีแบรนด์เสื้อผ้าจาก เอฟคิวแอนด์แอล ซึ่งเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นสำหรับผู้หญิงอีก 1 แบรนด์ รวมไปถึงเสื้อผ้าแฟชั่นสำหรับผู้ชายอีก 2 แบรนด์ ที่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ขณะนี้

ขณะที่ในปีที่ผ่านมา พบว่า มีสินค้าที่ติดป้าย “คอตตอน ยูเอสเอ” ประมาณ 5.2 ล้านชิ้น จากทั้งหมด 13 ไลเซนซี่ ปีนี้คาดว่าจะมีการผลิตสินค้าที่ติดป้ายนี้เพิ่มขึ้นอีก 30% โดยส่วนใหญ่แบรนด์ที่ติดป้าย คอตตอน ยูเอสเอ จะเป็นแบรนด์ระดับพรีเมี่ยมเป็นส่วนใหญ่

เมื่อมองในภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ในปีที่ผ่านมามีการนำเข้าวัตถุดิบเส้นใยผ้า คิดเป็นมูลค่ากว่า 695 ล้านดอลล่าสหรัฐ ลดลง 8.5% เทียบจากปี 2548 ที่มีการนำเข้าอยู่ที่ 760 ล้านดอลล่าสหรัฐ ส่วนในปีนี้คาดว่าจะมีการนำเข้าใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันในส่วนของการนำเข้าเฉพาะฝ้ายนั้น ในรอบปี 2548-2549 มีการนำเข้ากว่า 412,000 เมตรติกตัน น้อยกว่าในรอบปี 2547-2548 ที่มีการนำเข้าสูงสุดในรอบ 5 ปี นับจากปี 2545 เป็นต้นมา โดยในรอบปี 2549-2550 นี้ คาดว่าจะมีการนำเข้าฝ้ายเพิ่มขึ้นเป็น 435,000 เมตรติกตัน

โดยฝ้ายที่มีการนำเข้าเป็นอันดับหนึ่งยังคงมาจากสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 35-40% รองลงมา คือ ออสเตรเลีย อินเดีย ปากีสถาน และจีน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.