ชี้ "เอ็มเค" สุกี้ ผูกขาดตลาด


ผู้จัดการรายวัน(10 มีนาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ประกอบธุรกิจสุกี้ชี้ เอ็มเค ทำสัญญาผูกขาดทางการค้ากับห้าง สรรพสินค้าและโมเดิร์นเทรด ไม่เปิดเสรีให้ผู้ดำเนินธุรกิจสุกี้หน้าใหม่เข้าไปทำตลาด ฮอต พอต ชูกลยุทธ์คุ้มค่าคุ้มราคา ถูกกว่า 20% ฮึดสู้ วอนขอให้เป็นไปตามกลไกตลาด พร้อมปีนี้เตรียมขยายสาขาเพิ่ม 15 สาขา เลี่ยงหาช่องว่างทำตลาดต่างจังหวัด เล็ง 3-5 ปี หากโตก้าวกระโดด ผุดอีก 100 สาขา ส่วนนีโอสุกี้ใช้วิธีส่ง ถึงบ้าน และหันไปขยายธุรกิจในต่างประเทศแทน

แหล่งข่าวจากวงการสุกี้ เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่าการดำเนินธุรกิจสุกี้ใน ปัจจุบันผู้ประกอบ ไม่ว่าจะเป็น นีโอ สุกี้, ฮอต พอต,เทกซัส ไม่สามารถเข้าไปเปิดตาม ห้างสรรพสินค้า เช่น เซ็นทรัล โรบินสัน บิ๊กซี หรือแม้กระทั่งโมเดิร์นเทรดได้ หาก เจ้าตลาดอย่างเอ็มเคสุกี้ได้เข้าไปเปิดดำเนิน ธุรกิจแล้ว เนื่องจากลักษณะการทำสัญญาของเอ็มเคเป็นการทำสัญญาผูกขาด เพียงรายเดียว ทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่เกิดขึ้นในตลาดลำบาก เนื่องจากห้างสรรพสินค้าถือว่าเป็นสถานที่ที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว

"ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่ผูกขาดมากเกินไป ขณะที่เคเอฟซี แมคโดนัลด์ มีลักษณะเป็นฟาสต์ฟูดเหมือนกัน แต่ยังสามารถเปิดใกล้กันได้ แทนที่ห้างสรรพสินค้าจะเปิดการค้าอย่างเสรี เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น เข้าใจว่าเวลานี้หากใครให้เอ็มเคเข้าไปดำเนินธุรกิจรับรองก็ไม่ผิดหวัง เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในตลาดอยู่แล้ว" แหล่งข่าวกล่าว

ทางด้านนางสกุณา บ่ายเจริญ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท อีสเทิร์นฟู้ดซัพพลาย จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจสุกี้แบรนด์ฮอต พอต เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่า บริษัทได้ดำเนินธุรกิจสุกี้มากกว่า 6 ปี โดยเริ่มจากการเปิดร้านเล็กๆในจังหวัดฉะเชิงเทรา จนกระทั่งการดำเนินธุรกิจมีอัตราเติบโตแบบก้าวกระโดด 200 % โดยปัจจุบันมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 37 สาขา แบ่งเป็นต่างจังหวัด 22 สาขา กรุงเทพ 15 สาขา สำหรับกลยุทธ์การเจาะตลาดคือ การขยายสาขาตามแหล่งช้อปปิ้งพลาซ่าเล็กๆมากกว่าไปตามห้างสรรพสินค้า เนื่องจากเอ็มเคสุกี้มีสัญญาผูกขาดกับห้างเพียงรายเดียว

อย่างไรก็ตาม ในวงการสุกี้ถือว่าเอ็มเคเป็น เจ้าตลาดและเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ทำให้บริษัทต้องงัดกลยุทธ์สู้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การทำโปรโมทชั่น ลด แลก แจก แถม แต่ทั้งนี้สุกี้ ฮอต พอต ก็พยายามชูจุดเด่น ในเรื่องของคุ้มค่า คุ้มราคา ในการกิน ซึ่งมีราคาถูกกว่าเอ็มเค 10-20% และรับประกันความ รวดเร็วในการบริการส่งอาหารภายใน 5 นาที หาก ไม่สามารถส่งได้ทันจะลดราคา 20% นอกจากนี้ยังสร้างความแตกต่างด้วยการนำ ชาบู เข้า มาเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งให้แก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทวางงบการตลาด 5-10 ล้านบาท เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้แบรนด์ฮอต พอต มากขึ้น

"สุกี้ฮอต พอต เคยเข้าไปเสนอกับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเช่นกัน แต่ได้รับการปฏิเสธ เนื่องจากได้ทำสัญญาไว้แล้วกับทางเอ็มเค เราอยากให้ห้างสรรพสินค้าเปิดเสรีมากขึ้น และปล่อยให้เป็นกลไกของตลาดมากกว่า ซึ่งหากแบรนด์ไหนไม่สามารถสู้กับเอ็มเคได้ในสุดที่ก็จะเป็นผู้ถอยไปเอง การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาทำตลาดลำบาก" นางสกุณา กล่าว

สำหรับภาพรวมของตลาดสุกี้เติบโตเฉลี่ยประมาณ 10% ทุกปี ในขณะที่แนวโน้มการ แข่งขันเอ็มเคเป็นแบรนด์ที่ผูกขาดในตลาดเพียง แบรนด์เดียว ส่วนแบรนด์อื่นๆ เช่น นีโอ สุกี้ มีการลดจำนวนสาขาลง โคคา สุกี้ ไม่มีแนวโน้มว่าจะเปิดสาขาเพิ่มขึ้นในประเทศไทย ซึ่งถือว่า ฮอต พอต เป็นแบรนด์เดียวที่มีแผนจะขยายสาขา เพิ่มในปีนี้อีก 12-15 สาขา แบ่งเป็นต่างจังหวัด 7 สาขา กรุงเทพ 5 สาขา

เหตุผลที่บริษัทเลือกขยายสาขาไปต่างจังหวัดมากกว่า เนื่องจากบริษัทพยายามหา ช่องว่างในการทำตลาด ซึ่งในตลาดกรุงเทพฯนั้นผู้บริโภคมักยึดติดกับแบรนด์เมื่อกินสุกี้จะต้องไปเอ็มเคเท่านั้น ทั้งนี้ตั้งเป้า 3-5 ปี หากการดำเนินธุรกิจโตแบบก้าวกระโดด ขยายครบ 100 สาขา

สำหรับภายหลังจากบริษัทเปลี่ยนชื่อจากโคคา เฟรช มาเป็น ฮอต พอต ทำให้สุกี้เป็น ที่นิยมของตลาดมากขึ้น โดยสามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิม 20% ในขณะที่บริษัทมีส่วนแบ่งตลาด 3-4% เอ็มเคสุกี้ มีส่วนแบ่ง 95% จากมูลค่าตลาดรวม 6,000 ล้านบาท

สำหรับนีโอ สุกี้ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ ร้านสุกี้ รายเล็ก ก็เจอปัญหาเช่นเดียวกัน คือ ไม่สามารถขยายสาขาเข้าไปยังห้างสรรพสินค้าได้ ก็พยายามหาทางออกด้วยการเปิดในย่านชุมชนนอกศูนย์การค้า ด้วยรูปแบบบริการจัดส่งถึงบ้าน เป็นหลัก และการขยายธุรกิจในต่างประเทศแทน ซึ่งนอกจากประเทศญี่ปุ่นที่ได้เปิดให้บริการไปแล้ว ยังมีที่อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ และมีแผน ที่จะขยายสาขาในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.