ชนัตถ์ ปิยะอุย "เราไม่เจียมตัว"


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ชื่อของคุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อโรงแรมดุสิตธานีเปิดตัวในปี 2513 เส้นทางเดิน 30 ปีของเธอเติบโตอย่างรวดเร็ว จากการขยายกิจการอย่างหนัก เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจมาเยือน ภารกิจของเธอคือ ทำทุกอย่างเพื่อประคองตัวให้พ้นวิกฤติอย่างราบรื่น

ย้อนหลังไปปีพ.ศ.2492 ความใฝ่ฝัน ที่อยากมีธุรกิจโรงแรมของคุณหญิง ชนัตถ์ ปิยะอุย ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการกลุ่มโรงแรมดุสิตธานี บังเกิดผลสำเร็จเมื่อ "โรงแรมปริ๊นเซส" เปิดให้บริการ ขนาด 60 ห้อง พร้อมห้อง อาหาร เคาน์เตอร์สายการบิน บนถนนเจริญกรุง บริเวณฝั่งตรงข้ามปากตรอกโอเรียนเต็ล

จุดประกายความฝันของคุณหญิงชนัตถ์เกิดขึ้นหลังจากจบการศึกษา เตรียมธรรมศาสตร์รุ่น 4 หลังสงคราม โลกครั้งที่สองเธอเดินทางไปอเมริกาโดยมีจุดมุ่งหมายจะเข้าศึกษาที่มหา วิทยาลัยโคลัมเบีย แต่ได้รับการปฏิเสธ

แม้เธอไม่ได้รับการศึกษาที่สูงนักแต่เธอก็ชอบที่จะทำงานให้สำเร็จลุล่วงสมบูรณ์ที่สุด เมื่อไม่สามารถเข้าเรียนที่โคลัมเบียได้จึงทดแทนชีวิตช่วงนั้นด้วยการเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วอเมริกา

ด้วยความหลงใหลชีวิตความเป็นอิสระและการพบเห็นสิ่งต่างๆ ทำ ให้เธอรักและคิดอยากจะทำกิจการโรงแรม อีกทั้งเธอตั้งใจจะเปลี่ยนทัศน คติของคนไทยที่ขณะนั้นมองว่าโรงแรมเป็นสถานที่สำหรับหาความสำราญ

เธอเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในอเมริกา 2 ปีเต็ม ก่อนจะกลับเมืองไทยเพื่อสานฝันให้เป็นจริง และการสร้างโรง แรมปริ๊นเซสเป็นการลงทุนที่ฉลาดไม่น้อยเพราะไม่ต้องไปกู้เงินจากสถาบันการ เงิน เพียงหยิบยืมจากพ่อแม่ และที่ดินที่ สร้างโรงแรมก็เป็นของสุนียรัตน์ เตลาน พี่สาวที่ได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐินีและเป็นเจ้าของที่ดิน
หลังจากดำเนินงานโรงแรมปริ๊นเซสได้ประมาณ 4-5 ปี คุณหญิงชนัตถ์สามารถซื้อที่ดินต่อห้องพักไปอีก 46 ห้อง และมีสระว่ายน้ำ เป็นโรงแรมแห่งแรกในกรุงเทพฯ ที่มีสระว่ายน้ำ ได้คณะกัปตันและลูกเรือสายการบินแพนแอม (PAN AMERICAN) มาพักด้วย

"ช่วงนั้นไม่ค่อยมีความรู้งานด้าน โรงแรม จึงได้อาศัยการเรียนรู้จากลูกค้า" คุณหญิงชนัตถ์ระลึกความหลัง

นี่คือสไตล์การบริหารงานของเธอที่ให้ความเป็นกันเองต่อลูกค้า ทำให้โรงแรมปริ๊นเซสเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่คุณหญิงชนัตถ์ยังมีความรู้สึกว่าตนเองยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ มองเห็นความบกพร่องอยู่มาก เพราะเป้าหมายของเธอคือ สร้างโรงแรมที่ได้มาตรฐานโลก

"เป็นความนึกคิดส่วนตัวที่เคยพลาดทำโรงแรมขนาดเล็ก ซึ่งเป็นความที่ไม่เจียมตัว เราอยากทำโรงแรมระดับ 5 ดาวเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ และ luxury" เธอกล่าว

ในที่สุดเมื่อมองเห็นความบก พร่องดังกล่าว คุณหญิงชนัตถ์จึงตัดสินใจเดินทางอีกครั้งเพื่อศึกษาทั้งในอเมริกา ยุโรป โดยพยายามเข้าพักในโรงแรมหรูหรา

ปี 2508 เธอได้รับเชิญไปร่วมงานทางด้านอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นได้พักในโรงแรมระดับ 5 ดาว "โรงแรมโอกุระ" ที่นั่นได้รับการแนะนำให้รู้จักกับชิบาตะ ผู้ออกแบบโรงแรมนี้รวมทั้งภัตตาคารที่สนามบินโตเกียว คุยไปคุยมาชิบาตะรู้ว่าเธออยากสร้างโรงแรมแห่งใหม่ที่ทันสมัยกว่าแต่เงินน้อย

ชิบาตะจึงช่วยคิดค่าออกแบบก่อสร้างรวมทั้งเงินเดือน โดยคิดแค่ครึ่งเปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนทั้งหมด 450 ล้านบาท จำนวน 520 ห้อง

เมื่อได้รับข้อเสนอดีๆ เธอย่อมไม่ปฏิเสธ จึงดำเนินการไปขอเช่าที่ดินหัวถนนสีลม จำนวน 10 ไร่ ซึ่งเป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในราคาเพียง 10 ล้านบาทต่อระยะ 30 ปี

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดด้านเงินทุนที่มีทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท จึงเป็นปัญหาหลักของคุณหญิงชนัตถ์ แต่ด้วยความมุ่งมั่นจึงกัดฟันรวบรวมสมัครพรรคพวกและญาติมิตรมาร่วมทุน ที่สำคัญเธอหาแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องหาธนาคารพาณิชย์ไทยมาค้ำประกัน แต่ไม่มีธนาคารไหนเล่นด้วย

ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีทางด้านธุรกิจของคุณหญิงชนัตถ์ เมื่อไพศาล นันทาภิวัฒน์ แห่งธนาคารแหลมทอง และจำรัส จตุรภัทร แห่งธนาคารกรุงไทย มั่นใจในโครงการนี้ ความฝันของเธอจึงเป็นจริง

ปี 2513 โรงแรมดุสิตธานีเริ่มเปิด ดำเนินการ สร้างความฮือฮาได้พอสม ควรที่สำคัญยังได้สร้างชื่อเสียงให้คุณหญิงชนัตถ์มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเป็นโรงแรมแห่งแรกที่มีผู้ร่วมทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนด้วย โดยมี Wes- tern International กลุ่มโรงแรมที่มี เครือข่ายระดับสูงของอเมริกาถือหุ้นและ ยังได้บริหารเต็มรูปของ Chain Hotel ถัดมาอีก 1 ปี เพิ่มทุนเป็น 80 ล้านบาท

เพียงแค่ 2 ปี ด้วยความแตก ต่างด้านวัฒนธรรม ทำให้ฝ่ายไทยและ Western International ตกลงเรื่องการบริหารไม่ได้ ฝ่ายหลังจึงล่าถอยออก ไปพร้อมขายหุ้นดุสิตธานีให้กับคุณหญิง ชนัตถ์ นับจากนั้นมาดุสิตธานีจึงอยู่ภาย ใต้การบริหารของคนไทย โดยศูนย์ กลางอำนาจอยู่ที่คุณหญิงชนัตถ์คนเดียว

การบริหารงานโรงแรมดุสิตธานีของคุณหญิงชนัตถ์ได้ชื่อว่าเฉียบขาดมาก อย่างคราวที่พนักงานโรงแรมดุสิตธานีประท้วงและดูจะทวีความรุนแรงขึ้น เธอตัดสินใจปิดโรงแรม 3 เดือน โดยไม่ยี่หระว่าภาพพจน์ของโรงแรมจะเสียหาย ต่อมาได้รับการพิสูจน์ว่าการปิดกิจการ 3 เดือนไม่กระทบตลาดลูกค้าเลย หรือปี 2526 ธุรกิจโรงแรมในไทยย่ำแย่อย่างหนัก แต่เธอกล้าพอที่จะลดราคาห้องพักให้เหลือเพียงครึ่งเดียว การแก้ปัญหาง่ายๆ เช่นนี้ทำให้โรงแรมดุสิตธานียังคงมีกำไรปันผลให้กับผู้ถือหุ้นไม่ยากเย็น

หลังจากฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานา ละสามารถควบคุมโรงแรมไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ก็ได้ขยายและซื้อกิจการเป็นเจ้าของโรงแรม รีสอร์ตนับกันไม่หวาดไหว โดยเม็ดเงินจะมาจากการเพิ่มทุนจดทะเบียน และกู้จากสถาบันการเงินต่างประเทศซึ่งเป็นไปในรูปแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (clean loan)

การขยายกิจการไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศนั้นคือแนวคิดของคุณหญิงชนัตถ์ ที่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือโรงแรมขนาดเล็กให้มีเครือข่าย "เพราะว่าในอนาคตโรงแรมที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวจะอยู่ลำบาก"

นอกจากนี้ยุทธศาสตร์การบริหาร งานของคุณหญิงชนัตถ์ คือ การแบ่งแยกชัดเจนระหว่างการบริหารโรงแรมระดับ 5 ดาว กับระดับต่ำลงมา โดยระดับ 5 ดาว เธอจะให้ดุสิตธานีเป็นหัวหอก ขณะที่ระดับ 3-4 ดาว เธอจัดตั้งบริษัท ปริ๊นเซส จำกัด ขึ้นมาดูแล อย่างไรก็ดี ดุสิตธานีก็ยังเป็นพี่ใหญ่คอยช่วยเหลือในบางเรื่องอยู่ดี

จากการทำงานและขยายกิจการอย่างหนัก ส่งผลให้ปี 2534 นิตยสาร "ฟอร์บส์" และ "ฟอร์จูน" ยกย่องบท บาทของคุณหญิงชนัตถ์ว่าเป็นนักธุรกิจหญิงที่มีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคนำพาธุรกิจของตนเองประสบความสำเร็จได้ ซึ่งเธอได้รับสมญานามว่า "ผีเสื้อเหล็ก (Iron Butterfly)"

นอกจากนี้นิตยสารการเงิน Asia Money ได้จัดอันดับโรงแรมในเครือของดุสิตธานีให้อยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีการบริหารงานดีเด่น 100 แห่งในเอเชีย โดยกล่าวถึงดุสิตธานีว่า "เป็นการบริหารงานจากเบื้องบนโดยสตรีที่มีความ เข้มแข็งที่ชื่อชนัตถ์ นักธุรกิจหญิงผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของกรุงเทพฯ"

หนีทางตัน

หลังจากคุณหญิงชนัตถ์ขยายอาณาจักรและครอบคลุมทุกทิศในประเทศไทย จึงกล่าวได้ว่ากลุ่มดุสิตธานี "เจอทางตัน" แล้ว ประกอบกับตลาดใน ประเทศเริ่มจำกัดและส่วนแบ่งตลาดเริ่ม ลดลง แล้วจะไปไหน? คือคำถามของเธอ

คำตอบง่ายๆ นั่นคือ การไปเทกโอเวอร์โรงแรมในต่างประเทศหลายแห่ง อาทิ The Melrose ที่เมืองดัลลัส อเมริกา, เครือข่ายโรงแรม Kempinski ที่เมืองบัวโนสเอเรส, ดัลลัส, มอนทรีออล, ซานฟรานซิสโก, ซานดิเอโก และยังมี Kempinski แมนชั่นในกรุงเทพฯ, ปักกิ่ง, อินเดีย, ฮ่องกง, จาร์กาตา, เบอร์ลิน บรัสเซลส์, บูดาเปส, แฟรงก์เฟิร์ต, แฮมบรูก, อิสตันบูล, มอสโก และเยอรมนี

"ก็ดีกว่าไปสร้างเอง ประหยัดเวลาไปตั้ง 2-3 ปี โรงแรมที่เราไปเทกโอเวอร์ล้วนแต่มีปัญหาทั้งนั้น เราก็ได้โอกาสสร้างขึ้นมาใหม่ ธุรกิจของกลุ่มดุสิตธานีไม่ดีเท่าที่ควร ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกจึงมี ผลกระทบต่อเรา คู่แข่งก็มากราย ค่าครองชีพก็สูง แต่รายได้ลดลง" เธอให้เหตุผลถึงการออกไปลงทุนยังต่างประเทศ

การลงทุนอย่างหนักในต่างประเทศแน่นอนเม็ดเงินย่อมมากไปด้วย โดยเฉพาะในโรงแรม Kempinski เธอยอมควักกระเป๋าสูงถึง 3,200 ล้านบาท

แนวคิดการขยายกิจการของดุสิตธานี เป็นไปในทางเดียวกับอัตราการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของโลก ดังนั้นความหวังด้านผลประกอบการย่อมมีสูงในสายตาคุณหญิงชนัตถ์ และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ในช่วงปี 2533-2536 สามารถสร้างกำไรได้ 269.08 ล้าน บาท, 250.53 ล้านบาท, 228 ล้านบาท และ 214.07 ล้านบาท

เริ่มวิกฤติ

ปี 2537 ภาพของโรงแรมดุสิต ดูสวยหรู แต่ในสภาพที่เศรษฐกิจกำลังเริ่มตกต่ำผลการดำเนินงานแม้ว่าจะไม่ขาดทุนแต่ใช่ว่าจะออกมาดีนัก โดยปีนั้นมีกำไรสุทธิ 87.93 ล้านบาท ปีต่อมาก็ยังคงมีกำไรในระดับเฉลี่ยใกล้เคียงกัน แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงนั่นคือหนี้สินรวมกลับเพิ่มขึ้นจาก 1,889.40 ล้านบาท ในปี 2537 มาเป็น 2,421.23 ล้านบาท ในปี 2538

"สภาพตอนนั้นไม่ดีเท่าที่ควร รายได้ตกมาตลอด อัตราเข้าพักต่ำกว่าที่ควรจะเป็น" คุณหญิงชนัตถ์กล่าว

สาเหตุเนื่องมาจากธุรกิจโรงแรม เมื่อมองกันอย่างผิวเผินจะเห็นได้ว่ามีความสั่นสะเทือนง่าย ผิวบางเหลือเกิน มีปัญหาทางด้านการเมืองหรือปัญหาด้านเศรษฐกิจทั่วโลก ธุรกิจดังกล่าวก็พลอยตกต่ำไปด้วย

"ตัวเองก็อย่างนี้ไม่เจียมตัว ชะล่าใจ ที่สำคัญเราเป็นนักฉวยโอกาส เพราะได้เงินกู้มาแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงขยายธุรกิจไปอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ"

เข้าสู่ปี 2539 ซึ่งเป็นช่วงแห่งวิกฤติเศรษฐกิจ กลุ่มโรงแรมดุสิตธานีได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยสิ้นปีมีกำไรสุทธิเพียง 35.60 ล้านบาท นอก จากนี้ยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการลงทุนในต่างประเทศ ส่งผลให้การดำเนินงานยังไม่เป็นที่น่าพอใจ อีกทั้งยังไปเปิดโรงแรมดุสิตแมงกาดัว ในกรุงจาร์กาตา ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งที่ 2 ใน อินโดนีเซีย

แนวทางการดำเนินธุรกิจตามไอเดียของคุณหญิงชนัตถ์นั้นถือว่าไม่ผิด โดยเฉพาะการเทกโอเวอร์โรงแรม Kempinski เป็นการลงทุนที่คุ้มในเชิงเศรษฐศาสตร์และธุรกิจอย่างยิ่ง เพราะไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ และยังเป็น การลงทุนครั้งเดียว แต่สามารถครอบ คลุมเครือข่ายได้กว้างด้วย

การลงทุนอย่างบ้าระห่ำของดุสิตธานีต้องเผชิญกับการถดถอยของรายได้และขาดสภาพคล่องเมื่อสถาน การณ์เศรษฐกิจไม่เป็นใจ

รัดเข็มขัด

ปี 2540 ทันทีที่เข้าสู่วิกฤติเศรษฐ กิจกลุ่มดุสิตธานีขาดทุนทั้งอัตราแลกเปลี่ยน และผลการดำเนินงาน ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิทันที 1,185 ล้านบาท

โดยเฉพาะปริมาณลูกค้าซึ่งตลาด เป้าหมายของดุสิตธานีจะเป็นกลุ่มนักธุรกิจเกือบครึ่งของลูกค้าทั้งหมด จึงหลีก เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเผชิญวิกฤติ เนื่องจากความซบเซาด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งมีโรง แรมที่เป็น business hotel จำนวนมาก ดังนั้นเค้กก้อนเดียวที่เล็กอยู่แล้วจึงถูกแบ่งไปอีก

"นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟฟ้าทำให้ลูกค้าลดใช้บริการลง การเช่าพื้นที่ทำ office ว่างเกือบ 100% รายได้จึงลดลง" คุณหญิงชนัตถ์กล่าว

ด้วยเหตุนี้ภารกิจหลักของคุณหญิงชนัตถ์จึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ดุสิตธานีกลับมาบูมอีกครั้ง เพราะครั้งหนึ่งดุสิตธานีได้รับการยอมรับว่าเป็นโรงแรมชั้นนำแห่งหนึ่งในระดับโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอจะต้องรักษาดีกรีโรงแรมระดับ 5 ดาวให้คงอยู่ต่อไป

ที่สำคัญเครดิตที่เธอสร้างขึ้นมานั้นจะต้องไม่ถูกลบทิ้งไป ซึ่งสร้างความปวดหัวให้เธอมาแล้ว เมื่อถูกเจ้าหนี้เรียกเงินกู้คืนในช่วงที่มีปัญหาการเวน คืนที่ดินจากโครงการรถไฟฟ้า

เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นและความอ่อนไหวของปัญหาในอนาคต ทำให้คุณหญิงชนัตถ์ตระหนักถึงภารกิจจำเป็น นั่นคือการลดหุ่นของกิจการให้เพรียว ลง บริหารธุรกิจอย่างฉลาดและมีประสิทธิภาพ

นี่คือที่มาของการดึง Goldman Sachs เข้ามาถือหุ้นจำนวน 29.41% ในปลายปี 2540 และขายเงินลงทุนในบริษัท ดุสิตสินธรทิ้ง ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการโรงแรม Kempinski การขายครั้งนี้ได้รับเงินทั้งสิ้น 1,110 ล้านบาท ในปี 2541 นอกจากนี้ขายโรงแรม The Melrose

"จากการขายหุ้นและผลการดำเนินงานทำให้สามารถลดเงินกู้ยืมให้เหลือเพียง 734.60 ล้านบาท" คุณหญิงชนัตถ์กล่าว อีกทั้งยังใช้กลยุทธ์ด้านราคาเข้ามาเพื่อกระตุ้นลูกค้าด้วย

การดำเนินการให้ทันสถานการณ์ ส่งผลให้ผลประกอบการปี 2541 ดีขึ้นจากที่ขาดทุนสุทธิกลับมีกำไรสุทธิ 564.34 ล้านบาท แต่กำไรดังกล่าวไม่ใช่กำไรที่แท้จริง เป็นเพียงกำไรทางบัญชีที่เกิดจากการรับรู้ผลขาดทุนในบริษัทดุสิตสินธร ตั้งแต่เริ่มลงทุนจนถึงวันที่ขายเงินลงทุน ทำให้มูลค่าเงินลงทุนตามบัญชีลดลง

เมื่อมีการขายเงินลงทุนจึงเกิดผลกำไรตามบัญชีดังกล่าว แต่กำไรที่แท้จริงมีเพียงจำนวน 6.3 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 80.40 ล้านบาท จากการขายโรงแรม Melrose จำนวน 87.64 ล้านบาท

สำหรับปี 2542 แม้ว่าผลประกอบ การของดุสิตธานีจะดีขึ้นเป็นลำดับโดยมีตัวเลขไม่ติดลบแล้วเนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งได้เปรียบทางอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ มีผลชักจูงให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น ที่สำคัญมาตรการการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายทำให้บริษัทมีผลกำไร

อย่างไรก็ตาม บริษัทย่อยบาง แห่ง ยังมีภาระหนี้ประกอบกับโรงแรมบางแห่งเพิ่งเปิดดำเนินการได้ 2 ปี ทำ ให้ผลประกอบการยังขาดทุน ยังเป็นปัญหาต่อการบริหารงานของคุณหญิงชนัตถ์อยู่ต่อไป

แม้ปัจจุบันเธอจะอายุ 76 ปีแล้ว ถ้าเป็นคนทั่วๆ ไปชีวิตการทำงานได้หยุดลงและเริ่มต้นพักผ่อน แต่สำหรับคุณหญิงชนัตถ์ยังต้องก้มหน้าก้มตาทำงานเพื่อให้อาณาจักรธุรกิจของเธอที่ใช้เวลาถึง 3 ทศวรรษ ให้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้ด้วยกำลังวังชาและความกระตือรือร้น

วันนี้ เธอยังไม่รีไทร์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.