|
มรดกทักษิณ "SATTEL-ITV" ปัญหาชาติเทมาเส็กยอมเจ๊ง-รัฐบาลจุกเร่งแก้เกม
ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
SATTEL-ITV กลายเป็นปัญหาของชาติ รัฐบาลต้องเข้ามาแบก แก้ปัญหาหลังทักษิณขายทิ้ง กรณีไอทีวีชัดเจนรัฐยึดแน่ หลังเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์เมิน แต่ปัญหาคือจะสานต่ออย่างไร ส่วนดาวเทียมไทยคมคาดหมายเน้นแนวทางกฎหมายทวงคืน คนวงการหุ้นห่วงได้คืนมาแต่บริหารไม่เป็นจะเสียหาย เตือนต้องรอบคอบหากเปิดทางรายใหม่เข้าเสียบแทน
ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ 2550 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับความต้องการในการทวงสมบัติชาติคืนจากสิงคโปร์ โดยเฉพาะดาวเทียมไทยคม ที่สิทธิในการบริหารดาวเทียมดังกล่าวติดไปกับบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL บริษัทลูกของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN ที่ตระกูลชินวัตรขายให้กับกลุ่มเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จากสิงคโปร์
แนวทางที่ทางการของไทยต้องการดาวเทียมไทยคมกลับคืนมาเป็นของไทยนั้น ถูกส่งสัญญาณมาว่าต้องการใช้วิธีการซื้อคืนจากเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ แต่ถูกท้วงติงถึงความคุ้มค่าในการเข้าซื้อดังกล่าวจากหลายฝ่าย ทำให้แนวคิดดังกล่าวเงียบหายไป
พร้อมๆ กับข้อเสนอในการใช้ช่องทางทางกฎหมาย ที่มีบริษัทกุหลาบแก้ว จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ ที่เป็นแกนหลักในการซื้อ SHIN ว่าเข้าข่ายนอมินีหรือไม่ หากเข้าข่ายก็จะทำให้เงื่อนไขการถือหุ้นใน SHIN ขัดต่อกฎหมายไทย รัฐมีสิทธิจัดการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทานได้ ซึ่งธุรกิจกลุ่มในกลุ่มชินคอร์ป มีทั้ง SATTEL และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุด
ในช่วงปลายเดือนประเด็นใหญ่ถูกจับจ้องมาที่บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV ที่มีปัญหาในเรื่องการกระทำผิดสัญญาสัมปทานที่ต้องชำระพร้อมค่าปรับเกือบแสนล้านบาท โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2550 เห็นชอบให้ดำเนินการบอกเลิกสัญญาหากไอทีวีไม่สามารถชำระหนี้ได้ภายในวันที่ 6 มีนาคมนี้
ก่อนหน้านี้ 1 วัน บุญคลี ปลั่งศิริ ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการคณะกรรมการของ ITV
รัฐแบก ITV
"งานนี้ชัดเจนแล้วว่ารัฐคงยึดสัมปทานคืนแน่นอน เพราะเงินเกือบแสนล้านบาท คงเป็นเรื่องยากที่ผู้บริหาร ITV จะหามาชำระให้ทันภายในเวลาที่กำหนด" แหล่งข่าวจากวงการหลักทรัพย์กล่าว
แต่ปัญหาที่จะตามมาคือเมื่อยึดคืนมาเป็นของรัฐบาลแล้ว จะบริหารจัดการใน ITV อย่างไร เพราะ ITV เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หากให้บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT เข้ามาดูแลก็ต้องดูว่าจะดูแลในลักษณะใด เพราะทั้ง ITV และ MCOT เป็นธุรกิจเดียวกัน หากจะขายออกไปให้เอกชนภายหลังก็คงไม่ง่าย เนื่องจากต้องเป็นรายการข่าวและสารไม่ต่ำกว่า 70% ของเวลาที่ออกอากาศทั้งหมด และจ่ายค่าสัมปทานปีละ 1 พันล้านบาท ยากต่อการดำเนินการในทางธุรกิจ
ที่ผ่านมาเมื่อศาลปกครองชั้นต้นตัดสินให้ ITV แพ้ แต่ทาง ITV ได้ขออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อแพ้รอบ 2 ตรงนั้นทาง ITV ไม่แสดงเจตนาที่จะชำระหนี้สินให้ถูกต้อง แต่กลับยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า ITV มิได้เป็นลูกหนี้ค่าปรับและดอกเบี้ยประมาณหนึ่งแสนล้านบาท แต่ศาลไม่รับเรื่อง
เชื่อว่าหาก ITV ตั้งใจจะทำทุกอย่างให้ถูกต้องก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะเรื่องค่าสัมปทานประมาณ 2.2 พันล้านบาท เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ใน SHIN ได้รับเงินปันผลจาก ADVANC ไปแล้ว 6.30 บาทต่อหุ้น รวมทั้งสิ้น 18,608 ล้านบาท และ SHIN ได้จ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น 2.3 บาทต่อหุ้น ซึ่งทั้งซีดาร์และแอสเพนโฮลดิ้งส์จะรับปันผลทั้งสิ้น 7,076.55 ล้านบาท เงินในส่วนนี้สามารถนำมาช่วยเหลือ ITV ได้แต่ไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องค่าปรับหากมีการแสดงความตั้งใจชำระเงินให้ถูกต้องน่าจะเจรจากับสำนักนายกรัฐมนตรีได้
ไม่รู้ว่าทางเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ อยากเห็นสถานการณ์เป็นอย่างนี้หรือไม่ เพราะตัวเขาก็ไม่อยากได้ธุรกิจอื่นนอกจากโทรศัพท์มือถือใน ADVANC เท่านั้น แต่ถึงอย่างไรเมื่อ ITV ต้องถูกทางการยึดก็เท่ากับเทมาเส็กเสียประโยชน์เนื่องจากราคาที่ซื้อ SHIN ครั้งแรกได้รวมเอามูลค่าใน ITV เข้าไปไว้ด้วยแล้ว
จนถึงวันนี้ราคา SHIN อยู่ที่ 27 บาท เทียบกับราคาที่ซื้อ 49.25 บาท เทมาเส็กขาดทุนไปแล้ว 6.85 หมื่นล้านบาทหรือ 45.18% และมีโอกาสที่จะปรับลดลงได้อีก
ได้มา-บริหารอย่างไร
การขายหุ้นของตระกูลชินวัตรเมื่อ 23 มกราคม 2549 แม้จะส่งผลให้ทักษิณ ชินวัตร ต้องพ้นจากอำนาจ แต่รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาก็ต้องเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขายหุ้นในครั้งนั้น กลับกลายเป็นปัญหาของชาติ ซึ่งทั้ง ITV หรือ SATTEL ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับสัมปทานและเกี่ยวข้องกับความมั่นคง
แม้ในอนาคตจะได้ดาวเทียมไทยคมหรือ ITV ออกมาจากอ้อมอกของเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จากสิงคโปร์ แต่สิ่งที่จะตามมานั่นคือเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ได้มาว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ
"ทั้ง ITV และ SATTEL หากรัฐจะบริหารจัดการเองโดยที่ไม่มีความชำนาญคงไม่เกิดประโยชน์สูงสุด หากเปิดทางให้ผู้สนใจเข้ามาประมูลไป จะแน่ใจได้อย่างไรว่าผู้ที่เข้ามาประมูลนั้นจะไม่ทำเหมือนที่ตระกูลชินวัตรทำ ที่สำคัญทั้ง ITV และ SATTEL จะป้องกันกลุ่มอำนาจเดิมเข้ามาประมูลหรือย้อนกลับมาซื้อในราคาถูกได้อย่างไร" แหล่งข่าวกล่าว
รัฐบาลต้องพิจารณาเรื่องเหล่านี้ให้รอบคอบ เนื่องจากทั้ง ITV และ SATTEL เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ใช่มีแค่ตระกูลชินวัตรหรือกลุ่มเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์เท่านั้น แต่ยังมีผู้ถือหุ้นรายอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย
กรณีของ SATTEL จะดำเนินการอย่างไร ไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้จ่ายเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ และจะบริหารเพื่อสร้างรายได้จากดาวเทียมอย่างไร ส่วน ITV จะออกอากาศต่อไปหรือไม่ พนักงานเหล่านั้นจะสังกัดหน่วยงานใด ฐานเงินเดือนระหว่างพนักงาน ITV กับของหน่วยงานที่สังกัดแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน
ที่สำคัญที่ตั้งของ ITV จะยังคงอยู่ที่อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 เลขที่ 1010 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร อีกหรือไม่ เพราะเจ้าของอาคารนี้คือบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC บริษัทส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เท่ากับเป็นการจ่ายค่าเช่าพื้นที่ให้กับภรรยาของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกยึดอำนาจ
นี่คือการบ้านสำหรับผู้เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้รัดกุม รอบคอบและชัดเจน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|