ต้าถุงเจาะบลูโอเชียนมาร์เก็ตสร้างตลาดคอนซูเมอร์ ไต่อันดับท็อปทรี


ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ต้าถุงส่งแอลซีดีทีวี 20 นิ้ว เจาะตลาดบลูโอเชียน พร้อมผลิตเว็บแพดโน้ตบุ๊คแบบไร้ฮาร์ดดิสก์เพื่อความสะดวกในการพกพา พร้อมลุยกิจกรรมปลูกฝังแบรนด์สู่คนรุ่นใหม่ โรดโชว์สร้างยอดขาย วาดฝันอีก 3 ปีไต่แบรนด์อันดับ 3 ขานรับนโยบายบริษัทแม่เปลี่ยนจากมือปืนรับจ้างมาสู่การสร้างแบรนด์ของตัวเองเจาะตลาดคอนซูเมอร์มากขึ้น

ต้าถุงถือเป็นแบรนด์เก่าแก่จากไต้หวันที่ผู้บริโภคไทยในยุค 30 ปีที่แล้วรู้จักพอสมควรเนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้บริโภคไทยมีการเดินทางไปติดต่อธุรกิจที่ประเทศไต้หวันและฮ่องกงแล้วมีการซื้อสินค้ากลับมาเป็นของฝาก จนกระทั่งในปี 2532 ต้าถุงจึงเริ่มเข้าสู่ประเทศไทยในการเป็นศูนย์การผลิตสินค้าประเภทเอวีและคอมพิวเตอร์เพื่อใช้เป็นฐานการส่งออก พร้อมกับรับจ้างผลิตให้แบรนดชั้นนำ หรือเป็นโออีเอ็ม

ผลิตภัณฑ์แบรนด์ต้าถุงเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยเป็นครั้งแรก ในปลายปี 2548 โดยต้าถุง ไต้หวัน มอบหมายให้ต้า-ไท บริษัทคนไทยเป็นตัวแทนทำการตลาด แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน ยังมองไม่เห็นความสำเร็จในการเจาะตลาดเมืองไทย ต้าถุง ไต้หวันจึงเปลี่ยนนโยบายเข้ามาทำการตลาดเอง

ความสำเร็จในการทำการตลาดของต้าถุง ก้าวสู่การเป็นสินค้าอันดับหนึ่งบนเกาะไต้หวัน ทุก ๆ ครัวเรือนบนเกาะแห่งนั้นจะต้องมีผลิตภัณฑ์ต้าถุงอย่างน้อย 1 ชิ้น ประกอบกับการมีเทคโนโลยีชั้นสูงที่สามารถรับจ้างผลิตสินค้าให้แบรนด์เนมระดับโลก ทำให้บริษัทแม่มีนโยบายที่จะขยายธุรกิจจากการเป็นผู้รับจ้างผลิต เข้าสู่การสร้างแบรนด์ของตัวเอง สร้างผลิตภัณฑ์ต้าถุงให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากขึ้น มีเป้าหมายขยายฐานลูกค้าไปสู่ประเทศต่าง ๆ

ต้าถุงประเทศไทย จึงเริ่มขยายตลาด B2C (Business to Consumer) ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2548 ผ่าน 1 ปี สิ้นปี 2549 ต้าถุงมีสัดส่วนลูกค้าโออีเอ็มหรือ B2B (Business to Business) 70% B2C 30% และในปีนี้ ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากตลาดคอนซูเมอร์ เป็นสัดส่วน 50% โดยกลยุทธ์หลักที่ใช้คือ Blue Ocean Strategy ซึ่งคาดว่าจะผลักดันให้บริษัทมียอดขายเติบโต 30-50% เมื่อเทียบกับยอดขายในปีที่ผ่านมาที่สามารถปิดยอดขายในประเทศได้ 300 ล้านบาท ในขณะที่รายได้ของบริษัททั่วโลกในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนที่ปิดยอดขายได้ 360,000 ล้านบาท

ต้าถุงเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคไทยยุคใหม่ยังไม่มีความคุ้นเคยมากนัก เทียบไม่ได้กับแบรนด์ญี่ปุ่นที่สร้างตลาดในเมืองไทยเป็นเวลาหลายสิบปี รวมทั้งแบรนด์เกาหลี ที่แม้จะเข้ามาในช่วงหลัง แต่ก็มีการโหมตลาดอย่างหนักจนเป็นที่ยอมรับมากขึ้น การเข้าสู่ตลาดตามหลัง ทำให้ต้าถุงต้องใช้นโยบายด้านราคาเพื่อดึงดูดกำลังซื้อ โดยต้าถุงตั้งราคาไว้ต่ำกว่าแบรนด์ญี่ปุ่น 20-25% และถูกกว่าแบรนด์เกาหลี 15% พร้อมกับชูความเป็นเจ้าแห่งฮาร์ดแวร์ด้านการผลิตและการเป็นเวิลด์คลาสในฐานะที่ผลิตสินค้าให้กับแบรนด์เนมหลายราย

แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า การดำเนินกลยุทธ์ราคาไม่ใช่การทำการตลาดที่ยั่งยืน ต้าถุงจึงพยายามสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักเจาะลงไปที่กลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีลอยัลตี้ สามารถสร้างลูกเล่นทางการตลาดได้มากมายโดยไม่ต้องมาตัดราคาสู้กับคู่แข่งเฉกเช่นสาวกของโซนี่ที่พร้อมจะจ่ายแพงกว่าเสมอเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นโซนี่ ขณะเดียวกันโซนี่เองก็ไม่ต้องมานั่งบรรยายสรรพคุณของสินค้าให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อถือ แต่สามารถชี้เทรนด์ของตลาดด้วยการสร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ๆที่เกิดจากสินค้าของโซนี่ให้ผู้บริโภคเดินตาม ดังเช่นความสำเร็จของโซนี่วอล์กแมนที่เปลี่ยนสไตล์การแบกวิทยุตัวใหญ่มาเป็นเซาว์เบาต์ตัวเล็กที่พกติดตัวได้สะดวกกว่า

ปัจจุบันแม้ผู้บริโภคมีความฉลาดในการเลือกซื้อมากขึ้น ทำให้หลายคนมองที่ฟีเจอร์การใช้งานของสินค้าและราคาที่คุ้มค่ามากกว่าการมองแบรนด์เป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจจะละเลยเรื่องแบรนด์ได้ ดังนั้น บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์โดยวางแผนระยะยาว 5 ปี เริ่มจากปีที่ผ่านมา มุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายในการสร้างแบรนด์ไปยังเด็กและวัยรุ่นซึ่งจะเติบโตเป็นฐานลูกค้าของบริษัทต่อไปในอนาคต แต่กลุ่มดังกล่าวก็ไม่ใช่ลูกค้าในปัจจุบัน ดังนั้นบริษัทจึงต้องโฟกัสลูกค้าผู้ใหญ่ที่มีกำลังซื้อชัดเจนกว่าโดยมีการจัดกิจกรรมโรดโชว์ไปตามศูนย์การค้าควบคู่ไปด้วย

กลยุทธ์ที่ต้าถุงใช้ในการสร้างแบรนด์ คือการเข้าไปเป็นสปอนเซอร์ให้กับการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็ก หรือการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนรู้ต่างๆเพื่อที่จะปลูกฝังแบรนด์อะแวร์เนสให้กับเด็กเหล่านั้นเพื่อที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขยายตลาดในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคที่เป็นผู้ใหญ่จะมีแบรนด์ในใจของตัวเองอยู่แล้วและยากที่จะเปลี่ยน ส่วนอีกกลุ่มก็ไม่ยึดติดแบรนด์ ไม่มีลอยัลตี้ต่อแบรนด์ ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมการเลือกซื้อเอนเอียงไปตามการทำโปรโมชั่นและการลดราคาในช่วงนั้นๆ ประกอบกับบรรดาแบรนด์เนมต่างก็มีการปรับตัวเพื่อให้ทันต่อการแข่งขันโดยเฉพาะสงครามราคาจากสินค้าจีน เช่น การออกไฟติ้งแบรนด์ หรือไฟติ้งโมเดลต่างๆ ทำให้สินค้ามีช่องว่างของราคาลดลง จนผู้บริโภคยอมจ่ายแพงขึ้นอีกเล็กน้อยเพื่อให้ได้สินค้าที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า

อย่างไรก็ดีการทำราคาและการสร้างแบรนด์จะไม่บรรลุผลถ้าปัจจัยหลักคือตัวสินค้าไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ ดังนั้น ต้าถุงจึงมุ่งเน้นเทคโนโลยีที่มีอนาคตเช่นการโฟกัสตลาดแอลซีดีทีวีแทนพลาสม่าทีวี นอกจากนี้ ต้าถุงเลือกที่จะสร้างตลาดใหม่ หรือการใช้กลยุทธ์บลูโอเชียนเช่นการผลิตแอลซีดีทีวี 20 นิ้วซึ่งยังไม่มีใครทำตลาดดังกล่าว ส่วนใหญ่จะเป็นมอนิเตอร์สำหรับคอมพิวเตอร์ ถ้าจะเป็นแอลซีดีทีวีก็จะเป็นขนาดใหญ่ 32 นิ้วขึ้นไป นอกจากจะเป็นตลาดใหม่แล้วต้าถุงยังเพิ่มฟีเจอร์ใหม่เข้าไปด้วยเช่นสามารถใช้เป็นจอมอนิเตอร์กับคอมพิวเตอร์ได้ นอกจากนี้ต้าถุงยังมีการผลิต เว็บแพด ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คชนิดที่ไม่มีฮาร์ดดิสก์ในตัว ทำให้มีขนาดกะทัดรัดสะดวกต่อการพกพา โดยผู้บริโภคสามารถบันทึกโดยใช้มีเดียเชื่อมต่อผ่านยูเอสบีพอร์ต นอกจากนี้สินค้าที่ไม่ได้มีเทคโนโลยีใหม่ก็จะมีการใส่ดีไซน์ใหม่เช่นการทำลำโพงแยกออกจากจอแอลซีดีทีวี 32 นิ้ว ทำให้สามารถแขวนเฉพาะส่วนที่เป็นจอ ส่วนลำโพงก็หาตำแหน่งวางด้านล่างได้ ทำให้ขอบจอบางลงเพิ่มอรรถรสในรับชมภาพมากขึ้น

ในด้านการเข้าถึงตลาดคอนซูเมอร์จำเป็นที่ต้าถุงจะต้องจะช่องทางเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคให้มากขึ้นซึ่งในปีที่ผ่านมาต้าถุงมีช่องทางจำหน่ายเพียง 12 แห่งเท่านั้น แต่ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าที่จะขยายช่องทางจำหน่ายเพิ่มเป็น 50 แห่งโดยโฟกัสโมเดิร์นเทรดมากขึ้นผ่านดีลเลอร์หลายรายซึ่งเช่าพื้นที่หน้าร้านอยู่ในโมเดิร์นเทรด ตลอดจนการสร้างอิมเมจชอปของตัวเองซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการหาทำเลที่เหมาะสม

ต้าถุงประเทศไทยตั้งเป้าที่จะปั้นแบรนด์ให้ติด 3 อันดับแบรนด์ชั้นนำในเมืองไทย ซึ่งปัจจุบันมีผู้นำคือ ญี่ปุ่น เกาหลี ส่วนต้าถุงอยู่ประมาณ อันดับที่ 6 ทั้งนี้บริษัทแม่ได้ให้การสนับสนุนในเรื่องของการเพิ่มไลน์การผลิตคิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 100 ล้านบาท พร้อมกับการนำออร์เดอร์จากต่างประเทศมาสู่โรงงานในเมืองไทยซึ่งจะทำให้บริษัทมีอีโคโนมีออฟสเกลมากขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่อชิ้นถูกลง

"ต้าถุงพยายามฉีกตัวจากสินค้าราคาถูกของจีนโดยการสร้างจุดต่าง หาเทคโนโลยีใหม่ๆ เจาะตลาดใหม่ๆ โดยบริหารต้นทุนเพื่อนำเสนอสินค้าในราคาที่ถูกลง เป็นการกระตุ้นความต้องการของตลาด" ชาร์ลี หลาน ประธานต้าถุงประเทศไทย กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.