แบงก์ประสานเสียงดอกเบี้ยลงอีก หม่อมอุ๋ยยันไม่ติดลบ


ผู้จัดการรายวัน(6 มีนาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงการปรับลดอัตรา ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ที่ทำให้เกิดความวิตกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะติดลบ โดยยืนยันว่า ธปท.จะดูแลไม่ให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ โดยจะดูแลอัตราดอกเบี้ย เงินฝากประจำ 3 เดือน และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน เพื่อให้มีผลกระทบกับผู้ฝากเงินน้อยที่สุด ส่วนการที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 24 เดือนลง 0.75% เหลือ 2% ไม่มีผลกระทบต่อระบบแต่อย่างใด เป็นเพียงการปรับกลยุทธ์การบริหารสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์

ธปท.ได้รายงานถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปี 2546 ว่าปีนี้มีโอกาส ที่จะลดลงได้อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝาก เนื่องจากยังมีสภาพคล่องเหลือจำนวนมาก โดยล่าสุด ธปท. ได้รายงานตัวเลขอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนถัวเฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ ว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 4 ของปี 2545 นั้น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยอยู่ที่ 1.88 %ต่อปี เทียบกับ 2.25 % ณ สิ้นปี 2544 โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 1.93 % และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศอยู่ที่ 0.99 %

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 1.4 % และยังต้องเสีย ภาษีเงินได้อีก 15 % ของเงินฝาก ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยอยู่ที่ระดับประมาณ 0 % และคาดว่าในปีนี้ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของดอกเบี้ยเงินฝากจะอยู่ในอัตราที่ติดลบ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อปีนี้คาดว่าจะสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงิน กู้นั้น ก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน แต่ยังลดลงในอัตราที่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2545 ของระบบธนาคารพาณิชย์ 6.69% เทียบกับ 7.125 % ณ สิ้นปี 2544 ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ 4.81 %

เจ้าสัวชาตรียันลดดอกเบี้ยฝาก

2 ปีไม่กระทบสภาพคล่อง

นายชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 24 เดือนลง 0.75 %นั้น ไม่มีผลเกี่ยวกับสภาพคล่องของธนาคารมากนัก เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 24 เดือนเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนลูกค้าเงินฝากประเภทอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่าลูกค้าของธนาคารจะไม่โยกเงินหนี้ไปฝากกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ

อย่างไรก็ตาม อาจจะมีเงินฝาก 24 เดือนไหลเข้ามาสู่เงินฝากระยะ 3-6 เดือนบ้าง เพราะจะให้ผลตอบแทนที่รวดเร็วกว่า รวมทั้งสามารถโยกย้ายไปลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ได้คล่องตัวมากกว่าเงินฝากระยะยาว

"การที่ธนาคารปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ แบงก์ชาติไม่ได้ว่าอะไร แต่จะเป็นการช่วย ให้สภาพคล่องให้ดีขึ้นมากกว่ารวมทั้งการลดเงินฝากประจำ 24 เดือนก็ไม่ส่งผลกระทบเพราะลูกค้ามีจำนวน น้อย" นายชาตรีกล่าว

ราคาน้ำมันกับการลงทุนมีผลต่อดอกเบี้ย

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์นั้น จะขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องของราคาน้ำมันและการลงทุน หากราคาน้ำมันยังปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลา 6 เดือน จะส่งผลกับสภาพคล่องส่วนเกินให้ลดลงได้บ้าง รวมทั้งการลงทุนเริ่มจะขยายตัวตามการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจ จะทำให้ธนาคารพาริชย์ปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น สภาพคล่องจะลดลงตามกลไกตลาด

ทหารไทยกำลังพิจารณาลดดอกเบี้ยตามแบงก์ใหญ่

นายอรรคเดช พีชผล กรรมการ และ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยอยู่ แต่ยังไม่สามารถระบุว่าจะปรับลด เงินฝากประเภทใดทั้งเงินกู้ และเงินฝาก แต่หากมองถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาดคาดว่าจะปรับลด ลงได้อีกเนื่องจากสภาพคล่องในระบบมีอยู่มาก โดยปัจจุบันธนาคารมีสภาพคล่องประมาณ 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินชื่อสุทธิจำนวน 2 หมื่นล้านบาท โดยกระจายทุกกลุ่มธุรกิจ สำหรับสินเชื่อรายใหญ่ คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องเพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดี

กสิกรไทยชี้ดอกเบี้ยมีโอกาสปรับลงอีก

ศูนย์วิจัย ธนาคารกสิกรไทย รายงานว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาว 24 เดือนของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่นั้น เป็นการสะท้อนถึงท่าทีที่ระมัดระวังที่จะกระทบกับผู้ฝากเงินประเภทอื่นๆ โดยยอดเงินฝากประเภท 2 ปี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2545 มีจำนวน 713 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13.55% ของเงินฝากทั้งระบบประมาณ 5,262 พันล้านบาท ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยเมือเทียบกับสัดส่วนเงินฝากประเภท 3 เดือนและ 6 เดือน

แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอาจจะปรับตัวลดลงได้อีก ทั้งนี้หากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโต อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มอยู่ในทิศทางขาขึ้น ธนาคารพาณิชย์น่าจะบริหารสภาพคล่องโดยให้โครงสร้างต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย หรือภาระหนี้ของตน มีความโน้มเอียงไปในประเภทระยะยาวมากกว่าระยะสั้น ในทางตรงกันข้าม หากธนาคารพาริชย์มีการปรับโครงสร้างเงินฝากโดยให้โครงสร้างต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายมีความโน้มเอียงไปในประเภทระยะสั้นมากขึ้น ย่อมสะท้อนถึงการคาดการณ์ของธนาคารพาณิชย์ต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ว่าจะเป็นไปในทิศทางขาลง

ธปท.เปิดทางให้แบงก์ต่ออายุบัตรเครดิต

ผู้มีรายได้ต่ำ 15,000 บาท

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ส่งหนังสือเวียนถึงธนาคารพาณิชย์ไทยและสาขาธนาคารต่างประเทศทุกธนาคาร เพื่อทำความเข้าใจเรื่องคุณสมบัติของผู้ถือบัตรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์

โดยกรณีผู้ถือบัตรรายเดิมต่ออายุบัตรเครดิตใหม่ หากผู้ถือบัตรเครดิตหรือผู้บริโภคดังกล่าวมีรายได้รวมไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือนหรือไม่ถึง 180,000 บาทต่อปี แต่มีบัญชีเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ใดๆ และมีประวัติการชำระหนี้ที่ดีต่อเนื่องกัน ธนาคารพาณิชย์อาจใช้เป็นเหตุผลประกอบการพิจารณาให้ผู้ถือบัตรรายเดิมที่จะต่ออายุบัตรเครดิต ใหม่เป็นผู้มีฐานะทางการเงินเพียงพอสำหรับการชำระเงินตามบัตรเครดิตได้

สาเหตุที่ธปท.ได้ผ่อนผันให้นั้น เนื่องจาก ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตหลายแห่งได้หารือมายังธปท. เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ถือบัตรเครดิต เพื่อให้เกิดความชัดเจนและมีความเข้าใจตรงกัน ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าจะกระทบกับธุรกิจได้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีระบบป้องกันความเสี่ยงระดับหนึ่ง

กลับสู่หน้าหลัก


Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.