|
ดิจิตอลมิวสิก ตลาดอนาคตจีเอ็มเอ็มดีเปิดศึกชนอาร์เอสดิจิตอล
ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
2 ค่ายเพลงดังประกาศศึกชิงตลาดดิจิตอลมิวสิก จีเอ็มเอ็มดีเตรียมบุกตลาดเต็มที่ ขอโฟกัสตลาดที่เชี่ยวชาญประสานพันธมิตรรอบด้าน ทำตลาดเชิงรุกดิจิตอลคอนเทนต์แบบเซ็นทริกทั้งออนไลน์และออฟไลน์ หวังกินแชร์กว่า 70% ด้านอาร์เอสรีแบรนด์ดิ้งธุรกิจนิวมีเดียเป็นอาร์เอสดิจิตอลสอดคล้องโพซิชั่นนิ่งของอาร์เอสที่ต้องการเป็นเครือข่ายความบันเทิง พร้อมยึดโมเดลคอนซูเมอร์เซนทริกเช่นกัน เตรียมเพิ่มคอนเทนต์กีฬาเสริม
สุวัฒน์ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม ดิจิตัล โดเมน จำกัด หรือจีเอ็มเอ็มดีกล่าวว่า เทรนด์ของดิจิตอลมิวสิกในประเทศไทยปี 50 นี้จะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการจัดเก็บรายได้จากสินค้าและบริการที่ถูกหมายหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยรายได้มาจาก 2 กลุ่มหลักคือ โมบาย ซึ่งจะยังคงมีส่วนแบ่งประมาณ 90% และที่เหลือเป็นอินเทอร์เน็ต ในส่วนของโมบายสะท้อนได้จากการเติบโตของจำนวนเลขหมายที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 15% หรือประมาณ 40 กว่าล้านเลขหมายจาก 35 ล้าน ขณะที่ในปีที่ผ่านมา สำหรับรายได้จากอินเตอร์เน็ตนั้น ทางบริษัทฯ คาดการณ์ว่าจะมียอดผู้ใช้ประมาณ 10 ล้านคน โตกว่าปี 49 ประมาณ 10%
"เทรนด์ดังกล่าวนี้สอดคล้องกับเทรนด์ของเอเชียจากข้อมูลของไพรซ์วอเตอร์เฮาส์ที่ได้เคยกล่าวไว้ว่า ปี 2005 ตลาดเอเชียที่มีมูลค่า 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะเติบโตไปเป็น 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 โดยมีการเติบโตในอัตราเฉลี่ย 23% ต่อปี โดย 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาจากโมบาย และอีก 1,000 ล้านมาจากอินเตอร์เน็ต โดยมีปัจจัยที่ผลักดันให้ตลาดโตเป็นผลมาจากการมีคอนเทนต์ใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีอุปกรณ์และบริการเกิดใหม่ การขยายตัวของบรอดแบนด์ และกลยุทธ์ราคาที่ดึงดูดลูกค้ามากขึ้น
สุวัฒน์ยังกล่าวต่ออีกว่า ถึงเทรนด์จะดี แต่โอกาสทางการตลาดของการจัดเก็บรายได้ของสินค้าและบริการที่ถูกกฎหมายก็ต้องเป็นรูปธรรมด้วย ไม่ใช่ทำตามกระแส ซึ่งเมื่อได้ศึกษาและทดลองมาหลายโครงการพบว่า ปัจจุบันโอกาสทางการตลาดสูงมากคือ ด้านโมบาย โอกาสทางการตลาดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ใช้บริการของจีเอ็มเอ็มดีสม่ำเสมออยู่แล้วซึ่งมีอยู่ประมาณ 5 ล้านเลขหมาย จากจำนวนผู้สามารถใช้บริการเสริมได้ 12 ล้านเลขหมายของเครื่อง 35 ล้านเลขหมาย กลุ่มนี้สามารถกระตุ้นให้ใช้เพิ่มขึ้นได้ กลุ่มที่สอง กลุ่มที่ยังไม่เคยใช้บริการของจีเอ็มเอ็มดีอีก 7 ล้านเลขหมายซึ่งทางบริษัทต้องสร้างการทดลองใช้ให้เกิดขึ้นกับคนในกลุ่มนี้ และสาม กลุ่มในอนาคตซึ่งจะเป็นกลุ่มที่โตขึ้นเรื่อยๆ นั้นก็คือ ผู้ใช้โทรศัพท์ที่จะอัพเกรดเครื่องมาใช้บริการเสริมได้หรืออีกมากกว่า 23 ล้านเลขหมาย
สุวัฒน์ได้กล่าวถึงกลยุทธ์การตลาดในปีนี้ให้ฟังว่า ปีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของแกรมมี่สู่ยุคธุรกิจดิจิตอลอย่างแท้จริง ด้วยปัจจัยที่สำคัญ 3 ด้าน ปัจจัยแรก เป็นเรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้การจัดเก็บรายได้ของสินค้าและบริการที่ถูกกฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจมิวสิก ดิจิตอลของเอเชียและไทยมีแนวโน้มที่ดีชัดเจนและมีสัญญาณว่าจะก้าวสู่ยุคดิจิตอลเต็มตัว ปัจจัยที่สอง โอกาสทางการตลาดที่จะสร้างรายได้จากสินค้าและบริการที่ถูกกฎหมายมีมากอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นโอกาสที่สอดคล้องกับจุดแข็งของแกรมมี่ และสาม การใช้กลยุทธ์ร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นผู้นำของธุรกิจดิจิตอล โดยจีเอ็มเอ็มดีจะเน้นการเป็นผู้บริหารคอนเทนต์หรือทำในสิ่งที่ตนถนัด
สำหรับกลยุทธ์ของจีเอ็มเอ็มดีในส่วนโมบายนั้น สุวัฒน์บอกว่า กลุ่มที่ใช้บริการจีเอ็มเอ็มดีสม่ำเสมออยู่แล้ว กระตุ้นให้ใช้เพิ่มขึ้นด้วยการสร้างสรรค์คอนเทนต์และบริการเสริมใหม่ๆ ให้หลากหลายมากขึ้น ส่วนกลุ่มผู้ที่เครื่องสามารถใช้บริการเสริมได้ แต่ยังไม่เคยลองบริการของจีเอ็มเอ็มดีสร้างการทดลองด้วยการออกแคมเปญร่วมกับโอเปอเรเตอร์ ใช้กลยุทธ์ราคาหลายระดับเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นตามกำลังซื้อของตัวเอง สร้างบริการให้ใช้ง่าย
ส่วนทางด้านอินเตอร์เน็ต เนื่องจากราคาคอมพิวเตอร์และชั่วโมงอินเตอร์เน็ตที่ถูกลง และการที่คนรุ่นใหม่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นมากขึ้น จะช่วยกระตุ้นให้ตลาดดิจิตอลมิวสิกเติบโตขึ้น ประกอบกับคนไทยนิยมเว็บบันเทิงมากที่สุด ซึ่งเว็บเพลงที่ได้รับความนิยมสูงสุด ก็คือเว็บ GMEMBER ของแกรมมี่ ดังนั้นการที่แกรมมี่มีคอนเทนต์และทาเลนต์ของเพลงมากที่สุดในตลาด ปัจจุบันก็มีส่วนแบ่งในตลาดดิจิตอล มิวสิกสูงที่สุดด้วย กลยุทธ์ในส่วนของอินเตอร์เน็ตมีทั้งการทำการตลาดกับเจ้าตลาดด้านพีซี เช่น เอชพีทำการบันเดิลโปรแกรมไอคีย์เวอร์ชั่นที่สามารถดาวน์โหลดและร้องคาราโอเกะให้บริการซิงกิ้ง ออนไลน์เป็นรายแรก ซึ่งใช้ง่ายและสะดวก
สุวัฒน์อธิบายต่อว่า กลยุทธ์หลักเพื่อให้เกิดพฤติกรรมบริโภคดิจิตอลมิวสิกมี 2 ด้าน คือ ให้บริการหรือสร้างโปรดักส์ที่เน้นคอนซูเมอร์ เซนทริก และร่วมมือกับพันธมิตรหรือสเตรทเตจิก พาร์ทเนอร์เพื่อช่วยกันสร้างไลฟ์สไตล์นี้ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
"ปีนี้จีเอ็มเอ็มดีจะเสนอสินค้าและบริการที่ตอบสนองทั้งลูกค้าและคู่ค้าอย่างตรงจุดดังที่กล่าวมาแล้ว ด้วยกลยุทธ์คุณภาพซึ่งเป็นจุดยืนของทุกธุรกิจแกรมมี่ การขายเป็นเแพกเกจรวม ราคาหลายทางเลือกและนวัตกรรมของบริการใหม่ ใช้ความเป็นสื่อดิจิตอลเต็มความสามารถ ซึ่งก็สอดคล้องกับทิศทางของธุรกิจนี้ในระดับสากล โดยเราจะทยอยเปิดตัวบริการใหม่ในปีนี้อย่างต่อเนื่อง"
อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญก็คือการเน้นบทบาทผู้บริหารคอนเทนต์ ไม่ลงทุนในฮาร์ดแวร์ที่ไม่ถนัดอันเป็นการลดความเสี่ยงของธุรกิจ และสรรหาพันธมิตรซึ่งเป็นผู้นำใน 5 กลุ่มสำคัญของธุรกิจดิจิตอลเพื่อร่วมกันกระตุ้นตลาดหรือสร้างพฤติกรรมให้เกิดโดยการเพิ่มช่องทางเข้าถึงผู้บริโภค พันธมิตรทั้ง 5 กลุ่มมีดังต่อไปนี้
กลุ่มโอเปอเรเตอร์ ประกอบไปด้วยเอไอเอส ดีแทค ทรูเพื่อเพิ่มการใช้บริการเสริมของโมบาย เน้นการทำแคมเปญด้วยกลยุทธหลายทางเลือก และบริการให้ลูกค้าได้โหลดฟรีเพื่อให้เกิดการทดลองใช้กลุ่มเว็บไซต์ท็อปไฟว์เว็บบันเทิงได้แก่ sanook.com, pantip.com, krapook.com, thai2hand.com จะเพิ่มเติมอีกในอนาคต เพิ่มช่องทางการขายคอนเทนต์ โดยการทำตลาดร่วมกัน ทั้งโปรโมรชั่นพิเศษหรือนำคอนเทนต์ของแกรมมี่ไปดิสเพลย์อยู่ในเว็บต่างๆเหล่านี้ เป็นเสมือนการวางเอาต์เล็ตในที่ซึ่งทราฟิกดี แล้วจัดแบ่งรายได้ร่วมกัน
กลุ่มดีไวซ์หรือเครื่องมือ ได้แก่ เอชพี โนเกีย สามารถ ไอโมบาย ไอพ็อด ซึ่งล้วนมียอดจำหน่ายสูงและลูกค้ามักหมุนเวียนเข้าช็อปหรือศูนย์เป็นประจำเพื่อติดตามสินค้าใหม่ๆ หรืออุปกรณ์เสริม จีเอ็มเอ็มดีจะนำคอนเทนต์ไปบันดลิ้งเข้ากับกลุ่มนี้เพื่อขยายช่องทางการขาย
กลุ่มแอปพลิเคชั่นหรือเพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีหรือเจ้าของตัวแทนแพลตฟอร์มตัวแทนหลักในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท เตียวฮง ไพศาล เพื่อสร้างบริการใหม่ๆ ดังเช่น คาราโอเกะ ออนไลน์และมิวสิกเกมซึ่งใกล้จะเปิดตัวในเร็ววันนี้
กลุ่มดิสทริบิวเตอร์ อย่าง สามารถ โมบาย ช็อปของกลุ่มสามารถ ซึ่งเป็นเครือข่ายจำหน่ายอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ จะทำให้การบริการดาวน์โหลดเพลงลงบนอุปกรณ์ต่างๆ
"จากกลยุทธ์ทั้งหมดนี้จีเอ็มเอ็มดีเชื่อว่าจะสร้างรายได้ปี 50 ประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เราได้ทำสัญญากับคู่ค้าไปแล้วประมาณ 50% ของยอดรายได้"
อาร์เอสดิจิตอล อนาคต "อาร์เอส"
ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยอย่าง "อาร์เอส" ได้ให้ความสำคัญกับการทำตลาดดิจิตอลคอนเทนต์อย่างต่อเนื่อง และถือเป็นผู้นำในตลาดนี้ ทำให้ในปี 2550 อาร์เอสตั้งเป้ากับธุรกิจทางด้านนี้ค่อนข้างมาก และได้มีการรีแบรนด์ดิ้งเช่นเดียวกับบริษัทในเครืออื่นๆ ของอาร์เอส โดยได้เปลี่ยนเป็น "อาร์เอสดิจิตอล"
"แบรนด์ตัวใหม่อาร์เอสดิจิตอลทำให้ภาพของธุรกิจชัดยิ่งขึ้น สอดคล้องกับธุรกิจมากกว่าการใช้ชื่อนิวมีเดีย" เป็นคำกล่าวของ วรพจน์ นิ่มวิจิตร ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานอาร์เอสดิจิตอล บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน)
ในความเป็นอาร์เอสดิจิตอล เนื่องจากอาร์เอสเล็งเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งจากตลาดโลกและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใช้บริการดิจิตอลคอนเทนต์มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญยังเป็นการสอดคล้องกับโพซิชั่นนิ่งของอาร์เอสในปีนี้ที่ต้องการเป็นเครือข่ายความบันเทิง "The Entertainment Network"
การที่อาร์เอสให้ความสำคัญกับกับธุรกิจดิจิตอลคอนเทนต์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นช่องทางหนึ่งที่จะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และจากการเปิดให้บริการดาวน์โหลดไฟล์เพลง MP3 แบบถูกลิขสิทธิ์ ในอัตราค่าบริการเพลงละ 30 บาท หรือถ้าดาวน์โหลดแบบอัลบั้มเริ่มต้นที่ 60-120 บาท ได้รับความนิยมอย่างมากแม้ว่าจะยังไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ และบริการนี้จะถือเป็นไฮไลท์ที่อาร์เอสดิจิตอลจะให้ความสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับอาร์เอส
อาร์เอสดิจิตอลยังได้มีการปรับโฉมเว็บไซต์ "มิกซี่คลับ" ให้เป็นลักษณะชุมชนคนรักเสียงเพลง ที่สามารถซื้อเพลงและยังมีข่าวอัพเดทใหม่ๆ เกี่ยวกับเครื่องเล่นเพลงเอ็มพี3 และเอ็มพี4 รวมถึงในอนาคตจะมีบริการและกิจกรรมให้ผู้ใช้บริการสามารถเชื่อมโยงความสนุกความบันเทิงรูปแบบใหม่ๆ เข้าไว้ด้วยกันในเว็บไซต์แห่งนี้
"โมบี้ คลับ" ถือเป็นอีกช่องหนึ่งในการให้บริการคอนเทนต์บนโทรศัพท์มือถือ อาร์เอสดิจิตอลคาดว่าในปีสถานการณ์ตลาดรวมของผู้ใช้บริการที่มีราว 33 ล้านรายทั่วประเทศ มั่นใจว่าจำนวนผู้ใช้บริการดาวน์โหลดคอนเทนต์มีอัตราเติบโตต่อเนื่อง โดยเชื่อว่ายังมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถืออีกมากที่ยังไม่ได้ใช้บริการ อาทิ แฟลซออนโมบาย แบล็คกราวน์เมโลดี้
นอกจากนี้อาร์เอสดิจิตอลยังได้มีการปรับโฉม "บัตรเติมเพลง" หรืออาร์ทีดี การ์ดให้เป็นมากกว่าบัตรเติมเพลง เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงาน ให้มีความสะดวกและรับสิทธิประโยชน์มากยิ่งขึ้น
วรพจน์ กล่าวว่า ในปีนี้อาร์เอสดิจิตอลมีการปรับทิศทางตลาดโดยถือผู้บริโภคเป็นหลัก การให้บริการที่ผ่านมาอาร์เอสมีคอนเทนต์ทางด้านบันเทิงเป็นหลัก แต่ทิศทางหลังจากนี้ทางอาร์เอสดิจิตอลมีแผนที่จะสร้างความหลากหลายให้กับคอนเทนต์ด้วยการนำคอนเทนต์กีฬา ที่อาร์เอสได้รับลิขสิทธิ์มาให้บริการในรูปแบบดิจิตอลคอนเทนต์เพิ่มด้วย และยังมีคอนเทนต์กลุ่มการศึกษา อาทิ บริการติวเตอร์ออนโมบาย
"เรามองว่าการให้บริการดิจิตอลคอนเทนต์ในปีนี้จะสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมและมีส่วนสำคัญในการเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ให้กับธุรกิจดิจิตอลของอาร์เอส" วรพจน์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|