|
'เทสตี้ ไทย' …ฟาสต์ฟูดหวังสร้างชื่อสู่ตลาดโลก
ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ศักยภาพอาหารไทยโดยเฉพาะด้านรสชาตินั่นได้รับความนิยมไปทั่วไปโลก โดยเฉพาะอัตราการเติบโตของร้านอาหารไทย ที่มีการประเมินกันว่ามีกว่า 20,000 ร้านทั่วโลกนั้น แนวโน้มการเติบโตเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วสูงกว่าอาหารจีนและญี่ปุ่น ซึ่งต้องยอมรับว่าได้ล้ำหน้าอาหารไทยไปแล้วนั้น
เท่ากับขณะนี้เป็นโอกาสทองของนักลงทุนธุรกิจร้านอาหาร ถ้ามองถึงแนวโน้มการเติบโตที่มาอันดับ 1 ของอาหารในประเทศแถบเอเชีย ตัวโปรดักส์หรืออาหารเป็นที่ยอมรับ 2 ส่วนนี้นับเป็นจุดที่นักลงทุนต่างมองเห็นศักยภาพในอนาคต
แต่ที่ผ่านมาและปัจจุบันยังไม่มีร้านอาหารไทยที่แบรนด์จนติดตลาดโลกด้วยจุดตรงนี้เอง ทำให้เกิดการรวมตัวของนักธุรกิจชาวไทยและชาวต่างชาติ นำเสนออาหารไทยภายใต้คอนเซ็ปต์ไทยฟาสต์ฟูด หรือเคาน์เตอร์เซลฟ์เซอร์วิสขึ้นภายใต้แบรนด์ "เทสตี้ ไทย" (Tasty Thai)
จุดเริ่ม 'เทสตี้ ไทย'
โฮกัน สกุกลุนด์ กรรมการผู้จัดการ และ ธรรมาภรณ์ อเล็กเซนเดอร์เซ่น ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เทสตี้ ไทย จำกัด ร่วมเปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า อาหารไทยเป็นอาหารที่มีศักยภาพอย่างมากในธุรกิจอาหาร เพราะถ้ามองถึงเทรนด์อาหารโลกพบว่าขณะนี้และแนวโน้มในอนาคตผู้บริโภคทั่วโลกหันหาอาหารเพื่อสุขภาพ และความสดใหม่ของอาหารในขณะรับประทาน ซึ่งมองแล้วจะพบว่าอาหารไทยสามารถตอบโจทย์ในสิ่งที่คนทั่วโลกต้องการ เพราะอาหารไทยมีส่วนประกอบของผัก สมุนไพร และการประกอบการอาหารที่ต้องปรุงสดพร้อมเสิร์ฟรับประทานทันที
เมื่อความต้องการของผู้บริโภคโน้มอียงไปดังแนวทางดังกล่าว แต่การตอบสนองยังค่อนข้างน้อย พบว่าที่ผ่านมาและปัจจุบันร้านอาหารไทยยังขยายตัวไม่เพียงพอกับแนวโน้มความต้องการของตลาดอาหารไทยที่เพิ่มสูงขึ้น จากการจัดทำข้อมูลของบริษัทพบว่าความต้องการของอาหารไทยขณะนี้มีความต้องการและขยายตัวมาเป็นอันดับหนึ่งแซงหน้าอาหารจีนและอาหารญี่ปุ่นจึงทำให้ทีมผู้บริหารเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจอาหารไทยที่จะเกิดขึ้น
"เทสตี้ไทย เป็นส่วนผสมผสานของตะวันออกคืออาหาร และนำเสนอผ่านรูปแบบของตะวันตกคือคอนเซ็ปต์ฟาสต์ฟูด และระบบการบริหารจัดการ
นอกจากนี้ยังไม่มีแบรนด์ไทยแบรนด์ใดที่เป็นที่รู้จักในระดับโลก หรือเมื่อพูดถึงอาหารไทยจะต้องนึกถึงแบรนด์ดังกล่าว รวมถึงแบรนด์ที่อยู่ในใจของลูกค้า เมื่อเทียบกับแมคโดนัลด์ เคเอฟซี ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับโลกที่คนนึกถึงรู้จักเป็นอย่างดี ซึ่งไม่ต้องคิดแล้วว่าคือแฮมเบเกอร์หรือไก่ทอด ซึ่งเป็นเป้าหมายของเทสตี้ไทย เช่นกันที่จะก้าวไปให้ถึงจุดนั้น และไม่เห็นว่าอาหารไทยจะมีจุดด้อยกว่าอาหารชาติอื่นๆ ตรงไหน เพียงแต่ต้องจัดการในเรื่องระบบการบริหารจัดการให้ดี โดยเฉพาะถ้าต้องขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์"
เปิดคอนเซ็ปต์ฟาสต์ฟูด
โฮกันและธรรมมาภรณ์ กล่าวต่อไปว่า พบว่าในตลาดการนำเสนออาหารไทยจะผ่านรูปแบบร้านให้บริการลักษณะภัตตาคาร ทางเทสตี้ไทยจึงมีคอนเซ็ปต์ร้านเป็นฟาสต์ฟูดอาหารไทยซึ่งนับเป็นความแตกต่างในธุรกิจอาหารและเทรนด์อาหารจานด่วนก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการเช่นกัน
และฟาสต์ฟูดอาหารไทยที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ จากการปรุงสดจำนวนไม่กี่จานเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่เข้าใช้บริการในช่วงนั้นๆ เท่ากับเป็นการปรุงสดเกือบทุกจาน ซึ่งจะไม่ปรุงอาหารต่อจานไว้นานจนเกินไป จะทำให้ผู้บริโภคได้รับคุณค่าจากอาหาร โดยเมนูที่พัฒนาขึ้นนั้นจะมีทั้งหมด 50 เมนูที่เน้นรสชาติไทยๆ โดยแต่ละร้านจะมีให้บริการที่ 18 เมนูและหมุนเวียนเมนูใหม่ๆ เข้ามาในแต่ละช่วง โดยจะทำเป็นเซตเมนูราคาที่ 85-100 บาท/เซต รวมเครื่องดื่มซึ่งขณะนี้ได้เจรจากับบริษัทเครื่องดื่มรายหนึ่งที่พร้อมขยายไปพร้อมกับเทสตี้ไทย
และด้วยการนำเสนออาหารไทยผ่านคอนเซ็ปต์ฟาสต์ฟูดนั้น แต่ยังคงความเป็นไทยเพื่อให้เกิดกลิ่นอายความเป็นไทยผ่านรูปแบบการตกแต่งที่จะมีภาพวิถีชีวิตไทยอาหารการกิน ตลาด และบรรยากาศการใช้ชีวิตคนไทยเข้ามาตกแต่งร้านด้วยสีขาว ดำ รวมถึงการนำสินค้าโอทอปของชุมชนต่างๆ เข้ามาจำหน่ายด้วย
"ฉะนั้นร้านเทสตี้ไทย ไม่ใช่ร้านที่ขายอาหารไทยเท่านั้น แต่เป็นเหมือนแกลลอรี่ภาพถ่ายที่สื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตไทย"
โฮกัน ให้ข้อมูลว่า ด้วยคอนเซ็ปต์ดังกล่าวนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีในสวีเดน ซึ่งเป็นสาขาแรกที่บริหารงานในรูปแบบแฟรนไชส์ เฉลี่ยมีลูกค้า 500-600 ราย/วัน อาหารไทยที่ได้รับความนิยมคือก๋วยเตี๋ยว แกงเขียวหวาน พะแนง ผัดกะเพรา
ซึ่งความสำเร็จของแฟรนไชซี ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน ซึ่งสามารถบรู๊ฟได้ จากการนั่งบริหารในประเทศไทยและมีสาขาแฟรนไชส์ที่ต่างประเทศ เพราะทางบริษัทมีเมนูอาหาร ส่วนประกอบที่เป็นผงปรุง ซอสสำเร็จรูป และการจัดหาวัตถุดิบจากไทยที่ไม่สามารถหาได้ในพื้นที่ และการประสานงานผ่านอินเทอร์เน็ต
"มาสเตอร์แฟรนไชส์มั่นใจในระบบของบริษัท ที่จะสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้ แม้บริษัทจะไม่มีร้านสาขาก็ตาม ส่วนหนึ่งต้องเกิดจากความเชื่อและมั่นใจในธุรกิจอาหารไทยว่าสามารถเติบโตในตลาดโลกได้เป็นแนวคิดสำคัญต่อการเข้ามาทำธุรกิจร่วมกัน"
เผยแผนสู่ตลาดโลก
โฮกัน ให้เหตุผลถึงการขยายธุรกิจด้วยกลยุทธ์แฟรนไชส์ว่า เป็นโมเดลธุรกิจที่โดดเด่น เพราะทำให้การบริหารเกิดความคล่องแคล่ว มีประสิทธิภาพและการขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่ทั้งนี้พื้นฐานของการวางระบบการบริหารจัดการเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งบริษัทเห็นจุดดีของการขยายธุรกิจด้วยแนวทางแฟรนไชส์ ซึ่งจะเป็นช่องทางที่จะทำให้แบรนด์แจ้งเกิดในตลาดโลกด้วยคอนเซ็ปต์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
สำหรับแผนการตลาดของเทสตี้ไทยนั้น ในปี 2550 นี้จะรุกและเปิดตัวในตลาดโลกอย่างเต็มที่ล่าสุดจะเข้าร่วมงานสัมมนาใหญ่ในวงการธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะมีขึ้นที่ลาสเวกัสระหว่างเดือนกุมภาพันธ์นี้ รวมถึงการออกบูธในงานต่างๆ
ซึ่งเทสตี้ไทยได้ขายมาสเตอร์แฟรนไชส์ที่สวีเดนและเปิดให้บริการที่สต๊อกโฮมเมื่อปี 2549 และมีมาสเตอร์แฟรนไชส์ที่เดนมาร์ค ฟินแลนด์ ฮาวาย ไอซ์แลนด์และนอร์เวย์ที่เตรียมจะเปิดบริการเช่นกัน และที่อยู่ระหว่างการเจรจากับมาสเตอร์แฟรนไชส์ที่ฮ่องกง ฮอลแลนด์และแคลิฟอร์เนีย
ส่วนการทำตลาดในเอเชียนั้น อยู่ระหว่างการเจรจากับนักลงทุนรายหนึ่งเพื่อเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ในไทยและอินโดจีน ลาว พม่า กัมพูชาและเวียดนาม ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าร้านเทสตี้ไทยในอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะมีสาขาไม่ต่ำกว่า 500 ร้าน
สำหรับราคาสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ที่ 7 ล้านบาท จะต้องมีร้านสาขาไม่ต่ำกว่า 1 ร้าน การลงทุนของแฟรนไชส์ประมาณ 7 แสนบาท ค่ารอยัลตี้ฟี 7.5%
"การลงทุนเบื้องต้น ถ้าเห็นตัวเลขจะพบว่าไม่สูงมากนัก เพราะแนวทางของการทำธุรกิจของบริษัทจะไม่เน้นการเริ่มต้นที่สูงจนเกินไป เพื่อให้มีวงเงินสำหรับการหมุนเวียนธุรกิจในช่วงดำเนินธุรกิจในช่วง 2-3 ปีแรก เพราะรายได้ของบริษัทไม่ได้มาจากการขายธุรกิจแต่มาจากผลประกอบการในการทำธุรกิจคือค่ารอยัลตี้ฟีนั่นคือเมื่อธุรกิจสามารถดำเนินการได้แล้ว"
เปิดทีมบริหาร 'Tasty Thai'
ผู้บริหารคุณกนเนอร์และคุณปราณี สโครเบ็ก สามีภรรยาชาวสวีเดนได้ทำธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารมานานกว่า 10 ปีเป็นผู้ก่อตั้งเทสตี้ไทย ซึ่งแนวคิดดังกล่าวมาจากลูกสาวได้ซื้อแฟรนไชส์ซับเวย์เข้ามาบริหารในอเมริกาและขยายเป็น 2 สาขา
คุณปราณีซึ่งเป็นชาวไทย จึงได้มีนึกถึงอาหารไทยที่สามารถขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ได้ด้วยเช่นกัน เพราะเทรนด์อาหารไทยเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกและมีจุดเด่นในเรื่องของสุขภาพ จึงได้เวลากว่า 5 ปี ในการสร้างระบบแฟรนไชส์ขึ้นและเมนูอาหารกว่า 50 รายการที่เน้นรสชาติของไทยแท้ไม่ใช่ลักษณะของฟิวชั่นฟูด
รวมถึงการนำเสนอในคอนเซ็ปต์เคาน์เตอร์เซสเซอร์วิส ที่ยังไม่มีคอนเซ็ปต์ดังกล่าวให้บริการของอาหารไทย
ทั้งนี้จากทีมงาน ที่ดึงศักยภาพของแต่ละคนออกมาใช้ ซึ่งหนึ่งในหุ้นส่วนจะมีแฟรนไชซีของบาราเทอร์การ์ด ธุรกิจแลกเปลี่ยนสินค้าแทนเงินสด อีกท่านหนึ่งเชี่ยวชาญทางด้านไอทีการวางระบบ รวมถึงคุณโฮกัน นักธุรกิจบริษัทวิเคราะห์การลงทุนในไทยให้กับชาวต่างชาติ จากนั้นสาขาแรกจึงเกิดขึ้นที่สวีเดนโดยแฟรนไชซีเฉลี่ยลูกค้า 500-600 คนต่อวัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|