|
ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของ“อีลิทการ์ด”
ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 กุมภาพันธ์ 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ปมปัญหาบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด (ทีพีซี) หรือ อีลิท การ์ด ยังคงไม่สามารถคลี่คลายไปได้ถึง 100% แม้ว่าผลการศึกษาของ คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา(ค.ต.ป.) ที่ทำให้ ร.ท.สุวิทย์ ยอดมณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตัดสินใจว่าคงจะต้องเดินหน้าสานต่อโครงการ
จากผลการตรวจสอบโครงการฯ ส่งผลให้ต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบการทำงานของโครงการบัตรไทยแลนด์อีลิท ซึ่งมี วิไลพร ลิ่วเกษมศานต์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เป็นประธาน ซึ่งผลการตรวจสอบเบื้องต้นกลับพบสิ่งไม่ชอบมาพากล ที่ส่อไปในทางผลประโยชน์ทับซ้อน
ผนวกกับภาพลักษณ์ของบัตรอีลิทก็ไม่สู้จะดีนัก เนื่องจากเป็นผลงานของรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นรัฐบาลชุดปัจจุบันขึ้นมาบริหารประเทศ และเพื่อความโปร่งใสพร้อมที่จะตรวจสอบโครงการที่ส่อไปในทางทุจริต หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนในทุกโครงการ เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนชาวไทย
“โครงการบัตรเทวดาอีลิท การ์ด”จึงถูกหยิบนำมาปัดฝุ่นเช็คใหม่อีกครั้ง!...
สำหรับโครงการบัตรเทวดา ที่ทำให้หลายคนที่อยากจะฟันทิ้ง แต่ทำได้แค่เงื้อดาบ ก็คงเป็นเพราะสัญญาที่ทำไว้กับสมาชิกผู้ถือบัตร และการเปิดตัวในต่างประเทศแต่ละครั้ง ที่มีการเชิญแขกวีไอพีในต่างประเทศเข้าร่วมงาน เพื่อประกาศว่าเป็นโครงการที่การันตีโดยรัฐบาลไทย และประเทศไทย ให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความเชื่อมั่นในสัญญาที่ว่าจะให้ในสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น สิทธิประโยชน์ทางด่านตรวจคนเข้าเมือง สิทธิประโยชน์ในการติดต่อราชการ และการรับบริการ กอล์ฟ สปา เช็คสุขภาพ ในขั้นระดับไฮเอนด์
ในที่สุดการตัดสินใจของรัฐบาลชุดนี้ก็ไม่ยกเลิกโครงการนี้แต่จะปรับโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ โดย ยกเลิกการขายผ่านระบบเอเย่นต์ออก รวมทั้งมีการปรับโครงสร้างใหม่ให้สำนักงานททท.ในต่างประเทศทั่วโลก และสถานทูต ทำตัวเป็นเซลล์แมนช่วยกันขาย เพราะถือเป็นบัตรสำหรับประเทศ ไม่เน้นจำนวนไม่เน้นกำไร แต่ต้องอยู่ให้รอด เหตุผลหลักคือต้อง ลดค่าใช้จ่าย และหารายได้เข้ามาเสริมบางส่วนเพราะถ้าไม่เน้นยอดขาย รายได้ย่อมไม่มีเข้ามาแน่
แน่นอน...ต้องบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งผลให้พนักงานที่มีอยู่จำเป็นต้องลดลงเพื่อความเหมาะสมกับจำนวนสมาชิก 1,700 คน สิ่งที่จะตามมาก็คือค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นก็จะต้องถูกตัดออก ไปโดยอัตโนมัติ
ที่มาที่ไปเมื่อ รมต.ท่องเที่ยวเห็นว่าไม่ยกเลิกก็คือ สมาชิกอีลิทการ์ดมีการใช้จ่ายต่อหัวต่อคนสูงถึง 19,000 -20,000 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งถือว่านักท่องเที่ยวทั่วไปที่เฉลี่ยใช้วันละ 3,700 บาทเท่านั้น จึงมองว่าน่าจะปรับวัตถุประสงค์จากการแสวงหารายได้เป็นหลักหันมาเพิ่มศักยภาพนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพดีกว่า
โดยปรับให้สมาชิกเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นสโมสร และเพื่อชักชวนเพื่อนฝูง เข้ามาลงทุนในเมืองไทย นอกเหนือจากท่องเที่ยวปกติ ในขณะเดียวกันที่ผ่านมาสมาชิกส่วนใหญ่จะเข้ามาปักหลักลงทุนกันมาก
สิ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับตรงกันคือเรื่องของแนวคิด “อีลิท การ์ด” ที่ดีมาก “หากทำได้” !!!! เพราะเป็นบัตรที่ไม่เคยมีใครในโลกจัดทำมาก่อน แต่ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น เป็นเพราะคิดไว ทำไว โดยขาดการไตร่ตรอง หรือศึกษาให้รอบครอบ ก่อนกำหนดกฎกติกา ทุกอย่างจึงเป็นเรื่องของการใช้เงินในการเดินหน้า ด้วยทุนก่อตั้งบริษัทถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินจากกระทรวงการคลัง จากภาษีของประชาชน ที่ลงทุนโดยผ่านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ให้เป็นผู้ถือหุ้น 100% ระยะเวลา 3 ปีเศษ กับเงินลงทุนที่ใส่เข้าไปแล้ว 500 ล้านบาท พร้อมการเปิดตัวอย่างหรูหรา ใช้เงินแบบไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องได้สมาชิกกลับมาเท่าใด หรือแม้กระทั่งค่าโฆษณาที่ต้องจ่ายให้กับสำนักข่าว CNN ที่มากถึงกว่า 140 ล้านบาท ก็เหมือนกับ ตำน้ำพริกละลายแม้น้ำ
นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไม รมต.ถึงไม่กล้าฟันธง ยกเลิกบัตรเทวดาดังกล่าว เพราะกลัวสมาชิกต่างชาติฟ้องเรียกค่าเสียหาย เพราะมีสมาชิกอยู่ถึง 49 ประเทศกม.แต่ละประเทศก็ต่างกันหรือว่ากลัวจะเสียความเชื่อมั่นของประเทศ เพราะถ้าขืนบอกเลิกราขึ้นมา เกรงว่าในอนาคตจะส่งผลกระทบกับโครงการใหม่ ๆ ที่เป็นของรัฐบาล ในที่สุดก็เลือกทางเดินมาเป็นแค่ปรับโครงสร้างแทน
ในอนาคตองค์กรทีพีซีดังกล่าวยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจที่บริหารงานแบบเอกชน และเป็นส่วนหนึ่งของ ททท.ซึ่งจะเน้นทำกำไร และยังทำหน้าที่ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาประเทศ ส่วนกรณีหากยกเลิกตัวแทนขายระดับภูมิภาคและระดับประเทศแล้วจะถูกฟ้องหรือไม่นั้น ภาครัฐยังคงไม่ได้คิดเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม แนวทางทั้งหมดจะถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองคณะรัฐมนตรี ที่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ว่าจะรับหลักการของกระทรวงหรือยังคงยืนยันให้ยุบต่อไป แม้ว่าคณะอนุกรรมการเสนอมาทั้งที่ให้อยู่ต่อและยุบลง แต่ต้องมีการระบุว่าหากยุบก็จะต้องถูกฟ้องร้อง ซึ่งเสียหายต่อประเทศชาติ เลยต้องเลือกแนวทางที่เป็นประโยชน์กับรัฐมากที่สุด และหากอยู่ต่อ ก็จะต้องปรับโครงสร้างให้ ททท.มีบทบาทมากขึ้นและต้องมีการปรับบอร์ดและสรรหาผู้บริหารใหม่มาบริหารจัดการ
และแล้วหวยจึงมาออกที่กลุ่มของทีพีซี ที่หากระบุว่าถูกลดสิทธิประโยชน์ของสมาชิกเก่าลงอาจจะถูกฟ้องร้องได้ ขณะเดียวกันตัวแทนขายระดับภูมิภาคจำนวน 4 ภูมิภาค และระดับประเทศอีก 17 ประเทศที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปี 2550 ก็อาจจะเป็นโจทย์ฟ้องร้องตามมาด้วยเช่นกัน...งานนี้รัฐบาลจึงต้องหาทางออกที่ดีที่สุดและเจ็บตัวน้อยที่สุดด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|