|

"ทวี ปิยะพัฒนา" กับการนำพา "PFP" ฝ่าวิกฤตค่าเงิน-ไฟใต้
ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 กุมภาพันธ์ 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ท่ามกลางวิกฤตการณ์มากมายที่รุมเร้าอยู่ในขณะนี้ ทั้งที่เกิดจากภายในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของค่าเงินบาท ภาวะขาดแคลนแรงงาน ขาดแคลนวัตถุดิบ อีกทั้งยังถมทับด้วยสถานการณ์ไฟใต้ แต่ "ทวี ปิยะพัฒนา" ในฐานะผู้กุมบังเหียนกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปครบวงจรเครือ PFP ที่มีฐานที่มั่นอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ก็สามารถนำพาอาณาจักรธุรกิจแห่งนี้ให้ก้าวพ้นนานาวิกฤตเหล่านั้นไปได้ด้วยดี แถมยังสามารถเผื่อแผ่ไปเล่นบทผู้นำภาคเอกชนช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาและคลี่คลายปัญหาให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้อย่างชนิดที่ต้องจับตามมองอีกด้วย
ทวี ปิยะพัฒนา กรรมการผู้จัดการเครือบริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด (PFP) เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ถึงปัญหานานาชนิด ที่กำลังรุมกระหน่ำธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปโดยรวมอยู่ในขณะนี้ว่า มีมาจากหลากทิศหลายทาง ทั้งที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในประเทศเอง และเป็นปัญหาที่มีผลกระทบมาจากต่างประเทศ
ที่ต้องนับว่าเป็นปัญหาขั้นวิกฤตแล้วคือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งประมาณว่าในภาคใต้มีตัวเลขสูงถึงประมาณ 3 แสนคน ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ที่กระทบหนักคือสัญญาจับสัตว์น้ำในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซียของกองเรือประมงไทยได้หมดลงแล้ว อีกทั้งยังมีปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของทวี ปัญหาสำคัญที่สุด คือความผันผวนของค่าเงิน อันเป็นผลมาจากเราถูกกองทุนการเงินนอกประเทศประเภทเฮดจ์ฟันเข้าโจมตี ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหานี้ปรากฏชัดเมื่อช่วงไตรมาสที่สองของปี 2548 จากนั้นไตรมาสที่สามเป็นต้นมาก็ทวีความรุนแรงหนักขึ้นเรื่อยๆ โชคดี ที่รัฐบาลขยับตัวแก้ไขสถานการณ์ โดยออกมาตรการมาสกัดปัญหาได้ทันท่วงที
"ผมเชียร์มาตรการของแบงก์ชาติ ที่ให้สำรองเงินทุนนำเข้าจากต่างชาติ 30% เต็มที่ อยากจะให้กำลังในรัฐบาลเต็มที่ อาจจะมีเสียงค้านอยู่ก็จริง แต่ทำไมเราต้องยอมให้ฝรั่งต่างชาติมันข่มขู่เรา เรื่องนี้ผมรู้สึกโกรธมาก มาตรการนี้ในตอนนี้ถือว่าถูกต้อง ได้ผลและเหมาสมกับสถานการณ์ แต่พอถึงวันนี้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปก็มีการคลี่คลายไปแล้ว ซึ่งก็ถูกต้องอีกเช่นกัน"
ยอดขายโต แต่รายได้หดกว่า
ในส่วนของธุรกิจเครือ PFP ทวี กล่าวว่า แม้จะถูกวิกฤตปัญหาต่างๆ รุนเร้าเช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ แต่ PFP ก็สามารถฟันฝ่าวิกฤตเหล่านั้นมาได้ โดยเน้นการปรับตัวภายในองค์กรให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทำให้สามารถควบคุมปัจจัยของปัญหาต่างๆ ไม่ให้ส่งผลกระทบหนัก และมีการใช้มาตรการประกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นด้วย สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ PFP ยังสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง แม้จะมีผลกระทบปรากฏให้เห็นบ้างก็ตาม
"ปกติเครือ PFP ของเราจะมีอัตราการเติบโตแต่ละปีเฉลี่ยประมาณ 10% พอช่วง 2-3 ปีที่วิกฤตหนักขึ้นอัตราการเติบโตอาจจะลดลงไปบ้าง แต่ก็ไม่เคยต่ำกว่า 5-6% ทว่าช่วงปี 2548 ที่เพิ่งผ่านมายอดขายโดยรวมของเครือเรายังคงเติบโตประมาณ 10% แต่พอเกิดภาวะเงินบาทแข็งตัว ตอลดปี 2548 รายได้ที่เป็นเม็ดเงินกลับลดลงถึงประมาณ 12% เพราะสินค้าของ PFP ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ"
กรรมการผู้จัดการเครือ PFP กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาที่ไทยถูกโจมตีค่าเงิน เงินบาทเคยอยู่ที่เกือบ 40 บาท/ดอลลาร์ กลับแข็งตัวขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 35 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเวลานี้ก็ยังเฉลี่ยอยู่ที่อัตรานี้ แต่หากค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นอีกเมื่อใด โดยไปอยู่ที่ประมาณ 32 บาท/ดอลลาร์ เชื่อว่าผู้ประกอบการธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปคงต่อสู้สักประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นจะต้องพังกันเป็นแถบไปเลย
ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ 2.8 พันล้าน
ทวี กล่าวต่อไปว่า ในปี 2548 เครือ PFP มียอดขายโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 2.3-2.4 พันล้านบาท ส่วนปี 2549 ที่เพิ่งผ่านมามียอดขายเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2.5 พันล้านบาท แบ่งเป็นจากตลาดภายในประเทศประมาณ 8 ร้อยล้านบาท และจากตลาดต่างประเทศ 1.7 พันล้านบาท สำหรับปี 2550 นี้เครือ PFP ตั้งเป้าว่ายอดขายน่าจะเติบโตขึ้นได้ประมาณ 10% หรือมียอดตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 2.8 พันล้านบาท โดยสัดส่วนของตลาดต่างประเทศก็น่าจะยังมากกว่าในประเทศในอัตราใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
ส่วนจะทำยอดขายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่นั้น กรรมการผู้จัดการเครือ PFP ชี้ว่า ในเรื่องตลาดรองรับนั้นมีความแน่นอนอยู่แล้ว แต่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะการผันผวนของค่าเงินถือว่ามีความสำคัญมากที่สุด แต่ก็ได้มีการดำเนินประกันความเสี่ยงไว้แล้ว อีกทั้งบริษัทยังพยายามถือเงินในสกุลที่มีความหลากหลายตามประเทศที่เป็นเป้าหมายทางการตลาดด้วย ซึ่งนอกจากยูเอสดอลลาร์แล้วก็มีดอลลาร์ออสเตรเลีย ยูโร หรือแม้กระทั่งเงินริงกิตของมาเลเซีย และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายอดขายในปีนี้ไม่น่าจะผิดไปจากเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนไปมากกว่านี้ เพราะหากปล่อยให้ค่าเงินแข็งตัวขึ้นอีก ไม่เฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลเท่านั้นที่จะกระทบ แต่อุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศมีอันจะต้องพังทั้งระบบแน่นอน แล้วจะกระทบถึงประชาชนทุกกลุ่มเป็นลูกโซ่ไปด้วย โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตรจะต้องต่ำต่ำลงอย่างแน่นอน
จี้รัฐเพิ่มช่องต่อลมหายใจธุรกิจจ.ชายแดนใต้
นอกจากนี้ ทวี ในฐานะที่เป็นประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ ในบทบาทแกนนำภาคเอกชนที่เขาเล่นมาหลายปีแล้วนั้น ที่ผ่านมาเขาได้ร่วมผลักดันให้ภาครัฐออกมาตรการหนุนช่วยผู้ประกอบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง และเพิ่งจะเป็นผลเมื่อช่วงเดือนมกราคม 2550 นี้เอง โดยผ่านการประสานหน่วยงานพิเศษในพื้นที่ที่เพิ่งได้รับการฟื้นคืนชีพมาใหม่อย่าง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จนเป็นผลไปบ้างแล้ว
สำหรับความช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่รัฐไฟเขียวให้แล้ว อาทิ ครม.รับรองให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ซึ่งได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ แล้ว อาทิ ขยายเวลาเงินกู้ซอฟต์โลนอัตราดอกเบี้ยต่ำ ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 3% อุดหนุนวงเงินประกันการก่อการร้าย ผ่อนคลายปัญหาแรงงานต่างด้าว เป็นต้น
ทวี กล่าวว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 สภาอุตสาหกรรมภาคใต้จะร่วมกับแกนนำภาคเอกชนอื่นๆ ในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ผลักดันให้รับเพิ่มมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในชายแดนใต้อีกระลอก โดยจะยื่นเป็นหนังสือให้กับรัฐบาลอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการดูแล ประกอบด้วย
1. ขยายพื้นที่เพิ่มในส่วนของมาตรการประกันการก่อการร้าย จาก 4+4 หรือแค่ 4 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูล กับอีก 4 อำเภอของ จ.สงขลาคือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ให้ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือรวมพื้นที่ จ.สงขลาทั่งจังหวัด 2. ให้รัฐบาลงดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นเวลา 3 ปี และ 3. ให้รัฐบาลจัดงบประมาณจ่ายเงินค่าประกันสังคม 5% เข้ากองทุนประกันสังคมแทนลูกจ้างในพื้นที่ชายแดนใต้
"ถ้าทำได้ก็จะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคเอกชน และรวมถึงประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมดด้วย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการดับไฟใต้อย่างแน่นอน อย่างน้อยการพัฒนาในส่วนของธุรกิจและเศรษฐกิจก็จะไปช่วยคลี่คลายปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ อันจะนำไปสู่การดับไฟใต้ให้รวดเร็วขึ้นได้อีก" ทวี กล่าวและเสริมว่า
นอกจากนี้แล้ว ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ จึงยังอยากเสนอรัฐบาลที่มีแผนจะปัดฝุ่นโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดขึ้นมาใหม่ อยากให้มีการเลื่อนพื้นที่ที่จะทำโครงการจากภาคใต้ตอนบนลงมายังพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างแทน โดยเฉพาะให้มีท่าเรือเชื่อมฝั่งอ่าวไทยกับอันดามันที่สงขลาและสตูล เพราะจะถือเป็นอีกมาตรการความช่วยเหลือของรัฐบาลต่อการแก้ปัญหาไฟใต้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งผู้ประกอบการธุรกิจ และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ชายแดนใต้อีกด้วย
สำหรับเครือ PFP เกิดขึ้นในปี 2527 ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยในเขต อ.เมือง จ.สงขลา โดยเกิดบริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด เป็นแห่งแรก ผลิตเนื้อปลาบดแช่แข็ง หรือซูริมิ (Surimi) เพื่อการส่งออกเท่านั้น จากนั้นปี 2531 ตามด้วยบริษัท อุตสาหกรรมปลาป่นแปซิฟิค จำกัด ทำโรงงานผลิตปลาป่นใช้วัตถุดิบจากโรงงานผลิตซูริมิกำลังผลิตมากกว่า 1 หมื่นตันต่อปี
ปี 2535 เครือ PFP ขยายไลน์ผลิตอาหารสำเร็จรูปที่ใช้ซูริมิเป็นวัตถุดิบ หรืออาหารพร้อมปรุงประเภท คามาโบโกะ เช่น ปูอัด ชิกูว่า เต้าหู้ปลา ก้ามปูเทียม พร้อมขยายตลาดในประเทศ ส่งผลให้ในปี 2543 ต้องตั้งบริษัท พี.เอฟ.พี. เทรดดิ้ง จำกัด ขึ้นมาเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดภายในประเทศโดยเฉพาะ ปัจจุบัน PFP ถือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเลแช่แข็งของไทย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|