|

ออฟฟิศเซ็นเตอร์รีเฟรชแบรนด์ รีโนเวตสาขา ขยายตลาดนักเรียน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 กุมภาพันธ์ 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดร้านอุปกรณ์สำนักงานวางหมากโตสวนกระแสเศรษฐกิจ ออฟฟิศเซ็นเตอร์ เดินหน้ารีโนเวตสาขาเก่า ปรับภาพลักษณ์ดึงดูดตลาดคอนซูเมอร์ พร้อมกลยุทธ์เซกเมนเตชั่น ขณะที่ออฟฟิศเมท ขยายคลังสินค้ารองรับออร์เดอร์ผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ช โหมโรดโชว์แจกแคตาล็อก
ออฟฟิศเซ็นเตอร์ เดินหน้ารีโนเวตสาขาที่มีอายุเกิน 10 ปี ซึ่งแต่ละสาขาต้องใช้งบรีโนเวต 10 ล้านบาท ขณะที่การทำสาขาใหม่ต้องใช้งบ 20 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อปรับภาพสาขาให้มีภาพลักษณ์ความเป็นกันเอง รวมถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้บริโภคที่คิดคว่าออฟฟิศเซ็นเตอร์เป็นศูนย์ค้าส่งเครื่องใช้สำนักงานทั้งที่จริงๆแล้วบริษัทมีการจำหน่ายแบบปลีกด้วย ดังนั้นในการรีโนเวตสาขาจึงมีการจัดดิสเพลย์ใหม่โดยวางรูปแบบให้ผู้บริโภคเห็นถึงการจำหน่ายสินค้าปลีกไว้หน้าร้านเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการมากขึ้นโดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาเนื่องจากหลายสาขาตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษา หรือเป็นย่านศูนย์รวมของวัยรุ่น แต่ทั้งนี้ลูกค้าหลักกว่า 90% ยังคงเป็นลูกค้าองค์กรที่มีการสั่งซื้อในปริมาณมากแต่บริษัทก็ไม่ได้ให้ส่วนลดเป็นพิเศษเนื่องจากจำหน่ายในราคาที่คุ้มค่าต่อผู้บริโภคอยู่แล้ว แต่เพื่อเป็นการสร้างความจงรักภักดีต่อแบรนด์จึงมีการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อนำสิทธิพิเศษตอบแทนสู่ลูกค้าในรูปแบบของการตอบสนองไลฟ์สไตล์ เช่น ส่วนลดในการใช้บริการสปาที่ร่วมรายการ หรือการพักผ่อนท่องเที่ยว
"ปีที่แล้วเราเน้นการขยายสาขาใหม่ ส่วนปีนี้จะทำการรีโนเวตสาขาเก่าเพื่อรีเฟรชแบรนด์ออฟฟิศเซ็นเตอร์ตั้งแต่โลโก้ ไปถึงการปรับรูปโฉมร้าน โดยมีการใช้โทนสีตกแต่งตามกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับสินค้าเช่นใช้ฉากสีแดงกับเฟอร์นิเจอร์ สีเหลืองใช้กับออฟฟิศซัปพลาย และสีเทาสำหรับแผนกออฟฟิศออโตเมชั่น" สุพรศรี นาคธนสุกาญจน์ กรรมการผู้จัดการแม็คโครออฟฟิศเซ็นเตอร์ กล่าว
ปัจจุบันออฟฟิศเซ็นเตอร์มีสาขา 20 แห่งโดยมี 2 สาขาอยู่ต่างจังหวัด คือที่พัทยาและภูเก็ต สำหรับปีนี้บริษัทยังไม่มีแผนที่จะเพิ่มสาขา ส่วนปีถัดไปหากจะมีการเพิ่มสาขาก็จะเน้นหัวเมืองในต่างจังหวัดมากกว่าเนื่องจากสาขาที่มีในกรุงเทพฯถือว่าเพียงพอแล้ว ทั้งนี้ผลประกอบการในปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถสร้างยอดขายได้ 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จาก 3 กลุ่มคือ ออฟฟิศ ซัปพลายเช่นวัสดุสิ้นเปลือง กระดาษ ปากกา 50% ออฟฟิศ ออโตเมชั่นเช่น เครื่องตอกบัตร ปริ้นเตอร์ คอมพิวเตอร์ 40% และออฟฟิศ เฟอร์นิเจอร์ 10% ซึ่งถือเป็นผู้นำตลาดร้านอุปกรณ์สำนักงาน โดยมีออฟฟิศเมท อยู่อันดับ 2 ด้วยยอดขาย 800 ล้านบาท ส่วนในปีนี้ออฟฟิศเซ็นเตอร์ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 1,900 ล้านบาท โดยใช้งบการตลาด 1% ของยอดขาย ขณะที่ที่ออฟฟิศเมทตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 900 ล้านบาท ในขณะที่ตลาดรวมร้านเครื่องใช้สำนักงานคาดว่าจะมีมูลค่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งถ้านับรวมดิสเคานต์สโตร์ด้วยก็จะมีมูลค้า 150,000 ล้านบาท
กุญแจที่จะผลักดันให้ออฟฟิศเซ็นเตอร์เติบโตเหนือคู่แข่งคือการทำเซกเมนเตชั่นดภายใต้คอนเซ็ปต์ Your Solution for Office Need ซึ่งจะมีการเพิ่มไลน์อัพสินค้าและการเจาะเซกเมนต์มากขึ้นเพื่อตอบสนองลูกค้าในแต่ละสายอาชีพและเป็นการขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เช่นล่าสุดมีการลอนช์ Paper Solution โดยมีการนำกระดาษประเภทต่างๆตั้งแต่งานเอกสารไปจนถึงกระดาษที่ใช้สำหรับงานศิลป์และงานอื่นๆ
นอกจากนี้ยังมีสินค้าเฮาส์แบรนด์เป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าที่ต้องการลดต้นทุนโดยชูคุณสมบัติที่เทียบเคียงผู้นำตลาดเนื่องจากว่าจ้างการผลิตจากผู้นำตลาดในกลุ่มนั้นๆ โดยสัดส่วนเฮาส์แบรนด์ของออฟฟิศเซ็นเตอร์คิดเป็น 10% มีราคาต่ำกว่าแบรนด์เนม ประมาณ 15-20%
ในขณะที่ออฟฟิศเมททุ่มงบ 150 ล้านบาทเพื่อขยายคลังสินค้าและการบริหารด้านลอจิสติกส์ โดยเน้นช่องทางจำหน่ายแบบอีคอมเมิร์ชทำให้ไม่ต้องลงทุนเพิ่มสาขามากนัก แต่จะเน้นการจัดกิจกรรมโรดโชว์ไปตามอาคารสำนักงานกว่า 30 แห่งเพื่อแจกแคตาล็อกโปรโมตให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักออฟฟิศเมทมากขึ้นล่าสุดมีการเปิดตัว "ออฟฟิศเมท แค็ตตาล็อค 2007" ภายใต้คอนเซ็ปต์ Modern Office Supply ที่ชูสไตล์ความเป็น Creative และ Fashion Life เนื่องจากพบว่ากลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นฝ่ายจัดซื้อในบริษัทต่างๆ มักเป็นสาวสมัยใหม่ ชื่นชอบแฟชั่น นิยมอ่านแมกกาซีน จึงปรับแคตาล็อกสินค้าให้เป็นแนวแฟชั่นมากขึ้น พร้อมเพิ่มขนาดเล็กอีก 5 หมื่นเล่มเพื่อสะดวกในการตระเวนแจกตามงานโรดโชว์ต่างๆ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|