แกะโมเดลธุรกิจ "ทีวีดาวเทียม" สารพัดอุปสรรครอคอยผู้ท้าทาย


ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 กุมภาพันธ์ 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

* "ทีวีดาวเทียม" ฝันหวาน ๆ ของคนอยากมีสื่อ

* แท้จริงคือธุรกิจแฝงสารพัดอุปสรรคขวางการเติบโต

* ผิดกฏหมาย - โฆษณาเมิน - เจาะไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย


เหมือนกับว่าวันนี้วงการสื่อ กำลังพานพบทะเลสีฟ้าครามผืนใหญ่ บลู โอเชียน อันเต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจ ในชื่อของทีวีดาวเทียม ที่ทำให้เจ้าของคอนเทนท์น้อยใหญ่ต่างมุ่งหน้า เบนเป้าหมายเข้ามาหา

รูปแบบสื่อฟรีทีวี ที่มีข้อจำกัดมากมาย ต้นทุนการผลิตรายการที่ผู้ผลิตแต่ละรายลงทุนจำนวนมหาศาล แต่ต้องเผชิญความไม่แน่นอนของสัญญาเช่าเวลาของทุกสถานี ทั้งราคาค่าเช่าที่สูงขึ้นทุก ๆ ปี นโยบายผู้บริหารสถานีที่เปลี่ยนไป จนถึงเส้นสายที่เกาะเกี่ยวกันหาความมั่นคง มั่นใจไม่ได้ ผังรายการโทรทัศน์ถูกปรับเปลี่ยนปีต่อปี เป็นความสั่นคลอนของการทำธุรกิจ ที่ทำให้เกิดการมองหาเวทีใหม่ ๆ ซึ่งมาพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ทีวีดาวเทียม จึงกลายเป็นเวทีใหม่สำหรับผู้ผลิตรายการที่หาโอกาส หาความมั่นคงบนฟรีทีวีไม่ได้

ยุวดี บุญครอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย เทเลวิชั่น แอนด์ มีเดีย จำกัด อดีตผู้บริหาร มีเดีย ออฟ มีเดียส์ เป็นคนแรก ๆ ที่กระโจนลงสู่บลูโอเชียนของวงการสื่อผืนนี้

ยุวดีกล่าวว่า ความไม่แน่นอนของผังรายการของฟรีทีวี มีการเปลี่ยนแปลงตลอด และไม่มีหลักประกันว่ารายการจะอยู่ได้ยาวนานเท่าใด บางครั้งรายการดีก็อยู่ได้ไม่นาน อีกทั้งต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้นด้วย จึงทำให้ต้องมองหาธุรกิจใหม่เข้ามาเสริม

ตลอดเวลาที่ยุวดีเข้าสู่ธุรกิจผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ในนามมีเดีย ออฟ มีเดียส์ รูปแบบรายการอันหลากหลายถูกนำเสนอผ่านสถานีโทรทัศน์หลัก 3 ช่อง คือ ททบ.5 ช่อง 7 สี และช่อง 9 อสมท หรือโมเดิร์น ไนน์ แต่ทุกปีรายการโทรทัศน์ของยุวดี ถูกขยับย้ายไปมา หรือหลุดหายไป ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้กระทั่งรายการที่ได้ชื่อว่าเป็นรายการยอดนิยม และมีสาระสูงอย่าง ที่นี่ประเทศไทย ที่ถูก ททบ. 5 ปรับออกจากผัง โดยมีรายการลักษณะคล้ายกันที่ผลิตโดย อาร์เอส เข้ามาแทนที่ ท่ามกลางความตกตะลึง เป็นที่มาของการรวมกลุ่มผู้ผลิตรายการ เรียกร้องขอความเป็นธรรมจากผู้บริหารสถานี เมื่อ 2 ปีก่อน

แต่ในปีต่อมา บริษัทที่ได้ชื่อว่ามีเส้นสายราชการที่ช่วยเอื้อธุรกิจแข็งแกร่งอย่าง อาร์เอส ก็ยังหนีไม่พ้นสภาพไร้ความมั่นคงของสื่อทีวีที่เล่นงานให้รายการโทรทัศน์หลายรายการถูกผลักออกจากผังของฟรีทีวี แม้ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของอาร์เอส จะก้มหน้ายอมรับการตัดสินใจของผู้บริหารสถานี แต่ในความจริงก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า ธุรกิจจะเผชิญอยู่กับสภาพความไม่แน่นอนเช่นนี้ตลอดไปไม่ได้ ทุกคนจึงวิ่งเข้าหา ทีวีดาวเทียม

เจ้าของคอนเทนท์แห่ผุดช่องเสรี

อาร์เอส - จีเอ็มเอ็ม - สยามสปอร์ต - โรสฯ หลังจากทิ้ง T Channel ทีวีผ่านดาวเทียมสถานีเพลงลูกทุ่ง ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำตลาดมากนัก ไว้กับ มีเดีย ออฟ มีเดียส์ แล้วมาตั้งเอเชีย เทเลวิชั่น แอนด์ มีเดีย ขึ้น โครงการทีวีดาวเทียมก็ยังอยู่ในแผนงานลำดับแรก ๆ ของบริษัทใหม่นี้ ช่อง h+ Channel ถูกตั้งขึ้นด้วยงบประมาณ 300 ล้านบาทให้เป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อสุขภาพช่องแรกในเมืองไทย

ยุวดี ซึ่งเคยผลิตรายการ Health Station ทางไอทีวี ทราบดีว่า รายการเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มการรับชมสูงขึ้น จากเทรนของผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ แต่การผลิตรายการเพื่อสุขภาพที่ต้องยุ่งเกี่ยวกับยา และอาหาร ทางฟรีทีวี จะมีข้อจำกัดมากมายที่ภาครัฐจะเข้ามาควบคุม ปัญหานี้จะหมดไปหากรายการลักษณะนี้ไปออกอากาศบนทีวีดาวเทียม ที่การควบคุมของภาครัฐยังบินขึ้นไปไม่ถึง

h+Station ให้บริการรับชมฟรี เพียงมีจานรับสัญญาณดาวเทียม ไม่มีการเก็บค่าสมาชิกหรือค่าบริการ นอกเหนือจากการรับชมผ่านเคเบิลทีวีท้องถิ่น หรือผ่านอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ทำให้ยุวดีมั่นใจว่าจะสามารถขยายฐานผู้ดูได้มากและรวดเร็ว รายได้จะมาจากการขายโฆษณาเป็นหลัก ช่วงแรกน่าจะเป็นสินค้าและบริการเกี่ยวกับสุขภาพที่มาลงโฆษณา ตรงกับรูปแบบรายการของเอชพลัสชาแนลที่เป็นรายการเกี่ยวกับสุขภาพ

ยุวดีมีความมั่นใจสูงว่าธุรกิจทีวีดาวเทียมจะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯในสัดส่วนที่ 30% หรือสูงเป็นอันดับที่สองรองลงมาจากการผลรายการป้อนฟรีทีวี โดยในอนาคตมีแผนจะเปิดช่องทีวีดาวเทียมเพิ่มเป็น 5 ช่อง เหมือนเธอกำลังพบช่องทางทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่สดใสเหลือเกิน

เช่นเดียวกับเจ้าของคอนเทนท์บันเทิงรายใหญ่ 2 ราย อาร์เอส และจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่กำลังมองหาช่องทางใหม่ ๆ ในการระบายคอนเทนท์ในมือออกมาสร้างมูลค่าในตลาด ทีวีดาวเทียม เป็นช่องทางที่ทั้งเฮีย ทั้งกู๋ สนใจ

จากการเปิดเผยของ คำมุ่ย แก้วมณี ประธาน บริษัท เพ็ชรจำปา แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด จากประเทศลาว เผยว่า เพ็ชรจำปา และอาร์เอส มีแผนการดำเนินธุรกิจร่วมกันที่จะตั้งสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมขึ้นในประเทศลาว เบื้องต้นจะให้บริการช่องกีฬา 2 ช่อง และบันเทิงอีก 1 ช่อง ออกอากาศ 24 ชั่วโมง จะแพร่ภาพไปกว่า 22 ประเทศ ผู้ชมสามารถรับชมได้ฟรี โดยรายได้จะมาจากโฆษณาเป็นหลัก

ขณะที่ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีวีดาวเทียม เป็น 1 ใน 3 ธุรกิจใหม่ที่จีเอ็มเอ็มฯ จะรุกหนักในปีนี้ โดยคาดว่าภายในปีนี้จะสามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้บริษัทฯได้เตรียมความพร้อมด้านคอนเท้นท์แล้ว เหลือเพียงรอดูสถานการณ์ รวมถึงเงื่อนไขและการขอใบอนุญาต รวมถึงความถูกต้องของการขอสัญญาณ ซึ่งในขณะนี้มีการพูดคุยกันไว้แล้ว

"โทรทัศน์ดาวเทียม เป็นสิ่งที่บริษัทผู้ผลิตคอนเทนท์อย่างแกรมมี่ต้องมอง เพราะจะเป็นช่องทางที่จะทำให้คอนเทนท์ของเราไปสู่ผู้บริโภคให้มากที่สุด แต่เงื่อนไขของโทรทัศน์ดาวเทียมต้องไม่ลงทุนสูงเหมือนฟรีทีวี ทำได้ง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยี"

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้บริหารคอนเทนท์รายอื่น ๆ อย่าง สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย เจ้าของคอนเทนท์กีฬา ก็เตรียมเปิดช่องกีฬาผ่านทีวีดาวเทียม เช่นเดียวกับ โรส มีเดีย แอนด์ เอนเทอร์เทนเม้นท์ ผู้ถือคอนเทนท์การ์ตูนรายใหญ่ของประเทศไทย ที่เตรียมเปิดสถานีทีวีดาวเทียมช่องการ์ตูนขึ้นภายในปีนี้ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับ ทีวีดาวเทียมช่องเพลงอินดี้ ที่คลิค เรดิโอ จับมือกับค่ายเพลงสนามหลวงในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ตั้งเป้าออกอากาศภายในปีนี้เช่นกัน

เกิดเป็นข้อสงสัยว่า ฝันหวาน ๆ ในการยึดครองสื่อสถานีทีวีดาวเทียมมาไว้กับตัว จะสร้างความสำเร็จในการธุรกิจได้เหมือนที่ฟรีทีวีเป็นอยู่ ได้หรือ

สารพัดปัญหารอรับ
ไร้กฎหมายรองรับ - สถานีผิดกฎหมาย


ก่อนที่เทคโนโลยีทีวีดาวเทียมจะแพร่หลายเช่นวันนี้ ผู้ประกอบการในวงการโทรทัศน์ และวิทยุ ต่างรอคอยการเกิดขึ้นของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลและจัดสรรคลื่นความถี่ที่เกิดขึ้นใหม่จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ให้กับผู้ยื่นขอ ทั้งคลื่นวิทยุ และคลื่นโทรทัศน์ จนแล้วจนเล่า ปัญหาความไม่โปร่งใสทางการเมืองของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็ทำให้คณะกรรมการ กสช. ที่ตั้งขึ้นมากลับต้องล้มกระดาน และเก็บโครงการจัดตั้ง กสช.ลงลิ้นชัก เป็นเหตุให้เกิดสุญญากาศของการวงการสื่อ ที่เทคโนโลยีมาถึงแล้ว แต่ไม่มีหน่วยงานดูแลการใช้คลื่น

จนกระทั่งเกิดมีหัวหอกในการเข้าใช้สื่อทีวีดาวเทียมในการระบายคอนเทนท์ ที่ถูกปิดกั้นจากฟรีทีวีในยุคแรก ๆ อย่าง กลุ่มเนชั่น ที่เปิด Nation Channel และกลุ่มผู้จัดการ เจ้าของสถานีโทรทัศน์ ASTV แต่ก็เป็นการทำธุรกิจในสภาพที่ง่อนแง่น หากำไรไม่ได้ เช่นเดียวกับช่องทีวีลูกทุ่ง T Channel ที่มีเดีย ออฟ มีเดียส์ ในยุคยุวดี บุญครองเป็นผู้ให้กำเนิด

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ช่องทีวีดาวเทียมที่มีรูปแบบรายการชัดเจนเหล่านี้ ไม่ประสบความสำเร็จในการทำกำไร มาจากการหาโฆษณาเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะวันนี้ สถานีทีวีดาวเทียมทั้งหมด ดำเนินงานโดยขาดกฎหมายรองรับการเปิดสถานี หรือกล่าวสั้น ๆ ว่า เป็นสถานีผิดกฎหมาย

ชลิต ลิมปนะเวช คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และกรรมการในคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) กล่าวว่า สภาพที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือช่องโหว่ของการควบคุมดูแล เนื่องจากไม่มีผู้ควบคุมดูแลอย่าง กสช. แต่ผู้ประกอบการกลับเลือกที่จะเปิดก่อน ชิงความได้เปรียบในการยึดครองสื่อ แต่ถ้าอนาคตเมื่อเกิด กสช.ขึ้น ปัญหาจะเกิดขึ้นหากรัฐยืนยันว่าเอกชนไม่สามารถเปิดสถานีทีวีดาวเทียมได้เอง ทุกช่องที่เปิดบริการจะต้องคืนคลื่นให้กับ กสช.

แต่อดีตว่าที่ กสช. สุพงษ์ ลิ้มธนากุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ความเห็นว่า สุดท้ายคงมีเป็นการพูดคุยกันระหว่าง กสช. กับผู้ประกอบการที่เปิดทีวีดาวเทียม เพื่อขอความร่วมมือในการผลิตรายการที่เหมาะสม อยู่ในกรอบที่ภาครัฐกำหนดไว้ มากกว่าจะมีการยึดคลื่นคืน

เช่นเดียวกับชลิต ลิมปนะเวช ที่เสนอว่า แม้ส่วนตัวจะมองว่าประเทศไทยยังไม่เหมาะที่จะให้เอกชนเปิดทีวีดาวเทียมกันอย่างเสรี เพราะยังไม่มีการควบคุมดูแลจากภาครัฐ แต่สุดท้ายแล้วเมื่อรัฐบาลหันมาดูแล ก็น่าจะเป็นการเรียกผู้ประกอบการมาพูดคุยขอให้มีการเสนอรายการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ชม หรือต่อประเทศบ้าง

โฆษณาเมิน - กลุ่มเป้าหมายไม่สน

ปัญหาสำคัญในขณะที่ทีวีดาวเทียมยังไม่มีกฎหมายรองรับ กระทบโดยตรงกับโฆษณาสินค้าหรือบริการที่จะเข้ามาสนับสนุน ให้เหมือนดังเช่นฟรีทีวี

การบังคับใช้กฎหมายในสหรัฐอเมริกา หากเรื่องใดที่ไม่ได้ระบุบังคับไว้เป็นกฎหมาย เรื่องนั้นถือว่าไม่ผิดกฎหมาย ต่างจากการตีความในกฎหมายของไทย ที่หากเรื่องใดไม่มีกฎหมายบทใดระบุไว้ เรื่องนั้นจะกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายทันที

ปราชญ์ ไชยคำ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย กล่าวถึงปัญหาของสื่อสมัยใหม่ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งบริษัทฯ บริหารอยู่ คลื่นวิทยุชุมชน 106.75 คือ การหาโฆษณาเป็นไปด้วยความยากลำบาก เมื่อสถานีถูกมองว่าเป็นช่องผิดกฏหมาย ก็ไม่มีสินค้าใดกล้ามาลงโฆษณา เพราะจะกระทบถึงการแสดงการใช้จ่ายของบริษัทนั้น ๆ ว่า มีการสนับสนุนเงินให้กับธุรกิจผิดกฎหมาย

เช่นเดียวกับทีวีดาวเทียม แม้วันนี้ Nation Channel หรือ ASTV ที่ได้รับการยอมรับจากผู้ชมในแนวกว้างถึงคอนเทนท์ที่ผลิตขึ้น แต่หากถามถึงรายได้จากการโฆษณา ก็ยังไม่อยู่ในระดับที่เลี้ยงธุรกิจได้เลย

ครั้นจะมองรายได้จากด้านสมาชิกผู้ชมรายการ ทั้งจากการขายจานดาวเทียม หรือการเก็บค่าสมาชิกในระบบ Direct to Home หรือแม้กระทั่งการเก็บเงินส่วนแบ่งจากการขายรายการให้กับเคเบิลทีวีท้องถิ่น ต่างก็มีจุดตายที่ไม่สามารถทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นได้

เมื่อครั้งมีเดีย ออฟ มีเดียส์ เกิดแนวคิดในการทำทีวีดาวเทียม ช่องเพลงลูกทุ่ง T Channel ขึ้นเพื่อเจาะผู้ชมที่เป็นกลุ่มรากหญ้า สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการสื่ออย่างมาก แต่เวลาต่อมา ชาลอต โทณะวนิก ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาส่งเข้าไปดูแลมีเดีย ออฟ มีเดียส์ ต่อจากกลุ่มยุวดี บุญครอง ที่จากไป พบว่า แนวคิดการทำทีวีดาวเทียมเจาะตลาดรากหญ้า ไปการตลาดที่ขัดแย้งกับความเป็นจริง ผู้บริโภคในตลาดล่างไม่สามารถซื้อหาจานดาวเทียมในระดับราคา 2,000 - 3,000 บาทได้

วันนี้ T Channel จึงต้องหันมาหาเคเบิลทีวีท้องถิ่น และทรู วิชั่นส์ ช่วยเจาะกลุ่มเป้าหมายให้ พร้อมหารายได้จากรายการโฮมช้อปปิ้ง เสมือนการโฆษณาของรายการ ในช่วงเวลาที่โฆษณาจากสินค้าทั่วไปยังกลัว ๆ กล้า ๆ จะเข้ามาสนับสนุน

เช่นเดียวกับ จิรัฐ บวรวัฒนะ รองประธานกรรมการ บริษัท โรส มีเดีย แอนด์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ที่เคยมีแนวคิดในการทำ Direct to Home เปิดช่องการ์ตูนให้สมาชิกรับชมในราคาเดือนละ199 บาท แต่เมื่อมองจากสิ่งที่มีอยู่ในตลาด ทรูวิชั่นส์ เสนอแพ็คเกจ 340 บาท ที่มีช่องรายการหลัก 7 ช่อง ผนวกกับช่องฟรีทีวี และช่องการศึกษา อีกกว่า 10 ช่อง ก็คงทำให้ช่องการ์ตูน DTH ของโรสฯ กลายเป็นของแพง เกิดขึ้นได้ยาก

ชลิต ลิมปนะเวช มองว่า ตลาดผู้ชมไม่น่าจะเติบโตได้มากนัก เพราะสถานีโทรทัศน์แต่ละสถานีที่เกิดขึ้น ผู้ชมจะต้องซื้อหาจานดาวเทียมมารับสัญญาณ กลายเป็นนิชมาร์เก็ต เป็นตลาดเฉพาะ ขายโฆษณาลำบาก คงไม่สามารถสร้างเป็นธุรกิจที่หากำไรได้ แต่ตนมองว่าค่ายเพลง หรือค่ายหนังรายใหญ่ อาจไม่ได้มองจุดนี้ เนื่องจากค่ายใหญ่มีวัตถุประสงค์ใช้เป็นช่องการในการระบายคอนเทนท์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารสินค้าหรือบริการของตนเองสู่กลุ่มเป้าหมายมากกว่า

"ถ้าผมเป็นแกรมมี่ ผมก็ต้องทำทีวีดาวเทียม เปิดเพลงของผมเองทั้งหมด เพลงไหนยอดขายตก ก็เปิดถี่หน่อย แล้วส่งไปเชื่อมต่อกับเคเบิลท้องถิ่นให้ฉายฟรี ต่อยอดให้ธุรกิจหลักคือการขายเพลงเติบโต"

ทางออกของธุรกิจ จิรัฐ กล่าวว่า ช่วงแรกของการเปิดสถานีการ์ตูน จะส่งในระบบซีแบนด์ให้เคเบิลท้องถิ่นที่มีสมาชิกกว่า 2.5 ล้านครัวเรือน เป็นจำนวนผู้ชมกว่า 12.5 ล้านคน กระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นตัวสร้างแบรนด์ของช่องให้แข็งแกร่งโดยใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี โดยในแง่รายได้ต้องมองธุรกิจอย่างครบองค์ ทั้งการส่งให้เคเบิลทีวีท้องถิ่นที่จะมีรายได้เข้ามาส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันอาจมีการดึงรายการโฮมช้อปปิ้งเข้ามาร่วมในสถานีด้วย เมื่อแบรนด์ทีวีดาวเทียม ช่องการ์ตูนของโรสฯ แข็งแกร่งแล้ว จึงจะปรับส่งสัญญาณผ่านเคยูแบนด์ ปูทางสู่ธุรกิจ Direct to Home ที่เคยวางแผนไว้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม จิรัฐ กล่าวว่า เมื่อเทคโนโลยีการส่งสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมมาถึง ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างเข้ามายึดครองคลื่น แม้จะยังไม่มีใครทำผิดกฏหมายในเวลานี้ แต่ก็ไม่มีใครทำถูกระเบียบเช่นกัน ดังนั้น คาดหวังว่า กสช. จะถูกจัดตั้งขึ้นมาในระยะเวลาอันใกล้ เพื่อจัดระเบียบทีวีดาวเทียมให้ถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.