“GE Day”วันของ“จีอี อินเตอร์เนชั่นแนล”“ยึด-ครอบครอง-สร้างฐาน”บนโลกใหม่


ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 กุมภาพันธ์ 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

“จีอี” หรือ “ข่าน” นักรบผู้พิชิตบนโลกธุรกิจ และอีกบทบาทหนึ่งคือ “ร่างทรง” แบงก์กรุงศรีอยุธยา ของตระกูล “รัตนรักษ์” ใช้โอกาสช่วงที่เข้ายึดครองแบงก์ใหญ่ แนะนำอาณาจักรที่คนในท้องถิ่นยังไม่เคยได้สัมผัสลึกซึ้งในงาน “GE Day” ผ่านการบอกเล่าถึงกลยุทธ์และกระบวนการทำงานที่มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การเข้ายึดพื้นที่ ครอบครอง และสร้างฐานลูกค้าให้ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้...

นานิ เบคคัลลิ ฟาลโค ประธานและเจ้าหน้าที่บริหาร จีอี อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้นำเบอร์ 2 ของ “จีอี” ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง บรรยายถึง อาณาจักรขนาดใหญ่ของ “จีอี” และโลกใบใหม่ หรือ ตลาดแถบเอเชีย ที่กำลังหมายตาจะเข้ายึดครอง ภายหลัง “กองทัพ” ขนาดใหญ่ของจีอี ได้ระดมกำลังทรัพยากรบุคคล และเงินทุนเข้ามาลงทุนมูลค่าร่วม 2.2 หมื่นล้านบาท ผ่านการเข้าถือหุ้น 25% ในแบงก์กรุงศรีอยุธยาอย่างราบรื่น เมื่อต้นปีก่อน...

ตลาดใหม่ของจีอี เริ่มต้นนอกแผ่นดินอเมริกา คือ ยุโรปตะวันตก และตะวันออก รวมถึงแคนาดาและออสเตรเลีย จนขยายใหญ่ในแง่ภูมิศาสตร์ และรายได้ ก่อนที่จะหันหัวเรือมาที่แถบตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา จีน อินเดียและประเทศแถบอาเซียน โดยมี “ไทย” เป็นศูนย์กลางการเติบโต

ว่ากันว่า ปีก่อนหน้านี้ “จีอี” มียอดขายร่วม 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในตลาดเกิดใหม่ จากยอดรวมที่ 1.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นยอดรายได้ที่มีเข้ามาใน 2 ส่วนธุรกิจใหญ่ คือ อินฟราสตรัคเจอร์ และธุรกิจให้บริการทางการเงิน

ผู้คนทั่วไปอาจจะรับรู้และสัมผัสถึงอิทธิพล “จีอี” ทั้งโดยตั้งใจและไม่ทันตั้งตัว จากการเป็นลูกหนี้หรือลูกค้าของ “จีอี” โดยเฉพาะ “ราชาเงินผ่อน” แต่การจัดงาน “GE Day” พร้อมกับการเปิดตัวธุรกิจใน "เครือจีอี" คราวนี้ .... “นานิ” กำลังจะอธิบายถึงการเปิดตัวอาณาจักรธุรกิจของจีอี ที่มีมากกว่านั้น และหลายคนก็ยังไม่มีโอกาสได้ทำความรู้จัก...

“ วัตถุประสงค์จริงๆก็คือ อยากให้ลูกค้าและพนักงาน รวมถึงภาครัฐ ได้เข้าใจธุรกิจหลากหลาย ทั้งในเชิงลึก และมุมกว้างของจีอีมากขึ้น”

สำหรับข้อมูลที่รับรู้กันอยู่ยังไม่มากพอ ก็ต้องดูยอดขายในแต่ละปีเฉลี่ยของ จีอี นอกอเมริกา ที่อยู่ระดับ 1.2-1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไม่เป็นรอง “ไนกี้” และ “บริติชแอร์เวย์”แม้แต่น้อย โดยต้นปีที่ผ่านมา จีอี มีการลงทุน ขยายธุรกิจด้านการบิน น้ำมันและก๊าซ รวมถึงธุรกิจด้านสุขภาพมูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือน “เอเชีย” รวมถึงแถบอาเซียนจะกลายเป็น “กล่องดวงใจ” ของจีอี ในการขยายอาณาจักรใน 6 ธุรกิจ ที่เกือบจะเรียกว่าครอบจักรวาล ไม่ใช่เพียงแค่ การแผ่บารมีเฉพาะโลกไฟแนนซ์ แต่จีอีเลือกจะใช้ฐานที่ยึดได้ขยายพื้นที่และสร้างฐานตลาดใหม่ในทุกธุรกิจที่มีอยู่ในมือจนครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น จีอีคอมเมอร์เชียล ไฟแนนซ์ จีอีเฮลธ์แคร์ จีอี อิดัสเทรียล จีอีอินฟราสตรัคเจอร์ จีอีมันนี่ และเอ็นบีซี ยูนิเวอร์เซิล

“ ในภูมิภาคนี้ มีการเปิดสายการบินใหม่ มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ รวมถึงมีความต้องการด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นตลาดที่จีอีชำนาญและเชี่ยวชาญ”

นานิ บอกว่า ในอีก 3 ปี แถบเอเชียจะพองตัวโตเป็น “ดับเบิล” โดยจีอีจะให้น้ำหนักที่ 2 ส่วนคือ ด้านการเงิน รวมถึงธุรกิจเครื่องยนต์ การบิน พลังงาน น้ำมัน ก๊าซ การแพทย์ ธุรกิจไฟฟ้าและพลาสติค

ที่มองข้ามไปไม่ได้ก็คือ กระบวนการทำงานในแต่ละประเทศอาจจะแตกต่างกัน แต่กลยุทธ์จะออกมาเป็นโมเดลเดียวกัน นั่นคือ “ยึดพื้นที่ ครอบครอง และสร้างฐานลูกค้า" ที่ใหญ่โตกว้างขวาง

นานิอธิบายว่า การเจาะเข้าไปในแต่ละพื้นที่จะอาศัยความได้เปรียบด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ ส่วนอีกวิธีคือ การเข้าซื้อกิจการ หรือหาพันธมิตร เพื่อสร้างโอกาสเติบโตทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ และการตลาด

สำหรับประเทศไทย แบงก์กรุงศรีฯน่าจะเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจน เพราะหลังการเข้าถือหุ้นใหญ่ ภาพของจีอี ก็ฉายแววโดดเด่นขึ้น...

ในจีน จีอีเข้าไปลงทุนในเซิ่นเจิ้น ผ่านการถือหุ้นกับ ดิเวลล็อปเม้นท์ แบงก์ ส่วนในอินเดียเริ่มต้นที่วิธีสร้างจากธุรกิจพื้นฐาน ก่อนจะขยับเต็มตัวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายใหม่ในปี 2009

ขณะที่ “ไทย” ในปีที่ผ่านมา จีอี ทำรายได้จากธุรกิจที่เข้ามาลงทุนมากกว่า 40,000 ล้านบาท เป็นสัดส่วนที่สูงสุดในแถบนี้ คิดเป็น 35% ของรายได้ทั้งภูมิภาค โดยมีแบงก์กรุงศรีฯเป็นหุ้นส่วนธุรกิจที่จะเจาะเข้าถึงตลาดใหม่ๆได้อย่างง่ายดาย

เท่ากับว่า เวลาเกือบ 50 ปี ที่ “จีอี” หว่านเงินลงทุนในไทยไปแล้วราว 4 หมื่นล้านบาท กำลังสร้างรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำให้กับ จีอี ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจในอุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติค ระบบการแพทย์ บริการทางเงิน และการผลิตส่วนประกอบเครื่องยนต์ อากาศยาน และบริการสนับสนุนต่างๆ

นานิบอกว่า ภายใน 5 ปี ย่านอาเซียนจะเติบโตเฉลี่ย 25% ทุกปี โดยปี 2550 จะขยายตัวใกล้เคียงกับปีที่แล้วคือ 20% ขณะเดียวกันก็มีโครงการลงทุนในธุรกิจหลักในไทยอย่างต่อเนื่อง

ดูเหมือนการเข้ามาอย่างเต็มตัวของ “จีอี” คราวนี้จะไม่มีอะไรหยุดยั้ง กองทัพที่มากด้วย อาวุธ ยุทโธปกรณ์ ที่เหนือชั้น ได้โดยง่ายๆ...

การเป็นร่างทรงแบงก์กรุงศรีฯ จึงไม่ต่างจากการระเบิดกำแพงเมือง เพื่อเปิดทางให้กับกองทัพเคลื่อนตัวเข้าไปยึดครองธุรกิจอื่นๆได้อย่างสะดวก ราบรื่น เพราะนี่น่าจะเป็น เป้าหมายสำคัญของ “จีอี มากกว่า...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.