|
คลังรั้งท้ายปรับเป้าจีดีพีเหลือ4%เร่งเข็นงบฯ-ลงทุนภาครัฐพยุงเศรษฐกิจ
ผู้จัดการรายวัน(28 กุมภาพันธ์ 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
คลังรั้งท้ายปรับเป้าจีดีพีปี 50 ลดเหลือ 4.0% ชี้เศรษฐกิจปีหมูไม่หมูอีกต่อไป เจอเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวซ้ำเติม "การใช้จ่าย–บริโภค–ลงทุนภาคเอกชน"ฟื้นตัวไม่เต็มที่ แต่ยังให้ความหวังหากเบิกจ่ายงบปี 50 ได้ไม่ต่ำ 93% ผนวกกับรัฐวิสาหกิจลงทุนได้ถึง 85% อาจกระตุ้นให้ภาคเอกชนขยับตัวได้บ้าง ฟุ้งนโยบายการคลังภาครัฐจะยังเป็นปัจจัยหลักกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2550 โดยคาดว่าอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 4.0-4.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.0-5.0% เนื่องจากจากปริมาณการส่งออกและบริการ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในปีก่อน มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า มาอยู่ที่ 6.4-7.4% ต่อปี ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 9.1% ต่อปี ประกอบกับการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
ทั้งนี้ หากภาครัฐสามารถเร่งเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 93% ของกรอบวงเงินงบประมาณปี 2550 รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนได้ตามเป้าหมายที่ 85% ของงบลงทุนทั้งหมด และอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงเพียงพอที่จะเอื้อต่อการฟื้นตัวของการลงทุนภายในประเทศ รวมถึงการดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ก็คาดว่าจะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3.5-3.9% ต่อปี และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 5.1-5.4% ต่อปี
“จีดีพีในปี 2550 จะขยายได้มากเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้นจากปี ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่มีแนวโน้มลดลง ดังนั้น เชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะผลักดันให้จีดีพีในปีนี้ขยายตัวได้ 4.5% มากกว่าจะขยายตัวในกรณีต่ำ 4%”นางพรรณีกล่าว
โดยคาดว่าการบริโภครวมในปี 2550 จะอยู่ที่ 3.9-4.8% เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่อยู่ที่ 3.2% แบ่งเป็นการบริโภคภาคเอกชนประมาณ 3.5-3.9% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัว 3.3% ต่อปี การบริโภคภาครัฐประมาณ 6-10% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัว 2.9% ต่อปี ด้านการลงทุนรวมในปี 2550 คาดว่าจะอยู่ที่ 4.2-6.4% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 3.5% แบ่งเป็นการลงทุนภาคเอกชน 5.1-5.4% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 3.7% และการลงทุนภาครัฐอยู่ที่ 1.7-10.1% ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 3% ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการจะอยู่ที่ 7.8-8.9% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 1.7%
นอกจากนี้ เสถียรภาพภายในประเทศปี 2550 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะขยายตัวอยู่ที่ 2.5-3% ลดลงจากปี 2549 ที่อยู่ที่ 4.7% ซึ่งเป็นผลมาจากราคาต้นทุนการผลิตที่ถูกลงตามการปรับลดของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยอยู่ที่ 54-58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงจากราคาเฉลี่ยในปี 2549 ที่อยู่ที่ 61.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ขณะที่ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 35.5-36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแข็งค่าขึ้นจากปี 2549 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 37.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากปัญหาพื้นฐานของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลการคลังของสหรัฐฯ ยังคงกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ซึ่งจะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะอยู่ที่ 3.75-4.25% ได้
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุล 0.7-1.5% ของจีดีพี เทียบกับปี 2549 ที่เกินดุล 1.6% ของจีดีพี โดยการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2550 จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศโดยในกรณีที่การใช้จ่ายภายในประเทศเร่งตัวขึ้นจะทำให้มูลค่าการนำเข้าเร่งตัวขึ้นตาม ซึ่งจะส่งผลให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 1.4 และ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ แต่หากการใช้จ่ายภายในประเทศฟื้นตัวช้า จะส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าขยายตัวต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3.1 และ 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
คาดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ4.0%
นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) กล่าวว่า เศรษฐกิจปี 2550 จะขยายตัวมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐเป็นสำคัญ เพื่อที่จะกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน โดยนโยบายการคลังและการเงินจะต้องประสานใกล้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เศรษฐกิจโตได้ตามเป้าในระดับสูง เพราะในส่วนของนโยบายการคลังตั้งเป้าการเบิกจ่ายงบประมาณ 93% เบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ 85% ก็จะทำให้เศรษฐกิจโตได้ 4.5% แต่หากเบิกจ่ายได้ต่ำกว่านั้นจีดีพีก็จะโตได้ไม่ถึง 4.5%
ดังนั้น ในส่วนของนโยบายดอกเบี้ยของธปท.จะต้องเข้ามาช่วย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อปี 2550 จะอยู่ในระดับ 2.5-3% ซึ่งไม่เป็นแรงกดดันอัตราดอกเบี้ยอีกต่อไป โดยคลังมองว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง และต้องการให้แบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ครั้งละ 0.25% เพราะจะทำให้เกิดการเก็งกำไร
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวว่า ภายในปีนี้เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดลดอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (อาร์พี) ลงเหลือ 4% ปัจจุบันที่ 4.75%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|