ผ่าทางตันเมกะโปรเจกต์ตั้งวายุภักษ์2แทนกู้เจบิค


ผู้จัดการรายวัน(28 กุมภาพันธ์ 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

บลจ.เอ็มเอฟซีปัดฝุ่นแนวคิดจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์2เสนอคลัง ชี้เป็นทางออกที่ดีที่สุดใน”ยุคเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อระดมทุนในประเทศลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ แถมยังทำให้เศรษฐกิจในประเทศขับเคลื่อนดีกว่ากู้เจบิค ลดภาระหนี้สาธารณะให้กับประเทศ

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) (MFC) เปิดเผยว่า การจัดตั้งกองทุนรวมวายุภักษ์2 น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสุดสำหรับการระดมทุนเพื่อไปลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (เมกะโปรเจกต์) รวมถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่อื่นๆ เนื่องจากมีต้นทุนการดำเนินการที่ต่ำ เมื่อเทียบกับการระดมทุนโดยวิธีอื่น อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงในยุคปัจจุบันด้วย

ส่วนแนวคิดที่จะกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินกู้ยืมจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจบิค) เพื่อไปลงทุนในโครงการเหล่านี้นั้น นายพิชิตกล่าวว่า สามารถทำได้ เพียงแต่ต้นทุนการดำเนินงานอาจสูงกว่า และยังทำให้ภาระหนี้ของรัฐบาลสูงขึ้นด้วย

เนื่องจากเงินกู้ยืมส่วนนี้จะถูกบันทึกรวมในหนี้สาธารณะ นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยของ เจบิค ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับมาตรการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจทำให้เงินกู้ส่วนนี้ต้องทำประกันความเสี่ยง (เฮดจ์) ในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทำให้ภาระต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นตามไปด้วยทั้งหมดนี้ยังไม่รวมเงื่อนไขของการกู้ยืมที่ทำร่วมกันไว้

“ปกติการกู้ยืมจากต่างประเทศมักจะมีเงื่อนไขอื่นๆ ระบุเอาไว้ ซึ่งตรงนี้เราไม่สามารถรู้ได้ เช่น อาจระบุว่าการสั่งซื้อสินค้าต้องสั่งจากประเทศเขาเท่านั้น ดังนั้นหากจะกู้ยืมต่างประเทศก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบ และถ้าดูแล้วเชื่อว่าต้นทุนน่าจะสูงกว่าการตั้งกองทุนวายุภักษ์ และหนี้ส่วนนี้ยังถูกนำไปรวมไว้ในหนี้สาธารณะด้วย”นายพิชิตกล่าว

ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีแนวคิดจัดตั้ง กองทุนรวมวายุภักษ์2 ขึ้นมาจริง เชื่อว่าคงใช้หลักการเดียวกับการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์1 โดยรัฐบาลหรือกระทรวงการคลังนำหุ้นรัฐวิสาหกิจที่ตัวเองถืออยู่ออกมาบางส่วน เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนรวมขึ้นมาแล้วนำหน่วยลงทุนออกขายให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงนักลงทุนสถาบันที่ให้ความสนใจ

สำหรับหุ้นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลถือลงทุนอยู่ในปัจจุบันมีมูลค่าจำนวนมาก แต่หากนับเฉพาะหุ้นส่วนเกินที่เหลือจากความจำเป็นซึ่งกระทรวงการคลังต้องถือเพื่อความเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้น ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท เพียงพอต่อการนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนรวมอยู่แล้ว และหากต้องการขยายมูลค่ากองทุนให้สูงกว่านี้ รัฐบาลอาจออกพันธบัตรขายให้กับกองทุนรวมนี้ด้วยก็ได้

“หุ้นในส่วนที่กระทรวงการคลังสามารถนำออกขายเพิ่มนั้นมีมูลค่าประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ส่วนจะถึง 1 แสนล้านบาทหรือไม่คงขึ้นอยู่กับนโยบายการถือหุ้นของกระทรวงการคลังว่าจะลดสัดส่วนการถือหุ้นเหล่านี้ลงได้หรือไม่ หรือไม่ก็ออกเป็นพันธบัตรรัฐบาลขึ้นมาขายให้กับกองทุนนี้ เท่ากับกองทุนนี้จะได้ผลตอบแทนทั้งในรูปของเงินปันผลจากหุ้น และอัตราดอกเบี้ยจากบอนด์รัฐบาลด้วย”นายพิชิตกล่าว

นายพิชิต กล่าวว่า สาเหตุที่มองกว่าหากตั้งกองทุนวายุภักษ์2 ควรใช้หลักการเดียวกับกองทุนวายุภักษ์1 เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนวายุภักษ์1 ช่วงที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าให้ผลตอบแทนในระดับที่ดี และเชื่อว่าหากออกกองทุนรวมวายุภักษ์2 จริง ก็น่าจะได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนสถาบันอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวอยากเสนอว่า หากจะออกกองทุนวายุภักษ์2 จริง อยากให้ผ่อนปรนนโยบายการลงทุนให้มีความคล่องตัวมากขึ้น อย่างน้อยก็สามารถปรับพอร์ตลงทุนได้บ้าง โดยนำหุ้นรัฐวิสาหกิจบางตัวที่คิดว่าผลตอบแทนไม่น่าจูงใจขายออกไปในตลาด และหันไปลงทุนในหุ้นที่ผลตอบแทนดีกว่าแทน หลังจากนั้นเมื่อใกล้ครบกำหนดอายุกองทุนค่อยกลับไปซื้อหุ้นรัฐวิสาหกิจตัวนั้นเพื่อนำไปคืนกระทรวงการคลังแทน

กรรมการผู้จัดการบลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวอีกว่า หากกองทุนวายุภักษ์2 สามารถเทิร์นพอร์ตได้ก็จะดีมาก เพราะสามารถนำหุ้นที่ผลตอบแทนต่ำขายออกไปก่อน เพื่อไปลงทุนในหุ้นที่ผลตอบแทนดีกว่าได้ หลังจากเมื่อครบอายุการลงทุนก็ค่อยกลับไปซื้อหุ้นตัวเดิมแทน ซึ่ง วายุภักษ์1 การจะขายหุ้นที่ถือออกไปก็ทำได้เพียงแต่ต้องขออนุญาตกระทรวงการคลังก่อนจึงไม่คล่องตัวนัก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.