แฉล้วงลูกพ.ร.บ.ต่างด้าวเอื้อทุนไทยผูกขาด !‘เดือนเด่น’ย้ำต้องเลิกคุมภาคบริการในบัญชี 3


ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 กุมภาพันธ์ 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

TDRIจับมือสกว.ชำแหละบริษัทข้ามชาติในไทย ระบุ “ธุรกิจมือถือ”ถูกยึดครองไปแล้ว ขณะที่ภาคบริการในบัญชี 3ตามพ.ร.บ.คนต่างด้าวยังเกาไม่ถูกที่คัน พร้อมแฉมีการล้วงลูกในการร่างพ.ร.บ.ต่างด้าวเพราะปกป้องกลุ่มทุนไทยผูกขาดธุรกิจบางประเภท เสนอออกฎหมายให้ต่างชาติที่เข้ามาต้องเปิดเผยตัว

จากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI ) ทำการศึกษาเรื่อง “บทบาทของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทย” ใน7 สาขาที่เข้ามาประกอบธุรกิจในไทยเพื่อให้ทราบถึงอุปสรรคและเหตุผลในการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ ทั้งเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายการแข่งขันทางการค้า และคุ้มครองผู้บริโภคฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจรายสาขา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้จะมุ่งไปที่การวิจัยภาคการผลิต และภาคบริการของบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทยประกอบด้วย 7สาขา คือ 1.)กฎหมาย 2.)บัญชี 3.)ยานยนต์และชิ้นส่วน 4.)ผลิตภัณฑ์ยาง 5.)อาหารแปรรูป 6.)พลังงาน และ 7.)กิจการขยายเมล็ดพันธุ์พืช โดยจากการศึกษาพบว่าในช่วงปี พ.ศ.2543 –2548 พบว่ามูลค่าการลงทุนตรงต่างประเทศ (FDI)แบ่งเป็นปี 2543 มูลค่าเท่ากับ115,286 ล้านบาท ปี2544 มูลค่าเท่ากับ172,640ล้านบาท ปี2545 มูลค่าเท่ากับ 44,929ล้านบาท ปี2546 มูลค่าเท่ากับ 77,529ล้านบาท ปี2547 มูลค่าเท่ากับ 33,094ล้านบาท และปี 2548 มูลค่าเท่ากับ 128,790ล้านบาท

ธุรกิจมือถือต่างชาติยึดครอง

นอกจากนี้ยังสามารถจำแนกกลุ่มธุรกิจที่ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในปี2548 ซึ่งธุรกิจที่ชาวต่างชาติเข้ามามากที่สุด3อันดับแรกคือ ธุรกิจเทคโนโลยีและการสื่อสาร ,การบริการ และ การเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะ กลุ่มบริการและเทคโนโลยี และการสื่อสารถือเป็นกลุ่มที่ต่างชาติเข้ามามีบทบาทมากที่สุด คิดเป็นส่วนแบ่งมูลค่าตลาดถึง 65.07% โดยเฉพาะธุรกิจมือถือมีสัดส่วนถึง 82% รองลงมา คือธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ต และลอจิสติกส์ ส่วนธุรกิจบัญชีและกฎหมายมีส่วนแบ่งตลาดน้อยเพียง 4-5% เนื่องจากเป็นอาชีพที่สงวนเฉพาะคนไทย

อย่างไรก็ดีหากชาวต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจะมีกฏหมายเกี่ยวข้องด้วยหลายฉบับด้วยกัน พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ,การคุ้มครองการลงทุนของต่างชาติ , การส่งเสริมการลงทุน (BOI) , การจัดเก็บภาษีบริษัทต่างชาติ และสนธิสัญญาหรือความตกลงต่างๆเช่น สนธิสัญญาภาษีซ้อน สนธิสัญญาการลงทุน หรือความตกลงการค้าเสรี

เชื่อการเมือล้วงลูกพ.ร.บ.ต่างด้าว

“ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมรูปแบบของพ.ร.บ.ต่างด้าวที่ออกมาจะเป็นแบบเดิมโดยเฉพาะภาคบริการในบัญชี 3ที่ต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนจำนวนมาก แต่คณะกรรมการยกร่างกลับทำเป็นไม่รู้เรื่อง ไปเขียนกฎหมายขึ้นมาอีกอย่างที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยส่วนตัวเชื่อมั่นว่ามีการเมืองมีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้าไปเกี่ยวข้องแน่นอน” ดร.เดือนเด่น ระบุ

ขณะที่หากไปสำรวจรายชื่อจำนวนบริษัทข้ามชาติ (MNC) ที่เข้ามาในประเทศไทยในภาคการผลิตที่ให้บริษัทข้ามชาติถือหุ้นไป 100% มีบริษัทญี่ปุ่นให้ความสนใจลงทุน 4สาขามากเป็นอันดับหนึ่ง ประกอบด้วยกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนจะมีมากที่สุดคือ 41บริษัท , ผลิตภัณฑ์ยาง 30 บริษัท ,เมล็ดพันธุ์พืช 11บริษัท และอาการสำเร็จรูป 19 บริษัท ทั้งนี้เพราะกฎหมายไทยเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในภาคการผลิตได้ 100% ขณะที่ภาคบริการ เช่น ธุรกิจบัญชีชาวต่างชาติที่เข้ามาจะถือหุ้นในลักษณะ MEMBER ขณะที่ธุรกิจกฎหมายมักจะถือหุ้นแบบ Foreing control เพราะให้สิทธิถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% เหตุต้องการสงวนไว้สำหรับคนไทย ตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยมีการยกเว้นข้อจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติในการประกอบธุรกิจในบัญชี 2 และบัญชี 3 หากได้รับอนุญาตจากรมว.พาณิชย์ และอธิบดี

แฉไม่เปิดเสรีบางสาขา
กระทบธุรกิจผูกขาดในประเทศ

โดยงานวิจัยยังพบว่าบริษัทต่างชาติมีส่วนแบ่งตลาดเฉลี่ย 20-25% โดยการลงทุนของบริษัทข้ามชาติยังมีการจ้างงานและสร้างรายได้ที่สำคัญรวมทั้งยังช่วยลดการผูกขาดของธุรกิจไทยในบางอุตสาหกรรม ซึ่งจากการทำวิจัยพบว่ามีบริษัทคนไทยผูกขาด 2 ธุรกิจที่มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% คือ ธุรกิจเม็ดพันธุ์พืช และธุรกิจอาหารกระป๋อง
“การห้ามไม่ให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในบางธุรกิจนั้น อ้างว่าบริษัทข้ามชาติเข้ามาจะทำให้ไทยเสียหาย คงต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าคนที่เสียหาย คือ เกษตรกรไทยหรือบริษัทไทยที่ผูกขาดกันแน่ ”หัวหน้างานวิจัย ระบุ

เสนอออกฎให้ต่างชาติเปิดเผยตัว

นอกจากนี้แล้วดร.เดือนเด่นยังได้เสนอให้รวบรวม และทบทวนกฎกติกาที่กำกับการทำธุรกิจของบริษัทต่างชาติใหม่ โดยยกเลิกกฎระเบียบที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การต่ออายุวีซ่าการทำงาน และเงื่อนไขการว่าจ้างพนักงานต่างชาติต่อพนักงานไทย 1:4 ลดอำนาจการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งต่างชาติมองว่าเป็นกฎระเบียบที่ไม่มีความชัดเจน เกิด 2มาตรฐานในการทำงานของผู้ใช้ดุลยพินิจ

ขณะที่บัญชี 3 ในพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวยังเป็นปัญหาในการลงทุนของชาวต่างชาติ จึงเสนอยกเลิกข้อห้ามลงทุนแบบครอบจักรวาลที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายที่เปิดรับการลงทุนในทางปฏิบัติ โดยใช้วิธีการกลั่นกรองการลงทุนของบริษัทข้ามชาติหากลงทุนเกิน 1 พันล้านบาท ส่วนการลงทุนที่ใช้วงเงินน้อยก็ปล่อยผ่าน หากอาชีพใดไม่ต้องการให้ต่างชาติทำก็ระบุให้ชัดเจน รวมทั้งให้บริษัทฯต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยเปิดเผยตัวตนว่าเป็นนิติบุคคลต่างด้าว และกำหนดนิยามของบริษัทข้ามชาติที่ชัดเจน และให้บริษัทลูกของบริษัทข้ามชาติทุกรายต้องขึ้นทะเบียน กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบายต่างๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.